วันอนุรักษ์มรดกไทย
2 เมษายน
ที่มา: www.youtube.com, www.vcharkarn.com, www.oknation.net, www.gotoknow.org
ประวัติความเป็นมาของวันอนุรักษ์มรดกไทย
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องศิลปะวัฒนธรรมไทยที่หล่อหลอมประชาชนชาวไทยในภูมิภาคต่างๆ ให้มีความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่เนื่องจากสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มรดกทางวัฒนธรรมไทยในแขนงต่างๆ เช่นโบราณวัตถุ โบราณสถาน ศิลปกรรม วรรณกรรม ดนตรี นาฏศิลป์ รวมถึงวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนชาวไทย ค่านิยมและประเพณีต่างๆที่มีมาช้านานค่อยๆหายไปอย่างช้าๆ
กรมศิลปกรจึงได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบในการกำหนดช่วงเวลาที่แน่ชัดในแต่ละปี เพื่อให้ประชาชนชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญ และความจำเป็นในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้เกิดแนวคิด ความต้องการที่จะทำนุบำรุงและรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ รวมถึงศิลปและวัฒนธรรมต่างๆที่มีมาช้านาน
เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ ๒ เมษายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น "วันอนุรักษ์มรดกไทย" เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ด้วยตระหนักในพระ ปรีชาสามารถในด้านศิลปวัฒนธรรม และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอนุเคราะห์สนับสนุนกิจกรรมอันเนื่องด้วยงานวัฒนธรรมของชาติเสมอมา โดยเฉพาะทรงเป็นแบบอย่างในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ และพระราชจริยาวัตรในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่าง ๆ เช่น วรรณศิลป์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษาไทย สถาปัตยกรรม ดนตรีไทยและพุทธศาสนา รวมทั้งได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการสร้างสรรค์และธำรงรักษามรดกของชาติให้ยั่งยืนตกทอดต่อไปถึงลูกหลานเป็น "วันอนุรักษ์มรดกไทย" ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจ ความสำนึกรัก และหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้มากยิ่งขึ้น
ความหมายวันอนุรักษ์มรดกไทย
วันอนุรักษ์มรดกไทย หมายถึง วันเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นแบบอย่างในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่างๆ คือ พระพุทธศาสนา วรรณกรรม ภาษาไทย ประวัติศาสตร์และโบราณคดี สถาปัตยกรรมและงานช่าง ดนตรีไทย รวมทั้งได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคคลบาทในการสร้างสรรค์และธำรงมรดกของชาติให้ยั่งยืนและสืบทอดไปชั่วลูกชั่วหลานสืบไป
สำหรับคำว่า “ มรดกไทย ” คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ มรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ซึ่งได้แก่ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์และดนตรี ตลอดจนถึงการดำเนินชีวิตและคุณค่าประเพณีต่างๆอันเป็นผลผลิตร่วมกันของผู้คนในผืนแผ่นดินในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ”
วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทย
- เพื่อให้ประชาชนได้เห็นคุณค่ามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ
- เพื่อให้มีการรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ
- เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีความรู้สึกร่วมในความเป็นเจ้าของโบราณสถาน โบราณวัตถุและร่วมรับผิดชอบดูแลทะนุบำรุงรักษาได้เป็นมรดกไทยประจำถิ่น
- เพื่อพัฒนามรดกวัฒนธรรมในท้องถิ่นเป็นที่ท่องเที่ยว
- เพื่อป้องกันการถูกทำลายของโบราณสถานโบราณวัตถุ
- เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติ ซึ่งมีผลให้วัฒนธรรมไทยเบี่ยงเบนไปในทางที่ไม่ดี
ที่มา: www.hilight.kapook.com, www.pr.prd.go.th, www.manager.co.th
กิจกรรมวันอนุรักษ์มรดกไทย
- จัดการแสดงและนิทรรศการเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เช่น การฉายภาพยนตร์ ทัษนศึกษาโบราณสถาน
- รณรงค์ให้มีการพัฒนา บูรณะและทำความสะอาดโบราณสถานศาสนสถาน
- เปิดพิพิธภัณฑ์โบราณสถานเพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมเสริมสร้างความรู้ทางวัฒนธรรม
Bibliography
culture.go.th. (NA). 2 เมษายน - วันอนุรักษ์มรดกไทย. Retrieved from http://www.culture.go.th: http://goo.gl/E3eFPy
lib.ru.ac.th. (2006, December 20). วันอนุรักษ์มรดกไทย 2 เมษายน. Retrieved from http://www.lib.ru.ac.th: http://www.lib.ru.ac.th/journal/apr/apr02-ThaiHeritage.html
myhora.com. (NA). วันอนุรักษ์มรดกไทย 2559. Retrieved from http://www.myhora.com: http://goo.gl/HH1isk
th.wikipedia.org. (2016, January 16). วันอนุรักษ์มรดกไทย. Retrieved from https://th.wikipedia.org: https://goo.gl/hDAVi0
tlcthai.com. (2015, February 2). วันอนุรักษ์มรดกไทย (2 เมษายน). Retrieved from http://www.tlcthai.com: http://www.tlcthai.com/education/history-of-thailand/4449.html