16 ตุลาคม วันอาหารโลก
อาหารถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต เชื่อว่าหลายท่านเมื่อใกล้จะถึงเวลาของมื้อเช้า มื้อเที่ยง น่าจะเคยคิดว่า เอ้..เช้านี้จะกินอะไรดีนะ หรือ เที่ยงแล้ว กินอะไรดี.... แต่ยังมีอีกหลายคนบนโลกใบนี้ที่ประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร วันนี้ iEnergyGuru ขอนำเรื่องราวของวันสำคัญอีกหนึ่งวันมานำเสนอให้ทุกท่านได้ทราบกัน
วันอาหารโลก (World Food Day) เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2539 โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of The United Nations หรือ FAO) ได้กำหนดให้วันที่ 16 ตุลาคม ซึ่งตรงกับวันก่อตั้งองค์การฯ เป็นวันอาหารโลก เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อความสมบูรณ์เติบโตของประชากรโลก และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อรักษาแหล่งอาหารไว้ รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาในการจัดการและการกระจายอาหาร และเกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการ
มีประชากรกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 1 ใน 9 ของประชากรโลก ยังคงประสบกับปัญหาความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการอยู่ คนเหล่านี้มักจัดอยู่ในกลุ่มคนที่ไม่มีพื้นที่ให้เพาะปลูก หรือไม่ก็ไม่มีเงินซื้ออาหาร และ 98% ของปัญหาความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยอยู่ในทวีปเอเชียกว่า 500 ล้านคน
ปัญหานี้เป็นสาเหตุหลักของการตายในเด็ก ในปี พ.ศ. 2553 มีเด็กตายกว่า 7.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 20,000 คนต่อวัน ในเด็ก 1 ใน 15 คน ในประเทศกำลังพัฒนาที่ตายก่อนอายุครบ 5 ปี จำนวนนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุทางด้านโภชนาการ
การได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าอย่างเพียงพอเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อพัฒนาการของเด็ก ซึ่งส่งผลตลอดช่วงชีวิตของคนๆ นั้น ปัญหานี้ทำให้คนไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งความยากจนและอดอยาก เป็นวังวนไม่รู้จบ ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ การศึกษา และความเท่าเทียม
กับดักความความยากจน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และซึ่งเป็นต้นตอของความยากจน อีกหนึ่งของสาเหตุของปัญหาก็คือ การขาดการลงทุนในภาคการเกษตร เช่น ขาดโครงสร้างพื้นฐานหรือการจัดการทางการเกษตรที่ดี ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ และขาดความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)ซึ่งเป็นเหตุแห่งภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุ มีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย
ยังมีปัญหาความขัดแย้งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เกิดทั้งการอพยพ และสภาวะขาดแคลนอาหาร นอกจากนั้น ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร ทำให้คนบางกลุ่มเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้ยากในบางช่วงที่สินค้าราคาแพง
ที่ผ่านมาทั่วโลกต่างทุ่มเทและพยายามเป็นอย่างมากในการแก้ไขปัญหานี้ โดยได้ร่วมกันกำหนดให้การขจัดปัญหาความความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการเป็น 1 ใน 8 ของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals หรือ MDGs) ซึ่งมีกรอบระยะเวลา 15 ปี (ปี พ.ศ. 2543-2558) โดยตั้งเป้าหมายให้สัดส่วนประชากรที่ประสบปัญหาความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งถึงแม้จะไม่สำเร็จตามเป้าหมาย แต่ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สำหรับเป้าหมายถัดไป คือ การขจัดปัญหาความความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการให้หายไปอย่างสิ้นเชิงภายในปี พ.ศ. 2573 โดยเป้าหมายนี้ถูกกำหนดเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ซึ่งมีกรอบระยะเวลา 15 ปี (ปี พ.ศ. 2558-2573) อีกด้วย
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ มีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับโภชนาการทั่วโลก รวมถึงเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในทุกระดับ เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากรในชนบท และสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการเปลี่ยนนโยบายทางการเกษตร และช่วยเหลือทุกภูมิภาคจากสถานการณ์ความอดอยาก และผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมถึงอำนวยความสะดวกในสภาวะที่เป็นกลาง เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาการผลิตอาหาร
จากบทบาทดังกล่าวทำให้ประเทศสมาชิกทั่วโลก ได้พร้อมใจกันกำหนดให้วันที่ 16 ตุลาคมของทุกปี มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น เช่น การอภิปราย การจัดนิทรรศการ และกิจกรรมอื่นๆ ภายใต้หัวข้อที่กำหนดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับคำขวัญวันอาหารโลกในแต่ละปี ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น
สำหรับประเทศไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การฯ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2490 และเป็นสมาชิกลำดับที่ 45 จากสมาชิกปัจจุบันทั้งสิ้น 190 ประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่ได้เข้าเป็นสมาชิกแล้ว ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเร่งฟื้นฟูการเกษตรของประเทศ ในระยะแรกมีโครงการที่ประสบความสำเร็จมาก คือ โครงการประมงน้ำจืด ซึ่งทางองค์การฯ ได้ส่งนักวิชาการด้านประมงมาให้คำแนะนำแก่ชาวประมงไทยในการเลี้ยงปลาหมอเทศ และการเพาะพันธุ์ปลาสวาย
เรียบเรียงโดย ศารทวิษุวัต ทีมงาน iEnergyGuru
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/World_Food_Day
www.agriculture.gov.bz/world-food-day
www.daysoftheyear.com/days/world-food-day
https://nationaldaycalendar.com/world-food-day-october-16
www.worldhunger.org/world-hunger-and-poverty-facts-and-statistics/#hunger-number
www.wfp.org/stories/what-causes-hunger
www.dosomething.org/facts/11-facts-about-world-hunger
https://innovation.wfp.org/projects
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!