ประวัติการพัฒนาพลังงานไทย

ประวัติการพัฒนาพลังงานไทย

iEnergyGuru.com

capture-20150514-152523

วิวัฒนาการพลังงานไทย คือ วิวัฒนาการพัฒนาชาติ


ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 – พ.ศ. 2453) นั้น วิทยาการสมัยใหม่ต่าง ๆ เข้ามาในประเทศไทย ทำให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ในช่วงนั้น ถือกันว่าเป็นสยามยุคพัฒนา
สังคมไทยเปลี่ยนไปจากเดิม เริ่มมีการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์ ไปรษณีย์ โทรเลข โรงพยาบาล รถราง รถไฟ รวมไปถึงการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เช่น ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า น้ำมัน ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทย กลายมาเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในที่สุด
กิจการด้านพลังงานของประเทศไทย ทั้งในด้านไฟฟ้าและน้ำมันนั้น มีการพัฒนามาเป็นลำดับอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถแบ่งเป็นช่วงต่าง ๆ ได้ ดังนี้

  • ช่วงบุกเบิกพลังงานสยาม (พ.ศ. 2411 – 2475)
  • ช่วงเติบโตด้านพลังงาน (พ.ศ. 2476 – 2483)
  • ช่วงฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลก (พ.ศ. 2484 – 2500)
  • ช่วงเร่งรัดพัฒนา (พ.ศ. 2501 – 2514)
  • ช่วงโชติช่วงชัชวาล (พ.ศ.2515 – 2549)
  • ช่วงเศรษฐกิจก้าวกระโดด (พ.ศ. 2541 – 2549)

capture-20150514-152904      capture-20150514-152644

ช่วงบุกเบิกพลังงานสยาม (พ.ศ. 2411 – 2475)

การนำเข้าพลังงานของประเทศไทย เติบโตควบคู่กับการเข้ามาของประเทศตะวันตก ทั้งในด้านการเมือง ศิลปะวิทยาการและการลงทุน
ในบทนี้ใคร่ขอกล่าวย้อนหลังเพื่อบันทึกเหตุการณ์โดยย่อ เกี่ยวกับประวัติการวิวัฒนาการของการพัฒนาพลังงานไทย ซึ่งอีกนัยหนึ่งเป็นการสะท้อนภาพการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชาติในภาพรวมด้วย วิวัฒนาการนี้ดำเนินมาเป็นเวลาเกือบ 140 ปีแล้ว ย้อนไปถึงยุคเริ่มต้นรัชกาลของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทีเดียว
น้ำมันก๊าด เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ชนิดแรกที่เข้ามาในประเทศไทย ในระยะแรก ใช้เพื่อจุดตะเกียง เพื่อให้แสงสว่าง ประชาชนในสมัยนั้นเรียกน้ำมันก๊าดว่าน้ำมันปิโตรเลียม น้ำมันก๊าดได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากใช้ง่าย สะดวก มีควัน และเขม่า น้อยกว่าน้ำมันมะพร้าว
บริษัทน้ำมันต่างชาติที่เข้ามาค้าน้ำมันในประเทศไทยเป็นบริษัทแรก คือ บริษัท รอยัลดัทช์ ปิโตรเลียม จำกัด จัดตั้งผู้แทนจำหน่ายน้ำมันในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2435 ต่อมาได้ร่วมทุนกับบริษัท เชลล์ทรานสปอร์ตแอนด์เทรดดิ้ง จำกัด ก่อตั้งบริษัท เอเชียติก ปิโตรเลียม (สยาม) จำกัด ขึ้นเพื่อจำหน่ายน้ำมันก๊าด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2437 บริษัท แสตนดาร์ด ออยล์ จำกัด จากสหรัฐอเมริกา ได้เข้าสู่ธุรกิจปิโตรเลียมของประเทศไทยเป็นรายถัดมา ด้วยการเปิดที่ทำการสาขาพร้อมทั้งก่อสร้างคลังน้ำมันขึ้นในกรุงเทพฯ โดยนำเข้ามันก๊าด ตรา “ไก่” และ ตรา “นกอินทรี” ตลอดจนน้ำมันหล่อลื่นเครื่องจักรไอน้ำในโรงสีข้าวเข้ามาจำหน่ายในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้น บริษัทแว็คคั่มออยล์ จำกัด เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ได้เข้ามาค้าน้ำมันในประเทศไทย ซึ่งต่อมาได้รวมกิจการเข้ากับบริษัทแสตนดาร์ดออยล์ฯ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โซโคนี่แว็คคั่มคอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นตรา “นกแดง” ซึ่งมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในขณะนั้น

หลังจากที่ถนนหนทางในกรุงเทพฯ ได้รับการพัฒนาปรับปรุงจนมีสภาพดี สำหรับใช้คมนาคมสัญจรแล้ว ในปี พ.ศ. 2439 พระยาสุรศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ จึงได้นำรถยนต์คันแรกเข้ามาทดลองวิ่งบนท้องถนน และอีก 6 ปีต่อมา พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) ได้ดัดแปลงมาเป็นรถเมล์ขาว จึงเป็นจุดเริ่มในการนำน้ำมันเบนซินมาใช้ในประเทศไทย

เมื่อรถยนต์กลายมาเป็นยานพาหนะที่ได้รับความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้การใช้น้ำมันเบนซินของประเทศขยายตัวขึ้น จึงมีการก่อสร้างสถานีบริการเพื่อจำหน่ายน้ำมันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 ในระหว่างนี้ บริษัทค้าน้ำมันต่าง ๆ ได้ทยอยนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ในช่วงแรก ๆ นั้นกิจการน้ำมันเป็นการซื้อมาขายไป ไม่มีการผลิตในประเทศ

capture-20150514-152942

ประมาณปี พ.ศ. 2464 มีการพบน้ำมันที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงสั่งให้ขุดบ่อเพื่อกักน้ำมันไว้ เรียกว่า “บ่อหลวง” หรือ “บ่อเจ้าหลวง” พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการรถไฟ ทรงติดต่อว่าจ้างนักธรณีวิทยา ชาวอเมริกันขื่อ Mr. Wallace Lee มาทำการสำรวจ เมื่อปี พ.ศ. 2464 – พ.ศ. 2465 รวม 2 ปี หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2475 กรมทางหลวงได้มาทำการสำรวจขุดเจาะอีกครั้ง และระงับการขุดเจาะไปในที่สุด

ประเทศไทยเริ่มมีไฟฟ้าใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2427 ผู้ให้กำเนิดการไฟฟ้าของไทย คือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เมื่อครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ โดยท่านได้ติดตั้งเครื่องกเนิดไฟฟ้า เดินสายไฟฟ้า และติดดวงโคมไฟฟ้า ที่กรมทหาร ซึ่งเป็นที่ตั้งกระทรวงกลาโหม ในปัจจุบัน ในวันที่เปิดทดลองใช้ไฟฟ้าครั้งแรกนั้น บรรดาขุนนาง ข้าราชการ และประชาชน มาดูแสงไฟฟ้าอย่างแน่นขนัดด้วยความตื่นตาตื่นใจ เมื่อความทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งไฟฟ้า แสงสว่างขึ้นในวังหลวงทันที

ต่อมาในปี พ.ศ. 2430 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัมปทานเดินรถรางแก่ นายอัลเฟรต จอห์น ลอฟตัส และนายอังเดร เดอริเชอลิเออร์ และในที่สุดเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2431 รถรางสายแรกในประเทศไทยและในเอเชีย การเดินรถรางครั้งแรกนั้นใช้ม้าลากขบวนรถราง เช่นเดียวกับรถม้า ถือเป็นการสร้างระบบขนส่งมวลชนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้การคมนาคม ในพระนครสะดวกยิ่งขึ้น

จากคมนาคมด้วยรถรางนี้เอง ที่ทำไฟฟ้าได้ก่อประโยชน์อย่างสำคัญ เดิมเจ้าหมื่นไวยวรนาถวางแผนที่สร้างโรงไฟฟ้าให้ประชาชนในจพระนครได้ใช้ไฟฟ้า โดยคิดจะจัดรูปบริษัทร่วมกับชาวต่างประเทศ แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการ อย่างไรก็ดีในปี พ.ศ. 2437 ทางราชการได้รับกิจการไฟฟ้าที่เจ้าหมื่นไวยวรนาถริเริ่มไว้มาดำเนินการต่อ เวลานั้นกิจการรถรางขาดทุน และได้โอนมาให้ บริษัท เดนมาร์ก ซึ่งได้ขยายกิจการรถรางใหม่ โดยเปลี่ยนจากม้ารถลาก มาใช้ไฟฟ้าเคลื่อนขบวนรถในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2437 ถือเป็นขบวนรถรางไฟฟ้าสายแรก ๆ ในโลก โดยขณะนั้นประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปยังไม่มีรถรางไฟฟ้า แม้แต่กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น ยังเริ่มใช้รภรางไฟฟ้าในราวปี พ.ศ. 2446

พระนครในยุคนั้นมีการพัฒนาหลายด้าน ความนิยมใช้ไฟฟ้าเริ่มเพิ่มขึ้นใน พ.ศ. 2440 นายเลียวนาดี ชาวอเมริกันผู้ร่วมกันจัดตั้ง บริษัท บางกอก อิเล็กตริก ไลต์ ซินดิเคท (Bangkok Electric Light Syndicate) เป็นการดำเนินกิจการไฟฟ้าโดยเอกชนเป็นครั้งแรก โดยมีสัญญาจ่ายไฟตามจุดต่างๆ ในท้องถนนหลวงและสถานที่ราชการโดยได้เช่าที่ดินวัดราชบูรณะรายวรวิหาร (วัดเลียบ) เพื่อตั้งโรงจักรผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแห่งนี้จึงเรียกกันว่า โรงไฟฟ้าวัดเลียบ
แต่กิจการไฟฟ้าของบริษัทฯ ดำเนินการได้ไม่นานนักก็ขาดทุน ในปี พ.ศ. 2444 นายอ๊อก เวสเตนโฮลซ์ ชาวเดนมาร์ก จึงรับโอนกิจการมาในนาม บริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด (Siam Electricity Co., Ltd.) ซึ่งจดทะเบียนที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2441 เพื่อดำเนินกิจการเดินรถรางและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในพระนคร โดยมีสถานที่ทำการและโรงไฟฟ้าอยู่ข้างวัดเลียบ โรงไฟฟ้าวัดเลียบในสมัยนั้นเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (ไอน้ำ) ใช้ไม้ฟืน ถ่านหิน น้ำมัน และแกลบเป็นเชื้อเพลิง มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 6 เครื่อง และรวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 18,500 กิโลวัตต์ (18.50 เมกะวัตต์)

ใน พ.ศ. 2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล จัดสร้างโรงไฟฟ้าและโรงกรองน้ำขึ้นที่สามเสนในคราวเดียวกัน เพื่อจะได้กำลังไฟฟ้าที่มีราคาถูกและสะดวกในการเดินเครื่องสูบน้ำของการประปาด้วย โรงไฟฟ้าสามเสนก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2457 มีกำลังผลิต 25,500 กิโลวัตต์ เริ่มจำหน่ายกระแสไฟฟ้า โดยใช้ชื่อว่า การไฟฟ้าหลวงสามเสน เป็นรัฐพาณิชย์อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงมหาดไทย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกองไฟฟ้าหลวงสามเสน

capture-20150514-153013

การผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าวัดเลียบและโรงไฟฟ้าสามเสน ทำให้ประชาชนในเขตพระนครและธนบุรีมีไฟฟ้าใช้กันอย่างกว้างขวาง และยังได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือ Far Eastern Review ฉบับประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2474 ว่า “ด้านหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ อยู่ที่บางกอกเมืองหลวงของประเทศสยาม” สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงเป็นปึกแผ่น และความนิยมอย่างแพร่หลายของกิจการไฟฟ้าในเมืองหลวงได้เป็นอย่างดี

อีกก้าวสำคัญของกิจการไฟฟ้าคือ ไฟฟ้าได้ทวีความสำคัญขึ้นเป็นสาธารณูปการที่มีผลต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2471 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายระบุถึงสาธารณูปโภคไว้ 7 อย่าง ได้แก่ รถไฟ รถราง ขุดคลอง เดินอากาศ ประปา ชลประทาน และโรงไฟฟ้า ในส่วนของกิจการไฟฟ้านั้น จะต้องได้รับอนุญาตหรือสัมปทานจากรัฐก่อนจึงจะดำเนินการค้าขายได้

เมื่อรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกิจการไฟฟ้าขึ้นทั่วประเทศเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค จึงได้จัดตั้ง แผนกไฟฟ้า สังกัดกองบุราภิบาล กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2472 เพื่อจัดให้มีไฟฟ้าใช้ตามสุขาภิบาลต่าง ๆ กิจการไฟฟ้าในต่างจังหวัดมีขึ้นเป็นครั้งแรก ในเขตสุขาภิบาลเมืองราชบุรีและเมืองนครปฐมในปี พ.ศ. 2470 และ พ.ศ. 2473 ตามลำดับและเริ่มขยายไปสู่เทศบาลเมืองต่าง ๆ

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจาก “ระบอบราชาธิปไตย” มาเป็น “ระบอบประชาธิปไตย” เมื่อปี พ.ศ. 2475 นั้น กิจการไฟฟ้าได้ขยายไปยังสุขาภิบาลหลายแห่ง ซึ่งได้แก่ ปราจีนบุรี ภูเก็ต นครนายก ชลบุรี บ้านโป่ง จันทบุรี และเชียงใหม่

ช่วงเติบโตต้านพลังงาน (พ.ศ. 2475 – 2483)

ผู้บริหารประเทศพยายามพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า มีความพยายามที่จะสร้างความเสมอภาคทางด้านเศรษฐกิจและการคลัง รัฐบาลพยายามลงทุนในการดำเนินวิสาหกิจที่สำคัญ ๆ ด้วยตัวเอง
เมื่อน้ำมันปิโตรเลียมกลายเป็นสิ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ รัฐบาลไทยก็ตระหนักถึงผลกระทบจากการที่ประเทศไทยไม่สามารถจัดหา ผลิต หรือกลั่นน้ำมันเองได้ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2476 กระทรวงกลาโหมจึงได้จัดตั้ง “แผนกเชื้อเพลิง”เพื่อจัดหาน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด และน้ำมันหล่อลื่น พร้อมทั้งสร้างคลังน้ำมันขึ้นที่ช่องนนทรี สร้างโรงงานทำปี๊บเพื่อบรรจุน้ำมันก๊าด และต่อเรือบรรทุกน้ำมัน ชื่อ “สมุย” ที่ประเทศญี่ปุ่น นับเป็นเรือบรรทุกน้ำมันลำแรกของไทย สำหรับใช้บรรทุกน้ำมันจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปและใช้ถ่วงดุลธุรกิจการค้าน้ำมันของบริษัทค้าน้ำมันต่างชาติ
ในปี พ.ศ. 2480 รัฐบาลมีมติเปลี่ยนแผนกเชื้อเพลิงเป็น “กรมเชื้อเพลิง” พร้อมทั้งก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศไทยขึ้นที่ช่องนนทรี ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 โรงกลั่นน้ำมันแห่งนี้ได้ช่วยขจัดปัญหาน้ำมันขาดแคลนระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นอย่างมาก เนื่องจากภาวะสงครามทำให้บริษัทน้ำมันต่างชาติต้องหยุดค้าน้ำมันในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามรัฐบาลจำเป็นต้องยุติบทบาทการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมของประเทศภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488) และนำมาซึ่งการยุบกรมเชื้อเพลิง เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 ตลอดจนขายกิจการและทรัพย์สินทั้งหมด เช่น คลังเก็บน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมัน ให้กับบริษัทน้ำมันต่างชาติ คือ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด และบริษัท แสตนดาร์ดเวลคั่มออยล์ จำกัด ทั้งยังต้องขอให้บริษัททั้งสองนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย โดยรัฐบาลทำหนังสือรับรองว่าจะไม่ดำเนินธุรกิจกาค้าน้ำมันให้หน่วยงานราชการและประชาชน ยกเว้นเพื่อใช้ในกิจการทหาร อีกทั้งให้สิทธิบริษัทค้าน้ำมันต่างชาติสามารถจำหน่ายน้ำมันได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาติ
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทน้ำมันข้ามชาติในประเทศไทยต้องปิดตัวลง ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันถูกระเบิดเสียหาย เรือบรรทุกน้ำมัน “สมุย” ถูกตอร์ปิโดจมลง เมื่อสงครามสงบธุรกิจปิโตรเลียมของไทยก็ถูกปิดลงเช่นกัน โรงกลั่นถูกขายให้บริษัทน้ำมันข้ามชาติซึ่งไม่นานก็ย้ายออกจากประเทศไทย การขาดแคลนน้ำมันปิโตรเลียมเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น
ในปี พ.ศ. 2477 แผนกไฟฟ้าได้ยกฐานะเป็น “กองไฟฟ้า” สังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย กิจการไฟฟ้าแพร่หลายไปสู่หัวเมืองต่าง ๆ มากขึ้น โดยมีการทยอยก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้ชุมชนขนาดใหญ่ระดับจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ ขณะเดียวกัน มีเอกชนขอรับสัมปทานจัดตั้งกิจการไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก โดยอยู่ในความควบคุมดูแลของกองไฟฟ้า กรมโยธาเทศบาลในเวลานั้นโรงไฟฟ้าต่างจังหวัดเป็นระบบผลิตขนาดเล็ก ๆ และจ่ายไฟในเขตสุขาภิบาลเฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้น บริการไม่สม่ำเสมอ และราคาจำหน่ายให้แก่ประชาชนก็แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเอกชนผู้รับสัมปทาน ซึ่งทำให้ราคาค่อนข้างสูง

คราวหน้า มาติดตาม ประวัติพลังงานในช่วงฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลก (พ.ศ. 2484 – 2500) นะครับ

 

ที่มา : กระทรวงพลังงาน.,ประวัติพลังงาน. Retrived From http://www.energy.go.th/th/energy-information/energyhistory/thai-energy-development-history/

0 Reviews

Write a Review