Samuel Martin Kier ผู้ขุดค้นพบน้ำมันเป็นคนแรกของโลก

ยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์แทบจะทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น รถ เรือ หรือเครื่องบิน ล้วนต้องใช้น้ำมันทั้งสิ้น ทำให้น้ำมันกลายเป็นที่ต้องการของไปทั่วโลก แม้ในยามสงครามมีบางประเทศถึงกับต้องกักตุนน้ำมันไว้ แสดงให้เห็นว่าน้ำมันมีค่าและมีความสำคัญไม่แพ้เงินและทองคำ แต่ด้วยความต้องการที่มากมายมหาศาล สักวันหนึ่งน้ำมันที่เคยเป็นแหล่งพลังงานหลักคงต้องหมดไป ปัจจุบันมีความพยายามในการหาพลังงานอื่นมาทดแทนและด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วจึงมีการนำไฟฟ้าเข้ามาเป็นพลังงานที่ทดแทนการใช้น้ำมันมาก วันนี้ iEnergyGuru ขอนำเสนอเรื่องราวของผู้ที่ค้นพบน้ำมัน พลังงานสำคัญของโลกมาให้ทุกท่านได้ทราบกัน

คำว่า "ปิโตรเลียม" มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า "เพทรา" (Petra) แปลว่า หิน และคำว่า "โอลิอุม" (Oleum) แปลว่า น้ำมัน รวมความแล้ว จึงหมายถึงน้ำมันที่ได้มาจากหิน ดังนั้นปิโตรเลียม คือ สารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นของผสมของโฮโดรคาร์บอนชนิดต่าง ๆ ที่ยุ่งยาก และซับซ้อน ทั้งที่อยู่ในสภาพของแข็ง ของเหลว และแก๊ส หรือทั้งสามสภาพปะปนกัน แต่เมื่อต้องการจะแยกประเภทออกเป็นปิโตรเลียมชนิดต่างๆ จะใช้คำว่า น้ำมันดิบ (Crude oil) แก๊สธรรมชาติ (Natural gas) และแก๊สธรรมชาติเหลว (Condensate) โดยปกติน้ำมันดิบ และแก๊สธรรมชาติ มักจะเกิดร่วมกัน ในแหล่งปิโตรเลียม แต่บางแหล่งอาจมีเฉพาะน้ำมันดิบ บางแหล่งอาจมีเฉพาะแก๊สธรรมชาติก็ได้ ส่วนแก๊สธรรมชาติเหลวนั้น หมายถึง แก๊สธรรมชาติในแหล่งที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินภายใต้สภาพอุณหภูมิ และความกดดันที่สูง เมื่อถูกนำขึ้นมาถึงระดับผิวดินในขั้นตอนของการผลิต อุณหภูมิ และความกดดันจะลดลง ทำให้แก๊สธรรมชาติกลายสภาพไปเป็นของเหลว เรียกว่า แก๊สธรรมชาติเหลว

ในอดีตกาล ชาวจีนได้ค้นพบปิโตรเลียมจากการเจาะบ่อเกลือ และรู้จักใช้ประโยชน์จากปิโตรเลียม เพื่อเป็นเชื้อเพลิง ในการต้มน้ำเกลือให้ระเหย จนได้เกลือสินเธาว์ ชาวอียิปต์โบราณ ใช้ปิโตรเลียมดองศพ ก่อนนำไปฝังในสุสาน เพื่อช่วยป้องกันมิให้ศพเน่าเปื่อย ในอาณาจักรเมโสโปเตเมีย มีการนำเอาน้ำมันดิบมาเป็นวัสดุเชื่อมประสานก้อนอิฐเข้าด้วยกันในการก่อสร้าง และใช้ปูลาดถนน ในสมัยกรีกและโรมัน ได้มีการใช้ปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิง สำหรับตะเกียง และเป็นยาขี้ผึ้งสำหรับรักษาโรค ในพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของโลก อาทิเช่น บริเวณรอบ ๆ ทะเลสาบแคสเปียน โรมาเนีย พม่า และอินเดีย ได้มีการนำปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ คือ เป็นเชื้อเพลิง สำหรับจุดให้แสงสว่าง และใช้ในการประกอบอาหาร ใช้เป็นวัสดุหล่อลื่น และใช้เป็นยารักษาโรค

เรื่องราวของปิโตรเลียม และการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีด้านการขุดเจาะสำรวจให้มีความก้าวหน้าทันสมัย จนสามารถทำให้นำน้ำมันออกมาใช้ประโยชน์ได้เป็นผลสำเร็จนั้น คงต้องยกผลงานให้กับชายที่ชื่อ ซามูเอล มาร์ติน เกียร์ (Samuel Martin Kier) ซึ่งถือเป็นบุคคลที่รู้จักกันในแวดวงปิโตรเลียมว่าเป็นผู้ขุดค้นพบน้ำมันเป็นคนแรกของโลก และยังได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์ให้เป็นบิดาแห่งอุตสาหกรรมน้ำมันของอเมริกาอีกด้วย

ซามูเอล มาร์ติน เกียร์ (Samuel Martin Kier) / ภาพจาก en.wikipedia.org/wiki/Samuel_Kier

เกียร์ เป็นนักประดิษฐ์และนักธุรกิจชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายสก็อต-ไอริช เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2356 ที่เมืองเล็กๆ ในอินเดียน่า (Indiana) มลรัฐเพ็นซิลวาเนีย (Pennsylvania) เขาเป็นลูกชายของโธมัส เกียร์ (Thomas Kier) และ แมรี่ มาร์ติน เกียร์ (Mary Martin Kier) พวกเขาเป็นผู้อพยพชาวสก็อต-ไอริช ซึ่งเป็นเจ้าของบ่อเกลือหลายแห่งรอบๆ ลิเวอร์มอร์ (Livermore) และซอลต์สเบิร์ก (Salzberg) ที่อยู่ใกล้เคียง

นอกจากธุรกิจเกลือแล้ว ในปี พ.ศ. 2381 เกียร์มีส่วนในการก่อตั้ง Kier, Royer and Co. บริษัทนี้เป็นกิจการเรือคลองที่ขนส่งถ่านหินระหว่างพิตส์เบิร์ก (Pittsburgh) และฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) เกียร์ยังเป็นเจ้าของผลประโยชน์ในเหมืองถ่านหินหลายแห่ง โรงอิฐ และโรงงานเครื่องปั้นดินเผา

เขาร่วมกับนักลงทุนรายอื่นอีกหลายคน รวมทั้งเบนจามิน เอฟ โจนส์ (Benjamin F. Jones) ก่อตั้งโรงหล่อเหล็กหลายแห่งทางตะวันตกตอนกลางของรัฐเพนซิลเวเนีย รวมทั้งบริษัทโจนส์แอนด์ลาฟลินสตีล (Jones and Laughlin Steel Company) ซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดในอเมริกา

ในช่วงปี พ.ศ. 2383 บ่อเกลือของเกียร์ เปรอะเปื้อนไปด้วยน้ำมันปิโตรเลียม เนื่องจากก่อนหน้าเกียร์ทิ้งน้ำมันที่ไม่ใช้แล้วลงในคลองเส้นหลักของเพนซิลเวเนีย แต่หลังจากเกิดคราบน้ำมันติดไฟขึ้น เขาจึงมองเห็นลู่ทางที่จะทำกำไรจากผลพลอยได้นี้ ในขณะนั้นไม่เคยมีการศึกษา ทดลองด้านวิทยาศาสตร์หรือเคมีอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องน้ำนี้ เขาจึงเริ่มทำการทดลองกับโรงกลั่นน้ำมันดิบหลายแห่งร่วมกับนักเคมีจากเพนซิลเวเนียตะวันออก เขาพัฒนาสารที่เขาค้นพบและตั้งชื่อว่า “Rock Oil” ซึ่งต่อมาคือ “Seneca Oil” ในปี พ.ศ. 2391 เขาเริ่มบรรจุสารดังกล่าวลงขวดและขายในราคาขวดละ 0.50 ดอลลาร์ นอกจากนี้เขายังผลิตพาราฟิน (Petroleum Jelly) และขายเป็นยาทาเฉพาะที่ด้วย แต่ทั้งสองผลิตภัณฑ์ไม่ได้ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์เท่าที่ควร

ขวดและป้ายโฆษณาผลิตภัณฑ์ของเกียร์ / ภาพจาก www.nowthenpgh.com/?p=481

หลังจากทำการทดลองเพิ่มเติม เขาก็ค้นพบวิธีที่ประหยัดในการผลิตน้ำมันก๊าด (Kerosene) ซึ่งในขณะนั้น น้ำมันก๊าดเป็นที่รู้จักกันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การผลิตและการใช้งานยังไม่แพร่หลาย แต่น้ำมันปลาวาฬ (Whale Oil) ต่างหากที่เป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับตะเกียงในอเมริกาซึ่งเวลานั้นเริ่มหายากและมีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ

ในปี พ.ศ. 2394 เกียร์เริ่มขายน้ำมันก๊าดชื่อ “น้ำมันคาร์บอน” (Carbon Oil) ให้กับคนงานเหมืองท้องถิ่น เขายังประดิษฐ์ตะเกียงชนิดใหม่เพื่อใช้กับผลิตภัณฑ์ของเขาด้วย เกียร์ไม่เคยจดสิทธิบัตรผลงานการประดิษฐ์ และการพัฒนาต่าง ๆ ของเขา แต่นักประดิษฐ์และนักธุรกิจคนอื่น ๆ ได้กำไรมหาศาลจากการต่อยอดผลงานของเกียร์ ยังไงก็ตาม รายได้ของเกียร์ในตอนนั้นก็เกิน 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งเทียบกับช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นจำนวนเงินมหาศาล

เอ็ดวิน เดรก (Edwin Drake) / ภาพจาก idol-man.blog/2022/04/02/edwin-drake-the-first-to-successfully-drill-for-oil

ต่อมาจึงมีการจัดตั้งบริษัทเจาะสำรวจน้ำมันที่ชื่อบริษัท เพ็นซิลวาเนีย ร็อค  ออยล์ (Pennsylvania Rock Oil Company) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อ บริษัท ซีนีกา ออยส์ (Seneca Oil Company) ขึ้นมา โดยมี เอ็ดวิน เดรก (Edwin Drake) เป็นผู้เจาะสำรวจหาน้ำมันคนแรกที่เมืองทิทัสวิลล์ (Titusville) ในมลรัฐเพ็นซิลวาเนีย (Pennsylvania) ซึ่งเขาได้กลายเป็นผู้ที่ขุดพบน้ำมันเป็นคนแรกและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งวงการ เพราะเขาสามารถค้นพบน้ำมันที่ระดับความลึก 69.5 ฟุต โดยที่มีอัตราการไหลของน้ำมันออกมาอยู่ที่ 10-35 บาเรล ต่อวัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “ยุคตื่นน้ำมัน” ของโลก

น้ำมันซีนีกาของเกียร์ถูกนำมาใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่นของเครื่องยนต์ ใส่ตะเกียงเพื่อให้แสงสว่าง เมื่อความต้องการน้ำมันเริ่มมีมากขึ้น ทำให้เป็นการเริ่มต้นให้มีการแสวงหาแหล่งปิโตเลียมเพื่อการพานิชย์กันอย่างแพร่หลาย ในยุคแรกนี้ อเมริกาได้เป็นเจ้าตลาดในการครอบครองน้ำมันที่ขุดเจาะได้ในดินแดนของตนเอง

ต่อมามีการไปสำรวจ ขุดเจาะ ค้นหาแหล่งน้ำมันดิบในดินแดนอาหรับ โดยนายทุนใหญ่ ๆ ก็มาจาก อังกฤษ และอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีปัญหามากมายในการตกลงแบ่งเขตแดนกันในทะเลทราย เพราะภูมิประเทศส่วนใหญ่นั้นเป็นทะเลทราย จนสุดท้ายได้มีการขุดสำรวจและพบแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ใน ซาอุดิอาระเบีย และยังมีแหล่งน้ำมันอีกมากมายที่สำรวจเจอในดินแดนฝั่งอาหรับ ทำให้ประเทศแถบนั้นกลายเป็นมหาอำนาจทางน้ำมันในทันที

สำหรับประเทศไทย มีหลักฐานปรากฏนับเป็นเวลามากกว่าร้อยปีมาแล้วว่ามีการค้นพบน้ำมันดิบที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเจ้าหลวงเชียงใหม่ในสมัยนั้นได้รับรายงานว่ามีการไหลซึมของน้ำมันดิบ และชาวบ้านในละแวกนั้นนำน้ำมันดิบที่ไหลซึมออก มาใช้เป็นยาทารักษาโรคผิวหนัง ซึ่งต่อมาเจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงได้สั่งให้มีการขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำมันดิบที่ไหลซึมออกมา และมีการเรียกขานบ่อดังกล่าวในเวลาต่อมาว่า “บ่อหลวง”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2464 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระโอรสองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจบการศึกษาด้านวิศวกรรมจากตรินิตี้คอลเลจ แห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ พ่วงด้วยวิศวกรรมชั้นสูงจากประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งวิชาทหารช่างที่ชัทแทมด้วย เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟ ต้องการหาเชื้อเพลิงทดแทนสำหรับหัวรถจักรไอน้ำ จึงได้ว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวอเมริกันชื่อวอลเลซ ลี (Wallace Lee) เข้ามาเจาะสำรวจหาน้ำมันดิบในบริเวณบ่อหลวง และจังหวัดกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าการขุดเจาะในครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากอุปกรณ์ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นจากไม้จึงมีข้อจำกัดในการขุดเจาะ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ จึงถือได้ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทยก็ว่าได้

ปิโตรเลียมซึ่งรวมถึงน้ำมัน เป็นทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าที่มีวันหมด เราจึงควรปลุกจิตสำนึกในการใช้พลังอย่างประหยัด เพื่อให้ทรัพยากรเหล่านี้ ยังคงก่อประโยชน์สู่มนุษยชาติต่อไป

 

เรียบเรียงโดย ประพัฒน์ศร ทีมงาน iEnergyGuru

อ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Samuel_Kier

www.uh.edu/engines/epi3178.htm

https://historicpittsburgh.org/islandora/object/pitt:MSP33.B006.F02.I01

www.longmaadoo.com/การค้นพบน้ำมัน

https://archives.datapages.com/data/phi/v9_2008/brice3.htm

 

 

1 Review

5

Write a Review

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *