นวัตกรรมทำความเย็นสีเขียวเพื่อโลก “Green Cooling” สารทำความเย็นธรรมชาติ เย็นได้ ไม่ทำลายโลก
รู้จักสารทำความเย็นสีเขียว?
สารทำความเย็น (Refrigerant) คือ สารของเหลวที่ทำให้เกิดความเย็น โดยเป็นตัวกลางที่ทำหน้าที่รับ ดูดซับ และนำพาความร้อนเพื่อให้เกิดการขยายตัว หรือมีสถานะเปลี่ยนสถานะจากของเหลวให้กลายเป็นไอหรือแก๊สแล้วจะสามารถคืนตัวเปลี่ยนสถานะกลายเป็นของเหลวได้อีก สารทำความเย็นสีเขียว หรือ สารทำความเย็นธรรมชาติ (Green Cooling) คือ สารของเหลวที่มีค่า ODP (Ozone Depleting Potential) ดัชนีวัดการทำลายโอโซนเป็นศูนย์ และค่าศักยภาพในการทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน GWP (Global Warming Potential) ที่ต่ำมาก ในขณะเดียวกันยังคงประสิทธิภาพในการทำความเย็นได้เป็นอย่างดี “HCs” หรือ Hydrocarbons คือชื่อของสารทำความเย็นธรรมชาติ โดยใช้ โพรเพน (น้ำยา R290) และไอโซบิวเทน (น้ำยา R600a) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรทางชีวธรณีเคมีที่เกิดขึ้นทั่วไปตามธรรมชาติ ทำให้เมื่อปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมจะไม่เกิดผลเสียและไม่ก่อมลพิษสะสม เป็นสารทำความเย็นธรรมชาติที่มีค่า GWP เหลือเพียงแค่ 3 หน่วยเท่านั้น
เมื่อความเย็นทำลายโลกได้......นวัตกรรมการทำความเย็นสีเขียวจึงจำเป็น
ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในศูนย์การผลิตที่สำคัญของโลกในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เป็นประเทศผู้ส่งออกสำหรับกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภททำความเย็น (Cooling) เครื่องปรับอากาศเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน (2562) แม้ในปี 2563 ภาพรวมของการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศหดตัวเนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่ยอดจำหน่าย ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศยังคงเติบโต 5.3% และ 0.2% ตามลำดับ คาดการณ์ปริมาณการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยเพื่อการใช้งานในประเทศและส่งออกจะเติบโตเฉลี่ยสูงขึ้น
2 - 4% โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น ในขณะเดียวกัน สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าของภาคระบบปรับอากาศและการทำความเย็นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 จากการใช้งานไฟฟ้าทั้งหมด ปฏิเสธไม่ได้จากสภาพภูมิประเทศที่มีอากาศร้อน ประกอบกับพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ส่งผลต่ออุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น ย่อมทำให้ความจำเป็นในการใช้งานเครื่องปรับอากาศและและเครื่องทำความเย็นสูงขึ้นเรื่อยๆ จากผลสำรวจของ IPCC ระบุว่า ภายในปี 2583 อุณหภูมิเฉลี่ย โลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส จากการขับเคลื่อนของมนุษย์ ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนทั่วโลก ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มระดับสูงขึ้น ซึ่งในปี 2564 พบว่ามีระดับคาร์บอนไอออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงถึง 414.3 ส่วนในล้านส่วน (parts per million: ppm) เมื่อการบริโภคกับการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ไปในทิศทางเดียวกัน การนำเทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวมาใช้ จะช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้เป็นอย่างดี ช่วยทำให้อุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นมีค่าเฉลี่ยลดลง และที่สำคัญคือ เมื่อเทียบกับสารทำความเย็นแบบเก่า (แบบสังเคราะห์) ยังสามารถช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้มากถึง 5-25% ด้วยประสิทธิภาพในการทำงานที่มากกว่า ดังนั้นเมื่อจะซื้อเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องทำความเย็นครั้งต่อไป อย่าลืมมองหาฉลาก Green Refrigerant สารทำความเย็นที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ที่ไม่เพียงแค่ช่วยโลกเท่านั้น แต่ยังให้ประโยชน์กับผู้ใช้งานอีกด้วย
EGAT Cooling Innovation Fund กองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น กฟผ.
กองทุนเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงตลาดไปสู่เทคโนโลยี สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและในขณะเดียวกันก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ‘Carbon Neutrality’ เป็นการร่วมมือกันระหว่าง กฟผ. และ GIZ (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbe) โดยเริ่มจากปี 2559 กฟผ. ได้ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุน RAC NAMA ในนามประเทศไทย การบริหารจัดการสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว สนับสนุนให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ จำนวน 10 ราย หันมาผลิตอุปกรณ์การทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่สูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนถึงมีผลิตภัณฑ์รวมออกสู่ตลาดทั้งภายในและต่างประเทศกว่า 150,000 เครื่อง คิดเป็นปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งสิ้น 350,000 tCO2eq นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมกว่า 8 แห่ง ทั่วประเทศเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับมาตรฐานความปลอดภัยและรองรับผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่กำลังเข้าสู่ตลาดในอนาคต ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ในปีนี้ ได้มีการต่อยอดโครงการภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายการทำความเย็นสีเขียว ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการระดับโลก มีเป้าหมายจัดตั้งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียวในระดับภูมิภาคเอเชียอีกด้วย โดยมีข้อตกลงร่วมกันในการดำเนินการและแผนงานเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ New Zero Emission ได้แก่
- การพัฒนาโครงการและหุ้นส่วนด้านการสาธิตนวัตกรรม
- การฝึกอบรมด้านเทคนิคสำหรับภาคอุตสาหกรรม
- การจัดกิจกรรมสร้างความรู้ และการใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว
- มาตรการทางการเงิน
ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมความเย็นเท่านั้น การประหยัดโดยการลดใช้พลังงาน การใช้พลังงานสะอาด หรือแม้แต่การดูดกลับของคาร์บอนในโครงการปลูกป่าล้านไร่ ล้วนเป็นแนวทางที่กฟผ. เดินหน้าเร่งมือทำ เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วนและยั่งยืน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น แต่เราทุกคนต้องช่วยกันผลักดัน ลงมือทำ เพื่อขับเคลื่อนให้โลกของเรามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแท้จริง
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!