Brick Properties: คุณสมบัติของอิฐมอญ
สาเหตุของความร้อนที่เกิดขึ้นภายในอาคารมาจากภายนอกมากกว่าที่เกิดขึ้นภายในอาคาร การที่จะลดความร้อนรวมลงได้ก็จะต้องมาจากการป้องกันความร้อนที่ดีจากกรอบอาคาร ซึ่งส่วนหนึ่งสามารถทำได้โดยการเลือกใช้วัสดุที่มีความเหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละพื้นที่ ก็จะสามารถช่วยลดความร้อนได้ โดยบทความนี้จะเสนอแนะลักษณะและคุณสมบัติ รวมถึงการนำไปใช้ที่ถูกต้องของวัสดุประกอบอาคารที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากวัสดุที่มีการผลิตและจำหน่ายในประเทศขณะนี้มีความหลากหลายมาก การที่จะทำการศึกษาวัสดุทุกชนิดจึงไม่สามารถทำได้ จึงนำเสนอเฉพาะวัสดุที่มีการใช้งานแพร่หลายในประเทศ หรือวัสดุที่มีความเกี่ยวข้องกับการลดการใช้พลังงานซึ่งมีความเหมาะสมกับการใช้งานทั่วไป และเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ที่จะสามารถนำไปเป็นแนวทางในการพิจารณาเลือกใช้ได้อย่างถูกต้อง และมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยจะแยกเป็น 2 กลุ่มหลักตามคุณสมบัติของวัสดุ ดังนี้
1) กลุ่มวัสดุประกอบโครงสร้าง ประกอบด้วย
- อิฐมอญ
- คอนกรีตบล็อก
- คอนกรีตมวลเบา
- กระจกตัดแสง
- ยิปซั่มบอร์ด
2) กลุ่มวัสดุประกอบฉนวน ประกอบด้วย
- ไฟเบอร์บอร์ด
- เซรามิคโค้ทติ้ง
- ใยแก้ว
- ฉนวนโฟม
- อลูมินั่มฟอยล์
หมายเหตุ : บทความนี้จะกล่าวถึงอิฐมอญเท่านั้น
อิฐมอญ (Brick)
รูปที่ 1 แสดงอิฐมอญ
Source : bricklampang.wordpress.com (2015, September 29)
1. ลักษณะโดยทั่วไป
อิฐมอญ เป็นวัสดุที่ผลิตมาจากการนำดินเหนียวมาเผาเพื่อให้ได้วัสดุที่คงรูปและมีความแข็งแรง โดยมีการใช้อิฐมอญในระบบการก่อสร้างมายาวนานหลายสิบปี จึงเป็นวัสดุที่เป็นที่รู้จักและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เนื่องจากความเชื่อมั่นในความคงทน และเป็นวัสดุที่ผลิตได้เองในประเทศจากแรงงานท้องถิ่นที่มีกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ที่ใช้มากเช่น อิฐอยุธยา (อ่างทอง) และอิฐพานทองที่จะเป็นอิฐที่ขนาดใหญ่กว่าอิฐอยุธยา การเผาก็ใช้ไม้ฟืนในการเผา ส่วนอิฐอยุธยาใช้แกลบในการเผาและก้อนอิฐก็จะมีขนาดเล็กกว่าอิฐพานทอง ราคาอิฐของอยุธยาจึงถูกกว่าอิฐพานทอง คุณสมบัติของอิฐมอญเป็นวัสดุที่ยอมให้ความร้อนถ่ายเทเข้า-ออกได้ง่าย และยังดูดเก็บความร้อนไว้ในตัวเองเป็นเวลานานกว่าจะเย็นตัวลง จะสังเกตได้จากเมื่อใช้มือสัมผัสผนังภายในบ้านในตอนบ่ายที่ถูกแดดร้อนจัด ผนังจะร้อนมาก และยังคงร้อนอยู่จนถึงช่วงหัวค่ำแล้วจึงเย็นลงใกล้เคียงกับอากาศปกติ เนื่องจากอิฐมอญมีความจุความร้อนสูงทำให้สามารถกักเก็บความร้อนไว้ในเนื้อวัสดุได้มาก ก่อนที่จะค่อยๆถ่ายเทสู่ภายนอก จึงเหมาะกับการใช้กับบริเวณที่ใช้งานเฉพาะช่วงกลางวัน คุณสมบัติเฉพาะของอิฐมอญดัง ตารางที่ 1
ตารางที่ 1 แสดงคุณสมบัติของอิฐมอญ
รูปที่ 2 แสดงการก่ออิฐมอญ
Source : perfectbuilder.co.th (2015, September 29)
2. การประยุกต์การใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุ
จากที่กล่าวมาเบื้องต้นจะพบว่าความสามารถในการต้านทานความร้อนของอิฐมอญมีไม่มากนัก แต่คุณสมบัติเด่นของวัสดุชนิดนี้คือ การที่เนื้อวัสดุมีมวลสารมากหรือสามารถเข้าใจให้ง่ายขึ้นก็คือวัสดุมีความหนาแน่นสูง ซึ่งคุณสมบัตินี้ทำให้สามารถเก็บความร้อนไว้ในตัวเองได้มากฉะนั้นการที่จะช่วยให้อิฐมอญมีคุณสมบัติในการต้านทานความร้อนได้มากขึ้น อาจมีความจำเป็นจะต้องประยุกต์การใช้งานจากรูปแบบปกติเล็กน้อย ซึ่งสามารถทำได้โดย
2.1 ก่อเป็นผนัง 2 ชั้น ให้มีความหนาเพิ่มขึ้นกว่าปกติ
ความร้อนในตอนกลางวันก็จะถูกกักไว้ในตัวอิฐได้มากขึ้นและใช้เวลานาน การส่งผ่านความร้อนเข้าสู่ภายในจะใช้เวลามากขึ้น (Time Lag) ซึ่งพบตัวอย่างได้จากโบสถ์หรือวิหารของไทยที่สมัยก่อนมีการสร้างให้มีผนังที่ค่อนข้างหนาและมีส่วนของช่องเปิดที่น้อย โดยเฉพาะที่เป็นกระจกจะไม่มีเลย การที่ผนังมีความหนามากๆ ทำให้ป้องกันความร้อนจากภายนอกได้เต็มที่ ทำให้เมื่อเข้าไปภายในจะรู้สึกถึงความเย็นสบาย
รูปที่ 3 ผนังก่ออิฐมอญ 2 ชั้นฉาบปูนแบบติดชน และแบบเว้นช่องว่างอากาศตรงกลาง
2.2 การใช้วัสดุประกอบอื่นๆเข้าช่วย
เช่น เมื่อก่อเป็นผนัง 2 ชั้น ให้ก่อแบบเว้นช่องตรงกลางซึ่งช่องว่างตรงกลางนี้ก็จะมีอากาศที่เสมือนเป็นฉนวนกันความร้อนเพิ่มอีกชั้นหนึ่ง หรืออาจใส่ฉนวนโฟมหรือฉนวนใยแก้วไว้ระหว่างกลางก็ได้ แต่ถ้าคำนึงถึงระยะยาวแล้ว ฉนวนที่ใส่เข้าไปแล้วก็จะไม่สามารถเปลี่ยนหรือนำออกมาได้เมื่อเสื่อมคุณภาพ เนื่องจากมีการฉาบปิดทับไปหมดแล้วการบำรุงรักษาจึงไม่สามารถทำได้ อีกทั้งการใส่ฉนวนอาจมีผลทางลบด้วยถ้าไม่มีการนำไปใช้ให้ถูกต้อง เพราะนอกจากจะป้องกันความร้อนเข้ามาภายในแล้ว ตัวฉนวนเองก็จะกันไม่ให้ความร้อนระบายออกสู่ภายนอกด้วยเช่นกัน
รูปที่ 4 ผนังก่ออิฐมอญ 2 ชั้นเว้นช่องว่างตรงกลาง (ควรมากกว่า 10 ซม.) ฉาบปูนแบบเทปูนและแบบใส่ฉนวนระหว่างอิฐมอญ 2 ชั้น
การใช้งานของวัสดุประเภทอิฐมอญที่ง่ายต่อการใช้งานและสามารถป้องกันความร้อนได้ดีสำหรับอาคารพักอาศัยทั่วไป คือการทำผนัง 2 ชั้นโดยเว้นช่องตรงกลาง และจะดียิ่งขึ้นถ้ามีการระบายอากาศที่ผนังให้สามารถถ่ายเทความร้อนกลับสู่ภายนอกก่อนที่จะผ่านผนังชั้นในเข้ามา แต่มีข้อควรระวังคือ ช่องที่ระบายอากาศจะต้องทำเป็นตะแกรงหรือออกแบบให้สามารถป้องกันพวกสัตว์เล็กเข้าไปอาศัยอยู่ได้ และระวังเรื่องของน้ำฝนที่อาจสาดเข้าไปภายใน
รูปที่ 5 ผนังก่ออิฐมอญ 2 ชั้นเว้นช่องว่างตรงกลาง และมีที่ระบายอากาศภายในผนังด้านนอก
2.3 การใช้วัสดุประกอบชนิดอื่นทำเป็นผนังประกอบกับอิฐมอญ
หรือใช้แบบปิดทับไปเลยและมีการเว้นช่องว่างอากาศตรงกลางไว้ ก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนได้อีกทางหนึ่ง แต่วัสดุที่เสนอให้นำมาใช้ที่จะให้ผลดีควรเป็นวัสดุที่มีมวลสารน้อยไว้ด้านนอก เช่น ไม้ ยิปซั่มบอร์ด ไฟเบอร์บอร์ด หรือวัสดุอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน ซึ่งในปัจจุบันมีผู้นิยมทำกันบ้างแล้ว แต่เหตุผลในการนำมาใช้ส่วนมากเป็นการใช้เพื่อตกแต่งผนังอาคารที่เน้นด้านความงามมากกว่า จึงมีการติดตั้งเพียงบางส่วนของผนังเท่านั้น
รูปที่ 6 ผนังก่ออิฐมอญด้านในและใช้วัสดุประกอบประเภทมวลสารน้อยไว้ด้านนอก
Bibliography
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน. (พ.ศ. 2545). บทที่ 2 การเลือกใช้วัดสุอุปกรณ์ก่อสร้างที่มีคุณสมบัติความเป็นฉนวน 10 ชนิด. In เอกสารแผยแพร่ แนวทางการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างและฉนวนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (pp. 2-15 - 2-20).
bricklampang.wordpress.com (2015, September 29) : https://bricklampang.wordpress.com/page/6/
perfectbuilder.co.th (2015, September 29) : http://www.perfectbuilder.co.th/worksub.php?YearID=2011&WorkID=59
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!