iEnergyGuru

24 กรกฎาคม 2454 นักโบราณคดีชาวอเมริกันค้นพบมาชูปิกชู

ใครจะรู้ว่าบนยอดเขาสูงชันเสียดฟ้า ที่มีเส้นทางขรุขระ เข้าถึงยาก เต็มไปด้วยภยันตราย อากาศหนาวเย็น และมองเห็นเมฆหมอกลอยต่ำอย่างเทือกเขาแอนดีส (Andes) นั้น จะมีเมืองโบราณแห่งอาณาจักรอินคา (ระหว่าง พ.ศ. 1743-1993) นครสาบสูญนานนับศตวรรษ แห่งอเมริกาใต้ ที่นักโบราณคดีเรียกซากอารยธรรมโบราณแห่งนี้ว่ามาชูปิกชู (Machu Picchu) คาดว่ามาชูปิกชูสร้างขึ้นราว พ.ศ. 1993 โดยจักรพรรดิปาชากูตีของชาวอินคา มาชูปิกชูถูกปล่อยทิ้งไว้นับร้อยปี เพราะชาวสเปนเข้ามาล่าอาณานิคม ได้ฆ่าชาวเปรูและชาวอินคา เมืองอินคาเลยถูกปล่อยร้างไว้

 

มาชูปิกชู ตั้งอยู่ระหว่างยอดเขาสองลูกบนเทือกเขาแอนดีส ที่ระดับความสูง 2,430 เมตร ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 70 กิโลเมตรของเมืองคูซโก (Cuzco) ประเทศเปรู (Peru) เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนสองแนว จึงมักเกิดแผ่นดินไหว แต่ด้วยความมหัศจรรย์ของมาชูปิกชูคืองานก่อสร้างขั้นสุดยอด โดยใช้หินยึดเข้าด้วยกันด้วยการตัดแต่งหินอย่างแม่นยำจนเรียงซ้อนกันได้อย่างสนิท เมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือน หินจึงกลับเข้าที่ได้อย่างรวดเร็วทำให้มาชูปิกชูยังอยู่รอดมาได้ถึงปัจจุบัน เนื่องจากยอดเขา ณ หน้าผามาชูปิกชู เป็นหน้าผาที่มีลักษณะดิ่งชันสูงถึง 600 เมตรจากฐานที่เป็นแม่น้ำชื่อ แม่น้ำอูรูแบมบา(Urubamba River) ที่ตั้งของตัวเมืองนับเป็นความลับทางการทหารก็เนื่องจากการเป็นหน้าผาสูงชันที่มีอันตรายที่เป็นปราการป้องกันธรรมชาติอันยอดเยี่ยมนั่นเอง

ปัจจุบันมาชูปิกชูเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีชื่อดังที่สำคัญแห่งหนึ่งของอเมริกาใต้ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้ไปเยือนเปรู และผู้ที่ทำให้มาชูปิกชูเป็นที่รู้จักขจรไกลไปทั่วโลกก็คือ ไฮแรม บิงแฮม (Hiram Bingham III) นักสำรวจ นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักปีนเขาชาวอเมริกัน ผู้ที่วงการโบราณคดีสากลยอมรับนับถือในความวิริยะอุตสาหะและความเป็นนักวิชาการในฐานะผู้บุกเบิกในการศึกษาและอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งนี้

ไฮแรม บิงแฮม พบเมืองมาชูปิกชูด้วยความบังเอิญ 

ไฮแรม บิงแฮม เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2418 ที่โฮโนลูลู เกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกา บิดาเป็นมิสชันนารีนิกายโปรเตสแตนท์ชาวอเมริกัน บิงแฮมได้รับการศึกษาอย่างดีจากสถาบันการศึกษาชื่อดังของอเมริกาและของโลก มีหน้าที่การงานสูงส่งและมีเกียรติตลอดชีวิตของเขา ช่วง พ.ศ. 2437-2441 บิงแฮมเข้าศึกษาในสาขาเคมีจนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale College) จากนั้นก็ทำงานระยะสั้นๆ ในช่วง พ.ศ. 2442-2443 กลับเข้าเรียนต่อสาขารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ (University of California, Berkeley) ต่อมาช่วง พ.ศ. 2443-2448 เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) จนได้รับปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังศึกษาหลักสูตรหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน (Princeton University) อีกด้วย บิงแฮมผ่านอาชีพการงานหลายอย่าง นับตั้งแต่เป็นศาสตราจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ นักบิน รองประธานบริษัทค้าน้ำมัน ผู้ว่าการรัฐคอนเนตทิคัต วุฒิสมาชิก สมาชิกองค์กรเอกชนที่บำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณะ เช่น National Geographic Society, Royal Geographic Society, Sigma Psi Fraternity เป็นต้น

บิงแฮมชอบการสำรวจผจญภัย ชอบปีนไต่เขา ทั้งยังมีพื้นฐานการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ระดับดอกเตอร์ เขาจึงเดินทางไปยังสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อยู่เสมอ โดยเฉพาะการเดินทางไปอเมริกาใต้

ไฮแรม บิงแฮม ขณะตั้งแคมป์บนเทือกเขาแอนดีส – ภาพจาก www.britannica.com

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2449 บิงแฮมแล่นเรือใบไปยังอเมริกาใต้ตามเส้นทางของนักสำรวจคนหนึ่งที่เคยสำรวจไว้เมื่อปี พ.ศ. 2362 เมื่อกลับจากการสำรวจเขาได้เขียนบทความเผยแพร่ในวารสารด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 บิงแฮมเข้าร่วมประชุมทางวิชาการที่ซันติอาโก ประเทศชิลี การประชุมครั้งนั้นจุดประกายให้แก่บิงแฮมโดยเขาตัดสินใจสำรวจศึกษาเส้นทางการค้าของพวกสเปนในยุคล่าอาณานิคม บิงแฮมเริ่มเดินทางสำรวจจากบัวโนสไอเรส (อาร์เจนตินา) ไปจนถึงลิมา (เปรู)

ในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2454 บิงแฮมย้อนกลับไปเยือนอเมริกาใต้อีกครั้งในนามผู้อำนวยการโครงการเดินทางสำรวจแห่งเปรู ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากเพื่อนในมหาวิทยาลัยเยลซึ่งมีฐานะดี บิงแฮมและทีมงานได้สำรวจแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมของชาวอินคาหลายแห่งบนเทือกเขาแอนดีส ซึ่งการสำรวจเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากเป็นพื้นที่สูงชัน มีหุบเหวน่ากลัว และยังมีสัตว์มีพิษจำนวนมาก โดยเฉพาะงูพิษ

การค้นพบเมืองมาชูปิกชูอาจเป็นเรื่องความบังเอิญมากกว่าความตั้งใจ กล่าวคือบิงแฮมพยายามค้นหาเมืองวิลกาบัมบา (Vilcabamba) ซึ่งเป็นเมืองที่มั่นสุดท้ายของอาณาจักรอินคาหลังจากที่นักล่าอาณานิคมชาวสเปนโจมตีเมืองคูซโก (Cuzco) ซึ่งเป็นเมืองหลวงในปี พ.ศ. 2076 จักรพรรดิอินคาชื่อมันโก อินคา (Manco Inka) หลบหนีออกจากเมืองคูซโกเข้าป่าไปซ่อนตัวอยู่ที่เมืองวิลกาบัมบาซึ่งอยู่ไม่ไกลจากคูซโกนัก ต้องใช้เวลาเดินทางด้วยเท้าประมาณ 4-5 วัน เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยป่ารก หุบเขา และภูเขาสูงชัน

มันโก อินคา ซ่องสุมไพร่พลกองทหารที่เมืองวิลกาบัมบาแห่งนี้เพื่อต่อสู้กับทหารม้าของพวกสเปนที่นำทัพโดยฟรันซิสโก ปิซาร์โร (Francisco Pizarro) บิงแฮมศึกษาเอกสารพบว่าเมืองวิลกาบัมบายังไม่มีใครค้นพบมาก่อนและเข้าใจว่าหายสาบสูญไป เขาแปลกใจมากว่าทำไมเมืองนี้ถึงรอดพ้นจากการโจมตีของพวกสเปนในสมัยนั้น ดังนั้นเขาจึงพยายามสืบเสาะให้ได้ว่าเมืองนี้อยู่ที่ไหน บิงแฮมสัมภาษณ์คนพื้นเมืองหลายคน และจ้างชาวไร่พื้นเมืองคนหนึ่งนำทางสำรวจยอดเขาตามฝั่งแม่น้ำวิลกาบัมบา

มาชูปิกชู แปลว่า “ภูเขาโบราณ”

ในที่สุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 บิงแฮมก็ได้พบซากเมืองโบราณตั้งอยู่บนสันที่เชื่อมยอดเขาสองยอดที่คนพื้นเมืองเรียกว่ามาชูปิกชู (แปลว่า “ภูเขาโบราณ”) บิงแฮมเชื่อว่าเมืองนี้คือเมืองวิลกาบัมบาที่สาบสูญไป และทำให้บิงแฮมเข้าใจด้วยว่าในอดีตทหารสเปนไม่สามารถเข้าถึงเมืองนี้และรอดพ้นการโจมตีของทหารสเปนเพราะเมืองนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ล้อมรอบด้วยโตรกธารและหน้าผาสูงชัน

แผนที่แสดงเทือกเขาแอนดีสและที่ตั้งเมืองมาชูปิกชู – ภาพจาก www.silpa-mag.com

จนในที่สุดเขาก็มาถึงสันเขาที่สูงประมาณ 300 เมตร และเขาได้พบสิ่งก่อสร้างปรักหักพังก่อด้วยหินสีขาวมีตะไคร่เขียวเกาะ บิงแฮมเดินวนสำรวจซากป้อม กำแพง บ้านเรือน และพระราชวังที่ก่อสร้างด้วยหินแกรนิตสีขาวอยู่นานนับชั่วโมง บิงแฮมบรรยายความรู้สึกเมื่อได้สัมผัสพื้นที่และบรรยากาศบนยอดเขามาชูปิกชูและพบเห็นซากเมืองโบราณว่า
“ในท่ามกลางเสน่ห์อันหลากหลายและอำนาจที่สะกดพวกเรา ข้าพเจ้ารู้เลยว่าไม่มีที่ใดในโลกเทียบเทียมกับสถานที่แห่งนี้ได้ ไม่เพียงแต่มียอดเขาสูงที่มีหิมะปกคลุมเหนือเมฆหมอกในระดับสูงไม่ต่ำกว่า 2 ไมล์ มีแนวหินแกรนิตหลากสีสูงชันนับพันฟุตจากเกาะแก่งเบื้องล่างที่มีน้ำไหลเสียงดังคำรามและส่งแสงประกายแวววาว แต่บนนี้ยังมีกล้วยไม้ เฟิร์น พืชพรรณ ซึ่งล้วนแต่สวยงามอย่างเพลิดเพลิน และยังมีป่าไม้ที่ดูราวกับมีคาถาอาคมลึกลับอีกด้วย”

อย่างไรก็ตามในครั้งนั้นบิงแฮมไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการบันทึกและวาดภาพสภาพซากสิ่งก่อสร้าง โบราณสถาน และสภาพภูมิประเทศรอบๆ แต่ 2-3 สัปดาห์ต่อมา เขาได้จ้างทีมสำรวจขึ้นไปถากถางต้นไม้และหญ้าออกจากโบราณสถาน และทำแผนที่เมืองนี้ไว้ ในปีถัดมา (พ.ศ. 2455) โดยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยเยลและสมาคมภูมิศาสตร์แห่งชาติ (National Geographic Society) บิงแฮมกลับไปมาชูปิกชูอีกครั้ง คราวนี้เขาตั้งใจขุดค้นเมืองโบราณแห่งนี้อย่างเป็นระบบ แต่งานหนักก่อนการขุดค้นก็คือการอพยพชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ตามสิ่งก่อสร้างโบราณนั้นออกไปเสียก่อน

หนังสือบางเล่มกล่าวว่านอกจากความยากลำบากในการอพยพผู้คนออกไปแล้ว บิงแฮมยังเผชิญกับงูพิษจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในที่สุดบิงแฮมก็ดำเนินการขุดค้นซากเมืองโบราณจนกระทั่งเขาพบหลักฐานต่างๆ มากมาย เช่น งานสถาปัตยกรรมที่ประณีตสวยงาม สิ่งก่อสร้างที่เชื่อว่าคือวิหาร สถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ที่อยู่อาศัยของกษัตริย์ ห้องอาบน้ำ ที่พำนักของขุนนางและข้าราชบริพาร ฯลฯ บิงแฮมสรุปว่าเมืองนี้มีทุกอย่างเท่าที่กษัตริย์หรือจักรพรรดิต้องการ และเมืองนี้อาจเป็นต้นกำเนิดของชาวอินคาตามตำนานพื้นบ้านของชาวอินคา

ผลงานการค้นพบและขุดค้นเมืองมาชูปิกชูของบิงแฮมได้รับการเผยแพร่ให้โด่งดังไปทั่วโลกเมื่อวารสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (National Geographic) ฉบับปี พ.ศ. 2456 ตีพิมพ์ภาพและรายงานการสำรวจ การขุดค้น และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งเล่ม ต่อมาเมืองโบราณมาชูปิกชูกลายเป็นสนามทำงานวิจัยของนักโบราณคดีทั้งชาวต่างชาติและชาวเปรูมาจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลจากการวิจัยภายหลังบ่งชี้ว่ามาชูปิกชูเป็นคนละเมืองกับวิลกาบัมบา แหล่งที่ตั้งของเมืองวิลกาบัมบาคือตัมปูตอกโก (Tampu Tocco) ส่วนเมืองมาชูปิกชูอาจเป็นเพียงอสังหาริมทรัพย์ของจักรพรรดิอินคาองค์หนึ่ง

เมื่อ พ.ศ. 2468 มาชูปิกชูเป็นหลักฐานที่สำคัญของจักรวรรดิอินคา ในปี พ.ศ. 2526 องค์กรยูเนสโกได้กำหนดมาชูปิกชูให้เป็นมรดกโลก โดยทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนนิยมไปศึกษาประวัติศาสตร์

มาชูปิกชู หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่

7 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 มาชูปิกชูได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ จากการลงคะแนนทั่วโลกทั้งทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือแต่หลักฐานจากเอกสารโบราณจำนวนมากชี้ว่า ชื่อของมันคือ "อวยนาปิกชู" (Huayna Picchu) หรือ "ปิกชู" (Picchu) ต่างหาก ผลการศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร Ñawpa Pacha ของสถาบันอาณาบริเวณศึกษาแถบเทือกเขาแอนดีส (IAS) โดยทีมผู้วิจัยระบุว่าได้สืบค้นข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่นแผนที่ซึ่งระบุชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงศตวรรษที่ 19 เอกสารจากนักล่าอาณานิคมชาวสเปนในศตวรรษที่ 17 รวมทั้งบันทึกข้อมูลภาคสนามต้นฉบับของบิงแฮม

มาชูปิกชูเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอันดับหนึ่งของเปรู

ในปัจจุบัน มาชูปิกชูเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอันดับหนึ่งของเปรู ทั้งที่การเดินทางเข้าถึงเมืองโบราณแห่งนี้ค่อนข้างลำบาก ต้องปีนป่ายหน้าผา ไต่เขาสูงชัน แต่นักท่องเที่ยวไม่เคยลดน้อยลงเลย มีแต่จะเดินทางขึ้นมาชมเพิ่มขึ้น และยูเนสโกได้ส่งสารแสดงถึงความเสียหายจากการที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทางรัฐบาลเปรูแก้ปัญหาด้วยการเรียกเก็บเงินจากผู้ที่ไปเที่ยวชมและจำกัดจำนวนผู้เข้าชมแทน และได้มีการเสนอให้สร้างรถรางนำนักท่องเที่ยวขึ้นมาชมเมืองและทัศนียภาพบนยอดเขา แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธไป

เรียบเรียงโดย ประพัฒน์ศร ทีมงาน iEnergyGuru

อ้างอิง
en.wikipedia.org/wiki/Machu_Picchu
en.wikipedia.org/wiki/Hiram_Bingham_III
thestandard.co/onthisday240763-2
www.silpa-mag.com/history/article_9754
www.nanitalk.com/interesting-story/important-day/this-day-in-history/8583
www.history.com/topics/south-america/machu-picchu
www.britannica.com/biography/Hiram-Bingham-American-archaeologist-and-United-States-senator

5 Reviews

5
5
5
5
5

Write a Review

Exit mobile version