การประเมินทางด้านเศรษฐศาสตร์

ในการประเมินมาตรการการอนุรักษ์พลังงานที่มีการลงทุน มีความจำเป็นต้องใช้วิธีการทางการเงินเพื่อประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ที่จะได้จากการที่จะลงทุน เพื่อเป็นแนวทางในการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการอนุรักษ์พลังงาน และใช้งบประมาณและทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างคุ้มค่า วิธีการทางการเงินที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์เพื่อประเมินผลตอบแทนของมาตรการได้แก่

1) การคำนวณระยะเวลาคืนทุนอย่างง่าย (Simple payback period)
2) การคำนวณมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net present value)
3) การหาอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal rate of return)

1. การคำนวณระยะเวลาการคืนทุนอย่างง่าย (SIMPLE PAYBACK PERIOD)

ระยะเวลาคืนทุนอย่างง่าย หมายถึง ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการที่มาตรการจะให้มูลค่าผลตอบแทนคืนมูลค่าของการลงทุนที่ใช้ไป การคำนวณระยะเวลาการคืนทุนอย่างง่ายของมาตรการอนุรักษ์พลังงานจะใช้เป็นหน่วยของจำนวนปี โดยผลตอบแทนที่ได้คือ ค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ต่อปีนั่นเอง

ระยะเวลาคืนทุนอย่างง่าย(ปี) = มูลค่าการลงทุน (บาท) / ค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ต่อปี (บาท/ปี)

การคำนวณระยะเวลาคืนทุนอย่างง่าย เป็นวิธีการง่ายๆ ที่ทำให้คำนวณผลตอบแทนของโครงการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมักใช้ทั่วไปกับมาตรการอนุรักษ์พลังงานที่มีเงินลงทุนไม่มากนัก

ข้อเสียของการคำนวณระยะเวลาคืนทุนอย่างง่ายคือ ไม่ได้พิจารณามูลค่าทางการเงินที่เปลี่ยนไปตามระยะเวลา ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยหรืออัตราเงินเฟ้อต่างๆ ดังนั้นในมาตรการที่มีจำนวนเงินลงทุนสูงๆ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีทางการเงินอื่นๆ ประกอบด้วย

ระยะเวลาการคืนทุนของมาตรการ

-  น้อยกว่า 3 ปี เป็นมาตรการที่มีผลตอบแทนสูงและจูงใจในการดำเนินการ
-  ระหว่าง 3 ถึง 7 ปี เป็นมาตรการที่มีผลตอบแทนไม่สูงนัก แต่อยู่ในข่ายในการที่จะพิจารณาลงทุนได้โดยอาจจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์อื่นๆ ร่วมด้วย
-  มากกว่า 7 ปี เป็นมาตรการที่มีผลตอบแทนต่ำ ซึ่งมักจะไม่ค่อยนำมาพิจารณาในการลงทุนยกเว้นแต่ว่าโครงการนั้นมีความจำเป็นจริงๆ

2. การคำนวณมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NET PRESENT VALUE)

เนื่องจากมูลค่าของเงินเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการนำผลของช่วงเวลามาพิจารณา เพื่อประเมินมูลค่าหรือผลตอบแทนของมาตรการอนุรักษ์พลังงาน

วิธีคำนวณมูลค่าปัจจุบันสุทธิ คือ การแปลงมูลค่าเงินลงทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งผลตอบแทนที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานมาเป็นมูลค่าของเงินในปัจจุบัน เพื่อเปรียบเทียบบนฐานเวลาเดียวกัน

การคำนวณจะใช้อัตราคิดลด (Discount factor) เพื่อแปลงมูลค่าทางการเงินที่ช่วงระยะเวลาต่างๆ มาเป็นมูลค่าในปัจจุบัน

มูลค่าปัจจุบันสุทธิ

	มูลค่าปัจจุบันสุทธิ
โดยที่ i = อัตราคิดลด (%),  n = ระยะเวลามาตรการ (ปี)

โดยปกติ เราจะพิจารณาลงทุนเฉพาะมาตรการที่มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิเป็นบวกเท่านั้น โดยมาตรการที่มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิเป็นบวกมาก จะเป็นมาตรการที่มีผลตอบแทนในการลงทุนสูง

3. การหาอัตราผลตอบแทนภายใน (INTERNAL RATE OF RETURN)

อัตราผลตอบแทนภายใน เป็นวิธีการทางการเงินที่อยู่บนพื้นฐานของการคำนวณมูลค่าปัจจุบันสุทธิ การหาอัตราผลตอบแทนภายในของมาตรการอนุรักษ์พลังงาน ทำได้โดยการหาอัตราคิดลดที่ทำให้มูลค่าปัจจุบันสุทธิของมาตรการที่มีค่าเท่ากับศูนย์

การคำนวณหาอัตราผลตอบแทนภายในจะต้องกำหนดระยะเวลาของมาตรการ ซึ่งโดยทั่วไปจะกำหนดตามอายุการใช้งานของระบบหรืออุปกรณ์ที่ติดตั้ง อัตราผลตอบแทนภายในจะคำนวณได้จากสูตร  มูลค่าปัจจุบันสุทธิ = 0

มูลค่าปัจจุบันสุทธิ = 0
โดยที่   irr = อัตราคิดลด Discount rate (%),  n = ระยะเวลามาตรการ (ปี)

เกณฑ์ในการใช้อัตราผลตอบแทนภายใน ในการประเมินมาตรการการอนุรักษ์พลังงานก็คือ มาตรการใดก็ตามทีมีอัตราผลตอบแทนภายในสูงกว่า อัตราผลตอบแทนที่องค์กรสามารถหาได้จากลงทุนประเภทอื่นๆ หรือเกณฑ์ต่ำสุดขององค์กร มาตรการนั้นก็ควรจะได้รับการพิจารณา

ตัวอย่างการพิจารณาง่ายๆ ก็คือ ถ้ามาตรการอนุรักษ์พลังงานมีอัตราผลตอบแทนภายในสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ได้จากการนำเงินที่มีอยู่ไปฝากธนาคาร มาตรการนั้นก็ควรจะถูกพิจารณาในการลงทุน

ตัวอย่างการวิเคราะห์การลงทุนแบบต่างๆ

◊ แบบที่ 1 การคำนวณระยะเวลาการคืนทุนอย่างง่าย (Simple payback period) ◊

ระยะเวลาการคืนทุน คือ ระยะเวลาที่โครงการจะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไป
ตัวอย่างเช่น
- โครงการหนึ่งต้องการเงินลงทุน 100,000 บาท
- ผลประโยชน์ที่ได้ของโครงการมีมูลค่า 50,000 บาทต่อปี
- ระยะเวลาคืนทุน เท่ากับ ค่าใช้จ่ายที่ลงทุน/ผลตอบแทนต่อปี (หรือผลประหยัด)
- ระยะเวลาคืนทุนเท่ากับ 2 ปี

การหาจุดคุ้มทุน

แบบที่ 2 การคำนวณมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net present value)

ขายสินค้า A โดยไม่มีการหักค่าเสื่อมราคา ให้คำนวณหามูลค่าปัจจุบันสุทธิของเงินที่ท่านได้รับหลังจากขายสินค้า A ในอีก 4 ปีข้างหน้า
- สินค้าA ที่ต้องการขายเมื่ออายุการใช้งานครบ 4 ปี อัตราส่วนลดมีค่า 8% ถ้าท่านจะขายสินค้า A ใน อีก 4 ปีข้างหน้า

- จะได้รับเงินจากผู้ซื้อ = 160,000 บาท
- อัตราส่วนลด = 8%
- ค่าส่วนลด = 1/(1+0.08)4  = 0.735
- มูลค่าในอีก 4 ปีข้างหน้า คิดจาก 160,000 x 0.735 = 117,600 บาท

แบบที่ 3 การหาอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal rate of return)

สำหรับตัวอย่างการหุ้มฉนวน ถ้าหากค่าอัตราส่วนลดเพิ่มขึ้นมูลค่าปัจจุบันสุทธิจะเป็นอย่างไรพิจารณาจากตารางข้างล่าง
จากมาตรการประหยัดพลังงานของการหุ้มฉนวนเครื่อง Injection molding ตลอดอายุโครงการ ให้คำนวณค่าใช้จ่ายสุทธิโดย
- ค่าใช้จ่ายลงทุน = 3,456,000 บาท
- ผลประหยัดที่ได้ = 505,125 บาท/ปี
- อายุของฉนวน = 15 ปี
- อัตราส่วนลด = 11 %

ตารางแสดงสัดส่วนลดกับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ

อัตราส่วนลด มูลค่าปัจจุบันสุทธิ
10 377,021
11 167,288
12 -24,662
13 -200,691
14 -362,437

การหาอัตราผลตอบแทนภายในที่แน่นอน (ตัวเลขที่กราฟตัดแกน x) สามารถเขียนกราฟได้ดังต่อไปนี้

การแสดงสัดส่วนลดกับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ

จากกราฟ จะพบว่าค่าอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) เท่ากับ 11.8 %

Bibliography

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน. (2555). บทที่ 4 การตรวจวัดและวิเคราะห์การใช้พลังงาน. In คู่มือการอนุรักษ์พลังงานจากกรณีตัวอย่างที่ประสบผลสำเร็จ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ (pp. 4-37 – 4-40).

ienergyguru.com

0 Reviews

Write a Review

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *