วันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก
วันนี้ได้ถูกกำหนดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2533 ให้เป็นวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก (World Day to Combat Desertification and Drought) โดยองค์การสหประชาชาติจัดตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์และปลูกจิตสำนึกให้ประชากรโลกให้หันกลับมาใส่ใจธรรมชาติบนโลกใบนี้มากขึ้น
เนื่องจากปัจจุบันโลกได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวทั้งสองข้อที่มักจะเกิดขึ้นโดยมีความสัมพันธ์กันอยู่และปัญหาเหล่านี้เองที่ได้สร้างความเสียหายให้ระบบนิเวศวิทยาและส่งผลต่อสภาพอากาศที่ก่อให้เกิดความแปรปรวนและส่งผลกระทบไปสู่การดำรงชีวิตของมนุษย์ เราจึงควรทำความรู้จักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาและสาเหตุเหล่านี้ให้มากขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติที่อาจจะมีความรุนแรงมากขึ้นในทุกๆปีเพราะฝีมือของมนุษย์เอง
ภัยแล้ง คือ ภัยที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดความแห้งแล้ง และส่งผลกระทบต่อชุมชน
สาเหตุของการเกิดภัยแล้งมีดังนี้
1. โดยธรรมชาติ
1.1 การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก
1.2 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
1.3 การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล
1.4 ภัยธรรมชาติ เช่น วาตภัย แผ่นดินไหว
2. โดยการกระทำของมนุษย์
2.1 การทำลายชั้นโอโซน
2.2 ผลกระทบของภาวะเรือนกระจก
2.3 การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม
2.4 การตัดไม้ทำลายป่า
สำหรับภัยแล้งในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากฝนแล้งและทิ้งช่วง ซึ่งฝนแล้งเป็นภาวะปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติหรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ฝนแล้งในแต่ละด้านมีความหมายแตกต่างกันออกไป
ด้านอุตุนิยมวิทยา : ฝนแล้งหมายถึง สภาวะที่มีฝนน้อยหรือไม่มีฝนเลยในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งตามปกติควรจะต้องมีฝน โดยขึ้นอยู่กับสถานที่และฤดูกาล ณ ที่นั้น ๆ ด้วย
ด้านการเกษตร : ฝนแล้ง หมายถึง สภาวะการขาดแคลนน้ำของพืช
ด้านอุทกวิทยา : ฝนแล้ง หมายถึง สภาวะที่ระดับน้ำผิวดินและใต้ดินลดลง หรือน้ำในแม่น้ำลำคลองลดลง
ด้านเศรษฐศาสตร์ : ฝนแล้ง หมายถึง สภาวะการขาดแคลนน้ำ ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในภูมิภาค
ระดับความรุนแรงของฝนแล้งแบ่งได้ดังนี้
1.ภาวะฝนแล้งอย่างเบา
2.ภาวะฝนแล้งปานกลาง
3.ภาวะฝนแล้งอย่างรุนแรง ฝนทิ้งช่วงหมายถึง ช่วงที่มีปริมาณฝนตกไม่ถึงวันละ 1 มิลลิเมตรติดต่อกันเกิน 15 วัน ในช่วงฤดูฝน เดือนที่มีโอกาสเกิดฝนทิ้งช่วงสูงคือ เดือนมิถุนายนและกรกฎาคม
ภัยแล้งในประเทศไทยจะเกิดใน 2 ช่วง ได้แก่
1. ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องถึงฤดูร้อน ซึ่งเริ่มจากครึ่งหลังของเดือนตุลาคมเป็นต้นไป บริเวณประเทศไทยตอนบน (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก) จะมีปริมาณฝนลดลงเป็นลำดับ จนกระทั่งเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของ ปีถัดไป ซึ่งภัยแล้งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
2. ช่วงกลางฤดูฝน ประมาณปลายเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม จะมีฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้น ภัยแล้งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะท้องถิ่นหรือบางบริเวณ บางครั้งอาจครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างเกือบทั่วประเทศ
พื้นที่ในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งส่วนใหญ่มีผลกระทบต่อการเกษตรกรรม โดยเป็นภัยแล้งที่เกิดจากขาดฝนหรือ ฝนแล้ง ในช่วงฤดูฝน และเกิด ฝนทิ้งช่วง ในเดือนมิถุนายนต่อเนื่องเดือนกรกฎาคม พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมาก ได้แก่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง เพราะเป็นบริเวณที่อิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เข้าไปไม่ถึง และถ้าปีใดไม่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านในแนว ดังกล่าวแล้วจะก่อให้เกิดภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น นอกจากพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ที่มักจะประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำ
สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหนของโลกหากพื้นที่นั้นมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่น้ำย่อมมีความสำคัญและอย่างที่เห็นในยุคปัจจุบันว่าบางพื้นที่ต้องการน้ำแต่ฝนไม่ตกแต่ในทางกลับกันหลายพื้นที่ได้รับน้ำในปริมาณที่มากจนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมตามมาอีก เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่ธรรมชาติกำลังทำงานอยู่อาจไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้าเหมือนการทำงานของกรมอุตุนิยมวิทยา แต่ถึงอย่างไรสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นย่อมมีส่วนมาจากฝีมือมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราควรเริ่มตั้งแต่วันนี้ที่จะใส่ใจและดูแลโลกเพราะวันที่ 17 มิถุนายนก็เป็นเพียงหนึ่งวันที่จะช่วยกระตุ้นจิตสำนึกให้กับประชากรโลกเท่านั้นเอง
ที่มา : นางสาวญาดา วัดละเอียด. (16 มิถุนายน 2558). สกู๊ปหน้า1 17 มิ.ย.วันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก. Retrieved from http://www.chiangmainews.co.th/: http://www.chiangmainews.co.th/page/?p=393777