Great Barrier Reef ปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกฟอกขาวครั้งที่ 3 ในรอบ 5 ปี

Great Barrier Reef ปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกฟอกขาวครั้งที่ 3 ในรอบ 5 ปี

Great Barrier Reef ฟอกขาว

ปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวอีกครั้ง

Great Barrier Reef เป็นแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย กินพื้นที่กว่า 344,400 ตารางกิโลเมตรในทะเลคอรัล (Coral) เริ่มตั้งแต่แหลมเคปยอร์ค (Cape York) ซึ่งอยู่ทางเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ลงมาจนถึงเมืองบันดะเบอร์ก (Bundaberg) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้  โดยแนวปะการังนี้มีความยาวมากกว่า 2,300 km (1,400 ไมล์) ที่ UNESCO จัดให้เป็นแหล่งมรดกโลกในปี 1981 เนื่องจากเป็นสถานที่มีความสวยงาม และเป็นแหล่งที่มีแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วย ปะการัง 400 ชนิด ปลา 1,500 สายพันธุ์ และ หอยกว่า 4,000 ชนิด นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางวิทยาศาสตร์อย่างมาก เช่น การเป็นที่อยู่อาศัยของพะยูน และเต่าเขียวทะเล อันแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ในบริเวณนี้ได้เป็นอย่างดี

 

อย่างไรก็ตามในปี 2016 และ 2017 เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวถึง 2 ใน 3 ส่วนของแนวปะการังทั้งหมด เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น อีกทั้งในปี 2019 ทัศนียภาพของแนวปะการังของออสเตรเลียในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาถูกลดระดับจากระดับแย่ (Poor) เป็นระดับแย่มาก (Very Poor) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (The Great Barrier Reef Marine Park Authority หรือ GBRMPA) กล่าวว่าจากการสำรวจทางอากาศครั้งล่าสุดพบว่าปะการังมีการฟอกขาวอย่างรุนแรง มีความเสียหายมากกว่าปรากฏการก่อนหน้านี้ และคณะกรรมการมรดกโลก องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้พิจารณาการเพิ่มรายชื่อ Great Barrier Reef ให้เป็นแหล่งที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย (“in danger”)

การทบทวนของรัฐบาล ประเทศออสเตรเลียกล่าวว่า "สุขภาพของแนวปะการัง Great Barrier Reef ในขณะนี้ ส่งผลให้ทัศนียภาพของปะการังถูกจัดอยู่ในระดับแย่มาก"

David Wachenfeld หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ กล่าวกับทาง BBC ว่า “ปะการังพึ่งจะเริ่มฟื้นฟูจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในปี 2016 และ 2017 และตอนนี้เรากำลังเผชิญกับปรากฏการปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3” แต่ Dr. Wachenfeld กล่าวเสริมว่า การฟอกขาวของปะการังที่สำคัญสำหรับการท่องเที่ยวที่อยู่ในทางตอนเหนือและกลางจัดอยู่ในระดับปานกลาง นั่นหมายความว่าปะการังเหล่านั้นน่าจะสามารถฟื้นตัวได้ โดยแนวปะการังยังคงสดใสและยังดูมีชีวิตชีวาอยู่ แต่หากปรากฏการณ์เหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ปะการังมีความเสียหายมากกว่าก่อนหน้านี้ พวกเราจำเป็นต้องใช้ปรากฏการณ์นี้เป็น Global calls เพื่อให้มีการปฏิบัติที่จริงจังต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) โดยอุณหภูมิของโลกในปัจจุบันขึ้นมาแล้ว 1 oC นับจากยุคก่อนอุตสาหกรรม โดย UN เตือนว่าถ้าอุณหภูมิโลกขึ้นมาถึง 1.5 oC ปะการังทั่วโลกกว่า 90% จะถูกกวาดล้างหายไป

 

เรียบเรียงโดย วรัชญา พูลสวัสดิ์ ทีมงาน iEnergy Guru

 

ที่มา

1. https://www.bbc.com/news/world-australia-52043554

2. https://www.bbc.com/news/world-australia-49520949

3. https://whc.unesco.org/en/list/154/

4. http://www.pentorexchange.com/news_view.php?id=528

 

0 Reviews

Write a Review

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *