Concrete masonry unit: คอนกรีตบล็อก

รูปที่ 1 แสดงคอนกรีตบล็อก

Source : kilsaran.ie (2015, September 29)

1. ลักษณะทั่วไป

คอนกรีตบล็อก (Concrete masonry unit) หรือภาษาทางตลาดจะเรียกว่า "อิฐบล็อก" จะถูกผลิตในลักษณะอุตสาหกรรมมากกว่าอิฐมอญ โดยมีทั้งชนิดรับน้ำหนักและไม่รับน้ำหนัก ส่วนใหญ่จะมีลักษณะกลวง (Hollow Concrete Block) และเป็นที่นิยมใช้มากเนื่องจากมีราคาถูก สามารถหาซื้อได้ง่าย ไม่มีปัญหาในขั้นตอนการก่อสร้างเนื่องจากช่างมีความเคยชินในการทำงานอยู่แล้ว อีกทั้งยังสามารถทำงานได้เร็วเพราะมีขนาดก้อนใหญ่กว่าอิฐมอญ และจากลักษณะที่มีรูกลวงตรงกลางทำให้ช่องอากาศภายในนั้นเป็นฉนวนในการกันความร้อนที่ดี แต่ข้อเสียคือจะเปราะและแตกง่าย การตอกตะปูยึดพุกต้องทำที่ปูนก่อเสาเอ็นหรือคานเอ็น ซึ่งถ้าเป็นผนังฉาบปูนจะหาตำแหน่งยาก ส่วนผนังเซาะร่องหาจุดเจาะพุกไม่ยากเท่าไรหากเกิดน้ำรั่วเข้าผนัง น้ำจะซึมได้ดีกว่าอิฐมอญ และบล็อกที่ขายกันทั่วไปคุณภาพต่ำ บางกว่าที่กำหนด (เช่นขนาดความหนา 7 ซม. จะเหลือ 6-6.5 ซม.) มือทุบแตก หล่นก็แตก คุณสมบัติของคอนกรีตบล็อก ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงคุณสมบัติของคอนกรีตบล็อก

รูปที่ 2 แสดงการก่อคอนกรีตบล็อก

Source : constructionspecifier.com (2015, September 29)

 

2. การประยุกต์การใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุ

คอนกรีตบล็อกมีคุณสมบัติคล้ายอิฐมอญ แต่มีลักษณะเป็นรูกลวงตรงกลางและมีขนาดใหญ่กว่ามาก การที่จะแก้ปัญหาในการป้องกันความร้อนโดยการทำเป็นผนัง 2 ชั้น อาจจะไม่เหมาะสมนักเนื่องจากขนาดที่มีความหนาของวัสดุ ทำให้ต้องเสียพื้นที่ไปเป็นผนังมากเกินไปฉะนั้นควรที่จะใช้วัสดุประกอบอื่นแทน เช่น การเพิ่มฉนวนภายในหรือใช้วัสดุมวลสารน้อยปิดทับภายนอก เป็นต้น แต่ทั้งนี้การที่จะติดตั้งหรือประกอบวัสดุใดๆเข้ากับคอนกรีตบล็อก จะต้องไม่ลืมถึงข้อเสียของวัสดุชนิดนี้ คือ เป็นวัสดุที่น้ำสามารถซึมผ่านและกระจายตัวได้ง่าย ฉะนั้นจะต้องมีการฉาบทับหรือปิดด้วยวัสดุที่สามารถป้องกันการรั่วซึมของน้ำ ก่อนที่จะติดตั้งฉนวนภายใน เพราะฉนวนเกือบทุกชนิดจะเสื่อมสภาพเมื่อมีน้ำหรือความชื้นเข้ามาสะสมภายในฉนวน

รูปที่ 3 ผนังคอนกรีตบล็อกทำเป็นผนังประกอบกับผนังมวลสารน้อย (ยิปซั่มบอร์ด,ไม้อัด,ไฟเบอร์บอร์ด) ทั้งแบบที่มีการใส่ฉนวนไว้ภายในและไม่มีฉนวน

 

 

อีกประการที่เป็นข้อด้อยของวัสดุชนิดนี้ คือ ความเปราะและแตกหักง่าย ซึ่งผู้อาศัยมักพบปัญหาการเจาะ ตอก หรือแขวนสิ่งของต่างๆไม่ค่อยได้ สาเหตุเนื่องจากรูกลวงที่อยู่ตรงกลางของบล็อก ซึ่งปัญหานี้อาจแก้ไขได้โดยการเทปูนลงในช่องว่างเหล่านั้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับวัสดุ แต่ผลกระทบก็คือ น้ำหนักโดยรวมของอาคารก็จะมากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งช่องอากาศที่เป็นฉนวนกันความร้อนก็จะหมดตามไปด้วย จึงควรเลือกพิจารณาตามความเหมาะสมและตอบสนองต่อความต้องการอันแท้จริงของผู้อยู่อาศัย

Bibliography

  1. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน. (พ.ศ. 2545). บทที่ 2 การเลือกใช้วัดสุอุปกรณ์ก่อสร้างที่มีคุณสมบัติความเป็นฉนวน 10 ชนิด. In เอกสารแผยแพร่ แนวทางการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างและฉนวนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (pp. 2-20 - 2-22).
  2. kilsaran.ie (2015, September 29) : http://www.kilsaran.ie/build/product/concrete-blocks-build/
  3. constructionspecifier.com (2015, September 29) : http://www.constructionspecifier.com/durable-waterproofing-for-concrete-masonry-walls-redundancy-required/

ienergyguru.com

0 Reviews

Write a Review

1 reply

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *