การประหยัดพลังงาน…ประเด็นระดับโลกที่คนไทยทุกคนควรรู้

ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ประสบกับราคาพลังงานที่สูงขึ้น วิกฤตราคาพลังงานเกิดขึ้นทั่วโลกและมีความผันผวนอย่างหนักอันเนื่องมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่มียาวนานกว่า 6 เดือน ความคุกรุ่นของสถานการณ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน รวมถึงคลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมทั่วยุโรปทำให้มีอุณหภูมิทะลุกว่า 40 องศาเซลเซียส ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งโลก

หลายประเทศประกาศใช้แผนฉุกเฉินด้านพลังงาน พร้อมเดินหน้าเร่งใช้นโยบายประหยัดพลังงานอย่างเต็มที่ โดยความร่วมมือของประชาชน

อิตาลี ประกาศแผนประหยัดพลังงานฉุกเฉิน กำหนดการเปิดใช้ไฟในเวลากลางคืน ควบคุมอุณหูมิการใช้งานเครื่องไฟฟ้า ทั้งนี้การลดอุณหภูมิความร้อนของฮีทเตอร์ภายในอาคารลง 1 องศาเซลเซียสสามารถช่วยประหยัดก๊าซได้ถึง 2,000 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี

โปแลนด์ จัดทำโครงการ Clean Air Program สนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งระบบฉนวนของบ้านและระบบทำความร้อนที่มีประสิทธิภาพสำหรับครัวเรือน

ฝรั่งเศส ออกมาตรการห้ามเปิดไฟโฆษณาในช่วงเวลา 01.00-06.00 น. สำหรับเมืองที่มีประชากรน้อยกว่า 800,000 คน พร้อมประกาศแผนพลังงาน Energy Sobriety ตั้งเป้าหมายการลดใช้พลังงานลงร้อยละ 10 (เมื่อเทียบกับปี 2019) ให้ได้ภายในปี 2024

เยอรมนี ประกาศให้ในเดือนกันยายน อาารสาธารณะ ยกเว้นโรงพยาบาล จำกัดอุณหภูมิเครื่องทำความร้อนที่ 19 องศาเซลเซียส และงดใช้ครื่องทำความร้อนบริเวณโถงทางเดินเด็ดขาด รวมถึงสระว่ายน้ำ

สเปน ออกนโยบายขอความร่วมมือลดอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศไม่ให้ต่ำกว่า 27 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน และเปิดใช้เครื่องทำความร้อนไม่เกิน 19 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูหนาว ให้ประชาชนลดการใช้ไฟฟ้าในช่วง 22.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งจะสามารถช่วยลดความต้องการใช้ก๊าซและพลังงานได้ระยะสั้นที่ร้อยละ 5

จีน ออกประกาศรณรงค์ปิดไฟตกแต่งภูมิทัศน์นอกอาคาร โฆษณาต่าง ๆ รวมถึงระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสมและปิดไฟป้ายโฆษณา มณฑลเสฉวน (ประชากร 94 ล้านคน) ได้รับผลกระทบหนักเนื่องจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่พึ่งพาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ซึ่งในปัจจุบันประสบกับปัญหาภัยแล้ง จึงมีการระงับการจ่ายไฟฟ้าไปที่โรงงานต่าง ๆ เพื่อปันส่วนการใช้ไฟตามครัวเรือน

ญี่ปุ่น เข้าสู่โหมดประหยัดไฟนาน 3 เดือนในรอบ 7 ปี เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. 2565 มีการใช้ระบบสะสมแต้มเพื่อดึงดูดให้เกิดการลดการใช้ไฟฟ้า และภาคผลิตไฟฟ้ากลับมาผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มมาขึ้น รวมถึงมีการเตรียมสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นใหม่

สหรัฐอเมริกา ประกาศ Building Code ออกประมวลกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างอาคารพาณิชย์และ/หรือที่อยู่อาศัยเพื่อบังคับใช้ข้อกำหนดประสิทธิภาพด้านพลังงาน พร้อมออกมาตรการ Energy Efficiency Resource Standards (EERS) เพื่อกำหนดเป้าหมายประสิทธิภาพสำหรับผู้ให้บริการพลังงาน

เม็กซิโก ออกมาตรการ Electric Power Saving Trust Fund (FIDE) Label หรือ ฉลาก FIDE เพื่อรองรับว่าผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติการประหยัดพลังงานตรงตามมาตรฐาน และมีการประกาศใช้ Energy Conservation Code for Buildings มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร พร้อมจัดตั้งกองทุนเพื่ออำนวยความสะดวกในการลดการปล่อยมลพิษและลดการใช้พลังงาน

แคนาดา ออกกฎหมาย Green Levy เพื่อเก็บภาษีรถยนต์ที่ไม่ประหยัดพลังงาน และมาตรการ Energy Star for Homes การวัดการประหยัดพลังงานสำหรับที่อยู่อาศัย

ออสเตรเลีย ขอความร่วมมือประชาชนในนิวเซาท์เวลส์ (8 ล้านคน) งดใช้ไฟฟ้าเป็นเวลา 2 ชั่วโมง 18.00-20.00 น. ทุกวัน เพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่กำลังไฟจากกังหันลมและแสงอาทิตย์ลดลง

อินเดีย ออกมาตรการข้อกำหนดสำหรับการปลูกสร้างอาคารที่พักอาศัยใหม่ให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสามารถประหยัดไฟได้ 120,000 รูปี (ประมาณ 54,000 บาท) ภายในปี 2030

กัมพูชา สนับสนุนให้ประชาชนใช้รถไฟฟ้าเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงและปล่อยมลพิษ โดยให้ความสำคัญของเขื่อนไฟฟ้าและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อช่วยให้การผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพและรักษาอัตราค่าไฟในท่ามกลางวิกฤตพลังงาน

ฟิลิปปินส์ ประกาศแคมเปญ Energy Efficiency and Conservation Information Campaign กระตุ้นให้ประชาชนร่วมกันประหยัดพลังงานด้วยการซื้ออุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ตั้งเป้าลดการใช้ไฟฟ้าลงร้อยละ 10 ในอาคาร โดยให้เปลี่ยนมาใช้หลอด LED และเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศเป็น Inverter ทั้งหมดในปี 2027

สิงคโปร์ ประกาศใช้มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำ (MEPS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยเฉลี่ยของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ในครัวเรือนผลักดันฉลากพลังงานบังคับ (MELS) เพื่อช่วยให้ประชาชนเปรียบเทียบการใช้พลังงานของสินค้าและตัดสินใจอย่างมีข้อมูล พร้อมใช้มาตรการการติดตั้งระบบทำความเย็นแบบรวมศูนย์ (CCS) เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED อัจฉริยะและพลังงานแสงอาทิตย์ในเมือง HDB ที่มีอยู่เดิม ช่วยลดไฟฟ้าได้ร้อยละ 15 ภายในปี 2573 สนับสนุนโครงการนำร่องของ Customized Household Energy Efficiency Report (CHEER) สำหรับครัวเรือนในเขตจูร่ง ช่วยให้ประชาชนเข้าใจรูปแบบการใช้ไฟฟ้าของตนได้ดีขึ้นและวิธีการประหยัดไฟ

เวียดนาม ร่างแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยประสิทธิภาพพลังงาน การประหยัด และการอนุรักษ์ทรัพยากรพลังงาน ลดการสูญเสียพลังงานในกระบวนการอุตสาหกรรม ใช้ระบบจัดการพลังงานในสถานประกอบการและการขนส่ง มีการส่งเสริมธุรกิจและประชาชนประหยัดพลังงาน โดยคาดว่าจะสามารถประหยัดพลังงานได้ร้อยละ 8-10 ของการใช้พลังงานทั่วประเทศ และลดการสูญเสียพลังงานได้ ร้อยละ 6 จนถึงปี 2030

ประเทศไทย ตั้งเป้าหน่วยงานลดการใช้พลังงานให้ได้ 20% ประหยัดไฟฟ้ากว่า 1,300 ล้านหน่วย ลดปล่อยคาร์บอนกว่า 700,000 ตัน

มาตรการลดใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับภาคหน่วยงานราชการ โดยกระทรวงพลังงาน ที่จะช่วยประหยัดพลังงาน ลดการใช้ไฟฟ้า รวมถึงช่วยลดโลกร้อน สาเหตุหลักที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ได้แก่

  • ให้หน่วยงานราชการใช้อุปกรณ์/เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เป็นอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน หรือมีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์5
  • กำหนดเวลาเปิด - ปิดเครื่องปรับอากาศ เช่น 08.30-16.30 น. และปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส และล้างเครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุก 6 เดือน
  • กำหนดการใช้ลิฟต์ให้หยุดเฉพาะชั้น เช่น การหยุดเฉพาะชั้นคู่ หรืออาจจะสลับให้มีการหยุดเฉพาะชั้นคี่และปิดลิฟต์บางตัวในช่วงเวลาที่มีการใช้งานน้อยและรณรงค์ ขึ้น-ลงชั้นเดียวไม่ใช้ลิฟต์
  • พิจารณาให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) ทั้งนีให้เป็นไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์

โดยการปฏิบัติตามมาตรการจะทำให้เกิดผลลัพธ์ในการประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายทางไฟฟ้าได้กว่า 6,000 ล้านบาท พร้อมลดจำนวนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้กว่า 700,000 ตัน โดยมาจากการลดใช้พลังงานดังต่อไปนี้

  1. ลดการใช้ไฟฟ้า 120 ล้านหน่วย ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 70,800 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ (ไฟฟ้า 1 หน่วย = 0.590 กิโลกรัมเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์)
  2. ลดการใช้พลังงานคาดการณ์จากการกำกับดูแลอาคารของรัฐที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม คิดเป็นไฟฟ้า 174.45 ล้านหน่วย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 102,925 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์
  3. ลดใช้พลังงานจากการดำเนินงานตามมาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐคิดเป็นไฟฟ้า 1,058.33 ล้านหน่วย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 624,414 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์

ขอความร่วมมือภาคประชาชนรณรงค์ประหยัดพลังงาน

  1. ปรับอุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียส และล้างเครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุก 6 เดือน
  2. ใช้อุปกรณ์/เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เป็นอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน หรือมีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5
  3. ปิด/ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้งาน

การประกาศมาตรการประหยัดพลังงานและไฟฟ้าของไทยมีมาอย่างต่อเนื่องไม่ใช่แค่เพียงช่วงวิกฤตพลังงานโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้เท่านั้น หลายหน่วยงานสนับสนุนนโยบายการประหยัดพลังงาน และ กฟผ. ผู้ให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยก็มีนโยบายสนับสนุนให้คนไทยใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2536 ในโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5

และล่าสุดกับ 2 กิจกรรม ล้างแอร์ช่วยชาติ และ ส่วนลดเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 ใน โครงการ Save Energy for All ชวนคนไทยร่วมใจประหยัดพลังงานผ่านวิกฤตไปด้วยกัน ไม่เพียงแต่นโยบายการประหยัดไฟฟ้าเท่านั้น การสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด กับ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด และโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ที่มีส่วนช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน

เพราะการประหยัดพลังงานไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ต้องเป็นการช่วยกันของทุกคน ไม่ใช่เพียงเพื่อเศรษฐกิจแต่คือชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราในทุก ด้าน ไม่ใช่เพื่อตัวเราแต่เพื่อโลกใบนี้ของพวกเราทุกคน

 

2 Reviews

5
5

Write a Review

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *