ความเข้าใจเบื้องต้น ISO 50001
ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับ ISO 50001
ISO 50001 คืออะไร?
ISO 50001 คือ ระบบการจัดการพลังงานตามมาตรฐานสากล (Energy Management System) หรือเรียกโดยย่อว่า EnMS ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2011 (ISO 50001:2011)
โดยองค์การระหว่างประเทศ ว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization หรือเรียกโดยย่อว่า ISO) โดยมาตรฐานนี้มีวัตถุประสงค์ ในการส่งเสริมให้องค์กรดำเนินการปรับปรุงสมรรถนะพลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลดต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งให้มีการดำเนินการ และขอการรับรองโดยสมัครใจ
การขอการรับรองมาตรฐาน ISO 50001
การขอการรับรองมาตรฐานการจัดการพลังงาน ISO 50001 มีแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับมาตรฐานการจัดการอื่น ๆ โดยหน่วยงานที่ให้การรับรองระบบได้เราเรียกว่า หน่วยรับรอง (Certification Body) หรือเรียกโดยย่อว่า CB ซึ่งในประเทศไทยก็มีอยู่หลายหน่วยงานที่ให้การรับรองได้ เช่น BV, URS, TUVnord เป็นต้น โดยสถานประกอบการต้องคัดเลือกและว่าจ้างหน่วยรับรอง (CB) ที่ต้องการขอการรับรอง(Certification) และกำหนดแผนงานในการตรวจรับรอง โดยการตรวจรับรองจะแบ่งออกเป็น 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการตรวจประเมินความพร้อมเรียกว่า The first stage audit โดยผลสรุปจากการตรวจคือ ready หรือ not ready ถ้า Ready ก็สามารถตรวจในขั้นที่ 2 ได้ซึ่งเรียกว่า The second stage Audit หรือ Certification audit ถ้าตรวจผ่านก็จะได้รับการรับรอง ถ้าไม่ผ่านต้องแก้ไขข้อบกพร่องนั้นภายใน 90 วัน จึงจะได้รับการรับรองฯ หลังจากนั้นจะต้องมีการตรวจรายปี (Surveillance audit) โดยรอบของการตรวจเพื่อการขอการรับรองใหม่ (Recertification Audit) จะเกิดขึ้นทุก ๆ 3 ปี ก่อนเอกสารแสดงการรับรองระบบ (Certificate) หมดอายุ กระบวนการในการตรวจรับรองแสดงในรูปที่ 1
รูปที่ 1 แสดงแผนผังกระบวนการตรวจเพื่อขอการรับรอง ISO 50001
ข้อกำหนดมาตรฐานการจัดการพลังงาน ISO 50001
ข้อกำหนดในมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 โดยสังเขปได้แบ่งข้อกำหนดออกเป็น 4 ส่วนหลักตามวงล้อ PDCA (Plan-Do-Check-Act) ดังแสดงในรูปที่ 2
รูปที่ 2 แสดงแผนภาพกระบวนการของมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO50001:2011
ระบบมาตรฐานการจัดการพลังงาน กำหนดให้ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร (Top management) ระบุขอบข่าย (Scope) ซึ่งหมายถึง กระบวนการ หรือกิจกรรมที่ต้องการขอการรับรอง และขอบเขต (Boundary) ซึ่งหมายถึง ที่ตั้ง ของหน่วยงานหรือองค์กร ที่ต้องการขอการรับรอง โดยผู้บริหารสูงสุดจะประกาศแต่งตั้งผู้แทนฝ่ายบริหารพลังงาน (EnMR) และผู้แทนฝ่ายบริหารพลังงานจะสรรหาคณะทำงานด้านการจัดการพลังงานเพื่อร่วมดำเนินการจัดทำระบบการจัดการพลังงาน พร้อมทั้งประกาศนโยบายพลังงาน (Energy Policy) ขององค์กร จากนั้นองค์กรต้องจัดให้มีการวางแผนพลังงาน การปฏิบัติ การตรวจสอบ และการทบทวนการบริหารงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายพลังงาน และเกิดการปรับปรุงด้านสมรรถนะพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดดังนี้
การวางแผนพลังงาน (PLAN)
โดยการวัดและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานและปริมาณการใช้พลังงาน เพื่อบ่งชี้การใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญ (Significant Energy Use:SEU) ขององค์กรและกำหนดข้อมูลฐานพลังงานอ้างอิง (Energy Baseline) ดัชนีวัดสมรรถนะพลังงาน (EnPIs) และสมรรถนะพลังงานในปัจจุบัน ของกระบวนการหรือเครื่องจักรหลักในพื้นที่การใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญนั้น เพื่อชี้บ่งโอกาสในการปรับปรุงสมรรถนะพลังงานขององค์กร โดยกำหนดเป็นวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแผนด้านพลังงานให้สอดคล้องกับนโยบายพลังงาน กฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กระบวนการในการวางแผนพลังงานแสดงในรูปที่ 3
รูปที่ 3 กระบวนการวางแผนด้านพลังงาน (Energy Planning Process)
การปฏิบัติ (DO)
คือการดำเนินการตามแผนปฏิบัติด้านพลังงาน ซึ่งครอบคุลมถึงการดำเนินการด้านอื่น ๆ ที่จะทำให้ระบบการจัดการพลังงานมีความยั่งยืน ดังนี้
- ด้านความสามารถ การฝึกอบรม และความตระหนัก
- ด้านพลังงานของคนในองค์กร(Competence Training and awareness)
- ด้านการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร (Communication)
- ด้านระบบเอกสาร (Documentation) ซึ่งต้องดำเนินการจัดทำเอกสารให้สอดคล้องกับข้อกำหนดและการควบคุมเอกสาร
- ด้านการควบคุมการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษา (Operational Control) เฉพาะกระบวนการหรือเครื่องจักรที่มีนัยสำคัญและมีผลกระทบต่อสมรรถนะพลังงาน (SEU) ถ้ามีความจำเป็นก็ควรกำหนดวิธีปฏิบัติงาน (Work Instruction) ของแต่ละอุปกรณ์ เช่น วิธีปฏิบัติงานการเริ่มเดินหม้อไอน้ำ เป็นต้น
- ด้านการออกแบบและการจัดซื้อ สำหรับกระบวนการ เครื่องจักรที่มีนัยสำคัญและมีผลกระทบต่อสมรรถนะพลังงาน (SEU) รวมถึงการบริการด้านพลังงาน
การตรวจสอบ (CHECK)
เป็นกระบวนการในการตรวจติดตามและเฝ้าระวังให้เชื่อมั่นได้ว่าระบบการจัดการพลังงานขององค์กรยังคงอยู่ และมีสมรรถนะพลังงานที่ดี โดยการกำหนดแผนในการเฝ้าระวังและการตรวจติดตามตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อสมรรถนะพลังงาน การตรวจติดตามความสัมฤทธิ์ผลของวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านพลังงาน โดยการวัดและเครื่องมือวัดที่ใช้ต้องมีความเที่ยงตรง การตรวจสอบยังรวมถึงการตรวจประเมินภายในของระบบการจัดการพลังงาน (Internal audit) ที่ต้องทำทุกปี หากพบข้อบกพร่องหรือแนวโน้มที่จะเกิดขัอบกพร่องต้องดำเนินการปฏิบัติการแก้ไขและปฏิบัติการป้องกัน
การทบทวน (ACT)
องค์กรต้องดำเนินการทบทวนโดยฝ่ายบริหารทุกปีเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบการจัดการพลังงานยังคงอยู่ และมีการปรับปรุงและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง
แนวคิดของสมรรถนะด้านพลังงาน
ในระบบการจัดการพลังงานตามมาตรฐานนี้ มุ่งเน้นการปรับปรุงสมรรถนะพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยสมรรถนะพลังงานในองค์กรนั้น มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้พลังงาน (Energy Use) ปริมาณการใช้พลังงาน (Energy Consumption) ความเข้มของการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) และอื่น ๆ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน การนำพลังงานเหลือทิ้งมาใช้ใหม่ เป็นต้น ดังนั้นการดำเนินการปรับปรุงใด ๆ ที่เกี่ยวข้องข้างต้นจึงถือว่าเป็นการปรับปรุงด้านสมรรถนะพลังงานด้วย เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในการฉีดบรรจุภัณฑ์พลาสติกแล้วทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นโดยยังใช้พลังงานเท่าเดิม ถือว่าปรับปรุงสมรรถนะพลังงานเช่นกัน เพราะส่งผลโดยตรงต่อ Energy Intensity ที่ดีขึ้น
รูปที่ 4 แผนภาพแนวคิดของสมรรถนะด้านพลังงาน
เรียบเรียงโดย : วิชาญ นาคทอง (ทีมงาน iEnergyGuru)
เอกสารอ้างอิง
1. ข้อกำหนดมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 – ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ ๔๔๑๓ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๑๑เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ระบบการจัดการพลังงาน – ข้อกำหนดและข้อแนะนำในการใช้
2. International Standard ISO 50001 : Energy management systems Requirements with guidance for use
3. คู่มือพัฒนาระบบการจัดการพลังงานมาตรฐานสากล ISO 50001 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, พ.ศ. 2555
4. คู่มือพัฒนาระบบการจัดการพลังงานมาตรฐานสากล ISO 50001 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ พลังงาน, พ.ศ. 2556
สวัสดีครับ อยากจะสอบถามเรื่อง Energy Baseสรืe หน่อยครับ ถ้าตัวในสมการมีค่าเป็นลบหมายความว่ายังไงหรอครับ เช่น GJ = 100-2A+3B+4C ขอความกรุณาด้วยนะครับ