เขื่อนจุฬาภรณ์ (เขื่อนน้ำพรม)
เขื่อนจุฬาภรณ์ (เขื่อนน้ำพรม)
โครงการน้ำพรม ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2512 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้า เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2513 งานก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนและโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2516 พร้อมทั้ง พระราชทานพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ขนานนามเขื่อนว่า "เขื่อนจุฬาภรณ์"
ลักษณะเขื่อนและโรงไฟฟ้า
ลักษณะเขื่อน เขื่อนจุฬาภรณ์มีลักษณะเป็นแบบหินถม แกนกลางเป็นดินเหนียวบดอัดทับแน่นด้วยหินและกรวดตัว เขื่อนยาว 700 เมตร สันเขื่อนกว้าง 8 เมตร สูง 70 เมตร ระดับสันเขื่อนอยู่ที่ + 763.0 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง อ่างเก็บน้ำมีความจุ 188 ล้านลูกบาศก์เมตร
โรงไฟฟ้า ตั้งอยู่บริเวณเขาใกล้กับลำน้ำสุ ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของตัวเขื่อน ในการผลิตไฟฟ้า กฟผ. ชักน้ำจากหน้าเขื่อนบริเวณฝั่งซ้ายของลำน้ำ ผ่านอุโมงค์ซึ่งเจาะทะลุภูเขา ไปหมุนเครื่องกังหันน้ำ ที่ตั้งอยู่ในหุบเขาอีกด้านหนึ่ง
โรงไฟฟ้าติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 20,000 กิโลวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวมกำลังผลิต 40,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 54 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง
ประโยชน์ เขื่อนจุฬาภรณ์เป็นเขื่อนที่มีความสำคัญมากอีกเขื่อนหนึ่ง ต่อการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถตอบสนองความต้องการการใช้ไฟฟ้าของประชาชนได้อย่างเพียงพอ และเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่ให้ประโยชน์ต่อการชลประทาน ช่วยระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้ง ในพื้นที่การเกษตรตามลำน้ำพรม ประมาณ 50,300 ไร่ และตามลำน้ำเขินประมาณ 20,800 ไร่
นอกจากนี้อ่างเก็บน้ำยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งบริเวณโดยรอบของที่ตั้งตัวเขื่อนมีทิวทัศน์สวยงามมาก มีอากาศเย็นสบายตลอดปี จนได้สมญาว่าเป็น "สวิตเซอร์แลนด์ของประเทศไทย" เขื่อนจุฬาภรณ์จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อนอีกแห่งหนึ่งของภูมิภาคนี้
เขื่อนพรมธารา กฟผ. ได้สร้างเขื่อนขนาดเล็กขึ้นชื่อ "เขื่อนพรมธารา" ปิดกั้นลำห้วยฝั่งซ้ายของเขื่อนจุฬาภรณ์ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2524 การก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2525 สามารถชักน้ำเพิ่มปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนจุฬาภรณ์ได้ปีละประมาณ 2,000,000 ลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ ในเขตพื้นที่เดียวกัน ยังมีเขื่อนสำคัญที่ตั้งอยู่ตอนล่างของเขื่อนจุฬาภรณ์ นั่นคือ เขื่อนห้วยกุ่ม
"เขื่อนห้วยกุ่ม เป็นเขื่อนดินที่ได้สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการรับน้ำจากเขื่อนจุฬาภรณ์มากักเก็บไว้ใช้ในกิจกรรมการเกษตรต่างๆ"
ตั้งอยู่ห่างจากเขื่อนจุฬาภรณ์ลงไปทางใต้ประมาณ 40 กิโลเมตร ในพื้นที่ตำบลหนองโพนงาม อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ที่ก่อสร้างขึ้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงทราบถึงการขาดแคลนน้ำของพื้นที่การเกษตร บริเวณลุ่มน้ำพรมตอนล่าง เขื่อนห้วยกุ่มก่อสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2521 แล้วเสร็จเมื่อต้นปี พ.ศ. 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนและโรงไฟฟ้า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2523
โรง ไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนห้วยกุ่มมีขนาดกำลังผลิต 1,300 กิโลวัตต์ อ่างเก็บน้ำมีความจุ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถระบายน้ำช่วยพื้นที่การเกษตรในการเพาะปลูกฤดูแล้งของอำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ในพื้นที่ประมาณ 50,300 ไร่
Source : https://sites.google.com/site/energyresourcethermo2
เขื่อนห้วยกุ่ม จังหวัดชัยภูมิ
สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดชัยภูมิมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมายนอกเหนือจากเขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนห้วยกุ่ม อาทิ อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล) ศาลเจ้าพญาแล ปรางค์กู่ อุทยานแห่งชาติตาดโตน ป่าหินงาม เป็นต้น
Source : http://f.ptcdn.info/394/021/000/1405746393-1051140780-o.jpg
อุทยานแห่งชาติตาดโตน
เส้นทางคมนาคม ชัยภูมิเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่เกือบถึงกลางของประเทศห่างจากกรุงเทพประมาณ 340 กิโลเมตร การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 1 กรุงเทพ - สระบุรี แล้วเลี้ยวขวาไปใช้ทางหลวงหมายเลข 201 จนถึงอำเภอชุมแพแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางสู่อำเภอหล่มสัก จะพบทางแยกซ้ายมือเขาสกเขื่อนจุฬาภรณ์ระยะทาง 39 กิโลเมตร
สรุป เขื่อนจุฬาภรณ์ช่วยส่งเสริมให้ระบบการผลิตและส่งกระแสไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความมั่นคงยิ่งขึ้นกิจการต่างๆ ที่ต้องอาศัยไฟฟ้าประกอบการ ก็จะเกิดขึ้นหรือขยายออกไป เป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เขื่อนแห่งนี้จึงอำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง
ที่มา : ฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!