21 ตุลาคม วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ
หากกล่าวถึงความสุขของคนเราอย่างหนึ่งคือการกิน ก็คงไม่ผิด แต่ถ้าหากวันหนึ่งเราเกิดปวดฟัน หรือมีปัญหาทางช่องปากขึ้นมา เราคงต้องคิดถึงคุณหมอฟัน หรือทันตแพทย์ ที่จะเป็นคนช่วยรักษาให้เราหาย และกลับมามีความสุขกับการกินอีกครั้ง วันนี้ iEnergyGuru ขอนำเสนอเรื่องราวของวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ให้ทุกท่านได้ทราบกัน
ทุกวันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี นอกจากเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า พระผู้อยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทยแล้ว ยังเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในวงการทันตแพทย์ไทย นั่นคือ วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ
จุดเริ่มต้นของวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2512 เมื่อสมเด็จย่าทรงก่อตั้งหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีหรือ พอ.สว เป็นหน่วยแพทย์ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2512 ปฏิบัติงานโดยอาสาสมัครประกอบด้วยแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกไปให้บริการประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร หลังจากที่เสด็จเยี่ยมราษฎรตามพื้นที่ประชาชนห่างไกลนับตั้งแต่ปี พ.ศ 2507 เป็นต้นมาทรงพบว่าราษฎรเหล่านั้นเมื่อเจ็บป่วยไม่มีโอกาสได้รับรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่โดยเสด็จฯ อยู่เสมอ
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเล็งเห็นว่ากิจการและการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านการแพทย์และสาธารณสุขประสบผลและเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1 ล้านบาทเป็นทุนเริ่มแรกจดทะเบียนจัดตั้งเป็น “มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ พอ.สว มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “The Princess Mother’s Medical Volunteer Foundation” เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ปี พ.ศ 2517 โดยพระองค์เป็นองค์นายิกากิตติมศักดิ์ หลังจากเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ปี พ.ศ 2538 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ต่อตราบจนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 มกราคม ปี พ.ศ 2551 ปัจจุบันสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์
ภาพในความทรงจำของปวงชนชาวไทย คือภาพที่พระองค์ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในชนบทห่างไกล พร้อมหน่วยแพทย์ พอ.สว. ซึ่งมีทันตแพทย์ให้บริการตรวจและรักษาโรคในช่องปากแก่ประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล พระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องบริการทันตกรรมเป็นพิเศษ ได้ทรงกำชับไว้ว่า “ต้องมีทันตแพทย์ไปช่วยชาวบ้านทุกครั้ง เนื่องจากคนไข้ในท้องถิ่นทุรกันดาร เมื่อมีโรคฟันจะต้องทนทุกข์ทรมานและไม่สามารถช่วยตนเองได้ ดังนั้นต้องให้มีทันตแพทย์ไปช่วยโดยด่วน” ทันตแพทย์และบุคลากรจึงเป็นส่วนหนึ่งของทีมอาสาสมัครของหน่วยแพทย์ พอ.สว. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา
ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ครั้งแรกของ พอ.สว. เริ่มต้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ปี พ.ศ. 2512 ที่บ้านดอยสามหมื่น กิ่งอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขณะที่ปัจจุบัน ทาง พอ.สว. ก็มีการขยายเครือข่ายอาสาอย่างต่อเนื่อง จนมีแพทย์อาสารวม 63 จังหวัด และมีอาสาสมัคร พอ.สว. ประมาณ 50,000 คนแล้ว
จนในปี พ.ศ. 2529 มูลนิธิ พอ.สว. ได้ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข คณะทันตแพทยศาสตร์ ทุกมหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร และทันตแพทยสมาคมฯ เริ่มจัด “กิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันพระราชสมภพ 21 ตุลาคม โดยระดมทันตบุคลากรอาสาสมัครทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วประเทศ ออกให้บริการตรวจรักษาโรคในช่องปาก โดยไม่คิดมูลค่าแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร 63 จังหวัด และได้จัดกิจกรรมนี้ต่อเนื่องทุกปี
กระทั่งปี พ.ศ. 2532 ทางคณะรัฐมนตรีเห็นว่าสมเด็จย่ามีพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานวิชาชีพทันตแพทยศาสตร์ และทันตบุคลากร จึงได้อนุมัติให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า เป็น “วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ” นอกจากนี้ ทุกคนยังได้พร้อมใจถวายพระราชสมัญญาแก่พระองค์เป็น พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย อีกด้วย
โครงการด้านทันตสาธารณสุขต่างๆ ที่พระองค์และมูลนิธิ พอ.สว. ให้การสนับสนุน เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่แก้ปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชนอย่างแท้จริงและครบวงจร ทั้งการรักษาโรคในช่องปาก การจัดบริการทันตกรรมป้องกัน การส่งเสริมให้เกิดการดูแลสุขภาพช่องปากตนเอง
ด้านกระทรวงสาธารณสุขได้สืบสานพระปณิธานดังกล่าว ด้วยการศึกษาสถานการณ์สุขภาพช่องปากของประชาชนไทยเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา และพบว่าโรคในช่องปากทั้งฟันผุ เหงือกอักเสบ สภาวะปริทันต์อักเสบ มีความชุกสูง เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโรคที่ป้องกันได้ สาเหตุมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งการบริโภคอาหารหวาน การทำความสะอาดฟันที่ไม่ถูกวิธี การไปรับบริการทางทันตกรรมเฉพาะเมื่อปวดฟัน เป็นต้น และได้ดำเนินกิจกรรมด้านทันตกรรมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าง เสริมสุขภาพ (สสส.) และสหวิชาชีพ ในเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เพื่อลดการบริโภคอาหารหวาน โดยเฉพาะในเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน มหาวิทยาลัย องค์กรท้องถิ่น และภาคเอกชน เพื่อรณรงค์แปรงฟันในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการรณรงค์ให้เด็กประถมศึกษาได้ฝึกทักษะการแปรงฟันอย่างถูกวิธี และได้รับบริการเคลือบหลุมร่องฟันเพื่อป้องกันฟันผุ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการช่วยเหลือด้านทันตกรรมของผู้สูงอายุอีกด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขมูลนิธิ พอ.สว.ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพคือ โครงการฟันสะอาด เหงือกแข็งแรงในโรงเรียนมัธยมศึกษา และโครงการเฝ้าระวังทันตสุขภาพนักเรียนในโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน เป็นต้น
ซึ่งกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข ก็ยังคงดำเนินการอยู่ทุกปีในพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือจากทันตบุคคลอาสาสมัคร และองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระศรีนครินทรบรมราชชนนี “พระมารดาแห่งวงการทันตแพทย์ไทย” ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงเสด็จสวรรคตแล้วก็ตาม แต่กิจกรรมก็ยังคงดำเนินการอยู่ทุกปี ด้วยความจงรักภักดี และเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ต่อไป
เมื่อถึงวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติของทุกปี กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดให้ประชาชนทั่วไป สามารถรับบริการทันตกรรมในสถานพยาบาลของภาครัฐ สถานีอานามัยที่บริการทันตกรรม โดยไม่คิดมูลค่า เผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพช่องปาก รณรงค์เรื่องทันตสุขภาพ โดยส่วนใหญ่จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ให้บริการตรวจฟันและระบุความเสี่ยงของการเกิดโรคในช่องปาก, ให้บริการขูดหินปูนฟรี, สาธิตและฝึกปฏิบัติการแปรงฟันให้สะอาดและถูกวิธี, อบรมเรื่องการควบคุมพลัค (Plaque )ในปาก, จัดนิทรรศการทันตสุขภาพ, จัดนิทรรศการโภชนาการ และสุขาภิบาลอาหาร, แปรงสีฟันเก่าแลกแปรงสีฟันใหม่ และขบวนรณรงค์ทันตสุขภาพ
ในวันทันตสุขภาพ นอกจากกิจกรรมการรณรงค์ทันตสาธารณสุข ที่จัดขึ้นในทั่วประเทศแล้ว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล กระทรวงสาธาณสุขยังได้มีการจัดทำคู่มือ เพื่อให้ความรู้และการดูแลสุขภาพในช่องปากแก่ประชาชน โดยคาดหวังว่าประชาชนจะนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกวิธี เพื่อให้มีสุขภาพปากและฟันที่ดีต่อไป ตามพระราชดำรัสของสมเด็จย่าดังนี้
“… ขอขอบใจทุกๆ คน ที่ได้ร่วมมือในการทำงานกับกิจการ พอ.สว. นี้มา ได้ทำมาร่วม 10 ปีแล้ว … ฉันหวังว่า จะดำเนินการนี้ต่อไปอีกนาน นานจนกว่าจะมีทางรัฐบาลไปถึงเขา ฉันเองก็คงอยู่ต่อไปอีกไม่กี่ปี หวังว่าพวกท่านจะดำเนินงานนี้ต่อไปได้โดยไม่มีฉัน …” พระราชดำรัส สมเด็จพระศรีนครินทราบรมาชชนนี พระราชทานในการประชุม พอ.สว. จังหวัดตาก วันที่ 26 กันยายน ปี พ.ศ. 2526
เพื่อสืบสานพระปณิธาน กรมอนามัยจึงได้จัดโครงการส่งเสริมและป้องกันโรคในช่องปาก เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงตามกลุ่มวัยต่างๆ มาโดยตลอด ทั้งพฤติกรรมการทำความสะอาดฟัน ลดการบริโภคอาหารหวาน หรือขนมของเด็ก พฤติกรรมการรับบริการเพื่อการป้องกันโรคในช่องปาก ทั้งเด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียน ที่ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิ พอ.สว. อาทิเช่น การเฝ้าระวังทางทันตสาธารณสุขในโรงเรียนประถมศึกษาเพื่อจัดบริการทั้งการส่งเสริม ป้องกัน และรักษาโรคในช่องปากแก่เด็กนักเรียน รวมทั้งเน้นให้เด็กรู้จักใช้แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สามารถแปรงฟันได้ถูกวิธี ดูแลรักษาสุขภาพเหงือกและฟันด้วยตนเอง
การรณรงค์ “ฟันสะอาด เหงือกแข็งแรง” ในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีพฤติกรรมที่ถูกต้องในการดูแลรักษาเหงือกและฟันของตนเอง โดยการสอนและฝึกทักษะในการแปรงฟัน รวมทั้งทดสอบประสิทธิภาพหลังการแปรงฟันด้วยการใช้เม็ดสีย้อมคราบจุลินทรีย์บนตัวฟัน
การรณรงค์ใช้สารเคลือบหลุมร่องฟันป้องกันฟันผุในฟันกรามถาวรซี่ที่ 1 ของเด็กอายุ 5-7 ปี ซึ่งเป็นฟันที่พบการผุมากที่สุด เนื่องจากฟันซี่นี้ขึ้นในช่วงเวลาที่เด็กยังเล็ก และไม่ให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดฟัน การเคลือบหลุมร่องฟันจะเป็นมาตรการป้องกันฟันผุด้านบดเคี้ยว ที่เป็นที่ยอมรับว่ามีประสิทธิผลสูงสุดตราบเท่าที่สารเคลือบหลุมร่องฟันยังคงยึดติดกับผิวฟัน
โครงการ “แม่ลูกฟันดี 102 ปีสมเด็จย่า” เพื่อควบคุมโรคฟันผุสำหรับเด็กปฐมวัย โดยการปรับพฤติกรรมแม่ในการดูแลตนเองและลูก เริ่มตั้งแต่ฟันที่เริ่มสร้างเมื่ออยู่ในครรภ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากในหญิงตั้งครรภ์ และให้บริการตรวจเฝ้าระวังทันตสุขภาพ จัดบริการป้องกันรักษาตามจำเป็นแก่ลูกตั้งแต่แรกเกิดอย่างต่อเนื่องจนถึง 3 ปี
การสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุขเนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติในวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี โครงการและกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นที่มาของกิจกรรมการดำเนินงานทันตสาธารณสุขในปัจจุบันของกรมอนามัยที่ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชน ทั้งการจัดกิจกรรมแปรงฟันหลังอาหารกลางวันในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน การส่งเสริมสุขภาพช่องปากแก่หญิงมีครรภ์ การแปรงฟันหลังอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา การงดจำหน่ายขนมหรือน้ำอัดลมที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุในโรงเรียน การรณรงค์เคลือบหลุมร่องฟันตามโครงการ “ยิ้มสดใส เด็กไทยฟันดี”
สำหรับวัยทำงาน มีคลินิกอดบุหรี่เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์และมะเร็งช่องปาก และสำหรับกลุ่มผู้สูงวัย กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และในวาระมหามงคล 80 พรรษาในปี พ.ศ. 2550 โดยมีกรมอนามัยเป็นหน่วยประสานการดำเนินงาน ทั้งนี้เพื่อลดการสูญเสียฟัน และใส่ฟันเทียมทดแทนให้กับผู้สูงอายุที่สูญเสียฟัน
นอกจากนี้ยังได้จัดการดูแลมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เช่น จัดทำมาตรฐานปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟัน ในน้ำบริโภค จัดทำมาตรฐานคุณภาพขนแปรงและการตรวจสอบคุณภาพที่กรมอนามัย เป็นต้น
การรณรงค์ได้ขยายจนครอบคลุมทั่วประเทศ และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีเพื่อสุขภาพช่องปากของประชาชน แต่ละปีมีประชาชนนับแสนคนที่ได้รับบริการจากกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุขเนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ โดยไม่คิดมูลค่าภายใต้ชื่องาน “สมเด็จย่าทรงพระเมตตา ให้ปวงประชามีฟันดี” และมีการพัฒนาคุณภาพการบริการ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปากตนเองอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ด้วยพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณด้านทันตกรรม ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดารและห่างไกลการคมนาคม ได้รับบริการบำบัดรักษาโรคในช่องปาก มีโอกาสได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปากตนเอง จึงได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญา ทันตแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2530 โดยมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยขอนแก่น และในปี พ.ศ. 2533 โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และในวันที่ 17 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2533 องค์การอนามัยโลก ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองแห่งสุขภาพดีถ้วนหน้าเป็นพระองค์แรกในประวัติการณ์ขององค์การอนามัยโลก เพื่อประกาศพระเกียรติคุณอันสูงสุดที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันทรงคุณค่าแก่งานสุขภาพอนามัยแห่งชาวโลกทั้งมวล
ในปี พ.ศ. 2549 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิ พอ.สว. ได้จัดการรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานงานไปยังหน่วยบริการภาครัฐทุกแห่ง ทั้งในกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย คณะทันตแพทยศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย ในการจัดบริการตรวจรักษาโรคในช่องปาก รวมทั้งการให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากแก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า และร่วมกันถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 20 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2549 นอกจากนี้ยังได้จัดการรณรงค์ “สมเด็จย่าทรงพระเมตตา ให้ปวงประชามีฟันดี” เพื่อเปิดโครงการจัดการรณรงค์ทางทันตสาธารณสุขเนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2549
มีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า จัดนิทรรศการเพื่อการดูแลสุขภาพและสุขภาพช่องปากที่กรมอนามัย เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2549 โดยมุ่งหวังว่าประชาชนทั่วไปจะรับรู้และร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงมีต่อวิชาชีพทันตกรรมและวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ รวมทั้งได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพและสุขภาพช่องปากด้วยตนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพแข็งแรงและคุณภาพชีวิตที่ดีตามยุทธศาสตร์ “เมืองไทยแข็งแรง” ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติต่อไป
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพและสุขภาพช่องปากดีตามพระปณิธานของสมเด็จย่า สุขภาพช่องปากก็เป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพร่างกายที่มีความสัมพันธ์กับสุขภาพและคุณภาพชีวิต ซึ่งมีกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2547 ว่า “คนเราเวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง”
กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศยุทธศาสตร์ “เมืองไทยแข็งแรง” เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้คนไทยควรมีอายุขัยเฉลี่ย 80 ปี อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิต ซึ่งถ้าคิดตามกระแสพระราชดำรัสแล้ว ผู้ที่มีอายุ 80 ปี ฟันจะต้องดีด้วย สำหรับใช้เคี้ยวอาหารเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต
กรมอนามัย โดยกองทันตสาธารณสุข ได้ทำการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากของประชาชนเป็นประจำทุก 5 ปี ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2543-2544 พบว่าโรคฟันผุในฟันน้ำนมมีความชุกและความรุนแรงสูง เด็กอายุ 5-6 ปี มีฟันน้ำนมผุร้อยละ 87 และที่ผุเกือบทั้งหมดไม่ได้รับการรักษา ฟันแท้ของเด็กอายุ 12 ปี ผุร้อยละ 57 ผุมากที่สุดที่ฟันกรามถาวรซี่ที่ 1 และ 2 กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 35-44 ปี จะเริ่มพบการผุที่รากฟันและพบสภาวะปริทันต์อักเสบ ทำให้เกิดการละลายของกระดูกหุ้มรากฟัน ฟันโยก และสูญเสียฟันในที่สุด สำหรับกลุ่มผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป ปัญหาหลักได้แก่ ความทุกข์ทรมานจากการสูญเสียฟันจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้
ร้อยละ 96 ของผู้สูงวัยมีการสูญเสียฟันอย่างน้อย 1 ซี่ สูญเสียฟันทั้งปากและต้องใส่ฟันเทียมทดแทนร้อยละ 5 หรือประมาณ 3 แสนคน ผู้ที่มีฟันก็พบโรคฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ ที่เป็นสาเหตุให้สูญเสียฟันเพิ่มขึ้นได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้เนื่องมาจากพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่เหมาะสม หรือเหมาะสมแต่ไม่สม่ำเสมอมาตั้งแต่วัยเด็ก
นอกจากการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากแก่ประชาชนแล้ว กรมอนามัยยังสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2549 ได้จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า นิทรรศการเพื่อการดูแลสุขภาพและสุขภาพช่องปาก แปรงสีฟันและยาสีฟันเก่าแลกของใหม่
นอกจากนี้กรมอนามัยยังพบว่ามีผู้สูงอายุอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถดูแลสุขภาพช่องปากตนเองอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ ตั้งแต่วัยเด็ก สมควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการดูแลสุขภาพช่องปากแก่ลูกหลาน แม้ว่าจะมีน้อยมาก แต่ก็ยังพบว่ามีอยู่ทุกภาคในประเทศไทย จึงได้จัดให้มีการประกวด “10 ยอดฟันดี วัย 80 ปี” ขึ้นทุกปี เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ “เมืองไทยแข็งแรง” ของกระทรวงสาธารณสุข ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมการประกวดเป็นผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป มีสุขภาพแข็งแรง มีฟันดีอย่างน้อย 24 ซี่ มีอนามัยช่องปากดี
เหล่านี้เป็นกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า พระมารดาแห่งการสาธารณสุขไทยทั้งสิ้น
เรียบเรียงโดย ประพัฒน์ศร ทีม iEnergyGuru
อ้างอิง
www.pmmv.or.th
www.todayth.com/วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ.html
http://group.surinpho.go.th/dental/2019/10/16/nationaldentalday62/#:~:text=21%20ตุลาคม%20วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!