Martin Cooper ผู้คิดค้นโทรศัพท์มือถือเครื่องแรก

ชายผู้ที่ถูกยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งโทรศัพท์มือถือ” (Father of The Cell Phone) เขาเป็นผู้บุกเบิกในอุตสาหกรรมการสื่อสารไร้สาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดการคลื่นความถี่วิทยุ โดยเขาครอบครองสิทธิบัตร 11 ฉบับในสาขานี้ อีกทั้งยังเป็นผู้คิดค้นโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกของโลกให้กับโมโตโรล่า เขายังเป็นผู้ริเริ่มค้นคว้าวิจัยสิ่งที่เรียกว่าอุปกรณ์ไร้สาย (Wireless) สิ่งประดิษฐ์ที่เขาคิดค้นขึ้นล้วนเป็นต้นแบบให้กับเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ตามมาอีกมากมาย รวมทั้ง Wifi ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน จนกระทั่งเขาเปิดบริษัทด้านอุปกรณ์ไร้สายของตัวเอง และมีชื่อเสียงจนกระทั่งภรรยาของเขาถูกขนานนามว่า “First Lady of Wireless” ด้วยผลงานมากมายถึงขนาดนี้ก็คงไม่ต้องแปลกใจที่ทำไมเขาถึงได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณมากมาย คนที่เรากำลังพูดถึงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากชายที่มีชื่อว่า มาร์ติน คูเปอร์ (Martin Cooper) วันนี้ iEnergyGURU ขอนำประวัติของเขามาเล่าสู่กันฟัง

มาร์ติน คูเปอร์ เกิดในชิคาโก้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2471 เขาสำเร็จการศึกษาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยีอิลลินอยส์ (llinois Institute of Technology : IIT) ในปี พ.ศ. 2493 เมื่อสำเร็จการศึกษาคูเปอร์สมัครเป็นทหารสำรองเพื่อรับใช้ชาติในสงครามเกาหลี (Korean War) ปฏิบัติหน้าที่ในเรือดำน้ำของกองทัพสหรัฐฯ เมื่อเขาปลดประจำการจึงได้กลับมาเรียนต่อในระดับปริญญาโท ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2500

ระหว่างเรียนปริญญาโท คูเปอร์ลาออกจากบริษัทเทเลไทป์คอร์ปอเรชั่น (Teletype Corperation) เพื่อมารับหน้าที่เป็นวิศวกรอาวุโสด้านการพัฒนาอุปกรณ์สื่อสารที่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างโมโตโรล่า (Motorola Corperation) โดยเขาได้พัฒนาหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารไร้สายเช่นระบบสัญญาณไฟจราจรที่ควบคุมด้วยคลื่นวิทยุระบบแรกซึ่งเขาจดสิทธิบัตรในปี พ.ศ. 2503 และวิทยุตำรวจแบบพกพาเครื่องแรกซึ่งเปิดตัวในปี พ.ศ. 2510 วิทยุเคลื่อนที่นี้ก็กลายเป็นวิทยุเคลื่อนที่ที่ตำรวจในรัฐชิคาโก้ใช้ในที่สุด

เนื่องจากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 เป็นต้นมา รัฐบาลจำกัดจำนวนผู้ใช้เครื่องมือสื่อสารแบบโทรศัพท์ในรถยนต์ในเมืองใหญ่ ๆ ทำให้ผู้คนฮือฮากับโทรศัพท์มือถือที่คูเปอร์คิดค้นขึ้น อีกทั้งรูปแบบที่เป็นโทรศัพท์มือถือส่วนตัว ทำให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในระยะเวลาอันสั้น ตามแนวคิดของเขาคือ “ประชาชนสามารถมีสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารได้ทุกเวลาตามที่เขาต้องการ”

ความหมายของโทรศัพท์มือถือตามแนวคิดของคูเปอร์คือ “โทรศัพท์มือถือเป็นของส่วนตัว เป็นสิ่งแสดงความเป็นปัจเจกบุคคล เพราะฉะนั้นทุกคนสมควรที่จะกำหนดเบอร์เป็นของตัวเอง ไม่ใช่เป็นเบอร์สถานที่ ไม่ใช่เป็นเบอร์บ้าน ไม่ใช่เบอร์โต๊ะทำงาน แต่เป็นเบอร์ของคุณ” ทำให้ฝ่ายบริหารของโมโตโรล่ายอมรับ และสนับสนุนนโยบายรูปแบบโทรศัพท์มือถือของคูเปอร์ทันที โดยทุ่มงบประมาณไปกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2516-2536 เมื่อได้งบประมาณแล้วคูเปอร์ได้ทำการรวบรวมทีมของเขาขึ้นมา โดยเป้าหมายคือการผลิตสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และเพียงแค่ 90 วัน เขาก็สามารถพิสูจน์คำพูดของเขาในการผลิตโทรศัพท์มือถือออกมาสู่ท้องตลาดได้สำเร็จ โทรศัพท์มือถือรุ่นนั้นคือ Motorola DynaTAC 8000x (Dynamic Adaptive Total Area Coverage) สูง 23 ซม. (9 นิ้ว) และหนัก 1.1 กก. (2.5 ปอนด์) และถูกขนานนามว่าโทรศัพท์ “อิฐ” หรือ “รองเท้า” ส่วนสำคัญของ DynaTAC คือแบตเตอรี่ ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าโทรศัพท์มือถือสมัยใหม่สี่ถึงห้าเท่า โทรศัพท์มีเวลาสนทนาเพียง 30 นาทีก่อนที่จะต้องชาร์จใหม่ 10 ชั่วโมง แต่ตามที่คูเปอร์กล่าวว่า “อายุการใช้งานแบตเตอรี่ไม่ใช่ปัญหาจริงๆ เพราะคุณไม่สามารถถือโทรศัพท์เครื่องนั้นได้นานขนาดนั้น!” ภายในปี พ.ศ. 2526 หลังจากพัฒนาอีก 4 ครั้ง โทรศัพท์ก็ลดลงเหลือครึ่งหนึ่งของน้ำหนักเดิม

ย้อนไปในปี พ.ศ. 2490 บริษัท เบลล์ แล็บ (Bell Labs) ยืนกรานว่าโทรศัพท์ควรเป็นแค่เครื่องมือสื่อสารที่โทรเข้าสถานที่เท่านั้น แต่คูเปอร์ได้ทำการลบล้างทฤษฎีนี้จนหมดสิ้น โทรศัพท์มือถือที่เขาคิดค้นขึ้นสามารถต่อสายผ่านเบอร์หนึ่งไปยังคนอีกคนหนึ่งได้ และเป็นที่แพร่หลายในที่สุด

ในวันที่ 3 เมษายน ปี พ.ศ. 2516 เป็นวันที่โทรศัพท์มือถือ Motorola DynaTAC ทำการโทรออกเป็นครั้งแรก โดยมีสื่อต่าง ๆ มาร่วมทำข่าวกันมากมาย คูเปอร์เลือกที่จะโทรไปหา โจเอล แองเจล (Joel S. Engel) แห่งบริษัท เบลล์ แล็บ เมื่อต่อสายได้แล้ว คูเปอร์ได้กล่าวว่า “โจเอล นี่มาร์ตี้นะ ฉันโทรหานายด้วยโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์มือถือที่เป็นมือถือ จริง ๆ” การสาธิตในที่สาธารณะนั้นทำให้ DynaTAC ขึ้นบนปกนิตยสารวิทยาศาสตร์ยอดนิยมในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2516 คูเปอร์เล่าถึงประสบการณ์นี้ว่า “ฉันโทรไปหลายครั้ง รวมทั้งตอนที่ฉันเดินข้ามถนนไปขณะคุยกับนักข่าววิทยุในนิวยอร์ก ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่อันตรายที่สุดที่ฉันเคยทำมาในชีวิต”

มาร์ติน คูเปอร์ กับโทรศัพท์มือถือ Motorola DynaTAC / ภาพจาก en.wikipedia.org

คูเปอร์ทำงานให้บริษัทโมโตโรล่าเป็นระยะเวลานานถึง 29 ปี เขาเป็นผู้ริเริ่มแนวทางธุรกิจให้บริษัทหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ, เพจจิ้ง, วิทยุเคลื่อนที่แบบเดินสาย (Trunked Mobile Radio), คริสตัลควอทซ์ (Quartz Crystals), ออสซิลเลเตอร์ (Oscillators), จอแสดงผลคริสตัลเหลว (Liquid Crystal Displays), ส่วนประกอบแบบเพียโซอิเล็กทริก (Piezo-Electric Components) ระบบวิทยุ AM ของโมโตโรล่าด้วย (Motorola AM Motorola A.M. Stereo Technology) และผลิตภัณฑ์วิทยุสองทางแบบเคลื่อนที่และแบบพกพาต่างๆ (Various Mobile and Portable Two-Way Radio Product Lines)

คูเปอร์ขึ้นเป็นรองประธานและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาที่โมโตโรล่า นอกเหนือจากการทำงานบนโทรศัพท์มือถือแล้ว เขายังมีบทบาทสำคัญในการขยายเทคโนโลยีของวิทยุติดตามตัวจากการใช้งานภายในอาคารเดียวเพื่อใช้ในหลายเมือง คูเปอร์ยังทำงานร่วมกับนักประดิษฐ์ คลิฟฟอร์ด แอล. โรส (Clifford L. Rose) เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในผลึกควอตซ์ที่ใช้ในวิทยุของโมโตโรล่า ซึ่งสนับสนุนให้บริษัทผลิตคริสตัลก้อนแรกที่ใช้ในนาฬิกาข้อมือเป็นจำนวนมาก

คูเปอร์และภรรยาก่อตั้ง Dyna LLC ในปี พ.ศ. 2529 ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางที่พวกเขาเปิดตัวบริษัท อื่นๆ เช่น ArrayComm (พ.ศ. 2539) ซึ่งพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับระบบไร้สาย และ GreatCall (พ.ศ. 2549) ซึ่งให้บริการไร้สายสำหรับ Jitterbug ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือที่มีคุณสมบัติเรียบง่ายสำหรับ ผู้สูงอายุ คูเปอร์ได้รับรางวัล Charles Stark Draper Prize จาก National Academy of Engineering ในปี พ.ศ. 2556

ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2527-2557 คูเปอร์ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณมากกว่า 20 รางวัล รวมทั้งเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ในสมาคมด้านการสื่อสารหลายแห่ง และในปี พ.ศ. 2547 คูเปอร์ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันเทคโนโลยีอิลลินอยส์ในฐานะสร้างชื่อเสียงให้แก่สถาบันอีกด้วย

 

เรียบเรียงโดย ตะวันฉาย ทีมงาน iEnergyGuru

อ้างอิง

en.wikipedia.org/wiki/Martin_Cooper_(inventor)

en.wikipedia.org/wiki/Motorola_DynaTAC

en.wikipedia.org/wiki/Motorola

www.britannica.com/biography/Martin-Cooper

5 Reviews

5
5
5
5
5

Write a Review

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *