iEnergyGuru

18 สิงหาคม วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เป็นวันสำคัญของประเทศไทย และมีความสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ไทย กำหนดให้ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม ของทุกๆ ปี เนื่องจากเป็นวันที่เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ที่บ้านหว้ากอ ตำบลคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้ทรงคำนวณปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้ล่วงหน้า และเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อปี พ.ศ. 2411 จนได้ชื่อว่า “บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ส่วนประชาคมดาราศาสตร์สากลได้เรียกสุริยุปราคาในครั้งนี้ว่า “King of Siam's eclipse” (อุปราคาของพระเจ้ากรุงสยาม) ปัจจุบันมีการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นประจำทุกปี วันนี้ iEnergyGuru ขอนำเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาเล่าสู่กันฟัง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายภาพร่วมกับเจ้าเมืองสิงคโปร์และแขกต่างประเทศ ณ บ้านหว้ากอ / ภาพจาก th.wikipedia.org

การคำนวณปักข์ (ครึ่งเดือนทางจันทรคติ)

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช (รัชกาลที่ 4) แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงสนพระทัยวิชาคณิตศาสตร์และวิชาดาราศาสตร์ในตำราโหราศาสตร์ของไทย ในที่สุดพระองค์ทรงได้คิดวิธีการคำนวณปักข์ (ครึ่งเดือนทางจันทรคติ) เพื่อประโยชน์ในการกำหนดวันธรรมสวนะ (วันพระ) ให้ถูกต้องตามการโคจรของดวงจันทร์ที่เรียกว่า “ปฏิทินปักขคณนา” (ปักขคณนา คือ วิธีนับปักข์หรือรอบครึ่งเดือนของข้างขึ้นข้างแรม เป็นวิธีนับที่แม่นยำสูง) และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ทำปฏิทินจันทรคติพระทุกปี แทนปฏิทินฆราวาส ขณะเดียวกันพระองค์ได้ทรงคิดสูตรสำเร็จในการคำนวณปักข์ออกมาในรูปกระดานไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อจะได้วันพระที่ถูกต้องโดยไม่ต้องเสียเวลาคำนวณ และมีชื่อเรียกว่า “กระดานปักขคณนา” ซึ่งปัจจุบัน ยังคงมีให้เห็นในวัดสายธรรมยุต เช่น วัดราชาธิวาส พระปรีชาสามารถด้านดาราศาสตร์นั้นคงจะเริ่มตั้งแต่เมื่อทรงพระเยาว์ทรงทอดพระเนตรดาวหาง ซึ่งพระองค์ยังได้ทรงออกประกาศแจ้งอย่าได้วิตก เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ไม่ให้เชื่อตามคำเล่าลือที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ซึ่งนับเป็นประกาศทางวิทยาศาสตร์ฉบับแรกของประเทศ

สถาปนาระบบเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศไทย

ในพระราชฐานของพระองค์ ทั้งที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดจะมีหอดูดาว โดยเฉพาะหอชัชวาลเวียงชัย ในบริเวณพระนครคีรีหรือเขาวัง พระราชวังสำหรับแปรพระราชฐาน อยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี ที่มีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์วิชาดาราศาสตร์ของไทย ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นสถานที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ในการรักษาเวลามาตรฐานของประเทศไทยต่อไป ดังนั้นหอนี้จึงเป็นอนุสรณ์แห่งผลสัมฤทธิในทางวิทยาศาสตร์เรื่องระบบเวลา พระองค์ทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2395 โดยสร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยขึ้นในพระบรมราชวัง ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวงบอกเวลามาตรฐานของประเทศไทยสมัยนั้น โดยมีพนักงานตำแหน่งพันทิวาทิตย์ เทียบเวลาตอนกลางวันจากดวงอาทิตย์ และพันพินิตจันทรา เทียบเวลาตอนกลางคืนจากดวงจันทร์

ทรงคำนวณสุริยุปราคาไว้ล่วงหน้า 2 ปี

ต่อมาในวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค โดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชจากท่านิเวศวรดิษฐ์ไปยังบ้านหว้ากอ พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ (รัชกาลที่ 5) ขณะพระชนมายุ 16 พรรษา กับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชบริพารจำนวนมาก ด้วยทรงตั้งพระปณิธานแน่วแน่ที่จะพิสูจน์ผลการคำนวณของพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้า 2 ปี ว่าจะเกิดในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 โดยจะเห็นหมดดวงและชัดเจนที่สุด คือ ที่หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ เมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่บริเวณเกาะจาน ขึ้นไปถึงปราณบุรี และลงไปถึงเมืองชุมพร จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ พร้อมกับเชิญคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเซอร์แฮรี่ ออด (Sir Harry St. George Ord) เจ้าเมืองสิงคโปร์เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสังเกตการณ์ ซึ่งเมื่อถึงวันอังคารที่ 18 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2411 เหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่พระองค์ทรงพยากรณ์ทุกประการ ไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว

ผลการคำนวณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแม่นยำมาก เซอร์แฮรี ออด บันทึกเหตุการณ์ไว้ซึ่ง ต่อมาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลเป็นภาษาไทยในงานหว้ากอรำลึก ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2518 ว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระสำราญมาก เพราะการคำนวณเวลาสุริยุปราคาของพระองค์ ได้พิสูจน์แล้วว่าถูกถ้วนที่สุด ถูกถ้วนยิ่งกว่าที่ชาวยุโรปได้คำนวณไว้”

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ บ้านหว้ากอ นับเป็นจุดเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ในเมืองไทย แต่ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้าในปี พ.ศ. 2231 ในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็เคยเกิดสุริยุปราคาในซารอสเดียวกันคือซารอส 133

ภาพสเก็ตช์โคโรนาของดวงอาทิตย์โดยกัปตันบุลล็อก / ภาพจาก th.wikipedia.org

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือปรากฏการณ์สุริยุปราคาดังกล่าว เป็นซารอส (Saros) เดียวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนที่เกิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อวันที่ 30 เมษายน ปี พ.ศ. 2231 เห็นคราสเต็มดวงพาดผ่านจีน บังคลาเทศ และอินเดีย ส่วนประเทศไทยเห็นเพียงปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้เสด็จทอดพระเนตร ณ พระราชวัง เมืองลพบุรี พร้อมคณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่ได้ตั้งกล้องโทรทรรศน์แล้วฉายภาพดวงอาทิตย์ลงมายังฉากรับถวายเพื่อทอดพระเนตร ขณะที่คณะบาทหลวงได้ใช้เครื่องวัดมุมแพรัลแลกซ์ (Parallax) เสมือนนาฬิกา และยังใช้กล้องส่องติดตามดวงอาทิตย์ด้วย

ซารอสนั้นคือวงรอบปรากฏของการเกิดคราสแบบเดิมซึ่งมีช่วงเวลาประมาณ 18 ปี 11 วัน 8 ชั่วโมง โดยเมื่อครบรอบการเกิดคราส 1 รอบ ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์จะหวนกลับมาอยู่ในตำแหน่งเรขาคณิตเช่นเดิม แต่ตำแหน่งของคราสจะขยับไปทางทิศตะวันตกของตำแหน่งเดิมที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า ซึ่งสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ และสุริยุปราคาบางส่วนที่เมืองลพบุรี เป็นสุริยุปราคาในซารอสที่ 133 เช่นเดียวกัน และเกิดห่างกัน 10 ซารอสพอดี

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) บรรยายให้ข้อมูลระหว่างกิจกรรม “รฤกนารายณ์มหาราช ย้อนอรุณรุ่งแก่งดาราศาสตร์ 330 ปี” ซึ่งจัดขึ้น ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี เมื่อ 30 เมษายน ปี พ.ศ. 2561 ว่า ข้อมูลประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเกิดสุริยุปราคาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ นั้น เพิ่งค้นพบเพียงไม่กี่ปีมานี้เอง โดยก่อนหน้านั้นพบเพียงหลักฐานการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2228 ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้เสด็จทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งไกรสรสีหราช เมืองลพบุรี

หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนเมื่อ ปี พ.ศ. 2228 คือ ภาพวาดสีน้ำมันขณะสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทอดพระเนตรปรากฏการณ์พร้อมคณะบาทหลวงที่สวมชุดสีดำ ภายในภาพมีออกญาวิไชเยนทร์ใส่เสื้อคลุมสีแดงทำหน้าที่เป็นล่าม และมีพระเพทราชานั่งในท่ามอบคลานมองไปยังท้ายกล้องโทรทรรศน์ที่มีฉากรับภาพปรากฏการณ์ ต้นฉบับของภาพดังกล่าวเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส

ดร.ศรัณย์ให้ข้อมูลด้วยว่า กาลิเลโอ กาลิเลอิ ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องขึ้นไปสังเกตวัตถุท้องฟ้าเป็นครั้งแรกกาลิเลโอ ก่อนสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นครองราชย์ประมาณ 47 ปี และยุคแรกเริ่มที่เราได้ทราบว่า โลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางจักรวาล โลกกลม และทราบขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโลก และการทำแผนที่โลกถือเป็น “ชุดข้อมูลขนาดใหญ่” (Big Data) สำหรับยุคนั้น ส่วนที่ยากที่สุดคือการหาเส้นแวงหรือลองจิจูด (Longitude) ของโลก และต้องอาศัยการสังเกตปรากฏการณ์อุปราคาอย่างจันทรุปราคาช่วยคำนวณ

สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่พาดผ่านบ้านหว้ากอนั้น ดร.ศรัณย์ระบุว่า ชาวตะวันตกเป็นผู้คำนวณว่าจะเกิดปรากฏการณ์ขึ้นเมื่อใด แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการคำนวณว่าคราสจะพาดผ่านที่ใดบ้าง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงคำนวณและคาดการณ์สถานที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในเมืองไทยได้อย่างแม่นยำ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณว่าคราสจะพาดผ่านบ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และทรงพยากรณ์ไว้ว่า คลาสเริ่มจับเวลา 10.04 น. รอจนถึง 10.16 น. คลาสเริ่มจับมากขึ้นทุกที ท้องฟ้าที่สว่างเริ่มมืดสลัวลง จนถึงเวลา 11.20 น. ท้องฟ้ามืดลงจนมองเห็นดวงดาว คลาสจับเต็มดวงเมื่อเวลา 11.36 น. 20 วินาที กินเวลานานถึง 6 นาที 45 วินาที ท้องฟ้ามืดจนเป็นเวลากลางคืน นับเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงตรงตามเวลาที่พระองค์ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ทุกประการ

สุริยุปราคาซารอสที่ 133 จะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2573 โดยเห็นได้บริเวณแอฟริกาตอนใต้และออสเตรเลีย ส่วนสุริยุปราคาเต็มดวงที่จะเห็นได้ในเมืองไทยอีกครั้งคือวันที่ 11 เมษายน ปี พ.ศ. 2613 ซึ่งปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นนั้น คราสเต็มดวงจะพาดผ่านบ้านหว้ากออีกครั้งด้วย

18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์ไทย

สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเฉพาะทางด้านดาราศาสตร์ มีแนวคิดว่าน่าจะถือเอาวันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์ไทย ต่อมาวันที่ 14 เมษายน ปี พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” วันที่ 18 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2511 หลายหน่วยงาน เช่น สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ กรมอุทกศาสตร์ กรมชลประทาน กรมแผนที่ทหาร กรมอุตุนิยมวิทยา กรมไปรษณีย์โทรเลข ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดงานขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และต่อมาได้มีการสร้าง “อุทยานวิทยาศาสตร์” ที่ บ้านหว้ากอ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออุทยานนี้ว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” และได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมรูปหล่อประทับนั่งบนพระเก้าอี้ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเรือ ชุดเดียวกับวันที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาบ้านหว้ากอ

นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2527 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 18–24 สิงหาคม โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการต่างๆ จนได้รับความสนใจทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งทำให้คณะรัฐมนตรีได้เล็งเห็นความสำคัญ ดังนั้น เมื่อวันที่ 3 กันยายน ปี พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการจัดงาน “สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ระหว่างวันที่ 18–24 สิงหาคม เป็นประจำทุกปี

เรียบเรียงโดย พลูโทเนียม ทีมงาน iEnergyGuru

อ้างอิง

https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1610

https://th.wikipedia.org/wiki/สุริยุปราคา_18_สิงหาคม_พ.ศ._2411

https://th.wikipedia.org/wiki/วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

https://mgronline.com/science/detail/9610000042910

https://en.wikipedia.org/wiki/Saros_(astronomy)

https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

https://th.wikipedia.org/wiki/พระที่นั่งไกรสรสีหราช_(พระที่นั่งเย็น)

https://th.wikipedia.org/wiki/พารัลแลกซ์

https://th.wikipedia.org/wiki/ปฏิทินปักขคณนา

2 Reviews

5
5

Write a Review

Exit mobile version