21 ตุลาคม วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ

หากกล่าวถึงความสุขของคนเราอย่างหนึ่งคือการกิน ก็คงไม่ผิด แต่ถ้าหากวันหนึ่งเราเกิดปวดฟัน หรือมีปัญหาทางช่องปากขึ้นมา เราคงต้องคิดถึงคุณหมอฟัน หรือทันตแพทย์ ที่จะเป็นคนช่วยรักษาให้เราหาย และกลับมามีความสุขกับการกินอีกครั้ง วันนี้ iEnergyGuru ขอนำเสนอเรื่องราวของวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ให้ทุกท่านได้ทราบกัน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี / ภาพจาก www.brh.go.th

ทุกวันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี นอกจากเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า พระผู้อยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทยแล้ว ยังเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในวงการทันตแพทย์ไทย นั่นคือ วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ

จุดเริ่มต้นของวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2512 เมื่อสมเด็จย่าทรงก่อตั้งหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีหรือ พอ.สว เป็นหน่วยแพทย์ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2512 ปฏิบัติงานโดยอาสาสมัครประกอบด้วยแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกไปให้บริการประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร หลังจากที่เสด็จเยี่ยมราษฎรตามพื้นที่ประชาชนห่างไกลนับตั้งแต่ปี พ.ศ 2507 เป็นต้นมาทรงพบว่าราษฎรเหล่านั้นเมื่อเจ็บป่วยไม่มีโอกาสได้รับรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่โดยเสด็จฯ อยู่เสมอ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเล็งเห็นว่ากิจการและการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านการแพทย์และสาธารณสุขประสบผลและเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1 ล้านบาทเป็นทุนเริ่มแรกจดทะเบียนจัดตั้งเป็น “มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ พอ.สว มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “The Princess Mother’s Medical Volunteer Foundation” เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ปี พ.ศ 2517 โดยพระองค์เป็นองค์นายิกากิตติมศักดิ์ หลังจากเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ปี พ.ศ 2538 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ต่อตราบจนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 มกราคม ปี พ.ศ 2551 ปัจจุบันสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์

ภาพในความทรงจำของปวงชนชาวไทย คือภาพที่พระองค์ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในชนบทห่างไกล พร้อมหน่วยแพทย์ พอ.สว. ซึ่งมีทันตแพทย์ให้บริการตรวจและรักษาโรคในช่องปากแก่ประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล พระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องบริการทันตกรรมเป็นพิเศษ ได้ทรงกำชับไว้ว่า “ต้องมีทันตแพทย์ไปช่วยชาวบ้านทุกครั้ง เนื่องจากคนไข้ในท้องถิ่นทุรกันดาร เมื่อมีโรคฟันจะต้องทนทุกข์ทรมานและไม่สามารถช่วยตนเองได้ ดังนั้นต้องให้มีทันตแพทย์ไปช่วยโดยด่วน” ทันตแพทย์และบุคลากรจึงเป็นส่วนหนึ่งของทีมอาสาสมัครของหน่วยแพทย์ พอ.สว. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา

ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ครั้งแรกของ พอ.สว. เริ่มต้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ปี พ.ศ. 2512 ที่บ้านดอยสามหมื่น กิ่งอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขณะที่ปัจจุบัน ทาง พอ.สว. ก็มีการขยายเครือข่ายอาสาอย่างต่อเนื่อง จนมีแพทย์อาสารวม 63 จังหวัด และมีอาสาสมัคร พอ.สว. ประมาณ 50,000 คนแล้ว

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี / ภาพจาก www.pmmv.or.th

จนในปี พ.ศ. 2529 มูลนิธิ พอ.สว. ได้ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข คณะทันตแพทยศาสตร์ ทุกมหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร และทันตแพทยสมาคมฯ เริ่มจัด “กิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันพระราชสมภพ 21 ตุลาคม โดยระดมทันตบุคลากรอาสาสมัครทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วประเทศ ออกให้บริการตรวจรักษาโรคในช่องปาก โดยไม่คิดมูลค่าแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร 63 จังหวัด และได้จัดกิจกรรมนี้ต่อเนื่องทุกปี

กระทั่งปี พ.ศ. 2532 ทางคณะรัฐมนตรีเห็นว่าสมเด็จย่ามีพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานวิชาชีพทันตแพทยศาสตร์ และทันตบุคลากร จึงได้อนุมัติให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า เป็น “วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ” นอกจากนี้ ทุกคนยังได้พร้อมใจถวายพระราชสมัญญาแก่พระองค์เป็น พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย อีกด้วย

โครงการด้านทันตสาธารณสุขต่างๆ ที่พระองค์และมูลนิธิ พอ.สว. ให้การสนับสนุน เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่แก้ปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชนอย่างแท้จริงและครบวงจร ทั้งการรักษาโรคในช่องปาก การจัดบริการทันตกรรมป้องกัน การส่งเสริมให้เกิดการดูแลสุขภาพช่องปากตนเอง

ด้านกระทรวงสาธารณสุขได้สืบสานพระปณิธานดังกล่าว ด้วยการศึกษาสถานการณ์สุขภาพช่องปากของประชาชนไทยเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา และพบว่าโรคในช่องปากทั้งฟันผุ เหงือกอักเสบ สภาวะปริทันต์อักเสบ มีความชุกสูง เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโรคที่ป้องกันได้ สาเหตุมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งการบริโภคอาหารหวาน การทำความสะอาดฟันที่ไม่ถูกวิธี การไปรับบริการทางทันตกรรมเฉพาะเมื่อปวดฟัน เป็นต้น และได้ดำเนินกิจกรรมด้านทันตกรรมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าง เสริมสุขภาพ (สสส.) และสหวิชาชีพ ในเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เพื่อลดการบริโภคอาหารหวาน โดยเฉพาะในเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน มหาวิทยาลัย องค์กรท้องถิ่น และภาคเอกชน เพื่อรณรงค์แปรงฟันในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการรณรงค์ให้เด็กประถมศึกษาได้ฝึกทักษะการแปรงฟันอย่างถูกวิธี และได้รับบริการเคลือบหลุมร่องฟันเพื่อป้องกันฟันผุ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการช่วยเหลือด้านทันตกรรมของผู้สูงอายุอีกด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขมูลนิธิ พอ.สว.ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพคือ โครงการฟันสะอาด เหงือกแข็งแรงในโรงเรียนมัธยมศึกษา และโครงการเฝ้าระวังทันตสุขภาพนักเรียนในโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน เป็นต้น

ซึ่งกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข ก็ยังคงดำเนินการอยู่ทุกปีในพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือจากทันตบุคคลอาสาสมัคร และองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระศรีนครินทรบรมราชชนนี “พระมารดาแห่งวงการทันตแพทย์ไทย” ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงเสด็จสวรรคตแล้วก็ตาม แต่กิจกรรมก็ยังคงดำเนินการอยู่ทุกปี ด้วยความจงรักภักดี และเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ต่อไป

โครงการทันตกรรมเคลื่อนที่เพื่อประชาชนด้อยโอกาสในเขตท้องถิ่นทุรกันดาร/ ภาพจาก www.pmmv.or.th

เมื่อถึงวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติของทุกปี กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดให้ประชาชนทั่วไป สามารถรับบริการทันตกรรมในสถานพยาบาลของภาครัฐ สถานีอานามัยที่บริการทันตกรรม โดยไม่คิดมูลค่า เผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพช่องปาก รณรงค์เรื่องทันตสุขภาพ โดยส่วนใหญ่จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ให้บริการตรวจฟันและระบุความเสี่ยงของการเกิดโรคในช่องปาก, ให้บริการขูดหินปูนฟรี, สาธิตและฝึกปฏิบัติการแปรงฟันให้สะอาดและถูกวิธี, อบรมเรื่องการควบคุมพลัค (Plaque )ในปาก, จัดนิทรรศการทันตสุขภาพ, จัดนิทรรศการโภชนาการ และสุขาภิบาลอาหาร, แปรงสีฟันเก่าแลกแปรงสีฟันใหม่ และขบวนรณรงค์ทันตสุขภาพ

ในวันทันตสุขภาพ นอกจากกิจกรรมการรณรงค์ทันตสาธารณสุข ที่จัดขึ้นในทั่วประเทศแล้ว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล กระทรวงสาธาณสุขยังได้มีการจัดทำคู่มือ เพื่อให้ความรู้และการดูแลสุขภาพในช่องปากแก่ประชาชน โดยคาดหวังว่าประชาชนจะนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกวิธี เพื่อให้มีสุขภาพปากและฟันที่ดีต่อไป ตามพระราชดำรัสของสมเด็จย่าดังนี้

“… ขอขอบใจทุกๆ คน ที่ได้ร่วมมือในการทำงานกับกิจการ พอ.สว. นี้มา ได้ทำมาร่วม 10 ปีแล้ว … ฉันหวังว่า จะดำเนินการนี้ต่อไปอีกนาน นานจนกว่าจะมีทางรัฐบาลไปถึงเขา ฉันเองก็คงอยู่ต่อไปอีกไม่กี่ปี หวังว่าพวกท่านจะดำเนินงานนี้ต่อไปได้โดยไม่มีฉัน …” พระราชดำรัส สมเด็จพระศรีนครินทราบรมาชชนนี พระราชทานในการประชุม พอ.สว. จังหวัดตาก วันที่ 26 กันยายน ปี พ.ศ. 2526

เพื่อสืบสานพระปณิธาน กรมอนามัยจึงได้จัดโครงการส่งเสริมและป้องกันโรคในช่องปาก เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงตามกลุ่มวัยต่างๆ มาโดยตลอด ทั้งพฤติกรรมการทำความสะอาดฟัน ลดการบริโภคอาหารหวาน หรือขนมของเด็ก พฤติกรรมการรับบริการเพื่อการป้องกันโรคในช่องปาก ทั้งเด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียน ที่ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิ พอ.สว. อาทิเช่น การเฝ้าระวังทางทันตสาธารณสุขในโรงเรียนประถมศึกษาเพื่อจัดบริการทั้งการส่งเสริม ป้องกัน และรักษาโรคในช่องปากแก่เด็กนักเรียน รวมทั้งเน้นให้เด็กรู้จักใช้แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สามารถแปรงฟันได้ถูกวิธี ดูแลรักษาสุขภาพเหงือกและฟันด้วยตนเอง

การรณรงค์ “ฟันสะอาด เหงือกแข็งแรง” ในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีพฤติกรรมที่ถูกต้องในการดูแลรักษาเหงือกและฟันของตนเอง โดยการสอนและฝึกทักษะในการแปรงฟัน รวมทั้งทดสอบประสิทธิภาพหลังการแปรงฟันด้วยการใช้เม็ดสีย้อมคราบจุลินทรีย์บนตัวฟัน

การรณรงค์ใช้สารเคลือบหลุมร่องฟันป้องกันฟันผุในฟันกรามถาวรซี่ที่ 1 ของเด็กอายุ 5-7 ปี ซึ่งเป็นฟันที่พบการผุมากที่สุด เนื่องจากฟันซี่นี้ขึ้นในช่วงเวลาที่เด็กยังเล็ก และไม่ให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดฟัน การเคลือบหลุมร่องฟันจะเป็นมาตรการป้องกันฟันผุด้านบดเคี้ยว ที่เป็นที่ยอมรับว่ามีประสิทธิผลสูงสุดตราบเท่าที่สารเคลือบหลุมร่องฟันยังคงยึดติดกับผิวฟัน

โครงการ “แม่ลูกฟันดี 102 ปีสมเด็จย่า” เพื่อควบคุมโรคฟันผุสำหรับเด็กปฐมวัย โดยการปรับพฤติกรรมแม่ในการดูแลตนเองและลูก เริ่มตั้งแต่ฟันที่เริ่มสร้างเมื่ออยู่ในครรภ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากในหญิงตั้งครรภ์ และให้บริการตรวจเฝ้าระวังทันตสุขภาพ จัดบริการป้องกันรักษาตามจำเป็นแก่ลูกตั้งแต่แรกเกิดอย่างต่อเนื่องจนถึง 3 ปี

การสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุขเนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติในวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี โครงการและกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นที่มาของกิจกรรมการดำเนินงานทันตสาธารณสุขในปัจจุบันของกรมอนามัยที่ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชน ทั้งการจัดกิจกรรมแปรงฟันหลังอาหารกลางวันในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน การส่งเสริมสุขภาพช่องปากแก่หญิงมีครรภ์ การแปรงฟันหลังอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา การงดจำหน่ายขนมหรือน้ำอัดลมที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุในโรงเรียน การรณรงค์เคลือบหลุมร่องฟันตามโครงการ “ยิ้มสดใส เด็กไทยฟันดี”

สำหรับวัยทำงาน มีคลินิกอดบุหรี่เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์และมะเร็งช่องปาก และสำหรับกลุ่มผู้สูงวัย กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และในวาระมหามงคล 80 พรรษาในปี พ.ศ. 2550 โดยมีกรมอนามัยเป็นหน่วยประสานการดำเนินงาน ทั้งนี้เพื่อลดการสูญเสียฟัน และใส่ฟันเทียมทดแทนให้กับผู้สูงอายุที่สูญเสียฟัน

นอกจากนี้ยังได้จัดการดูแลมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เช่น จัดทำมาตรฐานปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟัน ในน้ำบริโภค จัดทำมาตรฐานคุณภาพขนแปรงและการตรวจสอบคุณภาพที่กรมอนามัย เป็นต้น
การรณรงค์ได้ขยายจนครอบคลุมทั่วประเทศ และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีเพื่อสุขภาพช่องปากของประชาชน แต่ละปีมีประชาชนนับแสนคนที่ได้รับบริการจากกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุขเนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ โดยไม่คิดมูลค่าภายใต้ชื่องาน “สมเด็จย่าทรงพระเมตตา ให้ปวงประชามีฟันดี” และมีการพัฒนาคุณภาพการบริการ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปากตนเองอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณด้านทันตกรรม ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดารและห่างไกลการคมนาคม ได้รับบริการบำบัดรักษาโรคในช่องปาก มีโอกาสได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปากตนเอง จึงได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญา ทันตแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2530 โดยมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยขอนแก่น และในปี พ.ศ. 2533 โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และในวันที่ 17 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2533 องค์การอนามัยโลก ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองแห่งสุขภาพดีถ้วนหน้าเป็นพระองค์แรกในประวัติการณ์ขององค์การอนามัยโลก เพื่อประกาศพระเกียรติคุณอันสูงสุดที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันทรงคุณค่าแก่งานสุขภาพอนามัยแห่งชาวโลกทั้งมวล

ในปี พ.ศ. 2549 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิ พอ.สว. ได้จัดการรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานงานไปยังหน่วยบริการภาครัฐทุกแห่ง ทั้งในกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย คณะทันตแพทยศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย ในการจัดบริการตรวจรักษาโรคในช่องปาก รวมทั้งการให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากแก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า และร่วมกันถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 20 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2549 นอกจากนี้ยังได้จัดการรณรงค์ “สมเด็จย่าทรงพระเมตตา ให้ปวงประชามีฟันดี” เพื่อเปิดโครงการจัดการรณรงค์ทางทันตสาธารณสุขเนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2549

มีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า จัดนิทรรศการเพื่อการดูแลสุขภาพและสุขภาพช่องปากที่กรมอนามัย เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2549 โดยมุ่งหวังว่าประชาชนทั่วไปจะรับรู้และร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงมีต่อวิชาชีพทันตกรรมและวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ รวมทั้งได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพและสุขภาพช่องปากด้วยตนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพแข็งแรงและคุณภาพชีวิตที่ดีตามยุทธศาสตร์ “เมืองไทยแข็งแรง” ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติต่อไป

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพและสุขภาพช่องปากดีตามพระปณิธานของสมเด็จย่า สุขภาพช่องปากก็เป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพร่างกายที่มีความสัมพันธ์กับสุขภาพและคุณภาพชีวิต ซึ่งมีกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2547 ว่า “คนเราเวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง”

กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศยุทธศาสตร์ “เมืองไทยแข็งแรง” เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้คนไทยควรมีอายุขัยเฉลี่ย 80 ปี อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิต ซึ่งถ้าคิดตามกระแสพระราชดำรัสแล้ว ผู้ที่มีอายุ 80 ปี ฟันจะต้องดีด้วย สำหรับใช้เคี้ยวอาหารเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต

กรมอนามัย โดยกองทันตสาธารณสุข ได้ทำการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากของประชาชนเป็นประจำทุก 5 ปี ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2543-2544 พบว่าโรคฟันผุในฟันน้ำนมมีความชุกและความรุนแรงสูง เด็กอายุ 5-6 ปี มีฟันน้ำนมผุร้อยละ 87 และที่ผุเกือบทั้งหมดไม่ได้รับการรักษา ฟันแท้ของเด็กอายุ 12 ปี ผุร้อยละ 57 ผุมากที่สุดที่ฟันกรามถาวรซี่ที่ 1 และ 2 กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 35-44 ปี จะเริ่มพบการผุที่รากฟันและพบสภาวะปริทันต์อักเสบ ทำให้เกิดการละลายของกระดูกหุ้มรากฟัน ฟันโยก และสูญเสียฟันในที่สุด สำหรับกลุ่มผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป ปัญหาหลักได้แก่ ความทุกข์ทรมานจากการสูญเสียฟันจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้

ร้อยละ 96 ของผู้สูงวัยมีการสูญเสียฟันอย่างน้อย 1 ซี่ สูญเสียฟันทั้งปากและต้องใส่ฟันเทียมทดแทนร้อยละ 5 หรือประมาณ 3 แสนคน ผู้ที่มีฟันก็พบโรคฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ ที่เป็นสาเหตุให้สูญเสียฟันเพิ่มขึ้นได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้เนื่องมาจากพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่เหมาะสม หรือเหมาะสมแต่ไม่สม่ำเสมอมาตั้งแต่วัยเด็ก

นอกจากการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากแก่ประชาชนแล้ว กรมอนามัยยังสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2549 ได้จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า นิทรรศการเพื่อการดูแลสุขภาพและสุขภาพช่องปาก แปรงสีฟันและยาสีฟันเก่าแลกของใหม่

นอกจากนี้กรมอนามัยยังพบว่ามีผู้สูงอายุอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถดูแลสุขภาพช่องปากตนเองอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ ตั้งแต่วัยเด็ก สมควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการดูแลสุขภาพช่องปากแก่ลูกหลาน แม้ว่าจะมีน้อยมาก แต่ก็ยังพบว่ามีอยู่ทุกภาคในประเทศไทย จึงได้จัดให้มีการประกวด “10 ยอดฟันดี วัย 80 ปี” ขึ้นทุกปี เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ “เมืองไทยแข็งแรง” ของกระทรวงสาธารณสุข ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมการประกวดเป็นผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป มีสุขภาพแข็งแรง มีฟันดีอย่างน้อย 24 ซี่ มีอนามัยช่องปากดี

เหล่านี้เป็นกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า พระมารดาแห่งการสาธารณสุขไทยทั้งสิ้น

เรียบเรียงโดย ประพัฒน์ศร ทีม iEnergyGuru

อ้างอิง
www.pmmv.or.th
www.todayth.com/วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ.html
http://group.surinpho.go.th/dental/2019/10/16/nationaldentalday62/#:~:text=21%20ตุลาคม%20วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ

ประกาศลิขสิทธิ์ของ iEnergyGuru

 

 

0 Reviews

Write a Review

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *