โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า
ทำความเข้าใจค่าเอฟที(Ft)แบบง่ายๆ กัน
รู้หรือไม่? ค่า Ft คืออะไร เพราะเหตุใดเราจึงต้องจ่ายค่า Ft
โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
- ค่าไฟฟ้าพื้นฐาน คือ ต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบจำหน่ายและค่าการผลิต ภายใต้สมมติฐานความต้องการใช้ไฟฟ้า ราคาเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อ ระดับหนึ่งโดยมีส่วนประกอบตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด 8 ประเภท
- ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที (Ft) คือ การเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ได้แก่ ค่าเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับที่กำหนดไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน
Ft ย่อมาจากอะไร
จากความหมายดั้งเดิม Ft ย่อมาจากคำว่า Float time มีความหมายว่า การลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น ตามช่วงเวลาต่างๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการคำนวณ
เนื่องจากตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ใช้ในการคำนวณสูตร Ft ให้คงเหลือเพียง ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน เท่านั้นที่ กฟผ.ไม่สามารถควบคุมได้ และสามารถนำไปคำนวณในสูตร Ft ดังนั้น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จึงได้ประสานงานกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง เพื่อเปลี่ยนคำย่อของค่า Ft ให้สอดคล้องกับสูตรปัจจุบัน โดยปัจจุบันค่า Ft จะย่อมาจาก Fuel Adjustment Charge (at the given time)
กติกาการปรับปรุงค่า Ft
- มีการปรับปรุงค่า Ft ทุกๆ 4 เดือน
- พิจารณาปรับค่า Ft จะอ้างอิงตามราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง
- ไม่คิดรวมกับค่าไฟฟ้าพื้นฐาน
ประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้า
ประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย
ประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก
ประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง
ประเภทที่ 4 กิจการขนาดใหญ่
ประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง
ประเภทที่ 6 องค์กรไม่แสวงหากำไร
ประเภทที่ 7 สูบน้ำเพื่อการเกษตร
ประเภทที่ 8 ผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว
ที่มา : ฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, http://www.mea.or.th/ (การไฟฟ้านครหลวง)