“การรู้หนังสือเป็นการให้อิสรภาพแก่ผู้คนทั้งหลาย เป็นอิสรภาพจากความไม่รู้ อิสรภาพจากความยากจน อิสรภาพจากความเจ็บไข้ได้ป่วย เพียงเพราะคนเหล่านั้นมีความรู้ สามารถอ่านออกเขียนได้ แสดงให้เห็นว่าเมื่อรู้หนังสือและมีโอกาสนำไปปฏิบัติแล้วก็จะช่วยให้ดำเนินชีวิตได้อย่างเสรีและมีชีวิตที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น” คือประเด็นที่ยูเนสโกนำเสนอ
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ปี พ.ศ.2508 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization ; UNESCO) ประกาศให้ วันที่ 8 กันยายน ของทุกปี เป็นวันการรู้หนังสือสากล โดยวันดังกล่าวจัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2509
วัตถุประสงค์คือเพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการรู้หนังสือ อันเป็นหลักการของยูเนสโก ทั้งนี้ จากที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2489 ซึ่งผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกได้เรียกร้องให้ชาวโลกให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อปวงชน โดยเฉพาะเด็กที่ตกหล่นอยู่นอกโรงเรียน และต่อมาในที่ประชุม World Conference of Ministers of Education on the Eradication of literacy ณ กรุงเตหะราน (Tehran) ประเทศอิหร่าน (Iran) เมื่อปี พ.ศ.2508 มีการเสนอให้ วันที่ 8 กันยายน ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการประชุมดังกล่าว ให้เป็น "วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ" (International Literacy Day) ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการรู้หนังสือ อันเป็นหลักการของยูเนสโก โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา และได้เชิญชวนประเทศสมาชิกจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง เพื่อระลึกถึงวันสำคัญดังกล่าว
เพราะฉะนั้น การรณรงค์ในวันที่ 8 กันยายน จึงเป็นความพยายามที่จะเรียกร้อง ให้รัฐบาลของทุกๆ ประเทศ และทุกๆ คนในสังคมตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องระดมสรรพกำลังแก้ไขปัญหาความไม่รู้หนังสือของประชากรในประเทศ ในวันการรู้หนังสือสากล ยูเนสโกย้ำเตือนประชาคมนานาชาติถึงสถานะการรู้หนังสือและการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ทั่วโลก อาทิ ข้อมูลที่ว่า ผู้ใหญ่ราว 775 ล้านคนทั่วโลกขาดทักษะการรู้หนังสือขั้นต่ำ และผู้ใหญ่ 1 ใน 5 ยังอ่านไม่ออกเขียน ไม่ได้ และ 2 ใน 3 ในจำนวนนี้เป็นหญิง เด็ก 60.7 ล้านคน ต้องออกจากโรงเรียน และอีกมากกว่านั้นเข้าร่วมการศึกษานอกระบบหรือออกโรงเรียนก่อนวัย (ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2561)
ตามรายงานการติดตามการศึกษาทั่วโลกของยูเนสโก (UNESCO "Global Monitoring Report on Education for All (2006)) (ข้อมูลเมื่อวันที่4 เมษายน ปี พ.ศ. 2560) เอเชียใต้มีอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ในภูมิภาคต่ำที่สุด คิดเป็น 58.6% รองลงมาคือพื้นที่ของทวีปแอฟริกาที่ตั้งอยู่ทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) คิดเป็น 59.7% (ข้อมูลเมื่อวันที่4 เมษายน ปี พ.ศ. 2560)ประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือต่ำที่สุดในโลก คือบูร์กินาฟาโซ (Burkina Faso) คิดเป็น 12.8% ไนเจอร์ (Niger) คิดเป็น 14.4% และมาลี (Mali) คิดเป็น 19% รายงานดังกล่าวแสดงความเชื่อมโยงอันชัดเจนระหว่างอัตราการไม่รู้หนังสือกับประเทศที่ตกอยู่ในภาวะยากจนขั้นรุนแรง และระหว่างอัตราการไม่รู้หนังสือกับอคติต่อสตรี
การเฉลิมฉลองวันการรู้หนังสือสากลได้รวมเอาหัวข้อเฉพาะ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการศึกษาเพื่อทุกคนและโครงการอื่นๆ ขององค์การสหประชาชาติ เช่น ทศวรรษแห่งการรู้หนังสือแห่งสหประชาชาติ ธีมของการเฉลิมฉลองในปี พ.ศ. 2550-2551 คือ “การรู้หนังสือและสุขภาพ” โดยมอบรางวัลให้กับองค์กรระดับแนวหน้าด้านสุขศึกษา นี่เป็นการเน้นเฉพาะเรื่องของปี พ.ศ. 2550-2551 ของทศวรรษแห่งการรู้หนังสือแห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง International Literacy Day 2008 ให้ความสำคัญกับการรู้หนังสือและโรคระบาด โดยเน้นที่โรคติดต่อ เช่น เอชไอวี วัณโรค และมาลาเรีย ซึ่งเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขระดับแนวหน้าของโลก สำหรับปี พ.ศ. 2552-2553 เน้นไปที่ “การรู้หนังสือและการเสริมอำนาจ” โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมอำนาจของสตรีเป็นพิเศษ หัวข้อของการเฉลิมฉลองปี พ.ศ. 2554-2555 คือ “การรู้หนังสือและสันติภาพ”
ปัจจุบันมีรางวัลที่เกี่ยวกับการรู้หนังสือ (2004 UNESCO Literacy Prize) ได้แก่ The International Reading Association Literacy Award, The Noma Literacy Prize, King Sejong Literacy Prizes และ The Malcolm Adiseshiah International Literacy Prize
สำหรับไทย กระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ตามที่ยูเนสโก ได้กำหนดให้วันที่ 8 กันยายนของทุกปี เป็นวันระลึกปีสากลแห่งการรู้หนังสือ ตามมติที่ประชุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจากประเทศทั่วโลกว่าด้วยการไม่รู้หนังสือ เมื่อปี พ.ศ.2508 เพื่อระลึกถึงการรู้หนังสือสากล ประเทศไทยจึงได้จัดกิจกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 เป็นต้นมา มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความร่วมมือเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการรู้หนังสือและการศึกษาตลอดชีวิต
โดยมการจัดงานขึ้นที่กองการศึกษาผู้ใหญ่และตามโรงเรียนผู้ใหญ่ทั่วไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 กองการศึกษาผู้ใหญ่ได้จัดนิทรรศการ "วันการศึกษาผู้ใหญ่แห่งชาติ" ขึ้น ณ หอสมุดแห่งชาติ และในปี พ.ศ. 2521 ได้จัดนิทรรศการ “วันการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษานอกระบบ” ขึ้น ณ บริเวณโรงละครแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานจากภายนอกเข้ามาสมทบด้วย ในปี พ.ศ. 2522 ได้มีการจัดนิทรรศการ “วันการศึกษานอกโรงเรียน” ขึ้น ณ บริเวณคุรุสภา ในปีนี้มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ International Literacy Day จึงได้กลายมาเป็น “วันการศึกษานอกโรงเรียน” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา โดยเหตุที่การศึกษานอกโรงเรียนเป็นการศึกษาตลอดชีวิตและกระบวนการเรียนการสอนไม่จำกัดสถานที่ เวลา อายุ เพศหรืออาชีพของผู้เรียนแต่เน้นกลุ่มเป้าหมายที่ไม่มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในระบบโรงเรียน
การจัดการศึกษานอกโรงเรียนจึงมีหลายรูปแบบ เช่น
- การสอนให้คนอ่านออกเขียนได้ เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานในการดำรงชีวิต ได้แก่ โครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือแห่งชาติ โครงการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐาน และโครงการศึกษาต่อเนื่อง
- การจัดที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดเคลื่อนที่ วิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์
- การสอนวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้น โครงการฝึกอบรมต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายด้านวิชาชีพ และให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม
ในวันการศึกษานอกโรงเรียนได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการรู้หนังสือและการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งส่วนตนและส่วนรวมให้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยให้ประชาชนได้รับรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับการให้บริการของกรมการศึกษานอกโรงเรียนอีกด้วย
เรียบเรียงโดย ประพัฒน์ศร ทีมงาน iEnergyGuru
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/International_Literacy_Day
www.unesco.org/en/days/literacy-day
www.calendarr.com/canada/international-literacy-day