เขื่อนจุฬาภรณ์ (เขื่อนน้ำพรม)
โครงการน้ำพรม ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2512 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้า เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2513 งานก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนและโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2516 พร้อมทั้ง พระราชทานพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ขนานนามเขื่อนว่า "เขื่อนจุฬาภรณ์"
ลักษณะเขื่อนและโรงไฟฟ้า
ลักษณะเขื่อน เขื่อนจุฬาภรณ์มีลักษณะเป็นแบบหินถม แกนกลางเป็นดินเหนียวบดอัดทับแน่นด้วยหินและกรวดตัว เขื่อนยาว 700 เมตร สันเขื่อนกว้าง 8 เมตร สูง 70 เมตร ระดับสันเขื่อนอยู่ที่ + 763.0 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง อ่างเก็บน้ำมีความจุ 188 ล้านลูกบาศก์เมตร
โรงไฟฟ้า ตั้งอยู่บริเวณเขาใกล้กับลำน้ำสุ ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของตัวเขื่อน ในการผลิตไฟฟ้า กฟผ. ชักน้ำจากหน้าเขื่อนบริเวณฝั่งซ้ายของลำน้ำ ผ่านอุโมงค์ซึ่งเจาะทะลุภูเขา ไปหมุนเครื่องกังหันน้ำ ที่ตั้งอยู่ในหุบเขาอีกด้านหนึ่ง
โรงไฟฟ้าติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 20,000 กิโลวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวมกำลังผลิต 40,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 54 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง
ประโยชน์ เขื่อนจุฬาภรณ์เป็นเขื่อนที่มีความสำคัญมากอีกเขื่อนหนึ่ง ต่อการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถตอบสนองความต้องการการใช้ไฟฟ้าของประชาชนได้อย่างเพียงพอ และเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่ให้ประโยชน์ต่อการชลประทาน ช่วยระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้ง ในพื้นที่การเกษตรตามลำน้ำพรม ประมาณ 50,300 ไร่ และตามลำน้ำเขินประมาณ 20,800 ไร่
นอกจากนี้อ่างเก็บน้ำยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งบริเวณโดยรอบของที่ตั้งตัวเขื่อนมีทิวทัศน์สวยงามมาก มีอากาศเย็นสบายตลอดปี จนได้สมญาว่าเป็น "สวิตเซอร์แลนด์ของประเทศไทย" เขื่อนจุฬาภรณ์จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อนอีกแห่งหนึ่งของภูมิภาคนี้
เขื่อนพรมธารา กฟผ. ได้สร้างเขื่อนขนาดเล็กขึ้นชื่อ "เขื่อนพรมธารา" ปิดกั้นลำห้วยฝั่งซ้ายของเขื่อนจุฬาภรณ์ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2524 การก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2525 สามารถชักน้ำเพิ่มปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนจุฬาภรณ์ได้ปีละประมาณ 2,000,000 ลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ ในเขตพื้นที่เดียวกัน ยังมีเขื่อนสำคัญที่ตั้งอยู่ตอนล่างของเขื่อนจุฬาภรณ์ นั่นคือ เขื่อนห้วยกุ่ม
"เขื่อนห้วยกุ่ม เป็นเขื่อนดินที่ได้สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการรับน้ำจากเขื่อนจุฬาภรณ์มากักเก็บไว้ใช้ในกิจกรรมการเกษตรต่างๆ"
ตั้งอยู่ห่างจากเขื่อนจุฬาภรณ์ลงไปทางใต้ประมาณ 40 กิโลเมตร ในพื้นที่ตำบลหนองโพนงาม อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ที่ก่อสร้างขึ้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงทราบถึงการขาดแคลนน้ำของพื้นที่การเกษตร บริเวณลุ่มน้ำพรมตอนล่าง เขื่อนห้วยกุ่มก่อสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2521 แล้วเสร็จเมื่อต้นปี พ.ศ. 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนและโรงไฟฟ้า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2523
โรง ไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนห้วยกุ่มมีขนาดกำลังผลิต 1,300 กิโลวัตต์ อ่างเก็บน้ำมีความจุ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถระบายน้ำช่วยพื้นที่การเกษตรในการเพาะปลูกฤดูแล้งของอำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ในพื้นที่ประมาณ 50,300 ไร่
เขื่อนห้วยกุ่ม จังหวัดชัยภูมิ
สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดชัยภูมิมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมายนอกเหนือจากเขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนห้วยกุ่ม อาทิ อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล) ศาลเจ้าพญาแล ปรางค์กู่ อุทยานแห่งชาติตาดโตน ป่าหินงาม เป็นต้น
อุทยานแห่งชาติตาดโตน
เส้นทางคมนาคม ชัยภูมิเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่เกือบถึงกลางของประเทศห่างจากกรุงเทพประมาณ 340 กิโลเมตร การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 1 กรุงเทพ - สระบุรี แล้วเลี้ยวขวาไปใช้ทางหลวงหมายเลข 201 จนถึงอำเภอชุมแพแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางสู่อำเภอหล่มสัก จะพบทางแยกซ้ายมือเขาสกเขื่อนจุฬาภรณ์ระยะทาง 39 กิโลเมตร
สรุป เขื่อนจุฬาภรณ์ช่วยส่งเสริมให้ระบบการผลิตและส่งกระแสไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความมั่นคงยิ่งขึ้นกิจการต่างๆ ที่ต้องอาศัยไฟฟ้าประกอบการ ก็จะเกิดขึ้นหรือขยายออกไป เป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เขื่อนแห่งนี้จึงอำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง
ที่มา : ฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย