iEnergyGuru

9 พฤษภาคม: วันพืชมงคล

 วันพืชมงคล

9 พฤษภาคม

วันพืชมงคล

ความสำคัญของวันพืชมงคล

"วันพืชมงคล" ถูกริเริ่มขึ้นเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรของชาติ และรำลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยพระราชพิธีนี้จะประกอบไปด้วย 2 พระราชพิธี เข้าด้วยกันคือ

  1. พิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญให้แก่เมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้เมล็ดพืชพันธุ์นั้น เจริญเติบโตและอุดมสมบูรณ์
  2. พิธีแรกนาขวัญ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว และเป็นการส่งสัญญาณว่า ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว

ประวัติของวันพืชมงคล

วันพืชมงคล เป็นวันที่ ประกอบพระราชพิธี 2 พระราชพิธีเข้าด้วยกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์อย่างหนึ่งซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันแรก และ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์อย่างหนึ่งซึ่งจะประกอบพิธีในวันถัดไป แต่เดิมในสมัยโบราณตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ยังไม่มีพระราชพิธีพืชมงคลเกิดขึ้น มีแต่พระราชพิธีจรดนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้นๆว่า พิธีแรกนา ในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น
พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถเอง เพียงแต่เสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธานเหมือนครั้งสมัยกรุงสุโขทัยแต่จะทรงจำศีลเป็นเวลา
3 วัน และได้มอบอาญาสิทธิ์ให้โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์และเมื่อมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในการปกครองของรัชกาลที่ 1 ผู้ที่ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาพหลเทพคู่กันกับการยืนชิงช้า ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ 2 แต่เมื่อถึงรัชกาลที่ 3 ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนาด้วย
โดยในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ดังนั้นพระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นพิธีของสงฆ์จึงได้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยจัดรวมกันกับพระราชพิธีจรดนังคัลแรกนาขวัญ และตั้งชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ส่วนวันประกอบพระราชพิธีนั้นจะต้องอยู่ในระหว่างเดือน 6 เพราะเป็นฤดูฝน ซึ่งเหมาะสมแก่การทำเกษตรกร ทำไร่ ทำนา และต้องเป็นวันที่ดีที่สุดของแต่ละปี ประกอบด้วย ขึ้น แรม ฤกษ์ยาม และเมื่อโหรหลวงคำนวณได้วันอุดมมงคลฤกษ์ที่จะประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว สำนักพระราชวังจะทำการบันทึกไว้ในปฏิทินหลวง พร้อมกับกำหนดการว่าวันใดเป็นวันประกอบพระราชพิธีพืชมงคล และวันใดเป็นวันประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

การประกอบพระราชพิธีวันพืชมงคล

พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งข้าวที่นำเข้าพิธีพืชมงคลนั้นเป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้มีเมล็ดพืชต่าง ๆ รวม 40 อย่าง แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาว นอกจากนี้ยังมีข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนา บรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่ง เป็นข้าวพันธุ์ดีที่โปรดฯ ให้ปลูกในสวนจิตรลดา และพระราชทานมาเข้าพิธีพืชมงคล  โดยพันธุ์ข้าวพระราชทานนี้จะใช้หว่านในพระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่เหลือทางการจะบรรจุซอง แล้วส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ให้เป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้

 กิจกรรมต่างที่ควรปฏิบัติในวันพืชมงคล 

1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ

2. จัดนิทรรศการ แสดงประวัติความเป็นมา และความสำคัญของวันพืชมงคลรวมทั้งพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ


Bibliography

  1. edtguide.com. (13 May 2015). วันพืชมงคล 2558 พระโคกินหญ้า-งา คำทำนายวันพืชมงคล. Retrieved from: http://goo.gl/ZH9XKS
  2. region6.prd.go.th (NA). วันพืชมงคล. Retrieved from: http://goo.gl/bplo8T
  3. paoyingshub.com (NA). วันพืชมงคล. Retrieved from: http://goo.gl/Pa53wn

 วันพืชมงคล

9 พฤษภาคม

0 Reviews

Write a Review

Exit mobile version