ขั้นตอนการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานตามกฎหมาย
ขั้นตอนการตรวจสอบและรับรอง
การจัดการพลังงานตามกฎหมาย
การตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานตามกฎหมายสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่
1) การตรวจสอบรายงานการจัดการพลังงาน
2) การตรวจสอบและรับรอง ณ โรงงานควบคุมและอาคารควบคุม
ทั้งนี้ผู้ตรวจสอบและรับรองสามารถใช้แบบฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานตามตัวอย่างที่กำหนดไว้
ขั้นตอนที่ 1 การตรวจสอบรายงานการจัดการพลังงาน
การตรวจสอบรายงานฯ ในขั้นตอนนี้ เกิดขึ้นเมื่อโรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุมได้จัดส่งรายงานมายังผู้ตรวจสอบและรับรอง เพื่อให้ตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นการพิจารณาความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสารและหลักฐานที่ปรากฏตามข้อกำหนดของวิธีการจัดการพลังงานในเอกสาร โดยประเมินว่ารายงานดังกล่าว มีความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสารตามข้อกำหนดของวิธีการจัดการพลังงานหรือไม่ ข้อกำหนดดังกล่าว ได้แก่
1) การตั้งคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน
2) การประเมินสถานภาพการจัดการพลังงานเบื้องต้น (กรณีที่เป็นการนำวิธีการจัดการพลังงานมาใช้เป็นครั้งแรก)
3) การกำหนดนโยบายอนุรักษ์พลังงาน
4) การประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงาน
5) การกำหนดเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนการฝึกอบรมและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
6) การดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน การตรวจสอบและวิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน
7) การตรวจติดตามประเมินการจัดการพลังงาน
8) การทบทวน วิเคราะห์ และแก้ไขข้อบกพร่องของการจัดการพลังงาน
ในกรณีที่พบว่าการปฏิบัติไม่เป็นไปตามข้อกำหนดระบบการจัดการพลังงาน หรือไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าการจัดการพลังงานไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดของวิธีการจัดการพลังงาน ซึ่งต้องพิจารณาว่าเป็นความไม่สอดคล้องในระดับ “รุนแรง (Major)” หรือระดับ “ไม่รุนแรง (Minor)” ตามที่กำหนดในข้อ 24 (3) ของประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ.2552
ทั้งนี้ ผลการพิจารณาในขั้นตอนนี้ยัง “ไม่ถือเป็นที่สุด” โดยให้นำไปประกอบการดำเนินงานตรวจสอบ ณ โรงงานควบคุมและอาคารควบคุมต่อไป
ขั้นที่ 2 การตรวจสอบและรับรอง ณ โรงงานควบคุมและ อาคารควบคุม
การตรวจสอบในขั้นตอนนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบระบบการจัดการพลังงานตามข้อกำหนด ผู้ตรวจสอบจะต้องใช้วิธีการสังเกต สัมภาษณ์ ขอดูเอกสาร บันทึกและหลักฐานดำเนินงานตามข้อกำหนดของวิธีการจัดการพลังงาน
การเตรียมการเพื่อลงพื้นที่ในการตรวจสอบการจัดการพลังงาน ให้คณะผู้ตรวจสอบและรับรองประสานเจ้าของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมเพื่อกำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบ โดยกำเนินการดังต่อไปนี้
- วางแผนการเข้าตรวจสอบ
- นัดหมายการตรวจสอบ และแจ้งให้โรงงานควบคุมและอาคารควบคุมดำเนินการจัดเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจสอบ
- ดำเนินการตรวจสอบ
- ประชุมเปิด
- ดำเนินการตรวจเอกสาร หลักฐาน ในพื้นที่ตามแผนและกำหนดการ โดยมีวิธีการตรวจสอบดังนี้
- สุ่มดูเอกสาร ข้อมูล บันทึกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
- เฝ้าสังเกตกิจกรรมการปฏิบัติต่างๆ อุปกรณ์ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- สอบถามหรือสัมภาษณ์บุคลากรที่เกี่ยวข้อง
- บันทึกสิ่งที่พบเห็นตามข้อกำหนด
- การสรุปผลการตรวจสอบ
- พิจารณาสิ่งที่พบเห็นจากการตรวจประเมินเทียบกับข้อกำหนด ว่าสิ่งที่พบเห็นนั้นมีความสอดคล้องกับข้อกำหนด หรือมีข้อคิดเห็นในการปรับปรุงหรือไม่ โดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณา ตามนิยามที่กำหนดในบทที่ ๑ และจัดทำรายงานสรุปผลการตรวจสอบ
- ประชุมปิด
แนวปฏิบัติในการตรวจสอบและรับรอง ณ โรงงานควบคุมและอาคารควบคุม
1. การวางแผนการเข้าตรวจสอบ
ผู้ตรวจสอบและรับรอง จะต้องวางแผนการตรวจสอบการจัดการพลังงาน โดยแผนการตรวจสอบต้องชัดเจนในรายละเอียด ได้แก่ ข้อมูลของโรงงานและอาคารควบคุม รายชื่อผู้ตรวจสอบ วัน เวลาที่เข้าตรวจสอบทั้งนี้ในระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบขึ้นอยู่กับขนาดขององค์กร จำนวนพนักงาน และความซับซ้อนของกระบวนการทำงานของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม สำหรับการแต่งตั้งทีมหรือคณะผู้ตรวจสอบและ
รับรอง ในโรงงานควบคุมและอาคารแต่ละแห่ง ต้องประกอบด้วยผู้ชำนาญการอย่างน้อยหนึ่งคน และผู้ช่วยผู้ชำนาญการอย่างน้อยสองคน
2. การประสานงานเพื่อเข้าตรวจสอบในโรงานควบคุมและอาคารควบคุม
ก่อนดำเนินการตรวจสอบตามแผนที่กำหนดไว้ ผู้ตรวจสอบต้องดำเนินการประสานงานกับผู้รับผิดชอบของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ให้ชัดเจนในรายละเอียด ได้แก่ วัน เวลาที่เข้าตรวจสอบรายชื่อและจำนวนผู้ตรวจสอบ รวมถึงรายละเอียดสิ่งที่ต้องหารให้โรงงานควบคุมและอาคารควบคุมดำเนินการจัดเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจสอบ เป็นต้น
3. การเตรียมตัวเพื่อการตรวจสอบในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม
ผู้ตรวจสอบและรับรอง ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อการตรวจสอบ อาทิ การเตรียมแบบฟอร์มที่เกี่ยวข้องต่างๆ รายการคำถามที่ใช้ในการตรวจสอบ หลักการที่นำไปใช้ เช่น PDCA (Plan-Do-Check-Act) เกณฑ์การพิจารณาความสอดคล้องกับข้อกำหนดของวิธีการจัดการพลังงาน ขอบเขตการตรวจสอบ ทำความเข้าใจเกณฑ์การตรวจสอบ ฝึกซ้อมการตรวจสอบ เป็นต้น
4. การดำเนินการตรวจสอบในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม
ภายหลังที่ได้เตรียมตัวเพื่อการตรวจสอบแล้ว ผู้ตรวจสอบและรับรองต้องดำเนินการตรวจสอบ ณ โรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ตามแผนที่กำหนดไว้ การใช้คำถามในการตรวจสอบต้องมีความชัดเจนการพิจารณาตรวจสอบอาจมองไปในสองด้าน คือ ทางด้านเทคนิค แบะด้านการจัดการพลังงาน ผลที่ได้จากการตรวจสอบต้องทำการอธิบายถึงเหตุผลอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่ดำเนินการอยู่นั้นเป็นอย่างไร หรือสภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร พร้อมระบุผลการตรวจสอบตามหลักฐานที่พบ ทั้งนี้ข้อมูลหรือหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบอาจได้จากแหล่งข้อมูล ดังนี้
1) ข้อมูลจากเอกสาร ข้อมูลจากเอกสาร เช่น ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านการจัดการพลังงานต่าง ๆ ในอดีต ผลการตรวจสอบด้านต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด และบันทึกข้อร้องเรียนด้านการจัดการพลังงานเบื้องต้น เป็นต้น
2) ข้อมูลการสัมภาษณ์บุคลากร เป็นวิธีการสื่อสารสองทาง จึงได้ข้อมูลมาก รวดเร็ว อาจได้รัยคำอธิบายที่เข้าใจได้ชัดเจนอีกด้วยข้อเสีย ข้อมูลที่ได้รับอาจไม่ตรงความจริง ผู้ตรวจสอบต้องรวบรวมคำถาม การตั้งคำถามต้องเป็นสิ่งที่ผู้นั้นรับผิดชอบโดยตรง
3) ข้อมูลการสำรวจ ณ สถานที่ปฏิบัติงาน วิธีนี้ผู้ตรวจสอบและรับรอง หาข้อมูลได้ด้วยตัวเอง อาจไม่ต้องสอบถาม
จะเห็นว่า การเก็บข้อมูลและหลักฐานสามารถดำเนินงานได้หลายวิธี หรืออาจใช้วิธีการต่างๆ ร่วมกันให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุด ผู้ที่ทำการตรวจสอบต้องจัดลำดับการเก็บข้อมูล และตรวจสอบตามข้อมูลที่แท้จริง เพื่อให้ได้ผลการตรวจสอบเป็นไปตามแนวทางที่ต้องการและถูกต้องมากที่สุด
5. การสรุปผลการตรวจสอบ
การสรุปผลการตรวจสอบต้องดำเนินการให้กระชับ สั้นและชัดเจน เพื่อให้ง่ายกับการนำไปใช้เพื่อการปรับปรุงแก้ หรือใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการพลังงานต่อไป
บทสรุป
การปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบและรับรองประกอบด้วย การวางแผนการเข้าตรวจสอบ การประสานงานเพื่อเข้าตรวจสอบ การเตรียมเอกสารเพื่อการตรวจสอบ การเตรียมตัวเพื่อการตรวจสอบสถานที่และดำเนินการตรวจสอบในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม
ผลการตรวจประเมินได้จากการตรวจสอบ วิเคราะห์ และนำไปใช้เพื่อการปรับปรุงว่าขั้นตอนใดใน 8 ขั้นตอน ว่ายังไม่บรรลุเป้าหมายที่ระบุไว้ ตามข้อกำหนดการจัดการพลังงาน รวมถึงการเชื่อมโยงสู่กิจกรรมย่อยที่มักเป็นสาเหตุให้ภาพรวมของแต่ละขั้นตอนหรือทั้งระบบไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นการวิเคราะห์แปลผลที่ได้เป็นปัจจัยเหตุผลที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา การปรับปรุงได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
การรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน
การรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานเป็นการสรุปผล ที่ทีมผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานต้องดำเนินการเพื่อให้ทรายถึงความสำเร็จในแต่ละกิจกรรมและขั้นตอนว่าโรงงานควบคุมสามารถดำเนินการได้ครบถ้วนตามข้อกำหนดหรือไม่ มีประเด็นที่ต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลและเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของโรงงานและอาคารควบคุมและทีมผู้ตรวจสอบการจัดการพลังงานที่ต้องถือปฏิบัติ นำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาระบบการจัดการพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง
1. การสรุปผลการตรวจสอบ
การสรุปผลการตรวจสอบการจัดการพลังงาน ต้องแสดงผลการตรวจสอบว่า ผ่านหรือไม่ผ่าน พร้อมข้อคิดเห็นการปรับปรุงวิธีการดำเนินการจัดการพลังงานตามข้อกำหนดของกฎหมาย ดังหัวข้อต่อไปนี้
1) คณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน
2) การประเมินสถานภาพการจดการพลังงานเบื้องต้น
3) นโยบายอนุรักษ์พลังงาน
4) การประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงาน
5) การกำหนดเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนการฝึกอบรมและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน
6) การดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน การตรวจสอบและวิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและแผนการอนุรักษ์พลังงาน และแผนการฝึกอบรมและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน
7) การตรวจติดตามและประเมินการจัดการพลังงาน
8) การทบทวน วิเคราะห์และแก้ไขข้อบกพร่องของการจัดการพลังงาน
ในกรณีที่เจ้าของโรงงานควบคุมหรือเจ้าของอาคารควบคุมดำเนินการจัดการพลังงานไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดอย่างร้ายแรง (Major) ให้ผู้ตรวจสอบและรับรองสรุปผลการพิจารณาว่าไม่ผ่านการตรวจสอบ
ในกรณีที่เจ้าของโรงงานควบคุมและเจ้าของอาคารควบคุมดำเนินการจัดการพลังงานไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดอย่างไม่ร้ายแรง (Minor) ให้ผู้ตรวจสอบและรับรองสรุปผลการพิจารณาว่าผ่านการตรวจสอบแต่ต้องแก้ไขในปีถัดไป
2. การจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการจัดการพลังงาน
ผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ต้องจัดทำรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม โดยนำรายการตรวจสอบการจัดการพลังงาน มาจัดทำเป็นสรุปผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ซึ่งอย่างร้อยต้องมีรายละเอียดประกอบด้วย ชื่อรายการตรวจประเมิน ผลการตรวจประเมิน และความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ
3. บทสรุป
การรายงานผลการตรวจสอบการจัดการพลังงาน ประกอบด้วย สรุปผลภาพรวม ตารางสรุป การตรวจสอบ การวิเคราะห์การตรวจสอบและแปลผล สรุปแยกผลตามหัวข้อ และสรุปรายละเอียดของการตรวจสอบแต่ละข้อ มีความสำคัญยิ่งกับการนำไปใช้เพื่อจัดลำดับความสำคัญของโอกาสในการปรับปรุงในแต่ละกิจกรม แต่ละขั้นตอนในระบบมาตรฐานการจัดการพลังงานดังกล่าวทั้งนี้ผู้ตรวจสอบและรับรองสามารถใช้แบบฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานตามตัวอย่าง แบบฟอร์มที่ พพ. กำหนดไว้ได้
ที่มา : คู่มือการตรวจสอบรับรองการจัดการพลังงาน สำหรับผู้ตรวจสอบพลังงาน สำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!