iEnergyGuru

ความเข้าใจเบื้องต้น ISO 50001

ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับ ISO 50001

ISO 50001 คืออะไร?

ISO 50001 คือ ระบบการจัดการพลังงานตามมาตรฐานสากล (Energy Management System) หรือเรียกโดยย่อว่า EnMS ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2011 (ISO 50001:2011)

โดยองค์การระหว่างประเทศ ว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization หรือเรียกโดยย่อว่า ISO)  โดยมาตรฐานนี้มีวัตถุประสงค์ ในการส่งเสริมให้องค์กรดำเนินการปรับปรุงสมรรถนะพลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลดต้นทุนด้านพลังงาน  ซึ่งให้มีการดำเนินการ และขอการรับรองโดยสมัครใจ

การขอการรับรองมาตรฐาน ISO 50001

การขอการรับรองมาตรฐานการจัดการพลังงาน ISO 50001 มีแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับมาตรฐานการจัดการอื่น ๆ โดยหน่วยงานที่ให้การรับรองระบบได้เราเรียกว่า หน่วยรับรอง (Certification Body) หรือเรียกโดยย่อว่า CB ซึ่งในประเทศไทยก็มีอยู่หลายหน่วยงานที่ให้การรับรองได้ เช่น BV, URS, TUVnord เป็นต้น โดยสถานประกอบการต้องคัดเลือกและว่าจ้างหน่วยรับรอง (CB) ที่ต้องการขอการรับรอง(Certification) และกำหนดแผนงานในการตรวจรับรอง โดยการตรวจรับรองจะแบ่งออกเป็น 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการตรวจประเมินความพร้อมเรียกว่า The first stage audit โดยผลสรุปจากการตรวจคือ ready หรือ not ready ถ้า Ready ก็สามารถตรวจในขั้นที่ 2 ได้ซึ่งเรียกว่า The second stage  Audit หรือ Certification audit ถ้าตรวจผ่านก็จะได้รับการรับรอง ถ้าไม่ผ่านต้องแก้ไขข้อบกพร่องนั้นภายใน 90 วัน จึงจะได้รับการรับรองฯ หลังจากนั้นจะต้องมีการตรวจรายปี (Surveillance audit) โดยรอบของการตรวจเพื่อการขอการรับรองใหม่ (Recertification Audit) จะเกิดขึ้นทุก ๆ 3 ปี ก่อนเอกสารแสดงการรับรองระบบ (Certificate) หมดอายุ กระบวนการในการตรวจรับรองแสดงในรูปที่ 1

 รูปที่ 1 แสดงแผนผังกระบวนการตรวจเพื่อขอการรับรอง ISO 50001

ข้อกำหนดมาตรฐานการจัดการพลังงาน ISO 50001

ข้อกำหนดในมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 โดยสังเขปได้แบ่งข้อกำหนดออกเป็น 4 ส่วนหลักตามวงล้อ PDCA (Plan-Do-Check-Act) ดังแสดงในรูปที่ 2

 

รูปที่ 2 แสดงแผนภาพกระบวนการของมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO50001:2011

ระบบมาตรฐานการจัดการพลังงาน กำหนดให้ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร (Top management) ระบุขอบข่าย (Scope) ซึ่งหมายถึง กระบวนการ หรือกิจกรรมที่ต้องการขอการรับรอง และขอบเขต (Boundary)  ซึ่งหมายถึง ที่ตั้ง ของหน่วยงานหรือองค์กร ที่ต้องการขอการรับรอง  โดยผู้บริหารสูงสุดจะประกาศแต่งตั้งผู้แทนฝ่ายบริหารพลังงาน (EnMR) และผู้แทนฝ่ายบริหารพลังงานจะสรรหาคณะทำงานด้านการจัดการพลังงานเพื่อร่วมดำเนินการจัดทำระบบการจัดการพลังงาน พร้อมทั้งประกาศนโยบายพลังงาน (Energy Policy) ขององค์กร จากนั้นองค์กรต้องจัดให้มีการวางแผนพลังงาน การปฏิบัติ การตรวจสอบ และการทบทวนการบริหารงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายพลังงาน และเกิดการปรับปรุงด้านสมรรถนะพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดดังนี้

การวางแผนพลังงาน (PLAN)

โดยการวัดและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานและปริมาณการใช้พลังงาน เพื่อบ่งชี้การใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญ (Significant Energy Use:SEU) ขององค์กรและกำหนดข้อมูลฐานพลังงานอ้างอิง (Energy Baseline) ดัชนีวัดสมรรถนะพลังงาน (EnPIs) และสมรรถนะพลังงานในปัจจุบัน ของกระบวนการหรือเครื่องจักรหลักในพื้นที่การใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญนั้น เพื่อชี้บ่งโอกาสในการปรับปรุงสมรรถนะพลังงานขององค์กร โดยกำหนดเป็นวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแผนด้านพลังงานให้สอดคล้องกับนโยบายพลังงาน กฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กระบวนการในการวางแผนพลังงานแสดงในรูปที่ 3

รูปที่ 3 กระบวนการวางแผนด้านพลังงาน (Energy Planning Process)

การปฏิบัติ (DO)

คือการดำเนินการตามแผนปฏิบัติด้านพลังงาน ซึ่งครอบคุลมถึงการดำเนินการด้านอื่น ๆ ที่จะทำให้ระบบการจัดการพลังงานมีความยั่งยืน ดังนี้
- ด้านความสามารถ การฝึกอบรม และความตระหนัก
- ด้านพลังงานของคนในองค์กร(Competence Training and awareness)
- ด้านการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร (Communication)
- ด้านระบบเอกสาร (Documentation) ซึ่งต้องดำเนินการจัดทำเอกสารให้สอดคล้องกับข้อกำหนดและการควบคุมเอกสาร
- ด้านการควบคุมการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษา (Operational Control) เฉพาะกระบวนการหรือเครื่องจักรที่มีนัยสำคัญและมีผลกระทบต่อสมรรถนะพลังงาน (SEU) ถ้ามีความจำเป็นก็ควรกำหนดวิธีปฏิบัติงาน (Work Instruction) ของแต่ละอุปกรณ์ เช่น วิธีปฏิบัติงานการเริ่มเดินหม้อไอน้ำ เป็นต้น
- ด้านการออกแบบและการจัดซื้อ สำหรับกระบวนการ เครื่องจักรที่มีนัยสำคัญและมีผลกระทบต่อสมรรถนะพลังงาน (SEU) รวมถึงการบริการด้านพลังงาน

การตรวจสอบ (CHECK)

เป็นกระบวนการในการตรวจติดตามและเฝ้าระวังให้เชื่อมั่นได้ว่าระบบการจัดการพลังงานขององค์กรยังคงอยู่ และมีสมรรถนะพลังงานที่ดี โดยการกำหนดแผนในการเฝ้าระวังและการตรวจติดตามตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อสมรรถนะพลังงาน การตรวจติดตามความสัมฤทธิ์ผลของวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านพลังงาน โดยการวัดและเครื่องมือวัดที่ใช้ต้องมีความเที่ยงตรง การตรวจสอบยังรวมถึงการตรวจประเมินภายในของระบบการจัดการพลังงาน (Internal audit) ที่ต้องทำทุกปี หากพบข้อบกพร่องหรือแนวโน้มที่จะเกิดขัอบกพร่องต้องดำเนินการปฏิบัติการแก้ไขและปฏิบัติการป้องกัน

การทบทวน (ACT)

องค์กรต้องดำเนินการทบทวนโดยฝ่ายบริหารทุกปีเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบการจัดการพลังงานยังคงอยู่ และมีการปรับปรุงและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

แนวคิดของสมรรถนะด้านพลังงาน


ในระบบการจัดการพลังงานตามมาตรฐานนี้ มุ่งเน้นการปรับปรุงสมรรถนะพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยสมรรถนะพลังงานในองค์กรนั้น มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้พลังงาน (Energy Use) ปริมาณการใช้พลังงาน (Energy Consumption) ความเข้มของการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) และอื่น ๆ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน การนำพลังงานเหลือทิ้งมาใช้ใหม่ เป็นต้น ดังนั้นการดำเนินการปรับปรุงใด ๆ ที่เกี่ยวข้องข้างต้นจึงถือว่าเป็นการปรับปรุงด้านสมรรถนะพลังงานด้วย เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในการฉีดบรรจุภัณฑ์พลาสติกแล้วทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นโดยยังใช้พลังงานเท่าเดิม ถือว่าปรับปรุงสมรรถนะพลังงานเช่นกัน เพราะส่งผลโดยตรงต่อ Energy Intensity ที่ดีขึ้น

 

 รูปที่ 4 แผนภาพแนวคิดของสมรรถนะด้านพลังงาน

 

 

เรียบเรียงโดย : วิชาญ นาคทอง (ทีมงาน iEnergyGuru)

เอกสารอ้างอิง

1. ข้อกำหนดมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 – ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ ๔๔๑๓ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๑๑เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ระบบการจัดการพลังงาน – ข้อกำหนดและข้อแนะนำในการใช้
2. International Standard ISO 50001 : Energy management systems Requirements with guidance for use
3. คู่มือพัฒนาระบบการจัดการพลังงานมาตรฐานสากล ISO 50001 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, พ.ศ. 2555
4. คู่มือพัฒนาระบบการจัดการพลังงานมาตรฐานสากล ISO 50001 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ พลังงาน, พ.ศ. 2556

2 Reviews

5
5

Write a Review

Exit mobile version