ISO 50001 เครื่องมือการจัดการสำหรับอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ

มาตรฐานสากลด้านการจัดการพลังงาน (Energy management system: EnMS) หรือ มาตรฐาน ISO 50001 เป็นมาตรฐานการจัดการที่ว่าด้วยเรื่องสมรรถนะด้านพลังงานขององค์กรหรือสถานประกอบการที่ต้องการขอการรับรองเพื่อแสดงถึงความมุ่งเน้นสู่การปรับปรุงสมรรถนะพลังงานขององค์กรอย่างต่อเนื่อง (Continuous improvement of the organization energy performance) โดยองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ได้ประกาศให้สามารถขอการรับรองได้ตั้งแต่ วันที่ 15 มิถุนายน ปี 2554 (ค.ศ.2011) โดยมาตรฐานระบุถึงผลประโยชน์ที่ได้รับจากการประยุกต์ใช้มาตรฐาน ISO 50001 ในองค์กร คือ “การบูรณาการจัดการพลังงาน ISO 50001 เข้ากับกระบวนการทางธุรกิจขององค์กร จะสามารถสร้างกระบวนการปรับปรุงได้อย่างต่อเนื่องของสมรรถนะด้านพลังงาน นำไปสู่การลดต้นทุนด้านพลังงาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น และช่วยขับเคลื่อนกระบวนการในการบรรเทาผลกระทบต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน”

ในปี 2554 มีองค์กรทั่วโลกผ่านการรับรอง ISO 50001:2011 (The first edition) จำนวน 459 Certificates  และเพิ่มขึ้นเป็น 2,236 Certificates ในปี 2555 และจากการสำรวจล่าสุดในปี 2565 มี มีองค์กรทั่วโลกผ่านการรับรอง ISO 50001:2018 (The second edition) จำนวนกว่า 27,631 Certificates  ถ้านับแยกจำนวนตามสถานที่จะมียอดรวม 53,569 แห่ง (Sites)  และจนถึงปัจจุบันนี้คาดว่ามาตรฐาน ISO 50001 ยังมีอัตราการเพิ่มขึ้นขององค์กรที่ต้องการการรับรองระบบการจัดการพลังงานมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยแรงผลักดันที่สำคัญคือ การใช้พลังงานถือเป็นต้นเหตุสำคัญในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม และการขับเคลื่อนกระบวนการของอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำนั้นมีความจำเป็นต้องมีเครื่องมือการจัดการที่มีประสิทธิภาพ และเครื่องมือที่สำคัญอันดับแรกที่ผู้บริหารให้ความสำคัญคือ มาตรฐานด้านการจัดการพลังงาน ISO 50001

Photo Credit: https://enerit.com/iso-50001-energy-efficiency-infographic/iso50001infographic/

“การใช้พลังงาน คือ ต้นเหตุของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก?”

สถาบันทรัพยากรโลก (WRI) และสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (WBCSD) ได้พัฒนาพิธีสารก๊าซเรือนกระจก เป็นชุดแนวทางที่แบ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกเป็น 3 ขอบเขต (Scope) ครอบคลุมทั้งแหล่งที่มา "ทางตรง" และ "ทางอ้อม" การระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในลักษณะนี้จะช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถกำหนดเป้าหมายความพยายามด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

Photo credit: https://www.circularise.com/blogs/scope-1-2-3-emissions-explained

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 (Scope 1): หมายถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเป็นหลัก ไม่ว่าจะในโรงงาน กังหัน หรือยานพาหนะ รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า "fugitive emissions"

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 2 (Scope 2): หมายถึงปลดปล่อยก๊าซเรือนกกระจกโดยอ้อมที่เกิดจากการใช้พลังงานที่ซื้อมา โดยบริษัทส่วนใหญ่จำเป็นต้องซื้อพลังงานเพื่อดำเนินการในโรงงานของตน และขอบเขตที่ 2 จะวัดการปล่อยก๊าซ "ทางอ้อม" ที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้า ไอน้ำ เครื่องทำความร้อน และความเย็นที่ซื้อมา

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 3 (Scope 3): หมายถึงปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยอ้อมที่เกี่ยวกับห่วงโซ่คุณค่า ขอบเขตที่ 3 มักจะซับซ้อนกว่าในการวัด เนื่องจากเกี่ยวข้องกับแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซที่กว้างกว่ามาก แต่โดยทั่วไป สิ่งเหล่านี้สามารถจัดกลุ่มภายใต้การปล่อยของ "บุคคลที่สาม" ส่วนใหญ่ของขอบเขต 3 เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของบริษัทอื่นที่บริษัทที่รายงานซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งรวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต้นน้ำและปลายน้ำจากกิจกรรมของบริษัทที่รายงาน เช่น การจัดหาวัตถุดิบ โลจิสติกส์ และการจัดจำหน่าย แต่ยังรวมถึงการเดินทางขององค์กร การเดินทางของพนักงาน ทรัพย์สินที่เช่า เช่น สถานที่จัดเก็บ และแม้แต่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการลงทุนใดๆ ที่บริษัทถือครอง ความสามารถในการวัดการปล่อยก๊าซขอบเขตที่ 3 ช่วยให้องค์กรสามารถระบุจุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่คุณค่าได้ ซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถดำเนินขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการทำงานร่วมกับพันธมิตรในห่วงโซ่คุณค่าเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ทีมจัดซื้อจัดจ้างสามารถระบุซัพพลายเออร์รายใดที่มีความก้าวหน้าในด้านความยั่งยืนที่น่าพึงพอใจ และซัพพลายเออร์รายใดยังมีงานที่ต้องทำมากกว่านี้ การระบุขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ 3 ที่ชัดเจนยังสามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขั้นปลายน้ำจากกิจกรรมของบริษัท โดยการสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงานและทรัพยากรมากขึ้น

เราจะเห็นได้ว่าการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพจะนำไปสู่เป้าหมายของการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ Scope 2 โดยตรง ส่วน Scope 3 จะสร้างแรกกดดันต่อการเปลี่ยนแปลงการผลิตของทุกบริษัทภายใต้ห่วงโซ่อุปทานรวมถึงกิจกรรมการเดินทางขององค์กรและการเดินทางของพนักงานด้วย

CBAM เริ่มต้นขับเคลื่อนการปรับตัวสู่การผลิตสินค้าคาร์บอนต่ำ

Photo Credit: https://carib-export.com/events/eu-carbon-border-adjustment-mechanism/

กลไกการปรับขอบเขตคาร์บอนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism :CBAM) เป็นเครื่องมือของสหภาพยุโรปในการกำหนดราคาที่ยุติธรรมสำหรับคาร์บอนที่ปล่อยออกมาในระหว่างการผลิตสินค้าที่มีคาร์บอนเข้มข้นที่เข้าสู่สหภาพยุโรป และเพื่อส่งเสริมการผลิตทางอุตสาหกรรมที่สะอาดขึ้นในประเทศนอกสหภาพยุโรป ด้วยการยืนยันว่ามีการจ่ายราคาสำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ฝังอยู่ในการผลิตสินค้าบางอย่างที่นำเข้าสู่สหภาพยุโรป CBAM จะตรวจสอบให้แน่ใจว่าราคาคาร์บอนของการนำเข้าเทียบเท่ากับราคาคาร์บอนของการผลิตในประเทศ และวัตถุประสงค์ด้านสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป จะไม่ถูกทำลาย CBAM ได้รับการออกแบบให้เข้ากันได้กับกฎของ WTO

CBAM จะใช้บังคับใช้ขั้นสุดท้ายตั้งแต่ปี 2569 ซึ่งในขณะปัจจุบันเราอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน (ระหว่างปี 2566 ถึง 2568) ดังนั้น CBAM จึงเป็นแรงผลักดันอีกด้านหนึ่งที่ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องการให้แน่ใจว่าการใช้พลังงานมีประสิทธิภาพ โดยเครื่องมือที่ผู้ซื้อสินค้าในยุโรปเชื่อมั่นในประสิทธิภาพด้านการจัดการพลังงาน คือ ISO 50001

แนวคิดหลักกระบวนการ PDCA ของระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001

กระบวนการจัดการพลังงาน PDCA สำหรับ ISO 50001:2018 ได้แสดงถึงขอบข่ายของระบบการจัดการพลังงาน (Scope of the EnMS) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นภายในองค์กร โดยต้องมีการพิจารณาและทำความเข้าใจบริบทขององค์กร (Context of the Organization) โดยบริบทขององค์กรในที่นี้หมายถึงสภาพแวดล้อมขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะพลังงาน และการจัดการพลังงาน ซึ่งจะพิจารณาถึงปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน (External and Internal Issues) และความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Need and Expectations of the Interested Parties) ที่ส่งผลต่อการผลลัพธ์ที่องค์กรคาดหมายไว้จากระบบการจัดการพลังงาน (Intended Outcomes of the Energy Management System) ภายในขอบข่ายและขอบเขตที่กำหนดไว้ โดยการดำเนินการผ่านกระบวนการ PDCA หรือ Plan (Planning) – Do (Support and Operation) – Check (Performance Evaluation) – Act (Improvement) โดยมี Leadership คือ ผู้บริหารสูงสุด หรือ Top Management เป็นแกนกลางหรือหัวใจหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการจัดการพลังงานสู่ผลลัพธ์ที่องค์กรคาดหมายไว้ให้ประสบผลสำเร็จ

เป้าหมายสำคัญของการจัดการพลังงานคือ ประสิทธิผลของการปรับปรุงสมรรถนะพลังงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ISO 50001:2018 ได้ให้ความสำคัญต่อการวัดผลของการเปลี่ยนแปลงของสมรรถนะพลังงงานอย่างมาก โดยกำหนดให้จัดทำตัวชี้วัดสมรรถนะพลังงาน (Energy Performance Indicator; EnPI) และข้อมูลฐานด้านพลังงาน (Energy Baseline; EnB) ของปีฐานซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน โดยต้องนำค่า EnPI ที่ได้รับการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นมาตรฐาน (Normalization) เพื่อลดความเบี่ยงเบนของตัวแปรที่เกี่ยวข้อง (Relevant Variables) ซึ่งแสดงถึงค่าสมรรถนะพลังงานในปัจจุบันมาเปรียบเทียบกับ EnB ในปีฐาน เพื่อแสดงถึงผลของการปรับปรุงสมรรถนะพลังงานที่เกิดขึ้น ซึ่งกระบวนดังกล่าวแสดงรายละเอียดไว้ใน มาตรฐานISO 50006: 2014, ISO 50006:2023 Energy management systems - Measuring energy performance using energy baselines (EnB) and energy performance indicators (EnPI) - General principles and guidance และ ISO 50015: 2014 Energy management systems - Measurement and Verification of Organizational Energy Performance -General Principles and Guidance

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าด้วยโครงสร้างของกระบวนการ PDCA ตามมาตรฐาน ISO 50001 และวิธีการวัดผลการเปลี่ยนแปลงด้านสมรรถนะพลังงานที่เกิดขึ้นจากกระบวนการจัดการพลังงานนั้น เป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าเป็นมาตรฐานที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากได้ตอบรับกับความต้องการในการผลิตสินค้าและบริการสำหรับอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้  และมาตรฐานนี้ยังใช้เป็นฐานข้อมูลที่สำคัญสำหรับองค์กรที่จะดำเนินการเพื่อตรวจยืนยันหรือรับรองการผลิตสินค้าและการจัดการคาร์บอนต่ำ CFP (Carbon Footprint of Product) และ CFO (Carbon Footprint of Organization)

แปลและเรียบเรียงโดย ดร.วิชาญ นาคทอง ทีมงาน iEnergy Guru

Reference

  1. https://www.cgbusinessconsulting.com/article-3/
  2. https://www.iso.org/committee/54998.html?t=KomURwikWDLiuB1P1c7SjLMLEAgXOA7emZHKGWyn8f3KQUTU3m287NxnpA3DIuxm&view=documents#section-isodocuments-top
  3. https://www.circularise.com/blogs/scope-1-2-3-emissions-explained
  4. https://ienergyguru.com/category/standard-management/iso-50001/
  5. ISO 50001: 2018 Second edition 2018-08 Energy management systems - Requirements with guidance for use
  6. ISO 50004:2020 Energy management systems - Guidance for the implementation, maintenance and improvement of an Energy management system
  7. ISO 50006: 2014, ISO 50006:2023 Energy management systems - Measuring energy performance using energy baselines (EnB) and energy performance indicators (EnPI) - General principles and guidance
  8. ISO 50015: 2014 Energy management systems - Measurement and Verification of Organizational Energy Performance -General Principles and Guidance

 

1 Review

5

Write a Review

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *