พลังงานแสงอาทิตย์กับประเทศไทย

แผนที่ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย (SOLAR RESOURCE MAP OF THAILAND)

แผนที่ความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ของประเทศไทย จัดทำขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2542 โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และภาควิชาฟิสิกส์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้รับรังสีดวงอาทิตย์สูงสุดระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม มีค่าความเข้มรังสีดวงอาทิตย์อยู่ในช่วง 20 ถึง 24 เมกะจูล/ตารางเมตร-วันบริเวณที่ได้รับรังสีดวงอาทิตย์สูงสุดเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมบางส่วนของจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น และอุดรธานี และบางส่วนของภาคกลางที่จังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาท อยุธยา และลพบุรี โดยได้รับรังสีดวงอาทิตย์เฉลี่ยทั้งปี 19 ถึง 20 เกะจูล/ตารางเมตร-วัน คิดเป็น ร้อยละ 14.3 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 50.2 ของพื้นที่ทั้งหมดได้รับรังสีดวงอาทิตย์เฉลี่ยทั้งปีในช่วง 18-19 เมกะจูล/ตารางเมตร-วัน และมีเพียงร้อยละ 0.5 ของพื้นที่ทั้งหมดที่ได้รับรังสีดวงอาทิตย์ตํ่ากว่า 16 เมกะจูล/ตารางเมตร-วัน เมื่อคำนวณความเข้มรังสีรวมของดวงอาทิตย์รายวันเฉลี่ยต่อปีของพื้นที่ทั่วประเทศพบว่ามีค่าเท่ากับ 18.2 เมกะจูล/ตารางเมตร-วัน แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์สูง

s5

แผนที่ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย จากข้อมูลดาวเทียม เก็บข้อมูลในช่วง
ปี พ.ศ.2538 ถึง พ.ศ.2552

การผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในประเทศไทย (SOLAR ELECTRICITY IN THAILAND)

การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการใช้งานในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง ได้แก่ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ รองลงมาเป็นระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อกับระบบสายส่ง (grid-connected application) ระบบประจุแบตเตอรี่ด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ระบบสื่อสารโทรคมนาคม และระบบสูบนํ้าตามลำดับ ซึ่งหน่วยงานที่นำระบบดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ยังคงเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดหาระบบพลังงานสำหรับสาธารณประโยชน์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เริ่มต้นทดลองติดตั้งและทดสอบการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 เป็นการใช้งานในอุปกรณ์ต่างๆ ของหน่วยงานภายใน กฟผ. เช่น ใช้กับวิทยุสื่อสารสัญญาณไฟกระพริบ เครื่องมือบันทึกข้อมูล เครื่องวัดแผ่นดินไหว ไฟแสงสว่างสำหรับที่พักเจ้าหน้าที่สำรวจ เป็นต้น

ต่อมาได้พัฒนาการใช้งานในลักษณะของการสาธิตเพื่อผลิตไฟฟ้าขนาดที่ใหญ่ขึ้น โดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าร่วมกับพลังงานชนิดอื่นๆ เช่น พลังงานนํ้า พลังงานลมกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นเชื่อมโยงเข้ากับระบบสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เช่น โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน กำลังผลิตติดตั้ง 0.5 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กำลังผลิตติดตั้ง 1 เมกะวัตต์ เป็นต้น กฟผ. ยังได้จัดทำโครงการสาธิตการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารและบ้านพักอาศัย เช่น ระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารศาลากลางจังหวัดอาคารของรัฐอาคารศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 7 แห่ง บ้านพักประชาชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 60 หลัง กำลังผลิตติดตั้งรวม 159.5 กิโลวัตต์ ต่อมารัฐบาลมีนโยบายให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้มีการแข่งขันด้านการผลิต ในปี พ.ศ. 2537 จึงมีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Producers : SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer : VSPP) เข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) มีโครงการสาธิตต่างๆ เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การใช้เซลล์แสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า เช่น โครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อแสงสว่างในครัวเรือนโครงการระบบผลิตไฟฟ้าประจุแบตเตอรี่ด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับหมู่บ้านชนบทที่ไม่มีไฟฟ้า โครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับโรงเรียนชนบทที่ไม่มีไฟฟ้า โครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับศูนย์การเรียนรู้ชุมชน โครงการระบบผลิตไฟฟ้าแสงสว่างทางสาธารณะด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ โครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับฐานปฏิบัติการทางทหารและตำรวจตระเวนชายแดน และโครงการระบบสูบนํ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

pabong1

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ที่มา : http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=9884.0

tracking_silinthon_2

tracking_silinthon_1

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เขื่อนสิริธร จังหวัดอุบลราชธานี
ที่มา : http://www3.egat.co.th/re/egat_pv/egatpv_silinthon/tracking_silinthon.htm

6

เซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาที่พักอาศัย
ที่มา : solarpanelspower.com

application-solar-street-lighting

ระบบไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับไฟฟ้าส่องสว่างถนนสาธารณะ
ที่มา : http://www.greenshine-solar.com/solar-street-lighting.html

s6

แผนที่ตั้งหน่วยผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย (ปรับปรุงข้อมูลเมื่อเดือนธันวาคม 2556)
ที่มา : www.dede.go.th

การใช้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ในประเทศไทย (SOLAR THERMAL HEAT SYSTEM IN THAILAND)

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ทำการวิจัยพัฒนาและทดสอบเครื่องทำนํ้าร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลาย กฟผ. และ พพ. ได้จัดโครงการสาธิตรวมทั้งสนับสนุนเงินลงทุนบางส่วนแก่ประชาชน ชุมชนและผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ทำให้มีการใช้เครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์แล้วในบางแห่ง ของโรงงาน โรงพยาบาล สถานศึกษา ฟาร์มปศุสัตว์ อาคารธุรกิจ อาคารพักอาศัย โรงเรือนอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมักนำไปใช้ในการผลิตอาหารแห้ง เช่น กล้วยอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ผลิตภัณฑ์แห้งที่ได้ไม่มีการปนเปื้อนจากการรบกวนของแมลง ฝุ่นละออง และการเปียกฝน เครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชมีการนำไปให้เกษตรกรได้ทดลองใช้ เพื่อสกัดสารชีวภาพที่มีอยู่ในพืชสมุนไพร เช่น ตะไคร้หอม สะเดา นำไปฉีดพ่นพืชผัก ผลไม้ ป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยไม่ต้องใช้สารเคมีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

 

s1

เครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์

Source : Watida Kakaew

 

s2

ตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์

 

 

 

Source : Watida Kakaew

Bibliography

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน. (2557). พลังงานแสงอาทิตย์. In สารานุกรมพลังงานทดแทน (pp. 32-33, 35, 38). กรุงเทพ, ประเทศไทย.

ienergyguru.com

0 Reviews

Write a Review

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *