Thomas Alva Edison อัจฉริยะนักประดิษฐ์

ถ้าให้เอ่ยชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกขึ้นมาสักหนึ่งคน เชื่อว่าต้องมีคนนึกถึงชื่อ “โทมัส อัลวา เอดิสัน” แน่นอน และถ้าพูดถึงหลอดไฟ คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่าเอดินสันเป็นผู้คิดค้นขึ้น แต่ในความเป็นจริงเขาเป็นบุคคลแรกที่จดสิทธิบัตรในการประดิษฐ์หลอดไฟจากนักวิทยาศาสตร์กว่า 20 คนที่คิดค้นได้ต่างหาก และเขาสามารถนำมาต่อยอดในการทำเป็นธุรกิจต่าง ๆ อีกมากมาย เอดิสันยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท เจเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric) บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ของโลก และก่อตั้งอีกหลายบริษัทในด้านไฟฟ้า หนึ่งในนั้นยังเป็นบริษัทที่คิดค้นเก้าอี้ไฟฟ้าสำหรับประหารชีวิตนักโทษอีกด้วย วันนี้ทาง iEnergyGURU จึงขอนำเสนอเรื่องราวชีวิตบางส่วนของอัจฉริยะนักประดิษฐ์ระดับโลกท่านนี้ให้ทุกท่านได้รู้จัก โทมัส อัลวา เอดิสัน กันมากขึ้น

โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) เป็นนักประดิษฐ์และนักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่ได้รับฉายาว่าเป็น “พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก” (The Wizard of Menlo Park) เขาเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มการนำหลักการของการผลิตจำนวนมาก และกระบวนการประดิษฐ์มาประยุกต์รวมกัน นอกจากนี้เอดิสันยังได้ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่สำคัญต่าง ๆ มากมาย อีกทั้งเขายังปรับปรุงและพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น โทรศัพท์ เครื่องส่งโทรเลข เป็นต้น ผลงานการประดิษฐ์ของเขาเป็นสิ่งที่สร้างความสะดวกสบาย เป็นประโยชน์และทำให้ผู้คนใช้ชีวิตกันง่ายขึ้น

เอดิสัน เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2390 เมืองมิลาน (Milan) รัฐโอไฮโอ (Ohio) ประเทศสหรัฐอเมริกา (United State of America) เสียชีวิต วันที่ 18 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2474

บิดาของเขาชื่อว่า ซามูเอล อ็อกเดน เอดิสัน จูเนียร์ (Samuel Ogden Edison Jr.) ประกอบธุรกิจในประเทศแคนาดา เขาเข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านรัฐบาล เมื่อฝ่ายต่อต้านพ่ายแพ้ เขาจึงต้องลี้ภัยทางการเมืองมาอยู่ที่ประเทศสหรัฐฯ เมืองพอร์ตฮิวรอน (Port Huron) รัฐมิชิแกน (Michigan) และทำธุรกิจเกี่ยวกับไม้แปรรูปทุกชนิด เมื่อเอดิสันอายุ 7 ขวบ หลังจากที่ทางรถไฟสายใหม่ได้ตัดทางลัดและไม่ผ่านเมืองไมเลินที่เขาอาศัยอยู่ ทำให้ธุรกิจของที่บ้านเริ่มซบเซาลง และประสบปัญหา

การศึกษาของเอดิสัน

เอดิสันได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนในเมืองพอร์ตฮิวรอน ซึ่งเป็นโรงเรียนเล็กๆ ในโบสถ์ มีนักเรียนเพียง 48 คน มีครูเพียงสองคนคือ นายและนางเอ็งเกิล (Engle) ด้วยความที่เขาเป็นเด็กซุกซนอยากรู้อยากเห็นตลอดเวลา แถมยังสนใจในสิ่งรอบตัว ไม่ใช่เนื้อหาตำราเรียน สิ่งที่เขาสนใจถามครูจึงไม่ใช่เรื่องที่ครูสอน แต่เป็นเรื่องนอกตำรา นายและนางเอ็งเกิลจึงมักเรียกเขาว่าเป็นเด็กที่หัวขี้เลื่อย ทั้งยังตำหนิและลงโทษ เมื่อมารดาทราบเรื่อง จึงไปพูดคุยกับคุณครูที่โรงเรียน หลังการพูดคุยเอดิสันต้องออกจากโรงเรียน หลังจากเข้าโรงเรียนได้แค่ 3 เดือน เมื่อเขาออกจากโรงเรียนมารดาจึงรับหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือให้เขา เขาเรียนหนังสืออยู่เพียง 2 ปี เท่านั้น ก็สามารถอ่านเขียนได้อย่างคล่องแคล่ว เอดิสันชื่นชอบหนังสือนอกเวลาเล่มหนึ่งซึ่งมีภาพและเนื้อหาการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ผู้อ่านทดลองเองได้ เขามีความสนใจที่จะทำการทดลองในหนังสือ ในปี พ.ศ. 2400 พ่อและแม่ของเขาจึงสร้างห้องใต้ดินเพื่อให้เอดิสันได้ทำการทดลองต่างๆ

เอดิสันมีปัญหาการได้ยินเมื่ออายุ 12 ขวบ สาเหตุของอาการหูหนวกเกิดจากไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) ในวัยเด็กและการติดเชื้อที่หูชั้นกลางที่ไม่ได้รับการรักษาซ้ำ ๆ ต่อมาเขาได้แต่งเรื่องราวที่สมมติขึ้นเกี่ยวกับสาเหตุของอาการหูหนวกของเขา ขณะที่เขาหูหนวกสนิทไปข้างหนึ่งและอีกข้างหนึ่งแทบจะไม่ได้ยิน จึงถูกกล่าวหาว่าเอดิสันจะฟังเครื่องเล่นเพลงหรือเปียโนโดยการหนีบฟันของเขาเข้าไปในป่าเพื่อดูดซับคลื่นเสียงเข้าไปในกะโหลกศีรษะของเขา เมื่อเขาโตขึ้น เอดิสันเชื่อว่าการสูญเสียการได้ยินทำให้เขาไม่ต้องเสียสมาธิและมีสมาธิกับงานได้ง่ายขึ้น นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ได้แนะนำว่าเขาอาจมีสมาธิสั้น

โทมัส อัลวา เอดิสัน ในวัย 14 ปี / ภาพจาก en.wikipedia.org

สิ่งที่เอดิสันให้ความสนใจและหลงใหลมากที่สุดก็คือ วิทยาศาสตร์ การทดลอง และการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ดังนั้นเขาจึงเริ่มหางานทำตั้งแต่อายุได้แค่ 13 ปี เพื่อหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือ เครื่องมือเครื่องใช้ สำหรับการสร้างห้องทดลองวิทยาศาสตร์ อีกเหตุผลหนึ่งคือเขาไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือในโรงเรียน แล้วเอดิสันก็เริ่มงานด้วยการเป็นเด็กขายหนังสือพิมพ์ ลูกอม และผัก บนรถไฟสายพอร์ตฮิวรอน - ดีทรอยต์ (Port Huron - Detroit) เอดิสันใช้ตู้รถไฟตู้หนึ่งเป็นที่พัก เก็บสารเคมี และหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งเขามักใช้เวลาว่างส่วนใหญ่อยู่ในห้องพักเพื่ออ่านหนังสือ และทำการทดลองวิทยาศาสตร์

การส่งโทรเลขครั้งแรกของเอดิสัน

วันหนึ่งเขาได้ช่วยชีวิตจิมมี่ แม็คเคนซี่ (Jimmie MacKenzie) ลูกชายวัย 3 ขวบของนายสถานีที่กำลังวิ่งเล่นอยู่บนรางรถไฟ ในขณะที่รถไฟกำลังจะเข้าสถานี เอดิสันกระโดดลงไปอุ้มเด็กน้อยคนนั้นขึ้นมาได้ทันเวลาก่อนที่รถไฟจะทับเด็ก พ่อของจิมมี่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สถานี เจ.ยู. แมคเคนซี แห่งภูเขาคลีเมนส์ (J. U. MacKenzie of Mount Clemens) รัฐมิชิแกน (Michigan) รู้สึกซาบซึ้งใจมากจึงสอนการส่งโทรเลขให้กับเอดิสันเป็นการตอบแทน เขาฝึกเอดิสันให้เป็นผู้ส่งโทรเลข และการส่งโทรเลขครั้งแรกของเอดิสันนั้น ส่งจากพอร์ตฮิวรอนไปที่จุดเชื่อมต่อสแตรทฟอร์ด (Stratford Junction) ออนแทรีโอ (Ontario) บนรถไฟแกรนด์ทรังค์ (The Grand Trunk Railway)

อยู่มาวันหนึ่ง รถไฟเกิดกระชากอย่างแรงทำให้แท่งฟอสฟอรัส ตกกระแทกพื้น แล้วเกิดระเบิดทำให้ไฟไหม้ตู้รถไฟที่เขาพักอาศัย แต่โชคดีที่ดับไฟทันไม่ได้ลุกลามไปตู้อื่น เขาถูกพนักงานรถไฟตบเข้าที่หูทำให้หูของเขาใช้การไม่ได้ และเขายังถูกโยนออกมาจากรถไฟพร้อมกับเครื่องมือและสารเคมีต่างๆ ซึ่งเขาเองได้บอกกับผู้อื่นว่าหูของเขามีปัญหา เนื่องจากเขาได้ร่วมงานกับพนักงานรถไฟในการขับเคลื่อนตัวรถ แต่พนักงานรถไฟดึงหูของเขาทำให้เขาประสบอุบัติเหตุ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังถูกไล่ออกจากงาน และทำให้หูของเขาต้องพิการ

เอดีสันเริ่มพิมพ์หนังสือพิมพ์ของเขาเอง

เอดิสันได้รับสิทธิพิเศษในการขายหนังสือพิมพ์บนท้องถนน และด้วยความช่วยเหลือจากคน 4 คน และเงินเก็บจำนวนหนึ่ง ก็พอที่จะซื้อแท่นพิมพ์เล็ก ๆ เพื่อมาพิมพ์หนังสือพิมพ์ของเขาเอง ซึ่งเขารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ นักเขียน และพนักงานขายหนังสือพิมพ์ด้วยตัวเอง หนังสือพิมพ์ของเอดิสันมีชื่อว่า แกรนด์ทรังก์เฮรัลด์ (Grand Trank Herald) ซึ่งขายดีมาก สิ่งนี้เองทำให้เขาค้นพบพรสวรรค์ด้านการเป็นนักธุรกิจ และเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินกิจการอื่นๆ ต่อมา

ในปีพ.ศ. 2409 เมื่ออายุได้ 19 ปี เอดิสันได้ย้ายไปลุยวิลล์ (Louisville) รัฐเคนตักกี้ (Kentucky) เขาได้งานเป็นลูกจ้างของเวสเทิร์น ยูเนี่ยน (Western Union) เขาทำงานให้กับสำนักข่าวแอสโซซิเอตเต็ทเพรส เอดิสันขอทำงานกะกลางคืน ซึ่งทำให้เขามีเวลาว่างเหลือเฟือกับงานอดิเรกสองอย่างสุดรักของเขา นั่นคือ การอ่านหนังสือและการทดลอง คืนหนึ่งในปี พ.ศ. 2410 เขาทำงานกับแบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด เมื่อเขาทำกรดซัลฟิวริกหกลงบนพื้น มันวิ่งไปมาระหว่างแผ่นพื้นกับโต๊ะของเจ้านายด้านล่าง เช้าวันรุ่งขึ้นเอดิสันเลยถูกไล่ออก

เอดิสันประดิษฐ์อุปกรณ์ต่าง ๆ

เอดิสันยังคงประดิษฐ์อุปกรณ์ต่าง ๆ เขาประดิษฐ์เครื่องบันทึกการลงคะแนนเสียงไฟฟ้า และจดสิทธิบัตร ถือเป็นสิทธิบัตรแรกของเขา ได้รับเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2412 แต่เครื่องบันทึกนี้ไม่ได้รับความนิยม เอดิสันจึงย้ายไปนิวยอร์ก เขาเริ่มพัฒนาระบบโทรเลขแบบมัลติเพล็กซ์ ที่สามารถส่งข้อความสองข้อความพร้อมกันได้ ซึ่งประสบความสำเร็จในการทดลองส่งเป็นอย่างดี เขาได้นำผลงานชิ้นนี้ไปเสนอต่อบริษัท เวสเทิร์ส ยูเนียน เทเลกราฟ (Western Union Telegraph Company) แต่ได้รับการปฏิเสธ ดังนั้นเอดิสันจึงนำผลงานไปเสนอต่อบริษัทโทรเลขแอตแลนติก และแปซิฟิก (Atlantic and Pacific Telegraph Company) ทางบริษัทยอมรับผลงานของเขา แต่เอดิสันโชคร้ายเมื่อเขาทำการทดลองส่งสัญญาณจากนิวยอร์คถึงโรเชสเตอร์ ปรากฏว่าเกิดขัดข้องไม่สามารถส่งสัญญาณได้ ทำให้เมื่อเขากลับมาที่เมืองบอสตันก็ต้องได้รับความลำบากเพราะไม่มีทั้งเงินและงาน  แต่เอดิสันก็ยังโชคดีอยู่บ้างเมื่อเขาพบกับวิศวกรไฟฟ้าผู้หนึ่ง ชื่อ แฟรงคลิน ลีโอนาร์ด โปป (Franklin Leonard Pope) ได้ให้เขาพักอาศัยด้วย และยังฝากงานให้ทำในบริษัทแจ้งราคาทอง ลอว์โกลด์ อินดิเคเตอร์ (Lawglod Indicator) ซึ่งโปปทำงานอยู่ เอดิสันได้เข้าทำงานในตำแหน่งช่างโทรเลขประจำบริษัท ด้วยความสามารถของเอดิสัน เขาสามารถซ่อมเครื่องส่งโทรเลขได้เป็นอย่างดี และได้เลื่อนตำแหน่งไปเป็นผู้ช่วยของโปป เมื่อโปปลาออก เขาก็ได้ดำรงตำแหน่งแทนโปป ต่อมาบริษัทได้รวมกิจการเข้ากับบริษัทเวสเทิร์น ยูเนียน เทเลกราฟ เอดิสันจึงลาออก

หลังจากนั้นเอดิสันได้เปิดบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าร่วมกับโปป และหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งชื่อว่า เจ.เอช.แอชลีย์ เอดิสันต้องทำงานหนักอยู่เพียงลำพัง เมื่อผลกำไรออกมาทุกคนต่างก็ได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ทำให้เอดิสันรู้สึกไม่พอใจที่ถูกเอาเปรียบ ดังนั้นในปี พ.ศ.2414 เอดิสันจึงถอนหุ้นออกจากโรงงาน และเดินทางไปยังเมืองนิววาร์ด (Newark) รัฐนิวเจอร์ซี (New Jersey) เพื่อเปิดบริษัทผลิตเครื่องใช้ต่าง ๆ บริษัทของเอดิสันประสบความสำเร็จอย่างมาก จากการจำหน่ายเครื่องป้องกันความผิดพลาดของใบแจ้งราคาหุ้น ต่อมาในปี พ.ศ.2419 เอดิสันได้ย้ายโรงงานไปที่เมืองเมนโล ปาร์ค (Menlo Park) รัฐนิวยอร์ค (New York) และในปีเดียวกันนี้ อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) สามารถประดิษฐ์โทรศัพท์ขึ้นเป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้บริษัทโทรเลขประสบปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรง ดังนั้นบริษัทเวสเทิร์น ยูเนียน เทเลกราฟ จึงได้ว่าจ้างเอดิสันมาปรับปรุงโทรศัพท์ของเบลล์ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เอดิสันได้พยายามหาวัสดุชนิดอื่น เพื่อใช้แทนแผ่นเหล็กที่เบลล์ใช้ในโทรศัพท์ จนกระทั่งเอดิสันทดลองนำคาร์บอนมาทาบริเวณแผ่นเหล็ก ปรากฏว่าได้ยินเสียงชัดเจนขึ้น และเป็นที่นิยมในเวลาไม่นานนัก ถึงแม้ว่าโทรศัพท์จะจำหน่ายได้ดีเพียงใด เอดิสันก็ได้รับค่าตอบแทนเพียง 100,000 ดอลลาร์เท่านั้น แต่ประโยชน์ที่เอดิสันได้รับนอกจากเงินก็คือ เขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ หลายอย่างจากการปรับปรุงโทรศัพท์ครั้งนี้ และทำให้เขาได้พบวิธีประดิษฐ์หีบเสียงขึ้น ในปี พ.ศ. 2420 ซึ่งใช้หลักการเดียวกับโทรศัพท์ คือ เมื่อมีเสียงส่งผ่านเข้าไปจะทำให้โลหะที่อยู่ภายในสั่นจนเกิดเสียงขึ้น เมื่อผลงานชิ้นนี้ของเขาได้เผยแพร่ออกไป ปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เอดิสันได้ปรับปรุงหีบเสียงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งประดิษฐ์ของเขาอีกชิ้นหนึ่ง ก็คือ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องบันทึกเสียงของเขาประกอบด้วยกระบอกสูบเป็นร่องที่เป็นลานเกลียวยาวอันหนึ่ง ซึ่งหมุนไปด้วยข้อเหวี่ยง สองด้านของกระบอกสูบเป็นท่อเล็กๆ พร้อมกับมีแผ่นกะบัง และเข็ม เขาได้ส่งแบบเครื่องบันทึกเสียงพร้อมกับคำแนะนำให้กับ จอห์น ครุยส์ (John Kruesi) หัวหน้าผู้ช่วยของโรงงาน เมื่อครุยส์นำเครื่องกลที่สร้างเสร็จแล้วมาให้เอดิสัน แต่ครุยส์ก็ยังไม่เข้าใจว่าเครื่องกลนี้มีประโยชน์อย่างไร จนกระทั่งเอดิสันพูดใส่ลงไปในกระบอกสูบว่า "Mary have a small sheep" และหมุนเครื่องอีกครั้ง ก็มีเสียงดังออกมาว่า "Mary have a small sheep" สร้างความประหลาดใจให้กับคนงานในโรงงานเป็นอย่างมาก เครื่องบันทึกเสียงถือว่าเป็นผลงานที่เขาชื่นชอบมากที่สุด ต่อมาเขาได้ปรับปรุงเครื่องบันทึกเสียงมาเป็นเครื่องบันทึกโทรเลข (Automatic Telegraph Repeater)

เอดิสันได้นำผลงานทั้งสองชิ้นไปแสดงให้อัลเฟรด ดีลีบีช (Alfred Dlybeah) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไซแอนติฟิคอเมริกัน (Scientific American Newspaper) เมื่อดีลีบีชเห็นสิ่งประดิษฐ์ของเอดิสัน ก็รู้สึกตื่นเต้นมาก และได้นำผลงานทั้ง 2 ชิ้น ของเอดิสันลงในหนังสือพิมพ์ เมื่อข่าวนี้เผยแพร่ออกไปทำให้เอดิสันมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก เอดิสันได้รับเชิญจากบุคคลสำคัญหลายท่าน ให้นำผลงานของเขาไปแสดงให้ดู เช่น ลูเธอร์ฟอร์ด บีชาร์ด เฮส์ (Rutherford Birchard Hayes) ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา พระราชินีแห่งอังกฤษ กษัตริย์แห่งรัสเซีย รวมถึงประธานาธิบดีแห่งเยอรมนีด้วย

เอดิสันและหีบเสียง (รุ่นที่ 2) ถ่ายในสตูดิโอ Washington, D.C. ของเมทธิว บราดี้ (Mathew Brady) เมื่อเมษายน ปี พ.ศ. 2421 / ภาพจาก en.wikipedia.org

เอดิสันยังคงค้นคว้าและประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ต่อไป ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุดก็คือ หลอดไฟฟ้า ก่อนหน้านั้น เซอร์ฮัมฟรี เดวี่ (Sir Humphry Davy) ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับไฟฟ้าโดยการนำลวดมาต่อเข้ากับขั้วบวกและลบของแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ เมื่อเอาปลายของลวดทั้งสองเข้ามาใกล้ๆ กัน ปรากฏว่าเกิดประกายไฟกระโดดข้ามไปมา โดยประกายไฟกระโดด มีลักษณะโค้งเล็กน้อยอีกทั้งมีแสงสว่างออกมาด้วย ต่อมาเขาได้ทำการทดลองเช่นนี้ในสูญญากาศและผลจากการทดลองครั้งนี้ เดวี่ได้นำไปประดิษฐ์หลอดไฟ โดยตั้งชื่อหลอดไฟฟ้าชนิดนี้ว่า Arc Light แต่เส้นลวดทนความร้อนได้สูงไม่มาก ทำให้การใช้งานของหลอดชนิดนี้มีอายุสั้น จากการทดลองของเดวี่ เอดิสันจึงได้พยายามค้นหาตัวนำอื่นที่สามารถทนความร้อนได้สูงกว่า เอดิสันทดลองใช้วัสดุมากกว่า 10,000 ชนิด มาทำการทดลองใช้เป็นไส้ของหลอดไฟ และในปี พ.ศ. 2422 เอดิสันก็พบว่า เมื่อนำเส้นใยที่ทำด้วยฝ้ายมาทำด้าย จากนั้นนำมาเผาไฟจะได้ถ่านคาร์บอนที่ทนความร้อนได้สูง จากนั้นจึงนำมาบรรจุไว้ในหลอดสูญญากาศ หลอดไฟของเอดิสันสามารถจุดให้แสงสว่างได้นานถึง 45 ชั่วโมง หลอดไฟฟ้าชนิดนี้มีชื่อว่า Incandesent Electric Lamp แต่ถึงอย่างนั้นเอดิสันยังต้องการหาวัสดุที่ดีกว่า เขาจึงส่งคนงานจำนวนหนึ่งออกไปเสาะหาวัสดุที่ดีกว่าฝ้าย และในที่สุดเขาก็พบว่าเส้นใยของไม้ไผ่ในประเทศญี่ปุ่นมีคุณภาพดีกว่า แต่ถึงกระนั้นหลอดไฟฟ้าของเอดิสันก็ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนัก เพราะราคาค่าไฟฟ้าในขณะนั้นแพงมาก หลังจากนั้นก็เริ่มออกแบบสวิตช์เปิด-ปิดหลอดไฟให้ติดตั้งในบ้านเรือนได้ง่าย นับเป็นจุดเริ่มต้นของหลอดไฟบนโลกใบนี้

เอดิสันเดินทางกลับมานิวยอร์กอีกครั้งหนึ่ง และก่อตั้งบริษัทชื่อว่า Edison Electric Limit Company เพื่อสร้างเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า โดยการนำไดนาโมของไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) มาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและตั้งชื่อเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเครื่องนี้ว่า "Beauty Mary Ann" ตามชื่อของภรรยาของเขา

เอดิสันยังคงเป็นบุคคลสำคัญในสงครามกระแสไฟฟ้า (War of Currents) โดยเอดิสันพยายามผลักดันระบบไฟฟ้ากระแสตรงของบริษัท แข่งกับระบบไฟฟ้ากระแสสลับของจอร์จ เวสติงเฮาส์ (George Westinghouse) โดยพนักงานในบริษัทของเขาได้โฆษณาชวนเชื่อความอันตรายของไฟฟ้ากระแสสลับโดยการฆ่าหมาแมวเป็นจำนวนหลายตัวอีกเช่นกัน

จากนั้นเอดิสันได้วางสายไฟฟ้าไปทั่วเมืองนิวยอร์ก ทำให้ทุกคนมีโอกาสได้ใช้ไฟฟ้ากันอย่างทั่วถึง นับว่าเอดิสันเป็นผู้ที่บุกเบิกกิจการไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกาเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้เขายังสร้างเครื่องวัดกระแสไฟฟ้า และสายดินเพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าอีกด้วย กิจการของเอดิสันดำเนินไปได้ด้วยดีทั้งการจำหน่ายหลอดไฟฟ้า และจำหน่ายกระแสไฟฟ้า

ต่อมาในปี พ.ศ.2432 เขาได้ประดิษฐ์เครื่องมือเกี่ยวกับการถ่ายภาพขึ้น โดยใช้หลักการเดียวกับเครื่องบันทึกเสียง ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นการถ่ายภาพเคลื่อนไหว หรือกล้องถ่ายภาพยนตร์ แต่ในขั้นแรกภาพที่ถ่ายยังไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ต่อมาเขาได้ปรับปรุงและทำให้ภาพเคลื่อนไหวได้ ภาพเคลื่อนไหวเรื่องแรกของโลกที่ถูกสร้างขึ้น มีชื่อว่า "บันทึกการจาม" แต่ยังไม่มีเสียง นอกจากกล้องถ่ายภาพยนตร์แล้วเขายังสร้างเครื่องฉายภาพยนตร์ขึ้นด้วย

ต่อจากนั้นเอดิสันได้สร้างภาพยนตร์ที่พูดได้ครั้งแรกของโลกขึ้น โดยใช้เครื่องบันทึกเสียงเข้ามาเป็นส่วนประกอบในการฉายภาพยนตร์ เขาได้ว่าจ้างนักแสดงจากบรอดเวย์ (Broadway) มาแสดงในภาพยนตร์ของเขา ภาพยนตร์เครื่องแรกของเอดิสัน ชื่อว่า Synchronized Movie เขายังได้ก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ ภายใต้ชื่อ Edison Trust ด้วย

ผลงานของเอดิสันยังมีอีกหลายชิ้น ได้แก่ เครื่องเล่นจานเสียง เครื่องขยายเสียง (Amplifier) เครื่องอัดสำเนา (Duplicating Machine) และแบตเตอรี่ที่ทำจากนิกเกิลและเหล็ก เป็นต้น เอดิสันได้ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ไปกับการประดิษฐ์คิดค้น เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ไม่เคยหยุด การที่เขาทำงานอย่างหนักและพักผ่อนเพียงวันละ 3-4 ชั่วโมง ทำให้เอดิสันได้ล้มป่วยลงด้วยโรคกระเพาะ เบาหวาน และปัสสาวะเป็นพิษแต่เมื่ออาการทุเลาลง แทนที่เขาจะหยุดพักผ่อนกลับไปทำงานอย่างหนักอีก ทำให้อาการป่วยกำเริบขึ้นมาอีกครั้ง และเป็นสาเหตุทำให้เขาเสียชีวิตในวันที่ 18 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2474 จากนั้นรัฐบาลได้สร้างหลอดไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไว้บนยอดเสาสูง 13 ฟุต 8 นิ้ว เส้นผ่านศูนย์กลาง 9 ฟุต 2 นิ้ว หนัก 3 ตัน มีหลอดไฟบรรจุอยู่ภายในถึง 12 ดวง ซึ่งมีกำลังไฟฟ้ารวมกันถึง 5,200 วัตต์ หลอดไฟฟ้าอันนี้สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2477 เพื่อระลึกถึงคุณประโยชน์ที่เขาได้สร้างเอาไว้

กล่าวได้ว่าเอดิสันเป็นนักประดิษฐ์ที่มีผลงานมากที่สุดในยุคนั้น เขามีสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ภายใต้ชื่อของเขาเป็นจำนวนถึง 1,093 ชิ้น สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เขาคิดค้นขึ้นมาเอง แต่เป็นการพัฒนาจากสิ่งประดิษฐ์ดั้งเดิมที่คิดค้นขึ้นโดยลูกจ้างของเขา เพราะเหตุนี้ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอ ในเรื่องการอ้างผลงานเป็นของตัวแต่ผู้เดียว โดยไม่แบ่งปันให้กับผู้คิดค้นดั้งเดิม เขาถูกนักข่าวรุมถามเสมอว่า เอดิสันคิดอย่างไรกับการที่คนทั่วไปเรียกเขาว่าอัจฉริยะ เขาตอบว่า “คำว่าอัจฉริยะในความคิดของผม ประกอบด้วยพรสวรรค์เพียง 1% ส่วนอีก 99% มาจากความพยายาม”

 

เรียบเรียงโดย ตะวันฉาย ทีมงาน iEnergyGuru

อ้างอิง

th.wikipedia.org/wiki/ทอมัส_เอดิสัน

en.wikipedia.org/wiki/Thomas_Edison

www.britannica.com/biography/Thomas-Edison

siweb1.dss.go.th/Scientist/Scientist/Thomas%20Alva%20Edison.html

th.wikipedia.org/wiki/สงครามกระแสไฟฟ้า

en.wikipedia.org/wiki/John_Kruesi

www.wikitree.com/wiki/Edison-2

6 Reviews

5
5
5
5
5
5

Write a Review

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *