ภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากที่สุด คือ “อากาศ” ที่เราหายใจ ?
(ที่มาของรูปภาพ website : dw.com)
มลพิษทางอากาศเปรียบเสมือนฆาตกรที่มองไม่เห็น องค์การอนามัยโลกมีการประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศกว่า 7 ล้านคนในแต่ละปี พบว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตในสหรัฐอเมริกา 7,500 ถึง 52,000 คน โดยมีสาเหตุมาจากการสูดรับอากาศที่เจือปนมลพิษที่มาจากโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ หากอ้างอิงตามดัชนี Environmental Performance Index (EPI) ของปี 2018 พบว่า มลพิษทางอากาศเป็นภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรามากที่สุด
รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยลและโคลัมเบียด้วยการร่วมมือกับ World Economic Forum ให้มีการจัดอันดับ 180 ประเทศทั่วโลก ผ่านเครื่องมือชี้วัดจำนวน 24 รายการ โดยแบ่งประเภทการตรวจชี้วัดออกเป็น 10 หัวข้อ ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่สุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อมและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ โดยประเทศที่มีคะแนนสูงสุดคือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามมาด้วยประเทศฝรั่งเศส เดนมาร์ก มอลตา และสวีเดน ส่วนประเทศที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ท้ายรายการ ได้แก่ ประเทศอินเดีย บังคลาเทศ บุรุนดี สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และเนปาล ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกานั้นอยู่ในอันดับที่ 27 ของรายการ ที่ทำคะแนนได้ดีในเรื่องของสุขาภิบาลและคุณภาพอากาศ แต่ถูกตัดคะแนนไปในส่วนของการตัดไม้ทำลายป่าและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
(ที่มาของรูปภาพ website : https://www.pinterest.com/)
ดัชนี EPI แสดงให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศเป็นภัยคุกคามอันดับต้นๆ ต่อสุขภาพของเรา อย่างไรก็ตามผลจากการตรวจสอบด้วยดัชนีชี้วัดดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนตื่นตระหนกและหวาดกลัว แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตระหนักและมีการกำหนดนโยบายเพื่อการดูแลรักษาสภาพอากาศซะมากกว่า Daniel C. Esty ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า “ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกที่กำลังแสวงหาเป้าหมายของการพัฒนาใหม่ๆ ที่มีความยั่งยืน ดังนั้นผู้ที่มีอำนาจในการออกกฎหมายหรือวางนโยบายจำเป็นต้องทราบดีว่าใครกันที่ต้องตื่นตัวต่อความท้าทายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม” เขากล่าวเพิ่มเติม “ผลที่ได้รับจากดัชนีชี้วัดประจำปี 2018 นี้ได้ยืนยันว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนจะสำเร็จได้จำเป็นต้องใช้ 2 สิ่งประกอบกัน นั่นคือ ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่สามารถผลิตพลังงานเพื่อการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการอย่างรอบคอบในด้านอุตสาหกรรมและสังคมเมืองที่เป็นต้นเหตุของการทำให้เกิดมลภาวะต่าง ๆ – ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อทั้งสุขภาพและระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม”
การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม
ดัชนี EPI ประจำปี 2018 แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของประเทศในเรื่องของการบริหารจัดการมลภาวะและสภาพแวดล้อมให้มีความยั่งยืน อย่างไรก็ตาม เรายังเห็นถึงแนวโน้มทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก ประเทศที่มีอันดับรั้งท้ายมักเป็นประเทศที่ไม่ได้รับการสนับสนุนในเรื่องของการบริหารจัดการและแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เช่นกันที่การจัดการด้านมลภาวะทางอากาศก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ซึ่งเป็นภาวะปัญหาที่มีความน่ากลัวที่สุด
มลพิษทางอากาศนั้นส่งผลกระทบโดยตรงกับการพัฒนาสมองของมนุษย์ และมันส่งผลกระทบด้านสุขภาพที่รุนแรงและน่ากลัวนอกจากนี้ แนวโน้มประชากรโลกที่นับวันจะยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ มีการพัฒนาด้านต่างๆ และการพัฒนาเมืองให้ขยายใหญ่ขึ้น เราจึงเห็นแนวโน้มที่ปัญหามลพิษทางอากาศจะยิ่งเลวร้ายลงหากเราไม่ทำอะไรสักอย่าง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เครื่องมือการตรวจสอบมลพิษทางอากาศที่สร้างขึ้นจะทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้องประชากรของประเทศตนจากภัยพิบัติอันน่ากลัวที่กำลังเกิดขึ้นนี้
มลพิษทางอากาศนั้นส่งผลกระทบโดยตรงกับการพัฒนาสมองของวัยเด็ก (ที่มาของรูปภาพ website : weforum)
เรียบเรียงโดย นาย ศาสตร์ณุพล วิเชียรกัลยารัตย์ ทีมงาน iEnergy Guru
เอกสารอ้างอิง
https://www.weforum.org/agenda/2018/02/pollution-is-the-biggest-environmental-threat-to-our-health
http://www.dw.com/en/five-of-the-worlds-biggest-environmental-problems/a-35915705
https://nypost.com/2014/04/21/the-deadliest-environmental-threat-its-not-global-warming/