การบำรุงรักษาระบบโซล่าเซลล์
การบำรุงรักษาระบบโซล่าเซลล์
ก่อนหน้านี้เราได้เรียนรู้กันถึงหลักการออกแบบ และติดตั้งเบื้องต้นระบบโซล่าร์เซลล์สำหรับบ้านเรือน (หลักการออกแบบและติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์เบื้องต้นสำหรับบ้านเรือน) และ อุปกรณ์พื้นฐานของระบบ PVs สำหรับบ้านเรือน(อุปกรณ์พื้นฐานในการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์: สำหรับบ้านเรือน) ไปแล้วนั้น คราวนี้เราจะกล่าวถึง การบำรุงรักษา ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในการช่วยยืดอายุการใช้งานและคงรักษาประสิทธิภาพ ในการผลิตไฟฟ้าของระบบโซล่าร์เซลล์ของเรา
การบำรุงรักษาระบบ
การบำรุงรักษา (Maintenance) ที่จะกล่าวนี้เป็นการดูแลรักษาระบบ PVs เพื่อสามารถผลิตไฟฟ้าได้ยาวนานเท่าที่เป็นไปได้ เมื่อเทียบค่าบำรุงรักษากับระบบผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในบ้านเรือนด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น เครื่องปั่นไฟโดยใช้น้ำมันดีเซล เป็นต้น ถือว่าค่าบำรุงรักษาระบบโซล่าเซลล์นี้มีราคาที่ถูกกว่ามาก โดยทั่วไปจะมีการตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์หลัก ๆ ของระบบ PVs ได้แก่
- การบำรุงรักษาแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Panels)
- การบำรุงรักษาตัวแปลงกระแสไฟฟ้าและระบบควบคุมต่าง ๆ (Inverter and Controller)
- การบำรุงรักษาระบบสายไฟและระบบเชื่อมต่อต่าง ๆ (Wiring and Connections)
- การบำรุงรักษาแบตเตอรี่ (Battery, The system with Battery Back-up)
1. การบำรุงรักษาแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Panels)
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าแผงพลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ฉะนั้นผู้ใช้งานควรมีการตรวจสอบดูแลและบำรุงรักษาแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ดังนี้
- ทำความสะอาดคราบสกปรกและฝุ่นที่เกาะบนแผงพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการล้างด้วยน้ำสะอาดและเช็ดคราบสกปรกออก บางครั่งคราบสกปรกจะเป็นพวกยางหรือมูลนกให้ใช้น้ำเย็นทำล้างและขัดด้วยฟองน้ำ ข้อควรระวังในการทำความสะอาดแผงพลังงานแสงอาทิตย์คือ ห้ามใช้แปรงที่มีขนเป็นโลหะทำความสะอาดผิวของแผงพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ผงซักฟองก็ไม่ควรใช้ในการทำความสะอาดเพราะอุปกรณ์และน้ำยาทำความสะอาดดังกล่าวจะทำให้เกิดรอยที่ผิวแผงพลังงานแสงอาทิตย์ได้
- ตรวจสอบดูสภาพแผงพลังงานแสงอาทิตย์ว่ายังมีสภาพที่สมบูรณ์หรือไม่ เช่น รอยร้าว, รอยแตก, รอยฝ้าบริเวณผิว, มีรอยรั่วของน้ำภายในผิวแผงพลังงานแสงอาทิตย์ และ สีของแผงเปลี่ยน เป็นต้นให้มีการจดบันทึกและสังเกตการณ์สิ่งผิดปรกติต่าง ๆ ถ้าประสิทธิภาพลดลง อาจจะมีการซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีปัญหาดังกล่าว
- ตรวจสอบอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับแผงพลังงานแสงอาทิตย์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ หากมีข้อผิดพลาดให้ทำการแก้ไขให้เร็วที่สุด
2. การบำรุงรักษาตัวแปลงกระแสไฟฟ้าและระบบควบคุมต่างๆ (Inverter and Controller)
ระบบแปลงกระแสไฟฟ้าและระบบควบคุมต่าง ๆ ควรมีสภาพที่สะอาดปราศจากฝุ่นเกาะสะสม ฉะนั้นควรใช้ผ้าแห้งเช็คทำความสะอาดฝุ่นที่เกาะอุปกรณ์เหล่านี้ และใช้ไฟฉาย LED ส่องดูในช่องที่ตรวจสอบได้ยากเช่น รอยต่อต่างๆ ภายในอุปกรณ์ว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์หรือไม่ หากมีสภาพที่ไม่พร้อมใช้งานหรือชำรุด เช่น สายไฟมีการหลุดออกมา ถ้าตรวจพบให้ทำการแก้ไขให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ต้องตรวจสอบกล่องที่ครอบอุปกรณ์ควบคุมต่าง ๆ นี้ต้องไม่มีแมลงหรือหนูมาทำรัง หากมีให้กำจัดทิ้งเพื่อป้องกันแมลงและหนูมาทำให้ระบบมีปัญหา
3. การบำรุงรักษาระบบสายไฟและระบบเชื่อมต่อต่างๆ (Wiring and Connections)
การตรวจสอบระบบสายไฟและระบบเชื่อมต่อต่าง ๆ นั้นควรตรวจสอบว่าอุปกรณ์ดังกล่าวมีสภาพที่บ่งบอกถึงความไม่สมบูรณ์หรือชำรุดหรือไม่ เช่น รอยร้าว รอยแตก ความเสื่อมสภาพของฉนวนและท่อ รอยกัดกร่อนต่าง ๆ รอยไหม้ การเกิดประกายไฟตอนสับสวิตช์ไฟ สภาพของสายดิน เป็นต้น หากเกิดปัญหาดังกล่าวให้แจ้งผู้ที่มาติดตั้งมาซ่อมบำรุงให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้
4. การบำรุงรักษาแบตเตอรี่ (Battery, The system with Battery Back-up)
แบตเตอรี่ใช้ในระบบที่ต้องการสำรองไฟฟ้าเอาไว้ใช้งานั้น ต้องมีการตรวจสอบสภาพแบตเตอรี่ เช่น ปริมาณสารละลายอิเล็กโทรไลท์ รอยแตกร้าวบริเวณก้อนแบตเตอรี่ รอยกัดกร่อนบริเวณขั้วแบตเตอรี่ ระดับแรงดันของแบตเตอรี่ เป็นต้น แบตเตอรี่ที่มีสภาพดีควรสะอาด ไม่มีฝุ่นหรือคราบสกปรก และไม่ควรมีรอยกัดกร่อน และการรั่วของสารละลายอิเล็กโทรไลท์ การเกิดปัญหาที่กล่าวมาให้ทำการซ่อมบำรุงดังนี้
- หากปริมาณสารละลายอิเล็กโทรไลท์น้อยเกินไปให้ทำการเติมสารละลายเข้าไปเพิ่มให้อยู่ในระดับที่ใช้งานปรกติ
- การเกิดรอยกัดกร่อนบริเวณขั้วให้ทำความสะอาดซึ่งลักษณะการกัดกร่อนบริเวณขั้วจะเป็นคราบสีขาว โดยปรกติให้ทำความสะอาดเดือนละครั้ง
- ระดับแรงดันของแบตเตอรี่ควรมีการตรวจสอบระดับแรงดันไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีความผิดปรกติให้ทำการตรวจสอบ ซ่อมบำรุง หรือเปลี่ยนก้อนแบตเตอรี่นั้น
5. ต้นทุนการติดตั้งระบบและระยะการคืนทุนของระบบ Solar Cell สำหรับบ้านเรือน
ต้นทุนในการติดตั้งระบบ PVs สำหรับบ้านเรือนนี้จะมีต้นทุนรวม ๆ อยู่ที่ราว ๆ 50 – 200 บาทต่อวัตต์ซึ่งราคาต้นทุนนี้ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตไฟฟ้าของ PVs ที่ติดตั้ง ฉะนั้นระยะเวลาคืนทุนของระบบดังกล่าวจะอยู่ที่ราว ๆ 7- 20 ปี ซึ่งระยะเวลาคืนทุนจะขึ้นอยู่หลายปัจจัย เช่น คุณภาพของแสงอาทิตย์, ประสิทธิภาพของระบบ, พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้, การขายไฟฟ้าให้แก่รัฐบาลหรือใช้งานเองภายในบ้าน และ การสนับสนุนด้านการเงินของรัฐบาล เป็นต้น
เรียบเรียงโดย นายสุรเชษฐ ย่านวารี
อ้างอิง
Extension Energy Program. 2009. Solar Electric System Design, Operation and Installation an Overview for Builders in the Pacific Northwest, Washington State University. USA
Endecon Engineering. 2001. A GUIDE TO PHOTOVOLTAIC (PV) SYSTEM DESIGN AND INSTALLATION, California Energy Commission Energy Technology Development Division. USA
Jayakumar P., 2009, Solar Energy Resource Assessment Handbook, Asian and Pacific Centre for Transfer of Technology. India
Phoonsap W., 2014, INSTALLATION AND PERFORMANCE OF PARABOLIC TROUGH SOLAR COLLECTOR, Asian Institute of Technology, Pathumthani
USAID. 2013. SOLAR PV SYSTEM MAINTENANCE GUIDE, United States Agency for International Development. USA
วรรณคนาพล พ., สุวรรณชัยกุล อ., ศรีสุวรรณ์. ป. และ ตันตสวัสดิ์ ฉ., (N/A), ประโยชน์ของการใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา: กรณีศึกษาอาคารที่พักอาศัยต้นทุนต่ำ, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปทุมธานี
บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน). N/A. โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), กรุงเทพมหานคร
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!