20 กันยายน “วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ”

20 กันยายน "วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ"

 

Source : http://www.todayth.com/

Source : http://www.todayth.com/

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน พ.ศ. 2537 ภาพคลองแสนแสบในจินตนาการของผู้คน โดยเฉพาะคนเมืองหลวงคงไม่พ้นภาพคลองน้ำครำสายใหญ่ สายยาวที่สุดของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะนับจากต้นคลองที่สะพานผ่านฟ้า ผ่านย่านราชเทวี ประตูน้ำ คลองตัน จนถึงบางกะปิ ขณะที่คลองส่วนนอกก็รกเรื้อเต็มไปด้วยวัชพืช เช่น หญ้าคา ผักตบชวา ประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆ จากคลองสายนี้อีกแล้ว ลบภาพคลองแสนแสบที่มีน้ำใส และสองฟากฝั่งคลองที่สะท้อนภาพในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เป็นเพียงภาพฝัน กลายเป็นอดีตอันขมขื่นของผู้เกิดและเติบโตมากับคลองสายนี้ แม้ว่าชาวบ้านจะพยายามกันแล้ว แต่ก็เสมือนว่าเกินกำลัง เพราะปัญหาของคลองแสนแสบมิได้เกิดขึ้นเพียงวันสองวัน และไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ผู้มักง่าย และไม่รู้คุณค่า

กลางปี พ.ศ. 2537 มีกลุ่มบุคคลผู้รักน้ำ และอับอายที่เห็นคู คลอง ทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด กลายเป็นท่อน้ำครำขนาดใหญ่ ประจานความดูดายและมักง่ายของคนไทย กลุ่มบุคคลที่ว่านี้ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยกองทัพบก ซึ่งในขณะนั้น คือ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร พล.ท.สำเภา ชูศรี ยังมี นายธรรมนูญ หวั่งหลี นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ นายขรรค์ชัย บุนปาน ตลอดถึงอธิบดีกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือสถาบันการศึกษา ตั้งแต่สถาบันราชภัฏจันทรเกษม สถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา หรือราชนครินทร์ในปัจจุบัน สถาบันราชภัฏเพชรบุรี ลงมาถึงโรงเรียนมัธยมและประถมศึกษา ในสังกัดกรมสามัญศึกษาและสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมทั้งแกนนำประชาชนริมคลองแสนแสบ อย่างนายวินัย สะมะอุน เป็นต้น ได้รวมตัวกันขึ้นในรูปของคณะกรรมการ และตั้งชื่อโครงการว่า "โครงการรวมใจภักดิ์ รักษ์คลองแสนแสบ"

คณะกรรมการชุดนี้ถือกำเนิดขึ้นดุจเดียวกับคณะกรรมการทอดผ้าป่าสามัคคี คือใครสนใจเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการได้ทุกคน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ โดยมุ่งหวังอย่างเดียว คือร่วมกันดูแล และพัฒนาคลองแสนแสบที่มีความสำคัญในอดีตให้มีสภาพดีขึ้น ทุกฝ่ายได้ช่วยกันจัดกิจกรรมตามวาระเพื่อหาทางฟื้นฟูลำคลองสายนี้เรื่อยมา โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2537 ได้รวมพลังครั้งใหญ่รณรงค์ทำความสะอาดคลองแสนแสบตลอดสาย ทั้งทหาร ตำรวจ นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และประชาชนทั่วไป ได้ร่วมใจกันพัฒนาคลองแสนแสบ เก็บขยะ กำจัดผักตบชวา พงอ้อพงแขม จนลำคลองสะอาดโล่งเตียน และเรือสามารถผ่านได้ตลอดลำคลอง

กระทั่งวันที่ 20 กันยายน 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จประพาสทางเรือ จากท่าน้ำสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปจนถึงประตูน้ำท่าไข่ จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมระยะทางทั้งสิ้น 72 กิโลเมตร ใช้เวลา 5 - 6 ชั่วโมง การเสด็จประพาสทางเรือครั้งนี้สร้างความปลื้มปีติแก่พสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นที่มาของความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่จะสืบสานปณิธาน และพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า "คลองแสนแสบเป็นคลองสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่สมควรได้รับการดูแลรักษาต่อไป"

จากจุดนี้ได้นำไปสู่การประชุมสัมมนาผู้นำท้องถิ่นริมคลองแสนแสบ ที่หอประชุมสถาบันราชภัฏจันทรเกษม เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2538 ซึ่งนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเดินทางไปเป็นประธาน ที่ประชุมมีมติกำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปีเป็น "วันอนุรักษ์และรักษาแม่น้ำ คูคลองแห่งชาติ" โดยนายบรรหารประกาศเจตนาสนับสนุนเต็มที่ จนกระทั่งมีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2538 ประกาศให้วันที่ 20 กันยายน เป็นวันอนุรักษ์และรักษาคูคลองแห่งชาติ

หลังจากมติดังกล่าว หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง มีความพยายามที่จะใช้วันอนุรักษ์และรักษาคูคลองแห่งชาติเป็นแม่เหล็ก เพื่อจูงใจให้ประชาชนคนไทยหันกลับมาให้ความสำคัญและดูแล รักษา แม่น้ำ ลำคลอง เหมือนเดิม แต่ดูเหมือนว่าการพลิกฟื้นคูคลอง ยังเป็นความหวังริบหรี่ มีเพียงกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่กลุ่มที่ยังมุ่งมั่นดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง และแหล่งน้ำอื่นๆ ต่อไปรวมทั้งขยายแนวคิดไปยังคุณค่าของต้นไม้ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

โครงการรวมใจภักดิ์รักษ์คลองแสนแสบ ได้รวมตัวก่อตั้งเป็นชมรม โดยมี ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว รับบทบาทเป็นประธานชมรม และขยายแนวคิดต่อไปอย่างมุ่งมั่น ชมรมได้ดำเนินกิจกรรมฟื้นฟูคลองแสนแสบทุกรูปแบบ ทั้งด้านกายภาพ และจิตสำนึกของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกฝังจิตสำนึกรักคลองสู่เด็กๆ ที่อาศัยริมคลอง มีการจัดกิจกรรมประกวด การสำรวจสภาพน้ำ การจัดประชุมสัมมนา การกระตุ้นภาครัฐให้เข้ามามีบทบาทอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเสนอให้รัฐจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนดูแลพัฒนาคลองเสมือนถนนหนทางที่ได้งบประมาณเป็นปกติ ส่งเสริมให้มีการวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และที่ลืมไม่ได้ คือจัดการเฉลิมฉลองวันอนุรักษ์ แม่น้ำ คูคลองแห่งชาติ ในวันที่ 20 กันยายน ณ คลองแสนแสบ ต่อเนื่องทุกปีมิได้ขาด

ดังนั้นทุกวันที่ 20 กันยายน ของแต่ละปี ได้กำหนดให้เป็นวันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ ชมรมรวมใจภักดิ์รักษ์คลองแสนแสบ ซึ่งหมายถึงสมาชิกทั้งภาครัฐ องค์กรเอกชน และภาคประชาชน ได้ร่วมมือกันกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งกองทัพบก กองทัพอากาศ กรุงเทพฯ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ องค์กรเอกชน เช่น บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทเบียร์ไทย (1991) จำกัด (มหาชน) และบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) และประชาชนชาวคลองแสนแสบทุกเขต ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองทุกปี รวมทั้งกิจกรรมล่องเรือท่องคลองแสนแสบ การจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองที่ชมรมรวมใจภักดิ์รักษ์คลองแสนแสบ จัดตลอดมา นับได้ว่าเป็นกิจกรรมตัวอย่าง รูปแบบการพัฒนา 3 ประสาน เพื่อให้ลำคลองแสนแสบตื่นตัวมีชีวิตอยู่ตลอดเวลา


ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง. Retrieved from http://www.lib.ru.ac.th: http://www.lib.ru.ac.th/journal/sep/sep20-WaterwayConserve.html

0 Reviews

Write a Review

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *