“New Generation of Automotive” กับอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา
งานสัมมนา "New Generation of Automotive" จากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย และแนวทางส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ในประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก นาย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ
ต้นกำเนิดยานยนต์นั้นมีมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1886 ที่มีการใส่ระบบเผาไหม้เข้าไปในรถสามล้อโดยใช้เชื้อเพลิงคือน้ำมันเบนซิล และอีก 9 ปีต่อมามีการคิดค้นน้ำมันดีเซล ที่ช่วยถนอมเครื่องยนต์ได้มากขึ้น แต่เงื่อนไขการใช้งานที่แตกต่างกันก็ยังทำให้ทั้งยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงทั้งสองชนิดแพร่หลายในปัจจุบัน
MG หรือ Morris Garages เป็นหนึ่งในบริษัทยานยนต์ที่ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1924 ภายใต้การดูแลของ SAIC ที่มีศูนย์กลางการออกแบบฟังก์ชันการใช้งานและการออกแบบด้านเทคนิคต่างๆที่ประเทศอังกฤษ ต่อมามีการขยายตลาดไปยังประเทศจีนภายใต้การดูแลของ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ที่ต่อมาได้เข้ามาร่วมทำบริษัทกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ในปีค.ศ. 2013 ในนามบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำการตลาด MG ในไทยและภูมิภาคอาเซียนต่อไป
ในอดีต ด้วยจำนวนยานยนต์บนท้องถนนมีไม่มากนัก เชื้อเพลิงที่ถูกนำไปใช้ก็ไม่มากทำให้มลพิษที่ถูกปล่อยออกมายังไม่มีนัยยะสำคัญ จนกระทั่งค.ศ. 1860 ที่เริ่มมีมาตรการควบคุมมลพิษที่ประเทศอเมริกาด้วยปริมาณยานยนต์บนท้องถนนที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันๆ มลพิษจากยานพาหนะจึึงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์โลกร้อนในปีค.ศ. 2009 ส่งผลให้การรณรงค์ลดมลพิษทางอากาศมีความจริงจังขึ้นมาในอย่างเห็นได้ชัด
ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในทางออกระยะยาวที่สำคัญที่จะช่วยลดการเผาไหม้เชื้อเพลิง เนื่องจากการสันดาปภายในของยานยนต์ทั่วไปย่อมปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หรือคาร์บอนมอนอกไซด์หากเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ซึ่งต่างก็เป็นมลพิษทางอากาศทั้งคู่ ในจุดนี้เอง MG ได้มองเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ๆ จากยานยนต์พลังงานทางเลือกเช่น ยานยนต์ไฟฟ้า และได้มีการเปิดตัว MG ZS EV ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% พร้อมกับคอนเซ็ปต์ "EASY" ที่ราคาสามารถเอื้อมถึงได้ง่าย ดูแลรักษาง่าย และใช้งานได้ง่ายในปีค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา
ภาครัฐให้ความสำคัญในการผลักดันและกระตุ้นให้ประเทศไทยเห็นความสำคัญ ความจำเป็นและประโยชน์จากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle; HEV), ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (Plug-in Hybrid Electric Vehicle; PHEV), และยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle; BEV) ที่จะช่วยลดมลภาวะทางอากาศในระยะยาว จากการประชุมครั้งที่ 1 ของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปเห็นชอบแผน 30@30 โดยปีค.ศ. 2030 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศไทยโดยแบ่งเป็น 3 ระยะได้แก่
• ระยะสั้น (ปี 2020-2022) ผลิตรถสำหรับรถราชการ รถสาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ 60,000-110,000 คัน
• ระยะกลาง (ปี 2021-2025) จะผลักดัน ECO EV จำนวน 100,000-250,000 คัน และผลักดัน Smart City Bus จำนวน 300,000 คัน
• ระยะยาว (ปี 2026-2030) ให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 750,000 คัน
อีกทั้งมีการสนับสนุนโครงการด้านต่างๆ อาทิเช่น โครงการ "ยานยนต์เก่าแลกยานยนต์ไฟฟ้า (xEV)" โดยให้นำรถเก่าที่มีอายุใช้งานมากกว่า 15 ปีมาเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้าได้เลยเป็นโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรม การนำเสนอให้รัฐบาลช่วยผลักดันเริ่งสิทธิพิเศษด้านภาษีหรือการลงทุน รวมถึงสิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้นโดยมี MG เป็นแกนนำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทว่าการที่จะนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาให้เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย ไม่ได้ง่ายนัก ปัจจัยมากมายยังคงเป็นอุปสรรคโดยเฉพาะการเปิดใจยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้มองเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของยานยนต์ไฟฟ้า นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้พูดถึงประเด็นนี้ไว้ว่า "การที่จะผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดได้ ต้องเริ่มจากการสร้างการรับรู้เรื่องนวัตกรรม ต่อยอดสู่การพัฒนาให้ได้ เพราะประเทศเราเป็นฐานการผลิตรถยนต์ประเภทสันดาปภายในมานาน ดังนั้นจึงต้องรีบศึกษาเพื่อผันตัวเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยต์ไฟฟ้า ต้องรีบปรับตัวให้ทัน ต้องดูเรื่องความพร้อมของผู้ผลิตและผู้ใช้งาน ซึ่งจากแผน 30@30 เราต้องคิดกลยุทธ์เพื่อให้เกิดการลงทุนที่มากขึ้น ให้มันเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเรา"
อีกปัญหาที่เป็นที่แคลงใจของผู้ที่คาดหวังจะใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตที่ขาดไม่ได้คือเรื่องการเติม หรือชาร์จพลังงานไฟฟ้า ที่ยังมีสถานีบริการแท่นชาร์จที่ไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอต่อการใช้งานจริง ในส่วนนี้ได้มีผู้ที่เกี่ยวข้องจาก 3 ภาคส่วนได้มีบทบาทและให้คำชี้แจงดังนี้
การไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค (PEA) มีการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าชื่อว่า PEA Volta แล้วทั้งหมด 11 แห่งรอบๆกรุงเทพและปริมณฑล และภายในไตรมาศที่ 2 ของปีค.ศ. 2021 ตามแผนจะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั่วไทยเพิ่มอีก 62 จุดตามเส้นทางหลักโดยแบ่งเป็น 56 จุดในสถานีปั๊มน้ำมันบางจากและ 6 จุดในพื้นที่ของการไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาคสาขาต่างๆและในระยะถัดไปภายในปีค.ศ. 2022 จะมีการดำเนินการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าอีก 64 จุดตามเส้นทางรอง สิริรวมแล้ว 137 จุดครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร)
ทางด้านการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ที่มีส่วนงานที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรีและสมุทรปราการ ปััจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าแล้ว 10 จุดรวม 15 แท่นชาร์จ โดยมีแผนการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มอีก 118 จุดรวมเป็น 128 จุด ประกอบกับเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้จุดบริการผ่านแอพพลิเคชั่นที่กำลังพัฒนาอยู่และพร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ภายในปีค.ศ. 2022
ในส่วนของ MG เองได้เริ่มทำการติดตั้งจุดชาร์จในรูปแบบกระแสตรง (DC) แล้วในปีนี้ จำนวน 100 จุดกระจายไปตามโชว์รูมและศูนย์บริการของ MG ทั่วประเทศอีกทั้งยังมีแผนขยายสถานีชาร์จอีก 3 แผนในระยะยาวดังนี้
• แผนการเพิ่มจุดชาร์จอีก 1 เท่าตัวในปีค.ศ. 2022
• แผนเพิ่มจำนวนจุดชาร์จตามเส้นทางหลักตามทางหลวง
• แผนเพิ่มสถานีชาร์จตามศูนย์การค้า ออฟฟิศ และที่พักอาศัย
จากคำแนะนำของทั้ง 3 หน่วยงานเป็นแผนคาดการณ์ในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคและเสริมสร้างแรงผลักดันให้ยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทกับสังคมไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าหากเราเปิดใจยอมรับนวัตกรรมใหม่แล้ว หากเราหมดความกังวลในเรื่องความเพียงพอของพลังงานไฟฟ้าแล้ว รถยนต์ไฟฟ้าที่ผู้บริโภคซื้อมาจะมีสมรรถนะที่ดี ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถและผู้ร่วมใช้ถนน ในส่วนนี้ได้มีผู้ที่เกี่ยวข้องจาก 2 หน่วยงานให้คำชี้แจงดังนี้
สถาบันยานยนต์ (TAI) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นกลไกของภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้กับกระทรวงอุตสาหกรรมมีพันธกิจในเรื่องของการศึกษาวิจัยในด้านเทคโนโลยียานยนต์ร่วมกับทั้งทางภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ ฝึกอบรม ศูนย์ทดสอบตามมาตรฐาน มอก. และตามมาตรฐานต่างประเทศด้วย ปัจจุบันสถาบันยานยนต์มีที่ตั้ง 3 แห่งโดยมีสาขาสนามไชยเขต จ.ฉะเชิงเทรา จะรับหน้าที่ทดสอบด้าน EV ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับศูนย์ทดสอบสนามไชยเขตคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายนนี้ โดยจะมีการทดสอบความแข็งแรง การชาร์จไฟ การปล่อยกระจุเกิน การทนต่ออุณหภูมิ และการตรวจสอบไฟฟ้าลัดวงจร เพื่อให้แน่ใจได้ว่าทุกชิ้นส่วนที่นำไปใช้จะปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน
ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) มีแผนการจัดทำมาตรฐานแกนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ทั้งด้านการกำหนดมาตรฐาน IEC & ISO ด้านการพัฒนาระบบยานยนต์รวมถึงระบบช่วยขับขี่ ADAS ที่เริ่มนิยมมากขึ้น อีกทั้งต้องการให้มีมาตรฐานของเครื่องชาร์จ หัวชาร์จ แท่นชาร์จและที่สำคัญคือแบตเตอรีในยานยนต์ไฟฟ้า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านการทดสอบใน Lab Test ตามมาตรฐานบังคับรวมไปถึงการนำ Cell Battery ที่มีโมดูลและวงจรควบคุมแบตเตอรี (BMS) ช่วยในการจัดการและควบคุมประจุ, การวิจัยเรื่องการปล่อยประจุไฟฟ้า, การชาร์จไฟฟ้าทั้งกระแสตรง (DC) และกระแสสลับ (AC), การตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ, การระบายความร้อนของแบตเตอรี่, การทดสอบโครงสร้างน้ำหนักเบาและการทดสอบปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตถึงเรื่องคลื่นความถี่ที่อาจมีการรบกวนกันได้บนท้องถนน ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลคร่าวๆในการทดสอบเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่จะเข้ามาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี
หากรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทบนท้องถนนไทยมากขึ้นก็คงจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ไม่น้อย สถานการณ์ตอนนี้ก็เปรียบเสมือนการเปลี่ยนนิสัยคนที่กินซาลาเปาเป็นอาหารหลัก ให้เปลี่ยนมาทานพิซซ่าแทน ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งผู้ผลิตด้านอุปกรณ์และผู้บริโภคด้านอุปนิสัย ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนเป็นอย่างดี เป็นที่น่าจับตามองไม่น้อยว่าอีกไม่นานจะมีคนกินพิซซ่าเป็นอาหารหลักมากยิ่งขึ้นๆเรื่อยไป
เรียบเรียงโดย นายชยุตม์ สุดล้ำเลิศ ทีมงาน iEnergy Guru