การขอการรับรองมาตรฐาน ISO 50001
(ISO 50001 Certification)
การขอการรับรองมาตรฐานการจัดการพลังงาน ISO 50001 มีแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับมาตรฐานการจัดการอื่น ๆ โดยหน่วยงานที่ให้การรับรองระบบได้เราเรียกว่า หน่วยรับรอง (Certification Body) หรือเรียกโดยย่อว่า CB ซึ่งในประเทศไทยก็มีอยู่หลายหน่วยงานที่ให้การรับรองได้ เช่น Bureau Veritas TUVnord URS SGS MASCI เป็นต้น ก่อนจะกล่าวถึงกระบวนการในการตรวจเพื่อการรับรองระบบนั้น ขอกล่าวถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการตรวจรับรอง ดังแสดงในรูปที่ 1
- หน่วยรับรอง (Certification Body) หรือเรียกกันโดยย่อว่า CB คือ หน่วยงานหรือบุคคลที่สามที่ให้บริการการตรวจประเมินและรับรองระบบโดยหน่วยรับรองระบบต้องผ่านการรับรองระบบตามข้อกำหนด Requirements for Bodies Providing Audit and Certification of Management System: ISO/IEC 17021
- หน่วยรับรองระบบ (Accreditation Body) หรือเรียกโดยย่อว่า AB เช่น UKAS ของประเทศอังกฤษ หรือ NAC ของประเทศไทย เป็นต้น การรับรองระบบ ก็คือ การยอมรับอย่างเป็นทางการว่าหน่วยรับรอง (Certification Body) มีความสามารถในการดำเนินการให้การรับรองกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง เช่น การรับรองระบบงานของหน่วยรับรองระบบคุณภาพ (ISO 9001) การรับรองระบบงานของหน่วยรับรองระบบการจัดการพลังงาน (ISO 50001)
- IAF (International Accreditation Forum) เป็นองค์กรที่ให้การรับรอง Accreditation Body จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกสำหรับการขอการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 นั้นสถานประกอบการที่จัดทำมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 เพื่อขอการรับรอง ต้องคัดเลือกและว่าจ้างหน่วยรับรอง (CB) ที่ต้องการขอการรับรอง (Certification) และกำหนดแผนงานในการตรวจรับรอง โดยก่อนดำเนินการตรวจสอบรับรองอาจมีการตรวจประเมินเบื้องต้น (Pre-audit) ซึ่งเป็นการบริการที่เป็นทางเลือกสำหรับหน่วยงานที่สถานประกอบการที่ยังไม่แน่ใจว่าระบบการจัดการพลังงานของตนเองที่จะขอการรับรองนั้นเดินมาถูกทางหรือไม่ โดยในขั้นการตรวจรับรองระบบนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเป็นการตรวจประเมินความพร้อมเรียกว่า The First Stage Audit โดยผลสรุปจากการตรวจคือ Ready หรือ Not Ready ถ้า Ready ก็สามารถตรวจในระยะที่ 2 ได้ซึ่งเรียกว่า The Second Stage Audit หรือ Certification audit หรือ Main Audit ถ้า Not Ready ต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน เช่นเดียวกันถ้าเป็นการตรวจ Main Audit ถ้าตรวจผ่านก็ได้รับการรับรอง ถ้าไม่ผ่านต้องแก้ไขข้อบกพร่องนั้นภายใน 90 วัน เช่นกัน จึงจะได้รับการรับรองฯ หลังจากนั้นจะต้องมีการตรวจรายปี (Surveillance Audit) โดยรอบของการตรวจเพื่อการขอการรับรองใหม่ (Re-certification) จะเกิดขึ้นทุก ๆ 3 ปี กระบวนการในการตรวจรับรองแสดงในรูปที่ 2
ในปัจจุบันการขอการรับรองระบบจะมี 2 รูปแบบคือ
- Non-Accredited Certification คือการให้การรับรองระบบมาตรฐานโดยหน่วยรับรอง (CB) ซึ่งมาตรฐานที่ให้การรับรองยังไม่ได้ผ่านการตรวจรับรองจากหน่วยรับรองระบบ (Accreditation Body) ซึ่งผู้ผ่านการตรวจรับรองจะได้เอกสารรับรองระบบ (Certificate) จากหน่วยรับรองโดยตรง เช่น จาก Bureau Veritas จาก URS หรือ จาก TUVnord เป็นต้น
- Accredited Certification คือการให้การรับรองระบบมาตรฐานซึ่งผ่านการรับรองจากหน่วยรับรองระบบ (Accreditation Body) ซึ่งผู้ผ่านการตรวจรับรองจะได้เอกสารรับรองระบบ (Certificate) จากหน่วยรับรอง และ หน่วยรับรองระบบร่วมกัน เช่น จาก Bureau Veritas และ UKAS, MASCI และ NAC เป็นต้น ซึ่งข้อดีคือมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นแต่ย่อมมีต้นทุนในการขอการรับรองสูงขึ้นเช่นกัน
แนวทางการตรวจประเมินของผู้ตรวจรับรองระบบ
เพื่อให้หน่วยงานที่มีความมุ่งมั่นในการขอการรับรองระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 มีความมั่นใจมากขึ้นในการเข้าสู่กระบวนการในการตรวจประเมินจึงขอกล่าวถึงแนวทางในการตรวจประเมินของ CB โดยสังเขป ดังนี้
ในกระบวนการตรวจประเมินเพื่อการขอรับรอง ISO 50001 นั้น ที่ผ่านมาใช้แนวทางการตรวจประเมินตามข้อกำหนด Requirements for Bodies Providing Audit and Certification of Management System: ISO/IEC 17021 เหมือนกับระบบการจัดการอื่น ๆ แต่ในการตรวจรับรองระบบ ISO 50001 จะมีความพิเศษตรงที่ในการตรวจประเมินนอกจากมีหัวหน้าผู้ตรวจประเมิน (Lead Auditor) และผู้ตรวจประเมิน(Auditor) แล้ว ยังมีความจำเป็นต้องมีผู้ชำนาญการด้านเทคนิค (Technical Expert) ที่มีความชำนาญพิเศษในกระบวนการผลิต ที่ต้องการรับรองเพิ่มเติมด้วย และในปัจจุบัน คณะกรรมการ ISO/PC 242 Energy Management ได้ออกมาตรฐานด้านการตรวจประเมินเพื่อการรับรองระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 โดยเฉพาะคือ ISO 50003 First edition 2014-10-15 Energy management systems — Requirements for bodies providing audit and certification of energy management systems ซึ่งจะทำให้แนวทางการตรวจประเมินเพื่อขอการรับรองระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 มีมาตรฐานใกล้เคียงกันในทุกหน่วยงาน
- การตรวจประเมินความพร้อม (The First Stage Audit)
เป็นการตรวจเพื่อการประเมินความพร้อมในการขอการรับรองระบบ โดยให้น้ำหนักในการตรวจเอกสาร และทวนสอบความครบถ้วนของความต้องการหลักของระบบการจัดการพลังงานในทุกข้อกำหนดของระบบ การทวนสอบขอบข่ายและขอบเขตในการขอการรับรอง การตรวจเบื้องต้นกระบวนการในการใช้พลังงานของหน่วยงาน และอาจมีการสุ่มตรวจในบางพื้นที่ที่มีนัยสำคัญในการใช้พลังงาน รวมถึงการประเมินเพื่อการวางแผนในการตรวจเพื่อการขอการรับรองในขั้นตอนต่อไป ซึ่งจะใช้เวลาในการตรวจไม่มากเมื่อเทียบกับการตรวจรับรองระบบ โดยผลการตรวจจะแสดงถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่ตรวจพบ(The areas of concern) และความพร้อมในการขอการรับรองระบบ - การตรวจรับรองระบบ (The Certification Audit)
เป็นการตรวจเพื่อประเมินผลการปฏิบัติและประสิทธิผลของการปรับปรุงด้านสมรรถนะพลังงานขององค์กร (Implementation and Effectiveness) โดยเป็นการทวนสอบระบบเอกสาร (Document Review) ของระบบทั้งหมดว่ามีความครบถ้วนและสอดคล้องกับความต้องการของระบบหรือไม่อย่างไร ดำเนินการสุ่มตรวจเพื่อทวนสอบการนำไปปฏิบัติ (Implementation) ในทุก ๆ ด้าน รวมถึงการเฝ้าระวัง การตรวจวัด และการวิเคราะห์ การตรวจประเมินภายใน การแก้ไข การปฏิบัติการแก้ไขและปฏิบัติป้องกันเมื่อพบสิ่งที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร การทบทวนการบริหารงาน และการทวนสอบประสิทธิผลที่เกิดขึ้นต่อการบรรลุวัตุประสงค์และเป้าหมายด้านพลังงาน และส่งผลต่อการปรับปรุงด้านสมรรถนะพลังงานขององค์กร (The effectiveness of energy performance improvement) ผลสำเร็จของการตรวจประเมินคือการให้การรับรองระบบ (Certificated) ซึ่งโดยทั่วไปจะต้องมีการตรวจรับรองใหม่ (Recertification audit) ทุก ๆ 3 ปี ก่อนวันหมดอายุของเอกสารรับรองระบบ - การตรวจรายปี (Surveillance Audits)
เป็นการตรวจเพื่อยืนยันความคงอยู่ของระบบการจัดการพลังงานขององค์กร อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยรายละเอียดในการตรวจประเมิน จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับข้อบกพร่องจากผลการตรวจในครั้งที่ผ่านมาวงรอบในการขอการรับรอง และการตรวจประเมินรับรองระบบแสดงในรูปที่ 4
เรียบเรียงโดย : อ.วิชาญ นาคทอง (ทีมงาน iEnergyGuru)
เอกสารอ้างอิง
(1) ข้อกำหนดมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 – ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ ๔๔๑๓ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๑๑เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ระบบการจัดการพลังงาน – ข้อกำหนดและข้อแนะนำในการใช้
(2) International Standard ISO 50001 : Energy management systems Requirements with guidance for use
(3) คู่มือพัฒนาระบบการจัดการพลังงานมาตรฐานสากล ISO 50001 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, พ.ศ. 2555
(4) คู่มือพัฒนาระบบการจัดการพลังงานมาตรฐานสากล ISO 50001 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ พลังงาน, พ.ศ. 2556