7 แนวทางในการเปลี่ยนเมืองสีเทาให้กลายเป็นเมืองสีเขียวปลอดมลพิษอย่างยั่งยืน
7 แนวทางในการเปลี่ยนเมืองสีเทาให้กลายเป็นเมืองสีเขียวปลอดมลพิษอย่างยั่งยืน
(ที่มาของรูปภาพ website : weforum)
ความเป็นชุมชนเมืองถือเป็นลักษณะของชีวิตอันทันสมัย ทว่านั่นไม่จำเป็นต้องหมายความว่าชาวเมืองจะต้องทอดทิ้งธรรมชาติ
สหประชาชาติคาดการณ์ว่า 2 ใน 3 ของประชากรโลกจะมีชีวิตอาศัยอยู่แบบชุมชนเมืองทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2050 ในขณะที่แนวโน้มของผู้คนที่จะต้องอยู่แบบชุมชนเมืองมีมากขึ้นเท่าไหร่ แนวโน้มที่เราจะต้องสูญเสียชีวิตสัตว์ป่าก็มีมากขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างเหล่านี้เป็น 7 แนวทางหรือตัวอย่างชุมชนเมืองที่ผู้คนสามารถดำรงชีวิตอย่างเป็นมิตรต่อพืชและสัตว์ป่าได้อย่างไม่มีปัญหา
-
การพัฒนาชุมชนที่พักอาศัยที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่าในอังกฤษ
การพัฒนาชุมชนที่พักอาศัยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ ประกอบไปด้วยบ้านใหม่กว่า 2,450 ยูนิต มีมูลค่าถึง 81 ล้านปอนด์ (107 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งเป็นมิตรและช่วยรักษาชีวิตสัตว์ป่าไว้ได้ องค์กรการกุศลเกี่ยวกับการอนุรักษ์นก RSPB ได้มีการระดมทุนสร้างที่อยู่นกที่เรียกว่า “swift bricks” ซึ่งเป็นคอนโดที่พักสำหรับนกที่จะไม่สร้างความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือนหรือสร้างความรำคาญให้กับคนในชุมชนเมืองนอกจากนี้ ยังมีการสร้างที่พักสำหรับค้างคาว อีกา และนกนางแอ่น ให้เป็นส่วนหนึ่งของที่พักอาศัยของคน ในขณะที่มีการปลูกและทำแนวพุ่มไม้ตามทางเดินสัตว์ป่าเพื่อดึงดูดผึ้ง ตัวเม่น และแมลงต่าง ๆ ด้วย
-
“Forest City” ในประเทศจีน
รัฐบาลจีนกำลังมีการสร้างชุมชนเมืองใหม่ที่อาคารทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน สำนักงาน บ้านเรือน และโรงพยาบาล จะอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่กว่า 40,000 ต้นและดอกไม้พืชพันธุ์นานาชนิดอีกกว่า 1 ล้านต้น โดย Forest City นั้นตั้งอยู่ในเขตภูเขาของมณฑลกว่างซีทางตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จภายในปี ค.ศ. 2020 อย่างที่ทราบกันดีว่า จีนกำลังต่อสู้กับปัญหามลภาวะทางอากาศและหนึ่งในเป้าหมายหลักของการสร้าง Forest City ก็เพื่อการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศและช่วยลดมลพิษทางอากาศนั่นเอง
Forest City ในประเทศจีนที่ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ (ที่มาของรูปภาพ website : weforum)
-
หอสมุดต้นไม้ในอิตาลี
หอสมุดที่กำลังก่อสร้างขึ้นในย่านธุรกิจสีเทาบริเวณใจกลางเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี จะเต็มไปด้วยต้นไม้จำนวนมากและพืชพันธุ์นานาชนิด โดยจะมีต้นไม้กว่า 450 ต้นจาก 19 สายพันธุ์ และ 90,000 พืชพันธุ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้พุ่ม ต้นไม้ขนาดเล็ก และไม้เลื้อย เป็นต้น หอสมุดดังกล่าวเมื่อสร้างเสร็จซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2018 จะกลายเป็นพื้นที่สีเขียวที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,500 ตารางเมตรใจกลางเมือง
-
ร่มไม้แห่งชุมชนเมืองในสหรัฐอเมริกา
เมืองบัลติมอร์กำลังดำเนินภารกิจการปลูกต้นไม้ให้เพียงพอที่จะสามารถบรรลุเป้าที่ 40% ของการสร้างร่มไม้ของชุมชน ซึ่งโครงการปลูกต้นไม้ได้เริ่มต้นขึ้นตามชุมชนต่างๆ ในเมืองบัลติมอร์ โดยตั้งแต่เริ่มโครงการมีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นกว่า 4,000 ต้น โดยทางรัฐมีการกำหนดไว้ว่า ครึ่งหนึ่งของต้นไม้ที่ปลูกจะต้องเป็นต้นโอ๊ค สาเหตุที่เป็นต้นโอ๊คเพราะเป็นต้นไม้ที่มีประโยชน์ต่อสรรพพสัตว์ ตั้งแต่หนอนผีเสื้อไปจนถึงนกหลากหลายชนิด แม้แต่ปลาต่างๆ ที่อยู่ในน้ำก็ยังกินใบโอ๊คที่ร่วงทับถมในลำธารได้
กลุ่ม Baltimore Tree Trust กับโครงการปลูกป่าในเมือง (ที่มาของรูปภาพ website : weforum)
-
สวนแนวตั้งสูง 100 เมตรในออสเตรเลีย
มีการทุ่มทุนกว่า 1.5 พันล้านเหรียญเพื่อพัฒนา One Central Park ในซิดนีย์ ซึ่งเป็นสวนที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ที่พักอาศัยบนตึกสูงผ่านผืนป่าอันเขียวชอุ่มและแสงแดดสดใส โดยตึกสูงเหล่านี้แม้จะถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้จำนวนมาก ทว่ายังสามารถปล่อยให้แสงแดดส่องถึงผู้อาศัยด้านล่างของตึกได้ด้วยแผงกระจกสะท้อนขนาดใหญ่
-
การแปลงโฉมโรงงานในฝรั่งเศส
Renault เป็นโรงงานเก่าในเมือง Boulogne ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันได้ถูกแปลงโฉมกลายเป็นโรงเรียนที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อการเพาะพันธุ์พืชและสัตว์ โดยมีการปลูกพืชสีเขียวบนหลังคาตึกที่มีลักษณะลาดเอียงทั่วทั้งอาคารเรียน ซึ่งพื้นที่สีเขียวไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพเด็กๆ เท่านั้น แต่ยังช่วยให้เด็กๆ เหล่านี้ได้สัมผัสกับระบบนิเวศจริงด้วย
โรงเรียนสีเขียวท่ามกลางตึกสูงกลางเมือง (ที่มาของรูปภาพ website : weforum)
-
หลังคาต้นไม้ในแคนาดา
โตรอนโตถือเป็นเมืองแรกในทวีปอเมริกาเหนือที่ผ่านกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาเชิงพาณิชย์ สถาบัน และที่พักอาศัย ให้สามารถติดตั้งระบบการปลูกพืชบนหลังคาในขนาดของพื้นที่ตามกำหนดได้
หลังคาต้นไม้มีระบบการยับยั้งราก ระบบการระบายน้ำ และพืชสามารถเจริญเติบโตได้บนแผ่นบุกันน้ำ โครงการหลังคาต้นไม้ที่ว่านี้ได้รับการค้นพบและพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยป้องกันน้ำท่วมพืช ซึ่งก็มีลักษณะเดียวกันกับการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับนกและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย
เรียบเรียงโดย นาย ศาสตร์ณุพล วิเชียรกัลยารัตย์ ทีมงาน iEnergy Guru
เอกสารอ้างอิง
https://www.weforum.org/agenda/2017/11/7-ways-towns-and-cities-are-turning-from-grey-to-green/
https://www.theguardian.com/environment/2009/mar/25/green-infrastructure
http://www.atkinsglobal.com/en-gb/angles/all-angles/turning-the-grey-city-green
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!