iEnergyGuru

เขื่อนรัชชประภา

เขื่อนรัชชประภา

เขื่อนรัชชประภาSource : http://www.rpc.psu.ac.th
เขื่อนรัชชประภา อําเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

ความเป็นมา


เขื่อนรัชชประภา มีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า เขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของภาคใต้อยู่ในจังหวัดสุราษฏร์ธานี เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “เขื่อนรัชชประภา” มีความหมายว่า “แสงสว่างแห่งราชอาณาจักร”

ลักษณะเขื่อนและโรงไฟฟ้า


เขื่อนรัชชประภา สร้างปิดกั้นลําน้ำคลองแสง ที่บ้านเชี่ยวหลาน ตําบลเขาพัง อําเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สูง 94 เมตร ความยาวสันเขื่อน 761 เมตร และมีเขื่อนปิดกั้นช่องเขาขาดอีก 5 แห่ง

อ่างเก็บน้ำ มีความจุ 5,638.8 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 185 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 3,057 ล้านลูกบาศก์เมตร

โรงไฟฟ้า ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้า เครื่องละ 80,000 กิโลวัตต์ จํานวน 3 เครื่อง รวมกําลัง การผลิต 240,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละประมาณ 554 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

ลานไกไฟฟ้า ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำ ห่างจากโรงไฟฟ้า ประมาณ 100 เมตร ทําหน้าที่ส่งพลังไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า ด้วยสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์ วงจรคู่ไปยังสถานี ไฟฟ้าแรงสูงสุราษฎร์ธานีระยะทาง 50 กิโลเมตร และขนาด 115 กิโลโวลต์ วงจรคู่ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงพังงา ระยะทาง 82 กิโลเมตรเขื่อนรัชชประภา เริ่มดําเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2525 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราช
ดําเนินเปิดเขื่อนรัชชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เมื่อวันพุธที่ 30 กันยายน 2530

การดูแลด้านสังคม


กฟผ. ได้ร่วมมือกับหน่วยราชการต่างๆ ให้ความช่วยเหลือราษฎรในเขตพื้นที่อ่างเก็บน้ำ จํานวน 385 ครอบครัว โดยจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินพร้อมทั้งจัดสรรที่อยู่อาศัยและที่ทํากินให้อย่างเป็นธรรม ภายในหมู่บ้านมีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่สําคัญครบถ้วน รวมทั้งการจัดฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพรองให้แก่ ราษฎรอีกหลายโครงการ เช่น จัดอบรมเคหกิจแก่แม่บ้าน การตัดเย็บเสื้อผ้า ซ่อมบํารุงรักษาเครื่องกล ปลูกผลไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) จัดโครงการสินเชื่อส่งเสริมการปลูกยางในเขตโครงการและยังได้จัดสรรงบประมาณให้แก่กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อดําเนินงานด้าน
สหกรณ์การเกษตรควบคู่กันไปด้วย

ประโยชน์


• การชลประทานเพื่อการเพาะปลูก ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนให้ประโยชน์ต่อการเพาะปลูกพืช บริเวณสองฝั่งแม่น้ำในตอนล่าง ในเขตท้องที่อําเภอบ้านตาขุนอําเภอคีรีรัฐนิคม และอําเภอพุนพิน สามารถทํานาปรัง และปลูกพืชในฤดูแล้งได้ผลดี

• บรรเทาอุทกภัย การกักเก็บน้ำของเขื่อนในฤดูฝน จะช่วยลดความรุนแรงของสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่างได้เป็นอย่างดี

• การประมง อ่างเก็บน้ำของเขื่อนรัชชประภาเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สําคัญ ทุกๆ ปี กฟผ. ได้ปล่อยพันธุ์ปลาและกุ้งเป็นจํานวนมากลงไปในอ่างเก็บน้ำ สามารถให้ผลผลิตทางด้านการประมงเฉลี่ยปีละ 300 ตัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง

• การท่องเที่ยว ทัศนียภาพโดยรอบบริเวณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ สวยสดงดงาม และสงบร่มรื่นเหมาะแก่การไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละกว่า 150,000 คน ให้เดินทางมาเยี่ยมชมเขื่อนรัชชประภา

• การผลิตไฟฟ้า พลังน้ำจากเขื่อนสามารถนํามาผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 315 ล้านกิโลวัตต์ ชั่วโมง ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าในภาคใต้ให้มั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากนี้น้ำที่ปล่อยผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้ายังส่งต่อเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมบริเวณพื้นที่ท้ายน้ำอีกด้วย

• แก้ไขน้ำเสียและผลักดันน้ำเค็ม สภาพน้ำที่มีปริมาณน้อยของลําน้ำตาปี-พุมดวง ในฤดูแล้ง ทําให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสียได้ง่าย ขณะเดียวกันบริเวณปากแม่น้ำจะมีน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาตามลําน้ำ น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนรัชชประภาจะช่วยเจือจางน้ำเสียในลําน้ำ และต้านทานการรุกล้ำของน้ำเค็มที่ปากแม่น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเดินทาง


การเดินทางสู่เขื่อนรัชชประภา หากเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร ถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นระยะทางประมาณ 660 กิโลเมตร จากนั้นใช้เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ตะกั่วป่า ระยะทาง 66 กิโลเมตร แล้วแยกขวาไปตามถนนเข้าเขื่อน อีก 14 กิโลเมตร หากเดินทางโดยรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็มีบริการเดินรถจากกรุงเทพฯ ไปลงที่สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี (ตั้งอยู่ในเขตอําเภอพุนพิน) แล้วต่อรถรับจ้างเพื่อเข้าไปยังเขื่อนระยะทางประมาณ
60 กิโลเมตร

สถานที่ท่องเที่ยว


จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย อาทิ

• พระบรมธาตุไชยา ที่วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร อําเภอไชยา ก่อนถึงตัวเมืองประมาณ54 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งสร้างในสมัยศรีวิชัย เมื่อประมาณ 1200 ปีมาแล้ว

• สวนโมกขพลาราม หรือวัดธารน้ำไหล อยู่ก่อนถึงตัวเมืองประมาณ 50 กิโลเมตรเป็นสํานักสงฆ์ที่ตั้งอยู่ในอุทยานที่สวยงามตามธรรมชาติและสงบร่มรื่น เหมาะแก่การวิปัสสนาธรรม มีศาลารวมธรรมประมวลภาพบทกวี และคติธรรมไว้จํานวนมากซึ่งเรียกว่า "โรงมหรสพแห่งวิญญาณ"

• อุทยานแห่งชาติเขาสก จากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ใช้เส้นทางสายสุราษฎร์ธานี-ตะกั่วป่า (หมายเลข 401) ถึงกิโลเมตรที่ 109 มีแยกขวามือเข้าที่ทําการอุทยานประมาณ 1.5 กิโลเมตร สภาพทั่วไปเป็นป่าทึบครอบคลุมพื้นที่กว่า 400,000 ไร่ภายในบริเวณมีน้ำตก และถ้ำหลายแห่ง มีบริการบ้านพักสําหรับค้างแรม

• เกาะสมุย มีเนื้อที่ 247 ตารางกิโลเมตร มีหมู่เกาะใหญ่น้อยเรียงรายโดยรอบประมาณ 53 เกาะเรียกว่า"อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง" เกาะสมุยอยู่ห่างจากอําเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานีราว84 กิโลเมตร เดินทางโดยเรือเร็วประมาณ 3 ชั่วโมง หรือประมาณ 2 ชั่วโมงโดยเรือเฟอรี่

• อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ห่างจากเกาะสมุย ไปทางทิศตะวันตกประมาณ20 กิโลเมตรเป็นหมู่เกาะที่มีความสวยงาม อุดมไปด้วยทรัพยากรทางทะเล เช่นปะการัง การเดินทางไปยังอุทยานจากเกาะสมุยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที

• วัดถ้ำสิงขร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำพุมดวง ตําบลถ้ำสิงขร อําเภอคีรีรัฐนิคม เป็นวัดโบราณเก่าแก่มากวัดหนึ่ง สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปนั่งประทับห้อยพระบาทขนาดใหญ่ และวัตถุโบราณหลายสมัย บริเวณรอบๆ เจดีย์และผนังถ้ำมีถ้วยชามสังคโลกจํานวนมากมายฝังอยู่

• เขาหน้าแดง อยู่ห่างจากที่ว่าการอําเภอพนม ประมาณ 4 กิโลเมตร จากเขาหน้าแดง ท่านสามารถมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างได้ไกล และบนเขานี้ยังมีน้ำตกที่สวยงามอีกด้วย

สรุป เขื่อนรัชชประภา เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สําคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้ ที่สร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้า และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศชาติ นอกจากนี้ยังเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ และรัชมังคลาภิเษก ในปี 2530 ซึ่งนับเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ของ กฟผ. และชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย

 

 


ที่มา ฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

เขื่อนรัชชประภา

0 Reviews

Write a Review

Exit mobile version