การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ
ในประเทศไทย Geothermal electricity
ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพเพียง 1 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพฝาง ตั้งอยู่ที่ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ติดกับบ่อนํ้าพุร้อนฝาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณี และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการสำรวจศักยภาพการพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ อำเภอสันกำแพงและอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา
โดยได้รับความร่วมมือด้านวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากองค์การเพื่อการจัดการด้านพลังงานประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 พบว่าจากหลุมเจาะระดับตื้นของแหล่งฝางมีความเหมาะสมต่อการนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2531 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จัดหาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าระบบสองวงจร ขนาดกำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ มาติดตั้งเป็นโรงไฟฟ้าสาธิตที่ใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพเป็นแห่งแรก เป็นโรงไฟฟ้าระบบสองวงจร โรงไฟฟ้าใช้นํ้าร้อนจากหลุมเจาะระดับตื้นที่มีอุณหภูมิ 130 องศาเซลเซียส มีปริมาณการไหล 16.5 ถึง 22 ลิตร/วินาที มาถ่ายเทความร้อนให้กับสารทำงาน กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณปีละ 1.2 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ถูกส่งเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อจ่ายให้ผู้ใช้ไฟฟ้า นํ้าร้อนที่นำไปใช้ในโรงไฟฟ้า เมื่อถ่ายเทความร้อนให้กับสารทำงานแล้ว อุณหภูมิจะลดลงเหลือ 77 องศาเซลเซียส สามารถนำไปใช้ในการอบแห้ง หรือห้องเย็นสำหรับเก็บรักษาพืชผลทางการเกษตรได้นํ้าอุ่นบางส่วนที่ปล่อยทิ้งจากกระบวนการเป็นนํ้าสะอาดที่สามารถปล่อยลงสู่แหล่งนํ้าธรรมชาติได้โดยตรง
ผังการทํางานโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพฝาง ระบบสองวงจร ขนาด 300 กิโลวัตต์
โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
น้ำพุร้อนฝาง จ.เชียงใหม่
ห้องอบแห้งพลังงานความร้อนใต้พิภพ น้ำพุร้อนฝาง จ.เชียงใหม่
ห้องทำความเย็นพลังงานความร้อนใต้พิภพ น้ำพุร้อนฝาง จ.เชียงใหม่
พัฒนาเป็นห้องเย็น ห้องอบแห้ง และใช้เพื่อการท่องเที่ยว
เอกสารอ้างอิง
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน. (2557). พลังงานความร้อนใต้พิภพ. In กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, สารานุกรมพลังงานทดแทน (pp. 233-234 ). กรุงเทพมหานคร,ประเทศไทย.