ธรณีวิทยาและแหล่งความร้อนใต้พิภพ
ธรณีวิทยาและแหล่งความร้อนใต้พิภพ
การศึกษาเรื่องของพลังงานความร้อนใต้พิภพ จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องของธรณีวิทยา เกี่ยวกับแหล่งความร้อนที่เกิดขึ้นใต้เปลือกโลกของเราเพื่อเป็นองค์ประกอบความรู้ดังนี้
ธรณีวิทยา (Geology)
"ธรณีวิทยา" เป็นศาสตร์ที่ศึกษาองค์ประกอบ โครงสร้าง กระบวนการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของโลก ผลที่ครอบคลุมถึงกำเนิดของโลก วัสดุและรูปร่างลักษณะของโลก ประวัติความเป็นมาและกระบวนการที่กระทำต่อโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน แรงกระทำที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงหรือยังคงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางเคมี มวลสารและส่วนประกอบของโลก อาศัยการตีความจากรูปแบบและสภาวะแวดล้อมที่ยังคงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์สร้างเป็นทฤษฎี เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่บนผิวโลกจนไปถึงแกนกลางชั้นในของโลก เช่น การเกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด การเกิดนํ้าพุร้อนโคลนเดือด เป็นต้น ความรู้ทางธรณีวิทยามีความสำคัญในการนำไปประยุกต์ใช้โดยเฉพาะการสำรวจแหล่งความร้อนใต้พิภพเพื่อใช้เป็นพลังงานสำรองทดแทนการใช้ถ่านหิน ปิโตรเลียม และแก๊สธรรมชาติ
Source : http://media.cnbc.com/
Source : https://daejeonastronomyfile.wordpress.com
Source : http://variety.teenee.com
การสำรวจปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
ธรณีภาคแปรสัณฐาน (Plate Tectonic)
"ธรณีภาคแปรสัณฐาน" เป็นทฤษฎีธรณีวิทยาที่อธิบายการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวโลกอันเป็นผลเนื่องมาจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก (plates) ที่ประกอบกันขึ้นเป็นผิวโลก แผ่นเปลือกโลกเหล่านี้อาจเรียกว่าธรณีภาคชั้นนอก (lithosphere) ที่ประกอบด้วยเปลือกโลก (crust) และชั้นเนื้อโลกส่วนบน (upper mantle) วางตัวอยู่บนชั้นหินฐาน (asthenosphere) ซึ่งประกอบด้วยหินหนืดร้อน (magma) สามารถเลื่อนไหลได้คล้ายของเหลวด้วยความเร็วระดับเซนติเมตรต่อปี การเลื่อนไหลของหินหนืดร้อนในชั้นหินฐานเป็นสาเหตุให้แผ่นเปลือกโลกเกิดการเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นไปได้ใน 3 ลักษณะ ได้แก่ การเคลื่อนที่แยกออกจากกัน (divergent boundary) เกิดเป็นศูนย์กลางรอยแยก (spreading center) การมุดตัวเข้าหากัน (convergent boundary) เกิดเป็นเขตมุดตัว (subduction zone) และการเคลื่อนผ่านกัน (transform boundary) แผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดมักเกิดบริเวณรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกเหล่านี้
ภาพตัดขวางแสดงธรณีสัณฐานของโลก
ภาพตัดขวางแสดงการเคลื่อนที่ของธรณีภาคชั้นนอก ในลักษณะแยกออกจากกัน การมุดตัวเข้าหากันและการเคลื่อนผ่านกันของภาคพื้นทวีปและภาคพื้นสมุทรตามทฤษฎีธรณีภาคแปรสัณฐาน
ภาพแสดงธรณีภาคชั้นนอกตามทฤษฏีธรณีภาคแปรสัณฐาน ประกอบด้วย แผ่นเปลือกโลกหลักที่ครอบคลุมพื้นที่ทวีปหลักจำนวน 7 แผ่น ได้แก่ แผ่นแอฟริกา แผ่นแอนตาร์กติก แผ่นออสเตรเลีย แผ่นยูเรเชีย แผ่นอเมริกาเหนือ แผ่นอเมริกาใต้ และแผ่นแปซิฟิก กับแผ่นเปลือกโลกรองซึ่งมีขนาดเล็กจำนวน 8 แผ่น ได้แก่ แผ่นอาหรับ แผ่นอินเดีย แผ่นทะเลฟิลิปปินส์ แผ่นฮวนเดฟูกา แผ่นแคริบเบียน แผ่นโคโคส แผ่นนาซคา และแผ่นสโกเชีย แผ่นเปลือกโลกรองครอบคลุมเฉพาะภาคพื้นสมุทร ยกเว้นแผ่นอาหรับและแผ่นอินเดีย ที่ครอบคลุมภาคพื้นทวีปด้วย
ศูนย์กลางรอยแยก (Spreading Center)
"ศูนย์กลางรอยแยก" คือ รอยแยกที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกในลักษณะแยกออกจากกัน (divergent boundary) บริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกที่อยู่ในทะเลตามทฤษฎีธรณีภาคแปรสัณฐาน (plates tectonic) แผ่นเปลือกโลกที่แยกออกจากกันเกิดเป็นรอยแยกในธรณีภาคชั้นนอก (lithosphere) ส่งผลให้หินหนืดร้อน (magma) จากชั้นหินฐาน (asthenosphere) สามารถเลื่อนไหลขึ้นมาตามรอยแยกสู่ธรณีภาคชั้นนอกซึ่งมีอุณหภูมิตํ่ากว่า หินหนืดร้อนจะปลดปล่อยพลังงานและเย็นตัวลงเกิดเป็นแนวภูเขาไฟ หินบะซอลต์ (basalt) ใต้ทะเลที่มีซิลิคอนไดออกไซด์ (SiO2)เป็นองค์ประกอบประมาณร้อยละ 50 ตัวอย่างของศูนย์กลางรอยแยก เช่น บริเวณแนวกลางของพื้นมหาสมุทรแอตแลนติก(Mid-Atlantic ridge) เกาะไอซ์แลนด์ (Iceland) หรือรอยแยกบริเวณแผ่นแอฟริกา เป็นต้น
Source : http://statics.panoramio.com/
ศูนย์กลางรอยแยกระดับนํ้าทะเลอันเป็นผลเนื่องมาจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกในลักษณะแยกออกจากกัน
ที่เกาะไอซ์แลนด์
เขตมุดตัวของเปลือกโลก (Subduction Zone)
"เขตมุดตัวของเปลือกโลก" คือ บริเวณที่มีการยุบตัวของพื้นผิวโลกเนื่องจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกในลักษณะมุดตัวเข้าหากัน (convergent boundary) ตามทฤษฎีธรณีภาคแปรสัณฐาน ( plates tectonic) โดยแผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่งมุดตัวเข้าไปใต้แผ่นเปลือกโลกอีกแผ่นหนึ่ง และจมลงสู่ชั้นหินฐาน (asthenosphere) ที่ประกอบไปด้วยหินหนืดร้อน (magma) ด้วยความเร็วระดับเซนติเมตรต่อปี ความร้อนจากหินหนืดส่งผลให้ชั้นเนื้อโลก (mantle) บางส่วนเกิดการหลอมเหลวกลายเป็นหินหนืดสะสมในชั้นหินฐาน ทำให้มีพลังงานสูงขึ้น และปลดปล่อยพลังงานโดยกการระเบิดออกเป็นภูเขาไฟ การเกิดของเขตมุดตัวสามารถจำแนกตามลักษณะของแผ่นเปลือกโลกที่มุดตัวเข้าหากัน ได้แก่ แผ่นเปลือกโลกภาคพื้นสมุทรมุดตัวเข้าหาแผ่นเปลือกโลกภาคพื้นทวีป (oceanic-continental convergence) เช่น การเกิดเทือกเขาแอนดีส (Andes) ในทวีปอเมริกาใต้ หรือคาสเคด เรนจ์ (Cascade Range)ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา แผ่นเปลือกโลกภาคพื้นสมุทรมุดตัวเข้าหาแผ่นเปลือกโลกภาคพื้นสมุทร (oceanic-oceanic convergence) เช่น เกาะเกิดใหม่แนวภูเขาไฟ (volcanic island arcs) และแผ่นเปลือกโลกภาคพื้นทวีป มุดตัวเข้าหาแผ่นเปลือกโลกภาคพื้นทวีป (continental-continental convergence) เช่น การเกิดเทือกเขาหิมาลัย (the Himalayas) จากแผ่นออสเตรเลีย-อินเดียมุดตัวเข้าหาแผ่นยูเรเชีย เทือกเขาแอลป์ (Alps) เทือกเขาอูราล (Urals) และเทือกเขาแอปพาเลเชีย (Appalachia) เป็นต้น เขตมุดตัวแบบภาคพื้นสมุทร-ภาคพื้นทวีป
บริเวณเทือกเขาแอนดีสในประเทศชิลี
ภูเขาไฟระเบิดที่เกิดขึ้นในบริเวณเขตมุดตัวแบบภาคพื้นสมุทร-ภาคพื้นสมุทร บนเกาะไวท์ (White Island) ประเทศนิวซีแลนด์
เขตมุดตัวแบบภาคพื้นทวีป-ภาคพื้นทวีปบริเวณยอดเขามาคาลู (Makalu, 8,463 เมตร) ในเทือกเขาหิมาลัย
ภาพแสดงการเกิดเขตมุดตัว ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกในลักษณะเข้าหากัน
แหล่งความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Reservoirs)
"แหล่งความร้อนใต้พิภพ" เป็นกลุ่มชั้นหินใต้ผิวโลกที่สามารถพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งความร้อนใต้พิภพได้ โดยอาศัยการพาความร้อน (heat convection) จากการใช้ของไหลใช้งาน เช่น นํ้านำความร้อนขึ้นมาใช้งานบนผิวโลก เพื่อให้ความร้อนโดยตรงหรือผลิตกระแสไฟฟ้าแหล่งความร้อนใต้พิภพแบ่งตามอุณหภูมิได้ 4 ประเภท ได้แก่
- แหล่งความร้อนใต้พิภพอุณหภูมิสูง มีอุณหภูมิสูงกว่า 150 องศาเซลเซียส เกิดที่แผ่นเปลือกโลกธรณีภาคชั้นนอก (lithosphere) หรือบริเวณภูเขาไฟมีพลัง (active volcanism) เช่น ชั้นหินแห้งร้อน แหล่งความร้อน ใต้พิภพอุณหภูมิสูงมักนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า โดยฉีดนํ้าลงไปพาความร้อนขึ้นมา
- แหล่งความร้อนใต้พิภพอุณหภูมิปานกลาง มีอุณหภูมิระหว่าง 100-150 องศาเซลเซียส
- แหล่งความร้อนใต้พิภพอุณหภูมิตํ่า มีอุณหภูมิ 30-100องศาเซลเซียส แหล่งความร้อนใต้พิภพอุณหภูมิปานกลางและอุณหภูมิตํ่าพบในบริเวณชั้นหินอุ้มนํ้า มักนำไปใช้ในระบบให้ความร้อนแก่ชุมชนและอุตสาหกรรม
- แหล่งความร้อนใต้พิภพที่มีอุณหภูมิตํ่ากว่า 30 องศาเซลเซียส มักนำไปใช้ให้ความร้อนแก่ที่พักอาศัยในฤดูหนาว
ภาพการเกิดแหล่งความร้อนใต้พิภพ
แหล่งความร้อนใต้พิภพยังอาจแบ่งเป็น แหล่งความร้อนใต้พิภพที่อยู่บนพื้นผิวโลก (Surface geothermal reservoirs) เช่น น้ำพุร้อน และแหล่งความร้อนใต้พิภพที่อยู่ใต้พื้นผิวโลกซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น ชั้นหินแห้งชั้น หินแห้งร้อน ชั้นหินอุ้มนํ้า อาจเรียกรวมว่า แหล่งความร้อนใต้พิภพใต้พื้นผิวโลก (underground geothermal reservoirs)
นํ้าพุร้อน (Hot spring)
แหล่งความร้อนจากน้ำพุร้อน ซึ่งน้ำพุร้อนคือนํ้าที่ไหลออกมาหรือพุ่งขึ้นจากพื้นดินตามธรรมชาติ เกิดขึ้นจากแรงดันของนํ้าใต้ชั้นหินที่กักเก็บนํ้าในเปลือกโลกชั้นนอก (crust) ด้วยอัตราการไหลของน้ำ ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่น้ำซึมไปจนถึงน้ำพุ่งเป็นกระแสน้ำไหลแรง เช่น แหล่งโอเอซิส (oasis) ในทะเลทรายเป็นนํ้าสะอาด
เนื่องจากไหลผ่านชั้นหินหลายชั้น ก่อนที่จะออกมาสู่ผิวดิน มีแร่ธาตุละลายอยู่หลายชนิด ชั้นนํ้าใต้ดินบริเวณภูเขาไฟได้รับความร้อนจากหินหนืดร้อน (magma) ใต้ผิวโลกมีอุณหภูมิสูงจนกลายเป็นนํ้าพุร้อน อุณหภูมิและอัตราการไหลของนํ้าพุร้อนขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น อัตราการไหลเวียนของนํ้าในชั้นใต้ดิน ปริมาณความร้อนในชั้นใต้ดินและปริมาณนํ้าผิวดินที่มาผสมกับนํ้าร้อนใต้ดิน
นํ้าพุร้อนแบ่งตามลักษณะทางกายภาพ ได้ 4 ประเภทดังนี้
- นํ้าพุร้อนเกเซอร์ (geyser) เป็นนํ้าพุร้อนขนาดใหญ่มีนํ้าร้อนและไอนํ้าพุ่งขึ้นมาเป็นระยะๆ ที่ระดับความสูงต่างกัน
- นํ้าพุร้อน (hot spring) หรือบ่อนํ้าร้อน (hot pool) เป็นแหล่งนํ้าที่มีอุณหภูมิตั้งแต่อุ่นจนถึงเดือด
- บ่อไอเดือดหรือพุแก๊ส (fumarole) เป็นบ่อที่มีเฉพาะไอนํ้าพุ่งขึ้นมา พบมากบริเวณภูเขาไฟ
- บ่อโคลนเดือดหรือพุโคลน (mud pot) เกิดจากไอนํ้าใต้พื้นดินโคลนเคลื่อนที่ดันให้โคลนพุ่งขึ้นมา
นํ้าพุร้อนแบ่งตามแร่ธาตุที่มี ได้อีก 4 ประเภท ได้แก่
บ่อนํ้าพุร้อนโอลด์เฟธฟูล (Old Faithful Geyser) บริเวณพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยหินลาวา
ภายในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน (Yellowstone National Park) ประเทศสหรัฐอเมริกา
บ่อนํ้าพุร้อนริมทางระหว่างทะเลสาบเยลโลว์สโตน (Yellowstone Lake) กับทะเลสาบซิลแวน (Sylvan Lake)
ประเทศสหรัฐอเมริกา
นํ้าพุร้อนโป่งเดือดป๋าแป อุทยานแห่งชาติห้วยนํ้าดัง จังหวัดเชียงใหม่
บ่อนํ้าพุร้อนสตร็อกกัวร์ (Strokkur) อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะไอซ์แลนด์ ขณะหยุดนิ่ง (ซ้าย) และทุก 4-8 นาที จะมีนํ้าพุพุ่งสูง 15-20 เมตร บางครั้งพุ่งสูงถึง 40 เมตร (ขวา)
บ่อนํ้าพุร้อนแกรนด์พริสแมติก (Grand Prismatic Spring) บริเวณแอ่งนํ้าพุร้อนมิดเวย์ (Midway Geyser Basin) ภายในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน (Yellowstone National Park) ประเทศสหรัฐอเมริกา
ชั้นหินแห้งร้อน (Hot dry rock)
แหล่งความร้อนจากชั้นหินแห่ง ชั้นหินแห้งร้อน ซึ่งเป็นชั้นหินใต้พิภพที่ร้อนและเป็นแหล่งพลังงานความร้อนปริมาณมหาศาล อุณหภูมิของชั้นหินเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนโดยตรงกับระดับความลึกจากผิวดินและชนิดของหินด้วยอัตรา 0.028-0.1 องศาเซลเซียสต่อความลึก 1 เมตร หินแห้งอุณหภูมิสูงกว่า 150 องศาเซลเซียส เป็นแหล่งความร้อนใต้พิภพที่มีพลังงานเพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยอัดฉีดนํ้าเข้าไปตามรอยแตกในชั้นหินเพื่อรับความร้อนจากหินแห้ง แล้วจึงหมุนเวียนนํ้าร้อนมาสู่เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากชั้นหินแห้ง (hot dry rock technology) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีผู้สนใจศึกษากันมาก
ภาพจำลอง แสดงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากชั้นหินแห้งใต้พิภพ
ชั้นหินอุ้มนํ้า (Aquifer)
แหล่งความร้อนใต้พิภพอีกประเภทหนึ่งคือ ชั้นหินอุ้มน้ำ ซึ่งเป็นชั้นหินที่มีรูพรุนยอมให้นํ้าซึมผ่านและสามารถกักเก็บนํ้าได้ มักเป็นหินทราย หินปูนหรือวัสดุร่วน เช่น กรวด ทราย หรือทรายแป้ง แบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
1. ชั้นหินอุ้มนํ้าไร้แรงดัน (unconfined aquifer)
มีทางระบายออกสู่ชั้นบรรยากาศทำให้นํ้าที่กักเก็บอยู่ในชั้นหินมีความดันเท่ากับความดันบรรยากาศ สามารถนำขึ้นมาใช้ได้โดยขุดบ่อลึกลงไปถึงระดับนํ้าใต้ดิน (water table)
2. ชั้นหินอุ้มนํ้ามีแรงดัน (confined aquifer หรือ artesian aquifer)
ถูกปิดทับด้วยชั้นหินหรือชั้นดินเนื้อแน่นที่นํ้าซึมผ่านได้ยากทั้งด้านบนและด้านล่าง (confining unit) ทำให้การไหลของนํ้าคล้ายกับการไหลในท่อภายใต้แรงดัน ซึ่งถ้าขุดบ่อลึกลงไปถึงชั้นหินอุ้มนํ้ามีแรงดัน จะมีนํ้าไหลขึ้นมาเองถึงระดับนํ้ามีแรงดัน (potentiometric surface) โดยไม่ต้องใช้ปั๊มนํ้าที่กักเก็บในชั้นหินอุ้มนํ้าหากได้รับความร้อนจากหินหนืดร้อนใต้พิภพ จะกลายเป็นนํ้าร้อนและไอนํ้าพลังงานสูง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ หากแรงดันของนํ้าร้อนมีมากพอ นํ้าจะพุ่งสูงเกิดเป็นนํ้าพุร้อน
Source : http://www.raiderclubthailand.com/
หินที่มีรูพรุน
บ่อน้ำในชนบท เขตราชสถาน ในประเทศอินเดีย
ภาพแสดงพื้นที่หน้าตัดของชั้นหินอุ้มนํ้ามีแรงดัน (confined aquifer) และชั้นหินอุ้มนํ้าไร้แรงดัน (unconfined aquifer)
Bibliography
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน. พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy). In สารานุกรมพลังงานทดแทน (หน้า. 230, 224, 232, 237, 238, 242, 244 - 246).
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!