พระราชบัญญัติ การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535

แนวทางการปฎิบัติตามพระราชบัญญัติ การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535

 

พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2535 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2535 นอกจากนี้ยังได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดอาคารควบคุม พ.ศ. 2538 ขึ้นมา โดยมีผลบังคับใช้กับอาคารควบคุมทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2538 และพระราชกฤษฎีกากำหนดโรงงานควบคุม พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้กับโรงงานควบคุมปีที่ 1 ที่มีขนาด 10,000 กิโลวัตต์ขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2540 โดยเจ้าของอาคารและโรงงานควบคุมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด และต่อมาได้มีการปรับปรุงรูปแบบการดำเนินการด้านการอนุรักษ์พลังงานของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมจากดำเนินการตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงานและการกำหนดเป้าหมายและแผนด้านการอนุรักษ์พลังงานเป็นการให้ดำเนินการจัดการพลังงาน ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535(แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550) ได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551 โดยโครงสร้างของพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550) แสดงในรูปที่ 1

capture-20150418-160000

 

รูปที่ 1 โครงสร้างของพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550)

โดยกลุ่มเป้าหมายที่ต้องดำเนินการจัดการพลังงาน ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550)  กฎกระทรวง และประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้องนั้น ได้แก่ อาคารควบคุม และโรงงานควบคุมตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นอาคารควบคุม/โรงงานควบคุม ซึ่งต้องมีเป็นสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้บ้านเลขที่เดียวกัน โดยมีการติดตั้งเครื่องวัดไฟฟ้าตั้งแต่ 1,000 kW ขึ้นไป หรือติดตั้งหม้อแปลงรวมกันตั้งแต่ 1,175 kVA ขึ้นไป หรือ มีการใช้พลังงานความร้อนในรอบปีที่ผ่านมามากกว่า 20 ล้านเมกกะจูลต่อปีขึ้นไป โดยข้อมูล ณ. เดือนกันยายน 2557 พบว่ามีจำนวนโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมทั้งสิ้น ประมาณ 8,000 แห่ง

1.  การกำหนดอาคาร/โรงงานควบคุม(Designated building/factory)

>>การกำหนดการเป็นอาคารควบคุม (Designated building)

พระราชกฤษฎีกากำหนดอาคารควบคุม พ.ศ. 2538 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2538 ได้กำหนดให้อาคารที่มีลักษณะเป็นอาคารหลังเดียวหรือหลายหลังภายใต้เลขที่บ้านเดียวกันที่มีการใช้พลังงาน ดังต่อไปนี้เป็น “อาคารควบคุม"

กรณีการเข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม

กรณีที่ 1: อาคารใดที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 1,000 kW หรือติดตั้งหม้อแปลงรวมกันตั้งแต่ 1,175 kVA หลังวันประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดอาคารควบคุมแต่ยังไม่ครบกำหนดที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ เป็นอาคารควบคุมในวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ

กรณีที่  2: อาคารที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่ากรณีที่ 1 และเปิดใช้งานก่อนวันประกาศหรือหลังวันที่พระราชกฤษีกากำหนดอาคารควบคุมแต่ยังไม่ครบกำหนดที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับจะเป็นอาคารควบคุมต้องดูที่การใช้พลังงานไฟฟ้า ความร้อนจากไอน้ำ พลังงานสิ้นเปลืองอย่างหนึ่งอย่างใดหรือรวมกันในรอบปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม มีปริมาณพลังงานทั้งหมดเทียบเท่าพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ 20 ล้านเมกะจูลขึ้นไป ซึ่งหากอาคารใดมีการใช้พลังงานดังกล่าวตามที่กำหนดจะเป็นอาคารควบคุมตั้งแต่ 1 มกราคมของปีถัดไป

capture-20150420-203028

capture-20150420-203138

>>การกำหนดการเป็นโรงงานควบคุม (Designated factory)

พระราชกฤษฎีกากำหนดโรงงานควบคุม พ.ศ. 2540 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2540 ได้กำหนดให้โรงงานที่มีลักษณะเป็นโรงงานเดียวหรือหลายโรงงานภายใต้เลขที่บ้านเดียวกันที่มีการใช้พลังงานในระดับที่แตกต่างกันในแต่ละปีที่จะมีผลบังคับใช้ดังต่อไปนี้เป็น “โรงงานควบคุม"

1. โรงงานควบคุมที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2540 (ปีที่ 1) คือโรงงานที่มี

  • เครื่องวัดไฟฟ้า หรือให้ติดตั้งหม้อแปลงชุดเดียวกันหรือหลายชุดรวมกันมีขนาดตั้งแต่10,000 กิโลวัตต์หรือ 11,750 กิโลโวลท์แอมแปร์ ขึ้นไป
  • การใช้ไฟฟ้าจากระบบของผู้จำหน่าย ความร้อนจากไอน้ำ จากผู้จำหน่ายหรือพลังงานสิ้นเปลืองอื่นจากผู้จำหน่ายหรือของตนเองอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่ผ่านมามีปริมาณพลังงานทั้งหมดเทียบเท่าพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่200 ล้านเมกะจูลขึ้นไป

2. โรงงานควบคุมที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่17 กรกฎาคม 2541 (ปีที่ 2) ได้แก่โรงงานตามข้อ 1

  • ที่มีขนาดตั้งแต่ 3,000 กิโลวัตต์แต่ไม่ถึง 10,000 กิโลวัตต์ หรือตั้งแต่ 3,530 กิโลโวลท์แอมแปร์แต่ไม่ถึง11,750 กิโลโวลท์แอมแปร์
  • หรือโรงงานที่มีปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมดเทียบเท่าพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ 60 ล้านเมกะจูลแต่ไม่ถึง 200 ล้านเมกะจูล

3. โรงงานควบคุมที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2542 (ปีที่ 3)ได้แก่โรงงานตามข้อ 1

  • ที่มีขนาดตั้งแต่ 2,000 กิโลวัตต์แต่ไม่ถึง 3,000 กิโลวัตต์ หรือตั้งแต่ 2,350 กิโลโวลท์แอมแปร์แต่ไม่ถึง 3,530 กิโลโวลท์แอมแปร์
  • หรือโรงงานที่มีปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมดเทียบเท่าพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ 40 ล้านเมกะจูลแต่ไม่ถึง 60 ล้านเมกะจูล

4. โรงงานควบคุมที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2543 (ปีที่ 4)ได้แก่โรงงานตามข้อ 1

  • ที่มีขนาดตั้งแต่ 1,000 กิโลวัตต์แต่ไม่ถึง 2,000 กิโลวัตต์ หรือตั้งแต่ 1,175 กิโลโวลท์แอมแปร์แต่ไม่ถึง 2,350  กิโลโวลท์แอมแปร์
  • หรือโรงงานที่มีปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมดเทียบเท่าพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ 20 ล้านเมกะจูลแต่ไม่ถึง 40 ล้านเมกะจูล

กรณีเข้าข่ายโรงงานควบคุม        

กรณีที่ 1:  โรงงานใดที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 1,000 kW หรือติดตั้งหม้อแปลงรวมกันตั้งแต่ 1,175 kVA หลังวันประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดโรงงานควบคุมแต่ยังไม่ครบกำหนดที่ พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ ในกรณีนี้จะเป็นโรงงานควบคุมในวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ

กรณีที่ 2:  โรงงานที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่ากรณีที่ 1 และเปิดใช้งานก่อนวันประกาศหรือหลังวันที่พระราชกฤษีกากำหนดโรงงานควบคุมแต่ยังไม่ครบกำหนดที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ จะเป็นโรงงานควบคุมต้องดูที่การใช้พลังงานไฟฟ้า ความร้อนจากไอน้ำ พลังงานสิ้นเปลืองอย่างหนึ่งอย่างใดหรือรวมกันในรอบปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม มีปริมาณพลังงานทั้งหมดเทียบเท่าพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ 20 ล้านเมกะจูลขึ้นไป ซึ่งหากโรงงานใดมีการใช้พลังงานดังกล่าวตามที่กำหนดจะเป็นโรงงานควบคุมตั้งแต่ 1 มกราคมของปีถัดไป

capture-20150420-203535-310x205

 

หมายเหตุ  :  ในกรณีที่ 1 การนับเป็นโรงงานควบคุมปีที่ 1 จะนับเริ่มจากเดือนสิงหาคม 2540
การนับเป็นโรงงานควบคุมปีที่ 2 จะนับเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2541
การนับเป็นโรงงานควบคุมปีที่ 3 จะนับเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2542
การนับเป็นโรงงานควบคุมปีที่ 4 จะนับเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2543

capture-20150420-203734-110x75

 

หมายเหตุ  :  ในกรณีที่ 2 การนับเป็นโรงงานควบคุมปีที่ 1 จะนับเริ่มจากเดือนมกราคม 2542
การนับเป็นโรงงานควบคุมปีที่ 2 จะนับเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2543
การนับเป็นโรงงานควบคุมปีที่ 3 จะนับเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2544
การนับเป็นโรงงานควบคุมปีที่ 4 จะนับเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2545

โรงงานหรืออาคารใดประสงค์จะให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานวินิจฉัยการเข้าข่ายเป็นอาคารโรงงานควบคุมสามารถดำเนินการได้โดยกรอกรายละเอียดลงใน "แบบข้อมูลการใช้พลังงานเพื่อวินิจฉัยการเป็นโรงงานควบคุม"

แล้วส่งถึง
ผู้อำนวยการสำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
17 ถนนพระราม 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กทม. 10330
หรือทางโทรสารหมายเลข 0 2226 4697

2. สาระสำคัญของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้เจ้าของอาคารควบคุม/โรงงานควบคุมต้องดำเนินการตามนี้ คือ (1) พัฒนาและนำระบบการจัดการพลังงานมาใช้ (2) จัดทำรายงานการจัดการพลังงาน (3) จัดให้มีการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน โดยผู้ตรวจสอบที่ขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน (พพ.) (4) ส่งรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานให้ พพ. ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี โดยมีสาระสำคัญของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการพลังงาน ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 สรุปสาระสำคัญของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการพลังงาน

ลำดับ ชื่อกฎหมาย ประเด็นสำคัญ
1 พระราชบัญญัติ การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 1.  หมวด 1 การอนุรักษ์พลังงานในโรงงาน
2.  หมวด 3 การอนุรักษ์พลังงานในเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ และส่งเสริมการใช้วัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
2 พระราชบัญญัติ การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550) 1.  ประกาศยกเลิกและใช้แทนข้อความต่างๆ ในพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (บางมาตรา)
2. (ม.9) กำหนดให้เจ้าของโรงงานควบคุมต้องกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการพลังงาน และกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบด้านพลังงานประจำโรงงาน
3.  (ม.21) ปฏิบัติตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. 2552
4.  (ม.21) ปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติ หน้าที่ และจำนวนผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน พ.ศ.2552
5.  (ม.19) ปฏิบัติตามกฎกระทรวง กำหนดประเภท หรือขนาดของอาคารและมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552
6.  ให้มีการตรวจสอบและรับรองระบบการจัดการพลังงานก่อนส่งรายงานการจัดการพลังงานให้ พพ.โดยผู้ตรวจสอบรับรองคุณสมบัติตามกฎกระทรวง กำหนดคุณสมบัติของผู้รับใบอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน พ.ศ. 2555
3 พระราชกฤษฎีกากำหนดอาคารควบคุม พ.ศ.2538 อาคารหลังเดียวหรือหลายหลังภายใต้บ้านเลขที่เดียวกัน มีหม้อแปลงรวมกันเกิน 1175 KVA, มิเตอร์ 1000 KW หรือการใช้พลังงานรวมเกิน 20 ล้านเมกะจูลถือว่าเป็นโรงงานควบคุม
4 พระราชกฤษฎีกากำหนดโรงงานควบคุม พ.ศ.2540 โรงงานที่อยู่ภายใต้บ้านเลขที่เดียวกัน มีหม้อแปลงรวมกันเกิน 1175 KVA, มิเตอร์ 1000 KW หรือการใช้พลังงานรวมเกิน 20 ล้านเมกะจูลถือว่าเป็นโรงงานควบคุม
5 กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. 2552 1.     จัดทำระบบการจัดการพลังงานตามกฎหมายกำหนด 8 ขั้นตอนตามประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. 2552
2.     ดำเนินการประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงานตามประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ.2552
6 กฎกระทรวง กำหนดคุณสมบัติ หน้าที่ และจำนวนของผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน พ.ศ. 2552 1.     แต่งตั้งผู้รับผิดชอบด้านพลังงานที่มีคุณสมบัติตามกฎกระทรวง                (จัดให้มีผู้รับผิดชอบด้านพลังงานอย่างน้อย 1 คน สำหรับโรงงาน หม้อแปลงต่ำกว่า 3000 กิโลวัตต์ หรือ 3530 กิโลแอมแปร์ หรือ ใช้พลังงานไฟฟ้าใน 1 ปี ต่ำกว่า 60 ล้านเมกะจูล)
2.     ผู้รับผิดชอบด้านพลังงานปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
7 กฎกระทรวง เรื่อง กำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552 การก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารดังต่อไปนี้หากมีขนาดพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่ 2000 ตร.ม.ขึ้นไป ต้องมีการออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เฉพาะส่วนสำนักงาน
8 ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณในการออกแบบอาคารแต่ละระบบการใช้พลังงานโดยรวมของอาคาร และการใช้พลังงานหมุนเวียนในระบบต่างๆ ของอาคาร พ.ศ. 2552 ในกรณีการก่อสร้างอาคารส่วนสำนักงานที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2000 ตร.ม.ขึ้นไป ต้องให้ผู้ออกแบบคำนวณการออกแบบอาคารแต่ละระบบตามประกาศฯ
9 ประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เรื่อง แบบการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน แจ้งการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบด้านพลังงานต่ออธิบดีตามจำนวนคุณสมบัติและระยะเวลาตามที่กำหนด ตามแบบ บพช.1
10 ประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เรื่อง แบบการรับรองผลงานด้านการอนุรักษ์พลังงานของผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน พ.ศ. 2552 กำหนดแบบการรับรองผลงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน (โรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุม ตามแบบ บพช.2 , ที่มิใช่โรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุม ตามแบบ บพช. 3)
11 ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. 2552 1.     จัดให้มีการประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงาน 3 ระดับ : ระดับองค์กร , ระดับผลิตภัณฑ์หรือบริการ, ระดับอุปกรณ์
2.     จัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน  ฝึกอบรมและจัดกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและเผยแพร่แผนฝึกอบรมและกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้ทราบโดยทั่วถึงกัน
3.     ดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงานและแผนฝึกอบรมและกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
  4.     ตรวจสอบและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานตามแผนงานอย่างน้อย สามเดือนต่อครั้ง
  5.     สรุปผลการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน, ผลการตรวจสอบและวิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและแผน และสรุปผลการดำเนินการของหลักสูตรการฝึกอบรมและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
6.     แต่งตั้งผู้ตรวจติดตามและประเมินที่มีความรู้และเป็นอิสระเพื่อตรวจติดตามและประเมินการจัดการพลังงานอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง
7.     ทบทวน วิเคราะห์และแก้ไขข้อบกพร่องของการจัดการพลังงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
8.     จัดให้มีการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานฯ โดยผู้ตรวจสอบและรับรอง และส่งรายงานการตรวจสอบ(เอกสารต้นฉบับพร้อมแผ่นซีดีไฟล์อิเลคทรอนิกส์) ให้กับอธิบดีภายในเดือนมีนาคม ของปีถัดไป
12 กฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติของผู้รับใบอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน พ.ศ.๒๕๕๕ ใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ตรวจสอบรับรองการจัดการพลังงานให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด

 

เรียบเรียงโดย : อ.วิชาญ นาคทอง (ทีมงาน iEnergyGuru)

ienergyguru.com

1 Review

5

Write a Review

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *