Sir Timothy John Berners-Lee ชายผู้ย่อโลกให้เล็กลงด้วย WWW
ในโลกยุคปัจจุบัน ถ้าเราต้องการหาข้อมูลอะไรสักอย่าง เพียงแค่เราเปิดคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน แล้วใช้เสิร์ชเอนจิน (Search Engine) หรือ โปรแกรมค้นหา ซึ่งก็คือ โปรแกรมที่ช่วยในการสืบค้นหาข้อมูล สามารถทำให้การเข้าใช้งานอินเตอร์เน็ตเพื่อไปอ่านข้อมูลในเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยการใช้โปรแกรมที่เรียกว่าเว็บเบาว์เซอร์ เช่น Internet Explorer, Google Chrome, Firefox, Safari, Microsoft Edge ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว เพลง ซอฟต์แวร์ แผนที่ ข้อมูลบุคคล กลุ่มข่าว และอื่น ๆ ที่เราจะรู้ อยากจะหา ก็จะปรากฏให้เราเห็นตรงหน้าเพียงแค่คลิกเดียว แตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง ที่การค้นหาข้อมูลนั้นต้องเข้าห้องสมุด เป็นต้น วันนี้ iEnergyGURU ขอนำทุกท่านไปรู้จักกับผู้ที่ทำให้ชีวิตมนุษย์ง่ายขึ้น ชายผู้ที่ย่อโลกใบนี้ให้เล็กลงด้วยตัวอักษรแค่ 3 ตัว นั่นคือ WWW
WWW หรือ เวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web) “ตัวอักษร 3 ตัวที่เปลี่ยนโลก” ทำให้เรามีพื้นที่เก็บข้อมูลข่าวสารที่สามารถเชื่อมโยงเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ตได้แบบเป็นเครือข่าย ผ่านการใช้ URL สั้น ๆ ที่กำหนดตำแหน่งที่อยู่ของเว็บแต่ละหน้า ที่กำหนดขึ้นมาโดยเจ้าของข้อมูลนั้น ๆ ใช้ร่วมกับ Hyperlink ทำให้สามารถเชื่อมโยงหน้าเว็บต่าง ๆ ต่อไปได้เรื่อย ๆ ไม่รู้จบ
ในขณะที่ใครหลาย ๆ คนถูกยกย่องให้เป็น ‘บิดา’ ในการประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ แต่หลาย ๆ คนแทบไม่รู้จัก ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี แม้แต่น้อย ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นคนที่ได้รับฉายาว่าเป็น “นักประดิษฐ์ที่เยี่ยมยอดที่สุดที่โลกเคยมีมา” และเราก็ใช้นวัตกรรมที่เขาสร้างขึ้นมาอยู่ทุก ๆ วัน
เซอร์ทิโมที จอห์น เบอร์เนิร์ส-ลี (Sir Timothy John Berners-Lee, OM, KBE, FRS, FREng, FRSA, DFBCS) เป็นศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) และเป็นศาสตราจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT) เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่ปฏิวัติที่สุดในศตวรรษที่ 20 นั่นคือ ระบบข้อมูลข่าวสารบนอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า World Wide Web (WWW) อันทรงพลังที่ทำให้ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกและกลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ระบบการจัดการข้อมูลดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ปี พ.ศ. 2532 จากนั้นได้ดำเนินการสื่อสารที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกระหว่างไคลเอ็นต์และเซิร์ฟเวอร์ Hypertext Transfer Protocol (HTTP) ผ่านอินเทอร์เน็ตในกลางเดือนพฤศจิกายน
และเขาได้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท World Wide Web Consortium (W3C) เพื่อดูแลการพัฒนา WWW อย่างต่อเนื่องสร้างความเจริญก้าวหน้าในด้านการค้นหาและการเผยแพร่ความรู้และข้อมูลข่าวสารชนิดเปลี่ยนโลก เขาจึงได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในบุคคลที่สำคัญที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20
ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี ได้รับการยกย่องและได้รับรางวัลมากมาย ซึ่งชื่อเต็ม ๆ และเกียรติยศที่เขาได้รับนั้นทำให้ชื่ออย่างเป็นทางการของเขายาวไม่รู้จบพอ ๆ กับความยาวของชื่อ URL ของบางเว็บไซต์ที่เราเห็นต่อจาก WWW ที่เข้าพัฒนาคิดค้นขึ้นมานั่นเอง
นอกจากนั้น ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของ World Wide Web Consortium (W3C) ซึ่งดูแลการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเว็บ ซึ่งเขาร่วมก่อตั้งกับโรสแมรี ลีธ (Rosemary Leith) ภรรยาของเขาในขณะนั้น มูลนิธิเวิลด์ไวด์เว็บ เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสและดำรงตำแหน่งประธานผู้ก่อตั้ง 3Com Corporation ที่หอทดลองวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์แห่งเอ็มไอที (MIT Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory : CSAIL) เขาเป็นผู้อำนวยการของ Web Science Research Initiative (WSRI) และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการที่ปรึกษาของ MIT Center for Collective Intelligence ในปี พ.ศ. 2554 เขาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการมูลนิธิฟอร์ด (Ford Foundation) เขาเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานของ Open Data Institute (ODI) และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของ MeWe อีกด้วย
เขาคิดค้นและใช้งานเว็บเบราว์เซอร์และเว็บเซิร์ฟเวอร์เครื่องแรก และช่วยส่งเสริมการพัฒนาอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมาของเว็บ ปัจจุบันเขากำกับ W3 Consortium พัฒนาเครื่องมือและมาตรฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพของเว็บ ในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2552 เขาได้รับเลือกให้เป็น Foreign Associate of the National Academy of Sciences
ในปี พ.ศ. 2547 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่งตั้งให้ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีเป็นอัศวินจากผลงานการบุกเบิกของเขา และเขาได้รับการเสนอชื่อในรายชื่อ 100 บุคคลที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20 ของนิตยสารไทม์ และได้รับรางวัลอื่นๆ อีกมากมายจากผลงานประดิษฐ์ของเขา เขาได้รับเกียรติให้เป็น “ผู้ประดิษฐ์เวิลด์ไวด์เว็บ” ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 เขาได้รับรางวัลทัวริงประจำปี พ.ศ. 2559 “สำหรับการคิดค้นเวิลด์ไวด์เว็บ เว็บเบราว์เซอร์ตัวแรก ตลอดจนโปรโตคอลและอัลกอริทึมพื้นฐานที่ช่วยให้เว็บปรับขนาดได้”
ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี เกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2498 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นบุตรคนโตในจำนวนบุตรทั้งสี่คนของนายคอนเวย์ เบอร์เนิร์ส-ลี (Conway Berners-Lee) และนางแมรี ลี วูดส์ (Mary Lee Woods) ไมค์น้องชายของเขาเป็นศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาและการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Ecology and Climate Change Management) ทั้งพ่อและแม่เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ทำงานอยู่ในทีมสร้างคอมพิวเตอร์ยุคแรก คือ แมนเชสเตอร์ มาร์ก 1 (Manchester Mark 1) ด้วยกัน ทั้งสองสอนให้เบอร์เนิร์ส-ลีใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันไปทุก ๆ เรื่อง ไม่เว้นแม้แต่บนโต๊ะอาหาร ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนประถมชีนเมาท์ (Sheen Mount Primary School) (ซึ่งต่อมาได้อุทิศห้องโถงใหม่ห้องหนึ่งเป็นเกียรติแก่เขา) เขาเรียนรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากการซ่อมรถไฟ เขาได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาฟิสิกส์ จากวิทยาลัยควีนส์ ออกซ์ฟอร์ด (The Queen's College, Oxford) ในขณะที่เรียนมหาวิทยาลัย ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีสร้างคอมพิวเตอร์ด้วยหัวแร้งไฟฟ้า ประกอบทีทีแอล (ทรานซิสเตอร์ชนิดหนึ่ง) ลอจิกเกท และหน่วยประมวลผล เอ็ม 6800 กับโทรทัศน์เก่าเครื่องหนึ่งซึ่งเขาซื้อมาจากร้านรับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และช่วงหนึ่งในระหว่างการศึกษา ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีถูกจับได้ร่วมกับเพื่อนฐานทำการ “แฮ็กคอมพิวเตอร์” และถูกห้ามมิให้ใช้คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย
หลังจากสำเร็จการศึกษา ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีทำงานเป็นวิศวกรที่บริษัทเพลสเสย์ (The Plessey Company PLC) เป็นบริษัทโทรคมนาคมในเมืองพูล (Poole), ดอร์เซต (Dorset) ในปี พ.ศ. 2521 เขาร่วมงานกับ ดีจี นาช (D.G. Nash) ใน เฟรินดาว์น(Ferndown), ดอร์เซต (Dorset) ซึ่งเขาได้ช่วยสร้างซอฟต์แวร์เรียงพิมพ์สำหรับเครื่องพิมพ์
ขณะที่เป็นลูกจ้างอิสระอยู่ที่เซิร์น (CERN) ระหว่างเดือนมิถุนายน - ธันวาคม พ.ศ. 2523 ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีได้เสนอโครงการหนึ่งที่ใช้แนวคิด “ข้อความหลายมิติ” หรือ hypertext มาใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนและปรับสมัยข้อมูลระหว่างนักวิจัยด้วยกัน ขณะที่ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีทำงานอยู่ที่นี่เขาได้สร้างระบบต้นแบบไว้แล้วเรียกชื่อว่า ENQUIRE หลังจากออกจากเซิร์นในปลายปี พ.ศ. 2523 ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีไปร่วมงานกับบริษัทอิมเมจคอมพิวเตอร์ซิสเต็ม (Image Computer Systems Ltd) ของจอห์น พุล (John Poole) ในเมือง Bournemouth (เบอร์นเมาธ์), ดอร์เซต (Dorset) ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีได้กลับมาทำงานที่เซิร์นอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2527 ในตำแหน่งสิกขบัณฑิต (Fellow) เมื่อถึง ปี พ.ศ. 2532 เซิร์นได้กลายเป็นศูนย์อินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และทิม เบอร์เนิร์ส-ลีได้เล็งเห็นโอกาสในการใช้ “ข้อความหลายมิติ” ผนวกเข้ากับอินเทอร์เน็ต ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีเขียนไว้ในข้อเสนอโครงการของเขาว่า “...ผมเพียงเอาความคิดเรื่องข้อความหลายมิตินี้เขื่อมต่อเข้ากับความคิด “TCP” และ “DNS” และเท่านั้นก็จะได้ "เวิลด์ไวด์เว็บ..” ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีร่างข้อเสนอของเขาเมื่อเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2532 และในปี พ.ศ. 2533 ด้วยความช่วยเหลือของโรเบิร์ต ไคลิยู (Robert Cailliau) ช่วยปรับร่างโครงการให้ไมค์ เซนดอลล์ ผู้จัดการของทิม เบอร์เนิร์ส-ลี จึงรับข้อเสนอของเขา ในข้อเสนอนี้ ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี ได้ใช้ความคิดเดียวกับระบบเอ็นไควร์มาใช้สร้างเวิลด์ไวด์เว็บ ซึ่งเขาได้ออกแบบและสร้างเว็บเบราว์เซอร์และเอดิเตอร์ตัวแรกของโลกชื่อว่า WorldWideWeb บนระบบปฏิบัติการ NEXTSTEP ของสตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) และสร้างเว็บเซิร์ฟเวอร์ขึ้น เรียกว่า HTTPd (ย่อมาจาก HyperText Transfer Protocal deamon)
เว็บไซต์แรกสุดสร้างขึ้นที่เซิร์น นำขึ้นออนไลน์เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2534 ให้คำอธิบายว่าเวิลด์ไวด์เว็บคืออะไร การที่จะเป็นเจ้าของเบราว์เซอร์ทำได้อย่างไรและจะติดตั้งเว็บเซิร์ฟเวอร์ได้อย่างไร นอกจากนี้ยังนับเป็นเว็บไดเร็กทอรีอันแรกของโลกด้วยเนื่องจากทิม เบอร์เนิร์ส-ลีดูแลรายชื่อของเว็บไซต์อื่นๆ ทั้งหมด นอกจากของตนเองด้วย
ในปี พ.ศ. 2537 ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี ได้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทเวิลด์ไวด์เว็บ (W3C) ขึ้นที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที ประกอบด้วยบริษัทหลายบริษัทที่ยินยอมพร้อมใจมาร่วมสร้างมาตรฐานและข้อเสนอแนะสำหรับใช้เป็นหลักในการปรับปรุงคุณภาพของเว็บ ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2547 ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี ยอมรับตำแหน่งประธานสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่คณะอีเล็กทรอนิกส์และวิยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยเซาท์แธมตัน (University of Southampton) สหราชอาณาจักรเพื่อดำเนินโครงการใหม่ นั่นคือ "ซีแมนติกเว็บ" (Semantic Web)
ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีเปิดเผยให้ความคิดแก่ทุกคนและทุกองค์กรโดยไม่คิดมูลค่า เขาไม่เคยจดทะเบียนลิขสิทธิ์การค้นคิดของเขาเลย รวมทั้งไม่เรียกค่าตอบแทนหรือรางวัลอื่นใดจากใคร นอกจากเงินเดือนปกติ ดังนั้น กลุ่มบริษัทเวิลด์ไวด์เว็บจึงตัดสินใจไม่คิดมูลค่าใด ๆ จากการนำมาตรฐานของกลุ่มบริษัทไปใช้ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกรายยอมรับมาตรฐานเดียวกันได้บนพื้นฐานทางเทคโนโลยี ไม่ใช่พื้นฐานค่าสิขสิทธิ์ถูกหรือแพง
มหาวิทยาลัยเซาท์แธมตันเป็นองค์กรแรกที่ยอมรับว่า ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี เป็นคิดค้นและสร้างเวิลด์ไวด์เว็บ ด้วยการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้แก่เขาเมื่อ ปี พ.ศ. 2539 และให้เขาดำรงตำแหน่งประธานสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในคณะอิเล็กทรอนิกส์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีเป็นประธานผู้ก่อตั้ง 3Com ที่เอ็มไอทีและยังเป็นเมธีวิจัยอาวุโสที่นี่ด้วย ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีเป็นสิกขบัณฑิตกิตติคุณ (Distinguished Fellow) ที่สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งบริเทน สิกขบัณฑิตกิตติคุณของสถาบันวิศวกรไฟฟ้า และยังเป็นสมาชิกของบัณฑิตยสถานศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกันอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2540 ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นจักรวรรดิบริทิช (OBE) พร้อมการได้รับเข้าเป็นราชบัณฑิตในราชบัณฑิตยสถานเมื่อ ปี พ.ศ. 2544 ได้รับรางวัลญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2545 และในปีเดียวกันก็ได้รับรางวัลปรินซิเป เดอ แอสทูริอัส สาขางานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศสเปน และได้การโหวตเป็นหนึ่งในชาวบริติชที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ 100 คน โดยบีบีซี
ในปี พ.ศ. 2544 ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีได้เป็นผู้อุปถัมภ์กองทุนมรดกอีสต์ดอร์เซทในประเทศอังกฤษ
เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2547 ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินโดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งประเทศอังกฤษ
21 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2547 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์
27 มกราคม ปี พ.ศ. 2548 ได้รับการยกย่องเป็นชาวบริทิชที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี และนิตยสารไทม์ในวาระเดียวกันยกย่องทิม เบอร์เนิร์ส-ลีเป็นบุคคล 1 ใน 100 คนที่ทรงอิทธิพลที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20
เดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2549 ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีได้เป็นสิกขบัณฑิตเกียรติคุณในราชสมาคมศิลปะ
14 มกราคม ปี พ.ศ. 2550 ได้การรวมชื่อไปไว้ในสำนักวิศวกรรมแห่งชาติ (สหรัฐฯ)
13 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2550 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Order of Merit (OM) ฝ่ายหน้าเป็นการส่วนพระองค์จากสมเด็จพระบรมราชินีเอลิซาเบท เป็นการพระราชทานโดยไม่ต้องผ่านจากกระทรวงทบวงกรม ซึ่งมีผู้ได้รับที่ยังมีชีวิตเพียง 24 คนเท่านั้นในสหราชอาณาจักร และมีสิทธิ์ใน "OM" ท้ายชื่อได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้เขายังได้รับรางวัลเกียรติยศอีกมากมาย เช่น ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของราชสมาคม (Royal Society) ของอังกฤษและสถาบัน National Academy of Sciences (NAS) ของสหรัฐอเมริกา, ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกรวมทั้งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยเยล
ปี พ.ศ. 2552 ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีได้ก่อต้องมูลนิธิ World Wide Web Foundation เพื่อสนับสนุนให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงเว็บได้อย่างอิสระและเปิดกว้างในขณะเดียวกันก็ทำให้มั่นใจว่าเว็บเป็นเครื่องมือที่ปลอดภัยและทรงพลังที่ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างมีอิสระและช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้อย่างเต็มที่ ปี พ.ศ. 2555 เขาร่วมกับ Nigel Shadbolt ก่อตั้งสถาบัน Open Data Institute (ODI) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั่วโลกคิดค้นนวัตกรรมด้วยข้อมูล ปี พ.ศ. 2556 ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนซึ่งรวมถึง Google, Facebook, Intel และ Microsoft ก่อตั้งกลุ่มพันธมิตร Alliance for Affordable Internet (A4AI) เพื่อหาทางทำให้การถึงอินเตอร์เน็ตถูกลงเพื่อประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เขายังได้ร่วมมือกับรัฐบาลและสถาบันหลายแห่งในการช่วยทำให้ข้อมูลเปิดกว้างและเข้าถึงได้ง่ายผ่านทางเว็บไซต์อีกหลายโครงการ
ทิม เบอร์เนิร์ส-ลีเป็นผู้อยู่แนวหน้าในการเป็นปากเป็นเสียงให้กับหลักการ "Net Neutrality" หรือความเป็นกลางของเครือข่าย ที่มีแนวคิดว่าเครือข่ายบรอดแบนด์ครัวเรือน และอาจจะเครือข่ายทุกชนิด จะต้องปลอดจากข้อห้ามต่าง ๆ เกี่ยวกับอุปกรณ์ที่จะนำมาเชื่อมต่อกับเครือข่าย วิธีในการสื่อสารที่อนุญาต ซึ่งจะต้องไม่กำจัดเนื้อหา เว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์ม และจะต้องเป็นเครือข่ายที่การสื่อสารไม่ถูกลดคุณภาพลงเนื่องจากการรับส่งข้อมูลสื่อสารอื่น
แน่นอนว่าสิ่งที่เขาได้สร้างขึ้นมานั้นได้เปลี่ยนโลก และถือว่าเป็นการปฏิวัติวงการข้อมูลข่าวสารบนโลกใบนี้ ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสาร, ทำงาน และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้มากมาย ซึ่งถือเป็นการคิดค้นอันทรงคุณค่าแก่มวลมนุษยชาติอย่างหาที่สุดไม่ได้
นอกจากนั้น WWW ยังช่วยให้คนมีอิสระในการคิดแสดงออกความคิดเห็น และเมื่อคนสามารถเข้าถึงข้อมูลของทั้งโลกได้อย่างไม่จำกัด ก็ทำให้คนมองโลกจากหลายแง่มุม และสามารถเลือกเสพข้อมูลที่ตนเองสนใจได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดตามความต้องการของทิม เบอร์เนิร์ส-ลี ผู้ที่เป็นบุคคลสำคัญของโลกอย่างแท้จริง
เรียบเรียงโดย ประพัฒน์ศร ทีมงาน iEnergyGugu
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Tim_Berners-Lee
https://www.britannica.com/biography/Tim-Berners-Lee
https://www.famousscientists.org/timothy-john-berners-lee/
www.internethalloffame.org/inductees/tim-berners-lee
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!