จรวด VASIMR ของนาซ่าที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์พลาสม่าทะยานสู่ดาวอังคารใช้เวลาเพียง 6 สัปดาห์
ภาพจำลองยานอวกาศ VASIMR ขนาด 200 เมกะวัตต์
(ที่มาของรูปภาพ website : spaceflightinsider)
องค์การ NASA เพิ่งมีการมอบเงินทุนจำนวน 10 ล้านเหรียญให้กับทางบริษัท Ad Astra Rocket แห่งรัฐเท็กซัสเพื่อพัฒนาจรวดแบบใหม่ที่มีชื่อว่า Variable Specific Impulse Magnetoplasma Rocket หรือเรียกสั้นๆว่า VASIMR ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ผลักดันยานอวกาศที่อยู่บนอวกาศหรือยานอวกาศที่ถูกส่งขึ้นไปบนวงโคจรเรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ส่งยานอวกาศออกจากพื้นโลก มีลักษณะเป็นตัวปล่อยจรวดแม่เหล็กไฟฟ้าที่สามารถขับดันจรวดไปยังดวงจันทร์ได้ภายใน 39 วัน ซึ่งเงินทุนของนาซ่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “12 NextSTEP” โดยจรวดของ Ad Astra สามารถเดินทางได้เร็วกว่าจรวดเชื้อเพลิงในปัจจุบันถึง 10 เท่า ทั้งยังใช้เชื้อเพลิงเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น
ระบบการทำงานของ VASIMR (ที่มาของรูปภาพ website : sci-techuniverse)
Franklin Chang Diaz อดีตนักศึกษาสถาบัน MIT ทั้งยังเป็นนักบินอวกาศของ NASA และปัจจุบันเป็นซีอีโอของ Ad Astra กล่าวว่า “ระบบจรวด VASIMR จะส่งผลให้ระยะเวลาการเดินทางไปยังดาวอังคารลดลงไปหลายเดือนเลยทีเดียว”
เขากล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “จรวดลำนี้จะไม่เหมือนจรวดใด ๆ ที่เคยสร้างขึ้นมาเลย เพราะมันคือจรวดพลาสม่า ซึ่งไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อส่งยานอวกาศออกจากพื้นโลก แต่จะทำหน้าที่ผลักดันยานอวกาศที่อยู่ในวงโคจรเรียบร้อยแล้ว เรียกกระบวนการนี้ว่า “in-space propulsion”
โดย VASIMR มีลักษณะการทำงานโดยการใช้เชื้อเพลิงความร้อนจากพลาสม่าที่เกิดจากแก๊สที่ถูกทำให้มีความร้อนสูงมากจนใกล้เคียงกับระดับอุณหภูมิของดวงอาทิตย์ จากนั้นระบบจะทำให้เกิดแรงผลักจากกรวยพลาสม่าบริเวณส่วนหลังของตัวจรวดให้สามารถส่งยานออกไปได้ Franklin Chang Diaz กล่าวว่า “VASIMR จะสามารถลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงไปหลายพันแกลลอนและยังสามารถประหยัดงบประมาณไปได้หลายสิบล้านดอลลาร์ต่อปีเลยทีเดียว”
ที่มาของรูปภาพ website : sci-techuniverse
เรียบเรียงโดย นาย ศาสตร์ณุพล วิเชียรกัลยารัตย์ ทีมงาน iEnergy Guru
เอกสารอ้างอิง
https://www.sci-techuniverse.com/2016/01/nasas-new-vasimr-plasma-engine-could.html
https://www.space.com/23613-advanced-space-propulsion-vasimr-engine.html