Energy Conservation of Lift : ระบบลิฟต์และการอนุรักษ์พลังงาน

Energy Conservation of Lift :

ระบบลิฟต์และการอนุรักษ์พลังงาน

1. หลักการทำงานและการใช้พลังงานของลิฟต์

1.1 หลักการทำงานของลิฟต์

การเคลื่อนที่ของลิฟต์ใช้หลักการของรอกกว้านและน้ำหนักถ่วงเพื่อลดการใช้พลังงานในการขับเคลื่อนลิฟต์ โดยปลายเชือกรอกกว้านด้านหนึ่งของลิฟต์จะยึดติดกับตัวลิฟต์ ในขณะที่ปลายเชือกรอกกว้านอีกด้านหนึ่งจะผูกติดกับน้ำหนักถ่วง โดยปลายเชือกรอกกว้านหรือสลิงจะมีความยาวเท่ากับความสูงของตึกโดยประมาณ ดังนั้นเมื่อลิฟต์โดยสารจอดที่ชั้นล่างสุดของอาคาร น้ำหนักถ่วงจะอยู่ชั้นบนสุด เมื่อลิฟต์โดยสารเคลื่อนที่ขึ้น น้ำหนักถ่วงจะมีหน้าที่ขับลิฟต์ให้เคลื่อนที่ควบคู่ไปกับเบรคเพื่อชะลอความเร็ว โดยมอเตอร์จะทำหน้าที่ควบคุมความเร็วของลิฟต์ให้เป็นไปตามพิกัด ในทำนองเดียวกันหากลิฟต์จอดชั้นบนสุด น้ำหนักถ่วงจะอยู่ชั้นล่างสุด ลิฟต์จะเคลื่อนที่ลงโดยอาศัยน้ำหนักของตัวลิฟต์ จากหลักการดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการออกแบบลิฟต์ให้เกิดความได้เปรียบเชิงกลจะทำให้ลิฟต์ใช้พลังงานน้อยมากเมื่อเทียบกับเครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานในอาคาร

image001

รูปที่ 1-1 แสดงหลักการออกแบบลิฟต์โดยใช้หลักการรอกกว้าน
ที่มา : ข้อมูลด้านเทคนิค ของ OTIS

 

1.2 อุปกรณ์หลักของลิฟต์


1.2.1 ห้องเครื่องลิฟต์

ห้องเครื่องลิฟต์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ลิฟต์ที่มีห้องเครื่อง และลิฟต์ที่ไม่มีห้องเครื่องลิฟต์ สำหรับลิฟต์ที่มีห้องเครื่องลิฟต์ ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ลิฟต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและลิฟต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฮดรอลิกโดยลิฟต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮดรอลิกจะใช้กำลังไฟฟ้าที่สูงกว่ามาก ลิฟต์ที่มีห้องเครื่องและขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเป็นลิฟต์ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากสะดวกและง่ายต่อการบำรุงรักษา สำหรับลิฟต์ที่ไม่มีห้องเครื่องนิยมใช้กับอาคารที่มีความสูงไม่มากเนื่องจากพิกัดความเร็วน้ำหนักบรรทุกและจำนวนชั้นจอดยังเป็นข้อจำกัด

 

Energy Conservation of Lift ระบบลิฟต์และการอนุรักษ์พลังงาน

ที่มา :Cr.http://www.asianelevators.com/images/MACHINROOMLESS.png
รูปตัวอย่างแสดงลิฟต์ที่มีห้องเครื่อง

Energy Conservation of Lift ระบบลิฟต์และการอนุรักษ์พลังงานที่มา : http://3.bp.blogspot.com/
รูปตัวอย่างแสดงลิฟต์ที่ไม่มีห้องเครื่อง

รูปที่ 1-2 แสดงรูปตัวอย่างลิฟต์ที่มีห้องเครื่องและไม่มีห้องเครื่อง

1.2.2 เครื่องลิฟต์ (driving machine )

เครื่องลิฟต์ หมายถึง ตัวต้นกำลังที่ให้พลังงานในการขับเคลื่อนตัวลิฟต์แบ่งเป็น

1.2.2.1 เครื่องลิฟต์แรงฉุดจากความฝืด (traction machine ) หมายถึง เครื่องลิฟต์ที่ขับเคลื่อนตัวลิฟต์ โดยอาศัยความฝืดระหว่างเชือกลวดแขวนกับรอกขับเคลื่อน ซึ่งมีมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นต้นกำลังในการหมุนรอกขับเคลื่อน โดยมีทั้งแบบส่งกำลังผ่านเฟืองและแบบขับเคลื่อนโดยตรง

ก. เครื่องลิฟต์ขับเคลื่อนด้วยเฟือง (geared-drive machine, geared machine) หมายถึง เครื่องลิฟต์ที่ใช้กำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าผ่านเฟืองไปหมุนรอกขับเคลื่อน ส่วนมากมักใช้เฉพาะกับลิฟต์ที่มีความเร็วต่ำที่ไม่สามารถขับโดยตรงจากมอเตอร์ได้

ข. เครื่องลิฟต์ขับเคลื่อนโดยตรง (direct drive machine, gearless machine) หมายถึง เครื่องลิฟต์ที่ใช้กำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าที่ต่อโดยตรงกับรอกขับเคลื่อน ส่วนมากเป็นลิฟต์ที่มีความเร็วสูง

ตารางที่ 1 การเปรียบเทียบการใช้งานเครื่องลิฟต์แรงฉุดจากความฝืดขับเคลื่อนด้วยเฟือง(geared machine) และขับเคลื่อนโดยตรง (gearless machine)

ตาราง

ที่มา : Stein/Reynolds/McGuinness, Mechanical and Electrical Equipment for Buildings 7th Edition.

 

เครื่องลิฟต์ขับเคลื่อนด้วยเฟือง (geared-drive machine) เครื่องลิฟต์ขับเคลื่อนด้วยเฟือง (geared-drive machine)

รูปที่ 1-3 เครื่องลิฟต์ขับเคลื่อนด้วยเฟือง (geared-drive machine)
ที่มา : ข้อมูลด้านเทคนิค ของ OTIS

เครื่องลิฟต์ขับเคลื่อนโดยตรง (direct drive machine, gearless machine) เครื่องลิฟต์ขับเคลื่อนโดยตรง (direct drive machine, gearless machine)

รูปที่ 1-4 เครื่องลิฟต์ขับเคลื่อนโดยตรง (direct drive machine, gearless machine)
ที่มา : ข้อมูลด้านเทคนิค ของ OTIS

1.2.2.1.1 เครื่องลิฟต์รอกกว้าน (winding drum machine) หมายถึง เครื่องลิฟต์ที่ใช้กำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าผ่านไปหมุนรอกกว้านเชือกลวดแขวน

1.2.2.1.2 เครื่องลิฟต์ไฮดรอลิค (hydraulic power unit ) หมายถึง เครื่องลิฟต์ที่ใช้กำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าขับเครื่องสูบน้ำมันเข้าระบบไฮดรอลิค เพื่อขับเคลื่อนลิฟต์ให้เคลื่อนขึ้น และลิฟต์เคลื่อนลงโดยแรงโน้มถ่วง เมื่อปล่อยน้ำมันไหลกลับสู่ถังเก็บน้ำมัน

1.2.3 ระบบควบคุมการขับเคลื่อน(drive control)

ระบบควบคุมการขับเคลื่อน หมายถึง ระบบควบคุมการเคลื่อนที่ การหยุดทิศทางการเคลื่อนที่ ความเร่ง อัตราเร็ว และความหน่วงของส่วนที่เคลื่อนที่ มีดังนี้

1.2.3.1 ระบบควบคุมการขับเคลื่อนโดยสนามแม่เหล็กของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า(generator field control) หมายถึง ระบบควบคุมซึ่งปรับแรงดันไฟฟ้า ที่จ่ายให้กับมอเตอร์ที่ใช้ขับเคลื่อนลิฟต์โดยการเปลี่ยนแปลงความเข้มและทิศทางของสนามแม่เหล็กของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ระบบนี้ใช้กับลิฟต์ที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของตัวเองเป็นระบบควบคุมที่มีการสูญเสียพลังงานสูงมาก

1.2.3.2 ระบบควบคุมโดยรีโอสแตต (rheostat control) หมายถึง ระบบควบคุมซึ่งเปลี่ยนแปรค่าความต้านทานและ/หรือค่ารีแอกแตนซ์ในอาร์มาเจอร์ และ/หรือในวงจรสนามแม่เหล็กของมอเตอร์เครื่องลิฟต์ ใช้กับลิฟต์ที่มีความเร็วต่ำและเป็นอาคารที่ไม่สูงมาก

1.2.3.3 ระบบควบคุมโดยใช้ไฟฟ้ากระแสสลับอัตราความเร็วเดียว (single speed alternating current control ) หมายถึง ระบบควบคุมที่ใช้มอเตอร์แบบเหนี่ยวนำ (induction motor) อัตราความเร็วค่าเดียวขับเคลื่อนตัวลิฟต์

1.2.3.4 ระบบควบคุมโดยใช้ไฟฟ้ากระแสสลับสองอัตราความเร็ว (two speed alternating current control) หมายถึง ระบบควบคุมที่ใช้มอเตอร์แบบเหนี่ยวนำสองอัตราความเร็วขับเคลื่อนตัวลิฟต์ซึ่งทำให้หมุนด้วยอัตราความเร็วซิงโครนัส 2 ค่า โดยการต่อขดลวดของมอเตอร์ให้มีจำนวนขั้วต่างกัน

เครื่องลิฟต์และชุดควบคุบประเภทต่าง ๆ

รูปที่ 1-5 แสดงเครื่องลิฟต์และชุดควบคุบประเภทต่าง ๆ
ที่มา : Stein /Reynolds/McGuinness, Mechanical and Electrical Equipment for Buildings 7th Edition.

1.2.3.5 ระบบควบคุมโดยการแปรเปลี่ยนแรงเคลื่อนไฟฟ้า (variable voltage control) หมายถึง ระบบควบคุมที่แปรเปลี่ยนแรง เคลื่อนไฟฟ้าที่จ่ายให้มอเตอร์ขับเคลื่อนตัวลิฟต์ โดยมากใช้อุปกรณ์ประเภท SCR หรือ Thyristor ใช้กับลิฟต์ที่มีความเร็วปานกลาง-สูง

1.2.3.6 ระบบควบคุมโดยแปรเปลี่ยนแรงเคลื่อนไฟฟ้าและความถี่ไฟฟ้า (variable voltage , variable frequency control :VVVF) หมายถึง ระบบควบคุมที่แปรเปลี่ยนแรงเคลื่อนไฟฟ้าและความถี่ไฟฟ้าที่จ่ายให้มอเตอร์ขับเคลื่อนตัวลิฟต์ เป็นชุดควบคุมที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูง โดยใช้งานกับมอเตอร์ขับเคลื่อนลิฟต์ชนิดไฟฟ้ากระแสสลับ

1.2.4     รางบังคับลิฟต์และปล่องลิฟต์

รางบังคับลิฟต์และปล่องลิฟต์ ทำหน้าที่นำทางให้ห้องโดยสารเคลื่อนที่ในแนวดิ่ง การติดตั้งรางลิฟต์ภายในปล่องลิฟต์จะต้องมีระยะที่ห้องโดยสารกับรางลิฟต์อย่างเหมาะสม โดยห้องลิฟต์กับรางลิฟต์ต้องไม่ห่างจนเกินไปและไม่ชิดจนเกินไปเพื่อไม่ให้เกิดการแกว่งขณะเคลื่อนที่ นอกจากนี้ภายในปล่องลิฟต์จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ให้ความสว่างและช่องเปิดที่ปลอดภัยเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าภายในปล่องลิฟต์ได้

1.2.5     อุปกรณ์ควบคุมการทำงานของลิฟต์ (systems of elevator operation and supervision)

ลิฟต์จะถูกควบคุมการใช้งานผ่านเครื่องควบคุมการใช้งาน โดยพลังงานไฟฟ้าที่ลิฟต์ใช้จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักบรรทุกและความเร็วในขณะนั้น มอเตอร์ไฟฟ้าที่ขับลิฟต์จะรับสัญญาณเพื่อควบคุมให้ความเร็วลิฟต์เป็นไปตามน้ำหนักบรรทุกจริงรวมถึงความเร็ว นอกจากนี้อุปกรณ์ควบคุมการทำงานของลิฟต์ยังจะต้องจัดการทำงานของลิฟต์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งานลิฟต์ เช่น ให้ลิฟต์ที่อยู่ใกล้ที่สุดมาให้บริการ การลดเวลารอคอย การประหยัดพลังงาน ซึ่งในปัจจุบันเป็นระบบคอมพิวเตอร์ (computerized system control) เป็นส่วนใหญ่

  • Collective Control เป็นระบบการควบคุมที่มีปุ่มกดเรียกลิฟต์เพียงจุดเดียวในแต่ละชั้น โดยลิฟต์จะจอดทุกชั้นที่มีการเรียก ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลาในการรอคอยนานมาก โดยมากมีใช้ในอาคารที่พักอาศัย และลิฟต์ขนของในโรงงานอุตสาหกรรม
  • Selective Collective Control เป็นระบบการควบคุมทีมีปุ่มกดเรียกลิฟต์ขึ้นและลงในแต่ละชั้น เมื่อลิฟต์อยู่ในช่วงขาขึ้นลิฟต์จะเลือกจอดเฉพาะชั้นที่ผู้โดยสารต้องการไปและจอดรับผู้โดยสารที่เรียกขึ้น (up) เท่านั้น เช่นเดียวกันเมื่อลิฟต์อยู่ในช่วงขาลงลิฟต์จะเลือกจอดเฉพาะชั้นที่ผู้โดยสารต้องการไปและจอดรับผู้โดยสารที่เรียกลง(down) เท่านั้น ระบบการควบคุมแบบนี้มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ในอาคารสำนักงาน อาคารธุรกิจประเภทต่าง ๆ
  • Computerized System Control  เนื่องจากระบบการควบคุมแบบเดิม ๆ ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น ระยะเวลาในการรอคอย และการจัดการการใช้งานลิฟต์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งผู้ผลิตลิฟต์ก็มีการพัฒนาหลายด้านเพื่อเพิ่มประสิทธิต่าง ๆ โดยได้นำระบบการประมวลผล และเทคโนโลยี่ด้านคอมพิวเตอร์สมัยใหม่มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และการบริหารลิฟต์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยกตัวอย่างเช่น ระบบที่มีการ เรียกลิฟต์โดยที่โถงลิฟต์จะไม่มีปุมกดขึ้นและลง แต่จะมีอุปกรณ์เรียกลิฟต์ที่มีหน้าจอแบบสัมผัส (touchscreen keypad) ผู้โดยสารจะต้องป้อนข้อมูลชั้นที่ผู้โดยสารต้องการไปและระบบควบคุมของลิฟต์จะประมวลผลและแจ้งผู้โดยสารทันทีว่าจะต้องไปรอขึ้นลิฟต์ตัวใด ระบบควบคุมแบบนี้เหมาะที่จะใช้ในอาคารขนาดใหญ่ และมีผู้โดยสารจำนวนมาก เพราะระบบควบคุมดังกล่าวสามารถลดระยะเวลาการรอคอย ระยะเวลาการเดินทางของลิฟต์แต่ละตัว(round-trip time)เนื่องจากจะไม่มีกรณีที่ลิฟต์ต้องหยุดเกือบทุกชั้นเพื่อรับและส่งผู้โดยสาร นอกจากนั้นยังลดความแออัดของผู้ใช้ลิฟต์เนื่องจากสามารถจัดกลุ่มของผู้โดยสารที่ลงชั้นเดียวกันให้ใช้ลิฟต์ตัวเดียวกัน และสามารถบริหารให้ลิฟต์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ลิฟท์

รูปที่ 1-6 อุปกรณ์เรียกลิฟต์ที่มีหน้าจอแบบสัมผัส (touchscreen keypad)
ที่มา : ข้อมูลด้านเทคนิค ของ OTIS Compass

1.3 การใช้พลังงานของลิฟต์


ลิฟต์มีการใช้พลังงานส่วนใหญ่ในส่วนของเครื่องลิฟต์ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนตัวลิฟต์ ซึ่งมีอยู่หลายประเภท ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น นอกจากประเภทของเครื่องลิฟต์แล้วระบบควบคุมการขับเคลื่อน(drive control) ยังเป็นอุปกรณ์อีกตัวหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการใช้พลังงานของลิฟต์ ลิฟต์ที่มีมวลบรรทุกที่กำหนด(rated load) มากและความเร็ว(rated speed) สูงย่อมต้องใช้พลังงานมากตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ลิฟต์เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ออกแบบไว้ให้มีความได้เปรียบเชิงกลและใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยที่สุด สำหรับลิฟต์ที่มีมวลบรรทุก 900 กิโลกรัม เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 2.5 เมตรต่อวินาที จะใช้พลังงานไม่ถึง 1 หน่วย(kWh)ต่อครั้ง โดยบางช่วงของการเคลื่อนที่มอเตอร์ขับลิฟต์ทำหน้าที่เป็นทั้งไดนาโมและมอเตอร์ในคราวเดียวกัน ดังนั้นลิฟต์จะใช้พลังงานไฟฟ้ากับระบบเบรคเพื่อชะลอความเร็วให้ลิฟต์จอดชั้นที่ต้องการอย่างปลอดภัย รูปที่ 10-7 แสดงค่าความต้องการกำลังไฟฟ้าของเครื่องลิฟต์แรงฉุดจากความฝืดขับเคลื่อนด้วยเฟือง(geared machine) และขับเคลื่อนโดยตรง (gearless machine)

gareless
รูปที่ 1-7 แสดงการใช้กำลังไฟฟ้าของเครื่องลิฟต์ที่ใช้แรงฉุดจากความฝืดขับเคลื่อนด้วยเฟือง(geared machine) และขับเคลื่อนโดยตรง (gearless machine)
ที่มา : Stein /Reynolds/McGuinness, Mechanical and Electrical Equipment for Buildings 7th Edition.

 

 

การประเมินกำลังไฟฟ้าที่ต้องการ


ตัวอย่างที่ 1-1 ลิฟต์กลุ่มหนึ่งมีจำนวน 5 ตัว แต่ละตัวมีน้ำหนักบรรทุก 1,600 กิโลกรัม, ความเร็ว 3เมตร/วินาที ลิฟต์แต่ละตัวต้องการกำลังไฟฟ้า 48 แรงม้า group demand factor = 0.67

กำลังไฟฟ้ารวมที่ต้องการ = 5 x 48 x 0.67 = 160 แรงม้า

การประเมินความร้อนสูญเสียของลิฟต์


ความร้อนสูญเสียในลิฟต์เกิดจากความร้อนในระบบเบรกบวกกับการสูญเสียของระบบไฟฟ้าของมอเตอร์ขับลิฟต์และอุปกรณ์ในระบบจ่ายกำลังไฟฟ้าของชุดควบคุม รายละเอียดของการสูญเสียกำลังไฟฟ้าซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสูญเสียกำลังไฟฟ้าของเครื่องลิฟต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเฟือง  (geared machine ) มีค่ามากกว่าเครื่องลิฟต์ที่ขับเคลื่อนโดยตรง (gearless machine) เกือบ 2 เท่า

geared machineรูปที่ 1-8 แสดงแผนภาพการสูญเสียกำลังไฟฟ้าของลิฟต์เครื่องลิฟต์แรงฉุดจากความฝืดขับเคลื่อนด้วยเฟือง
(geared machine) และขับเคลื่อนโดยตรง (gearless machine)

ที่มา : Stein /Reynolds/McGuinness, Mechanical and Electrical Equipment for Buildings 7th Edition.

ตัวอย่างที่ 1-2 ลิฟต์กลุ่มหนึ่งจำนวน 5 ตัว แต่ละตัวมีน้ำหนักบรรทุก 1,600 กิโลกรัม ,ความเร็ว 3 เมตร/วินาที ชุดควบคุมเป็นแบบ solid state control ให้คำนวณความร้อนสูญเสียที่เกิดขึ้นในห้องเครื่องลิฟต์ ในช่วงการจราจรสูงสุดลิฟต์ทำงานประมาณ 50% โดยขณะทำงานใช้กำลังไฟฟ้า 90% ของพิกัด ใช้เครื่องลิฟต์ขนาด 48 แรงม้า ดังนั้นการสูญเสียรวมต่อตัวมีค่าดังนี้

1) การสูญเสียในชุดควบคุม
48 แรงม้า/0.9eff x 90% load x 50% operation x 10% loss = 2.4 แรงม้า

2) การสูญเสียในมอเตอร์ขับลิฟต์
48 แรงม้า x 90% load x 50% operation x 20% loss = 4.32 แรงม้า
การสูญเสียรวม = 6.72 แรงม้า = 5.01 กิโลวัตต์= 4,307กิโลแคลอรี่/ชั่วโมง ต่อลิฟต์ 1 ตัว ลิฟต์จำนวน 5 ตัว รวมความร้อนสูญเสีย = 21,535กิโลแคลอรี่/ชั่วโมง

ในปัจจุบันผู้ผลิตได้มีการจัดทำข้อมูลทางด้านเทคนิคของลิฟต์แต่ละรุ่นไว้อย่างครบถ้วนทั้งในส่วนของ น้ำหนักบรรทุก ความเร็ว กำลังไฟฟ้าที่ต้องการ ความร้อนสูญเสีย และการระบายอากาศที่เหมาะสม ซึ่งผู้ออกแบบหรือเจ้าของอาคารสามารถเปรียบเทียบข้อมูลดังกล่าวในเชิงของประสิทธิภาพพลังงานได้

ตารางที่ 2 ตัวอย่างข้อมูลทางด้านเทคนิคของเครื่องลิฟต์ที่ขับเคลื่อนโดยตรง (gear less machine)

ตัวอย่างข้อมูลทางด้านเทคนิคของเครื่องลิฟต์ที่ขับเคลื่อนโดยตรง (gear less machine)ที่มา : ข้อมูลด้านเทคนิค ของ Schindler 500P

1.4 การลือกขนาดและจำนวนของลิฟต์ (Elevator Selection)


การลือกขนาดและจำนวนของลิฟต์ (elevator selection) จำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดเนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา ได้แก่ ความเพียงพอของการให้บริการในอาคารนั้นๆ ความคุ้มค่าในการเลือกใช้ลิฟต์ พื้นที่ว่างที่สอดคล้องกับงานด้านสถาปัตยกรรม(โถงลิฟต์ ช่องลิฟต์ ห้องเครื่องลิฟต์) ดังนั้นในอาคารขนาดใหญ่และมีการใช้งานที่หลากหลายการคำนวณด้วยมืออาจทำให้เกิดความยุ่งยาก จึงมีความจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวณ โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาถึงคุณภาพการบริการของลิฟต์ดังนี้

1.4.1 Interval (I) หรือ lobby dispatch time, เวลาในการรอคอย (waiting time) Interval (I) คือ ระยะเวลาเฉลี่ยของการเคลื่อนที่ของลิฟต์มารับผู้โดยสารและเคลื่อนที่ออกจากโถงลิฟต์ ส่วนเวลาในการรอคอย (waiting time) หมายถึง ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ใช้ลิฟต์ใช้ในรอลิฟต์โดยนับตั้งแต่เวลาที่ผู้ใช้ลิฟต์เรียกลิฟต์จนกระทั่งเดินเข้าลิฟต์ ในทางปฏิบัติกำหนดให้ระยะเวลาในการรอคอยคิดเป็น 60% ของ Interval

Average waiting time = 0.6 I

อาคารสำนักงานชั้นดีจะออกแบบระยะเวลาในการรอคอยอยู่ระหว่าง 15-18 วินาทีในช่วงการจราจรสูงสุด หรืออาจสูงถึง 22 วินาที แต่ไม่ควรเกิน 26 วินาที ในตารางที่ 10-3 แสดงค่า I ที่เหมาะสมในอาคารแต่ละประเภท

ตารางที่ 3 แสดงค่า I ที่เหมาะสมในอาคารแต่ละประเภท

แสดงค่า I ที่เหมาะสมในอาคารแต่ละประเภทที่มา : Stein /Reynolds/McGuinness, Mechanical and Electrical Equipment for Buildings 7th Edition.

1.4.2 ความสามารถในการบรรทุก (handling capacity)
ความสามารถในการบรรทุก (handling capacity) หมายถึง ตัวเลขที่แสดงถึงความสามารถสูงสุดในการบรรทุกผู้โดยสารในระยะเวลาหนึ่ง (ในทางปฎิบัติคิดจำนวนผู้โดยสารที่สามารถบรรทุกได้สูงสุดในช่วงเวลา 5 นาที)

Handling capacity (HC) = (300s x passenger/car)/Interval
หรือ HC = 300p/I

ตารางที่ 4 ความสามารถในการบรรทุกของตัวลิฟต์ car passenger capacity (p)

น้ำหนักบรรทุกของลิฟต์
(กิโลกรัม)

จำนวนผู้โดยสารสูงสุด
(คน)

จำนวนผู้โดยสารต่อรอบ
(คน)

900

12

10

1,150

17

13

1,350

20

16

1,600

23

19

1,800

28

22

 

ตารางที่ 5 ความสามารถในการบรรทุกต่ำสุด(minimum handling capacity)

ประเภทของอาคาร

เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้อาคารที่เคลื่อนย้ายใน 5 นาที

อาคารสำนักงาน
ย่านใจกลางเมือง

12-14

บริเวณรอบเมือง

11.5-13

ชานเมือง

14-16

อาคารที่พักอาศัย
คอนโดมิเนียม

5-7

เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์

6-8

อาคารหอพัก

10-11

โรงแรม-ชั้นหนึ่ง

12-15

โรงแรม-ชั้นสอง

10-12

ที่มา : Stein /Reynolds/McGuinness, Mechanical and Electrical Equipment for Buildings 7th Edition

ตารางที่ 6 การประมาณการจำนวนผู้ใช้อาคาร (population) ของอาคารประเภทต่าง ๆ

ปรเภทของอาคาร

 
อาคารสำนักงาน

ตารางเมตรต่อคน

แบบใช้งานหลายประเภท(diversified)
   ชั้นล่างที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่(large lower floors)

11.25-12.6

   ชั้นสูงขึ้นไป(upper floors)

12.6-14.4

   พื้นที่ทั่วไป(average use)

13.5

แบบใช้งานประเภทเดียว(single purpose)

11.7

โรงแรม

คนต่อห้องพัก

   ห้องพัก(normal use)

1.3

   ห้องประชุม(conventions)

1.9

โรงพยาบาล

คนต่อเตียงผู้ป่วย

   โรงพยาบาลเอกชน

3

   โรงพยาบาลของรัฐ

3-4

อาคารเพื่อพักอาศัย

คนต่อเตียงนอน

   คอนโดมิเนียม

1.5

   เซอร์วิสอพาร์ทเม้น

2

   อพาร์ทเม้นหรือแมนชั่น

2.5-3.0

ที่มา : Stein /Reynolds/McGuinness, Mechanical and Electrical Equipment for Buildings 7th Edition.

 

1.4.3 ระยะเวลาในการเดินทางเฉลี่ย(traveling time or average trip time : AVTRP) หมายถึง ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ใช้ลิฟต์ใช้ในการเดินทางโดยใช้ลิฟต์ ซึ่งนับตั้งแต่เวลาที่ผู้ใช้ลิฟต์เรียกลิฟต์และโดยสารลิฟต์จนกระทั่งออกจากลิฟต์ในชั้นที่ต้องการ โดยทั่วไป ระยะเวลาของการเดินทางที่น้อยกว่า 1 นาทีเป็นสิ่งที่ดีเยี่ยม แม้จะใช้เวลา 75 ถึง 90 วินาทีก็สามารถยอมรับได้ แต่ไม่ควรเกินกว่า 120 วินาที สำหรับระยะเวลาในการเดินทางเฉลี่ย(traveling time or average trip time) ที่ใช้ในการประเมินสามารถพิจารณาได้จากเส้นกราฟที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง จำนวนชั้น และความเร็วของลิฟต์ค่าต่างๆ ที่ขนาดน้ำหนักบรรทุกแต่ละตัว (สามารถหาข้อมูลได้จากผู้ผลิต) โดยที่ระยะเวลาดังกล่าวยังมีความคลาดเคลื่อนได้ 10%

9

รูปที่ 1-9 ตัวอย่างแผนภาพแสดงความสัมพันธ์ของระยะเวลาในการเดินทางเฉลี่ย (average trip time : AVTRP) ที่ความเร็วระดับต่าง ๆ ของลิฟต์ ขนาดน้ำหนักบรรทุก 1,350 กิโลกรัม
ที่มา : Stein /Reynolds/McGuinness, Mechanical and Electrical Equipment for Buildings 7th Edition. 

1.4.3.1 ระยะเวลาในการบริการ 1 รอบ (round-trip time) หมายถึง ระยะเวลาเฉลี่ยที่ลิฟต์ใช้ในการเดินทางโดยนับตั้งแต่เวลาที่ลิฟต์เคลื่อนที่เพื่อบริการครบ 1 รอบ โดยระยะเวลาดังกล่าวเป็นผลรวมของเวลา 4 ส่วน คือ ระยะเวลาในการเร่งและลดความเร็ว ระยะเวลาในการเปิดและปิดประตู ระยะเวลาในการรับและส่ง และเวลาในการเคลื่อนที่

10

รูปที่ 1-10 ตัวอย่างระยะเวลาในการบริการ 1 รอบ (round-trip time) ที่ความเร็วระดับต่าง ๆ ของลิฟต์ ขนาดน้ำหนักบรรทุก 1,350 กิโลกรัม
ที่มา : Stein /Reynolds/McGuinness, Mechanical and Electrical Equipment for Buildings 7th Edition.

ขั้นตอนและวิธีในการคำนวณเพื่อเลือกขนาดและจำนวนลิฟต์

ขั้นตอนและวิธีในการคำนวณเพื่อเลือกใช้ขนาดและจำนวนลิฟต์ที่จะแสดงต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างเพื่อให้มีความเข้าใจการใช้ปัจจัยต่างๆ ข้างต้นในการกำหนดขนาดและจำนวนลิฟต์ที่เหมาะสมซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องถึงการใช้พลังงานของลิฟต์ในอาคารนั้น ในการปฏิบัติจริงควรคำนวณโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะสะดวกและแม่นยำกว่า ส่วนขั้นตอนเบื้องต้นมีดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ข้อมูลของอาคาร ประเภทอาคาร พื้นที่ใช้สอยหรือจำนวนห้องพัก จำนวนชั้นและความสูงของชั้นและของอาคาร

ขั้นตอนที่ 2 หาค่าของ interval (I) จากตารางที่ 1-3

ขั้นตอนที่ 3 คำนวณหาจำนวนผู้ใช้อาคารโดยใช้ตารางที่ 1-6

ขั้นตอนที่ 4 หาค่าความสามารถในการบรรทุก(handling capacity) จากตารางที่ 1-4

ขั้นตอนที่ 5 ใช้ข้อมูลที่ได้เลือกขนาดของลิฟต์(น้ำหนักบรรทุกและความเร็ว) จากข้อมูลในตารางที่ 1-7

ขั้นตอนที่ 6 ใช้ข้อมูลขนาดของลิฟต์ที่ได้เลือกไว้หาระยะเวลาในการเดินทางเฉลี่ย (traveling time or average trip time :AVTRP) และระยะเวลาในการบริการ 1 รอบ (round-trip time :RT) ตามจำนวนชั้นของอาคารที่ใช้งาน

ขั้นตอนที่ 7 คำนวณหาความสามารถในการบรรทุก (handling capacity) ของลิฟต์ที่เลือกไว้ต่อหนึ่งตัว HC = 300p/I โดยค่าใช้ p จากข้อมูลในตารางที่ 1-4

ขั้นตอนที่ 8 คำนวณหาจำนวนลิฟต์ที่ต้องใช้เพื่อบรรทุกผู้โดยสารให้ได้จำนวนที่ต้องการในขั้นตอนที่ 3

ขั้นตอนที่ 9 ใช้ข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจากการเลือกขนาดและจำนวนลิฟต์เพื่อคำนวณย้อนกลับมาหาค่าระยะเวลาในการบริการ 1 รอบ(round-trip timer :RT) และเปอร์เซนต์ของความสามารถในการบรรทุก (handling capacity) ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือใหม่

ขั้นตอนที่ 10 ทดลองเปลี่ยนขนาดของลิฟต์ (น้ำหนักบรรทุกและความเร็วที่แตกต่างจากครั้งแรก) เพื่อคำนวณค่าระยะเวลาในการบริการ 1 รอบ(round-trip timer :RT) และเปอร์เซนต์ของความสามารถในการบรรทุก (handling capacity) แล้วจึงเลือกขนาดและจำนวนลิฟต์ที่เหมาะสม โดยพิจารณาปัจจัยต่างๆ ทั้งความสามารถและคุณภาพในการให้บริการของระบบลิฟต์ในอาคารนั้นๆ ต้นทุนในการลงทุนครั้งแรก และข้อจำกัดด้านสถาปัตยกรรม เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 11 เลือกชนิดของลิฟต์ที่ใช้งานทั้งส่วนของเครื่องลิฟต์และชุดควบคุม โดยพิจารณาข้อมูลด้านเทคนิคของผู้ผลิตประกอบ ทั้งต้นทุนในการลงทุนครั้งแรก ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและ ค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุงตลอดอายุการใช้งานของลิฟต์ ข้อจำกัดด้านสถาปัตยกรรม เป็นต้น

ตัวอย่างที่ 1-3 การคำนวณเพื่อเลือกขนาดและจำนวนลิฟต์ อาคารสำนักงานแห่งหนึ่งมีการใช้งานหลายประเภท(diversified) เป็นอาคารสูง 14 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 1,080 ตารางเมตรต่อชั้น ความสูงของชั้น 3.60 เมตร ให้เลือกระบบลิฟต์ที่เหมาะสม

ขั้นตอนที่ 1 ข้อมูลของอาคาร อาคารสำนักงานมีการใช้งานหลายประเภท(diversified) เป็นอาคารสูง 14 ชั้น ความสูงของชั้น 3.60 เมตร

ขั้นตอนที่ 2 หาค่าของ interval(I) จากตารางที่ 10-3 เท่ากับ 30 วินาที

ขั้นตอนที่ 3 คำนวณหาจำนวนผู้ใช้อาคารโดยใช้ตารางที่ 6

จำนวนผู้ใช้อาคาร(building population):14 ชั้น = 1,080 ตารางเมตร x 14/13.5ตารางเมตรต่อคน = 1,120 คน

ขั้นตอนที่ 4 หาค่าความสามารถในการบรรทุก (handling capacity) จากตารางที่ 10-4 ซึ่งเท่ากับ 13 % HC = 0.13 x 1120 คน = 146 คน

ขั้นตอนที่ 5 ใช้ข้อมูลที่ได้เลือกขนาดของลิฟต์ (น้ำหนักบรรทุกและความเร็ว) จากข้อมูลในตารางที่ 10-7 โดยระยะสัญจรของลิฟต์ = 14 ชั้น x 3.60 เมตร = 50.40 เมตร เลือกลิฟต์ ขนาด 1,350 กิโลกรัม ความเร็ว 2.50 เมตรต่อวินาที

ขั้นตอนที่ 6 ใช้ข้อมูลขนาดของลิฟต์ที่ได้เลือกไว้หาระยะเวลาในการเดินทางเฉลี่ย (traveling time or average trip time :AVTRP) และระยะเวลาในการบริการ 1 รอบ(round-trip timer :RT) ตามจำนวนชั้นของอาคารที่ใช้งาน AVTRP = 76 วินาที, RT = 143 วินาที

ขั้นตอนที่ 7 คำนวณหาความสามารถในการบรรทุก (handling capacity) ของลิฟต์ที่เลือกไว้ต่อหนึ่งตัว HC = 300p/I โดยค่าใช้ p จากข้อมูลในตารางที่ 4

ความสามารถในการบรรทุกของลิฟต์หนึ่งตัว = 300(16)/143 = 33.5 คน

ขั้นตอนที่ 8 คำนวณหาจำนวนลิฟต์ที่ต้องใช้เพื่อบรรทุกผู้โดยสารให้ได้จำนวนที่ต้องการในขั้นตอนที่ 3 จำนวนลิฟต์ที่ใช้เพื่อการบรรทุกคนทั้งหมด 146 คน = 146/33.5 = 4.4 ตัว คิดเป็น 5 ตัว

ขั้นตอนที่ 9 ใช้ข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจากการเลือกขนาดและจำนวนลิฟต์เพื่อคำนวณย้อนกลับมาหาค่าเวลา Interval (I) และเปอร์เซนต์ของความสามารถในการบรรทุก (handling capacity) ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือใหม่ I = RT/N = 143/5 = 28.3 วินาที
HC = 5(13)/4.4 = 14.77%

ขั้นตอนที่ 10 ทดลองเปลี่ยนขนาดของลิฟต์ (น้ำหนักบรรทุกและความเร็วที่แตกต่างจากครั้งแรก) เพื่อคำนวณค่าระยะเวลาในการบริการ 1 รอบ (round-trip timer :RT) และเปอร์เซนต์ของความสามารถในการบรรทุก (handling capacity) แล้วจึงเลือกขนาดและจำนวนลิฟต์ที่เหมาะสม โดยพิจารณาปัจจัยต่างๆ ทั้งความสามารถและคุณภาพในการให้บริการของระบบลิฟต์ในอาคารนั้นๆ ต้นทุนในการลงทุนครั้งแรก และข้อจำกัดด้านสถาปัตยกรรม

ตารางที่ 7 ข้อแนะนำในการเลือกลิฟต์ในอาคารแต่ละประเภท

ประเภทอาคาร

น้ำหนักบรรทุก
(กิโลกรัม)

ความเร็วต่ำสุด
(เมตร/วินาที)

ระยะความสูง
(เมตร)

อาคารสำนักงาน

1.75-2

0-37.5

   อาคารขนาดเล็ก

1,150

2.5-3

37.8-67.5

   อาคารขนาดกลาง

1,350

3.5

67.8-82.5

   อาคารขนาดใหญ่

1,600

4

82.8-112.5

5

มากกว่า 112.5

โรงแรม

1.75-2

0-37.5

1,150

2.5-3

37.8-67.5

1,350

3.5

67.8-82.5

4

82.8-112.5

5

มากกว่า 112.5

โรงพยาบาล

0.75

0-18

1-1.25

18.3-30

1,600

1.25-1.5

30.3-37.5

1,800

1.75-2

37.8-52.5

2.5-3

52.8-75

3.5

มากกว่า 75

อาคารที่พักอาศัย

0.5

0-22.5

900

1

22.8-37.5

1,150

1.25-1.75

37.8-60

1.75-2

มากกว่า 60

ห้างสรรพสินค้า

1

0-30

1,600

1.25-1.5

30.3-45

1,800

1.75-2

45.3-60

2,260

2.5

มากกว่า60

ที่มา : Stein /Reynolds/McGuinness, Mechanical and Electrical Equipment for Buildings 7th Edition.

1.5 การอนุรักษ์พลังงานในระบบลิฟต์


เนื่องจากลิฟต์เป็นอุปกรณ์ประกอบอาคารสำหรับอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่ให้บริการผู้ใช้อาคารในการเดินทางและขนส่งระหว่างชั้นของอาคาร โดยเป็นอุปกรณ์ที่เน้นในเรื่องของความปลอดภัยเป็นอันดับแรก รองลงมาคือด้านการบริการ ดั้งนั้นในส่วนของการประหยัดพลังงานที่จะกล่าวต่อไปนี้ จึงเป็นเพียงข้อแนะนำให้ผู้ออกแบบ ผู้จัดหา และผู้บริหารอาคาร ใช้เป็นหลักปฎิบัติในการทำงานเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้งานลิฟต์อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการประหยัดพลังงาน โดยยังคงรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยและการให้บริการที่ดีของอาคารไว้

1.5.1 การออกแบบและเลือกใช้ลิฟต์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน

การออกแบบและเลือกใช้ลิฟต์เพื่อการอนุรักษ์พลังงานนั้นมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการออกแบบและเลือกใช้ลิฟต์ตั้งแต่ขั้นตอนแรก เพื่อจะให้ได้ลิฟต์ที่มีขนาดของกำลังมอเตอร์ต่ำที่สุด มีการสูญเสียไฟฟ้าและความร้อนน้อยที่สุด และมีจำนวนลิฟต์น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วย โดยมีแนวทางปฏิบติดังนี้

1) ออกแบบลิฟต์โดยใช้การกำหนดรอบระยะเวลาของการให้บริการสูงสุด(maximum trip time) ซึ่งจะสามารถลดทั้งน้ำหนักบรรทุกและความเร็วของลิฟต์

2) เลือกใช้ลิฟต์ที่อัตราความเร็วที่กำหนดต่ำสุด(minimum rated speed) เท่าที่จะทำได้ จากเหตุผลด้านเทคนิคที่ลิฟต์ขนาดน้ำหนักบรรทุกเท่ากัน ตัวที่มีความเร็วสูงกว่าจะมีขนาดมอเตอร์ที่พิกัดสูงกว่าด้วย

3) เลือกใช้เครื่องลิฟต์ชนิดขับเคลื่อนโดยตรง (gearless machine) เพราะมีการสูญกำลังไฟฟ้าและความร้อนน้อยกว่าเครื่องลิฟต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเฟือง(geared machine)เกือบ 2 เท่า

4) เลือกใช้ลิฟต์ โดยพิจารณาระบบควบคุมการขับเคลื่อนชนิดแปรเปลี่ยนแรงเคลื่อนไฟฟ้าและความถี่ (variable voltage , variable frequency control) เพราะมีการสูญกำลังไฟฟ้าและความร้อนน้อยกว่า และมีความได้เปรียบในด้านการเร่งความเร็วและลดความเร็วที่ใช้เวลาน้อยกว่าและมีความนุ่มนวลกว่า

5) การควบคุมการใช้งานลิฟต์
เลือกใช้ระบบควบคุมการใช้งานของลิฟต์ให้เหมาะกับลักษณะการใช้งานของอาคาร จำนวนผู้โดยสารในช่วงการใช้งานสูงสูด (peak time) ตัวอย่างเช่น อาคารเพื่อที่อยู่อาศัย อาคารโรงแรมทั่วไป อาคารโรงพยาบาล ที่มีการใช้งานไม่มากนัก การเลือกใช้ระบบควบคุมแบบ Selective Collective Control น่าจะเพียงพอ แต่ถ้าเป็นอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ที่มีการจราจรหนาแน่น ควรเลือกใช้ ระบบควบคุมแบบ Computerized System Control

6) น้ำหนักของวัสดุที่ใช้ตกแต่งห้องลิฟต์ (Decoration Load) ไม่ควรเกิน 20%ของน้ำหนักบรรทุกที่กำหนด (Rated Load)

7) ระบบระบายอากาศในห้องเครื่องลิฟต์อาจไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบปรับอากาศในห้องเครื่องลิฟต์ กรณีที่สามารถติดตั้งระบบระบายอากาศได้ตามข้อกำหนดในมาตรฐานของ ว.ส.ท. (E.I.T. Standard 3007-43) ซึ่งกำหนดไว้ว่า ในห้องเครื่องลิฟต์ จะต้องติดตั้งระบบระบายอากาศทางกล เพื่อรักษาค่าอุณหภูมิของอากาศในระยะ 1.00 เมตรโดยรอบเครื่องจักรที่ให้ความร้อนไม่ให้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส

ตารางที่ 8 ตัวอย่างข้อมูลทางด้านเทคนิคในการระบายความร้อนของห้องเครื่องลิฟต์

ตารางที่ 8

ที่มา : ข้อมูลด้านเทคนิค ของ Hitachi VFI Elevators

 

  • สูตรการคำนวณหาค่าความร้อนของห้องเครื่องลิฟต์

Q = W x V x F x N

โดยที่     Q = ค่าความร้อนต่อชั่วโมง (กิโลแคลอรี่ต่อชั่วโมง)

W = น้ำหนักบรรทุก (กิโลกรัม)

V = ความเร็วพิกัด(เมตร/นาที)

F = ค่าสัมประสิทธิ์ (ขึ้นกับแต่ละรุ่นของลิฟต์ ในที่นี้เท่ากับ 1/45)

N = จำนวนของลิฟต์ที่ติดตั้งในห้องเครื่องลิฟต์เดียวกัน

  • สูตรการคำนวณหาปริมาณอากาศที่ใช้ในการระบายความร้อน

K = Q / C x (t2-t1) = Q/2.1

    โดยที่  K = ปริมาณอากาศที่ใช้ในการระบายความร้อน (ลูกบาศ์กเมตรต่อชั่วโมง)

Q = ค่าความร้อนสูญเสียของลิฟต์ (กิโลแคลอรี่ต่อชั่วโมง)

t2 = อุณหภูมิอากาศภายในห้องเครื่องลิฟต์ที่ยอมรับได้ (ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส)

t1 = อุณหภูมิอากาศเข้า (ประมาณ 33 องศาเซลเซียส)

จากตารางที่ 8 ตัวอย่างข้อมูลทางด้านเทคนิคในการระบายความร้อนของห้องเครื่องลิฟต์ ซึ่งเป็นตัวอย่างในการพิจารณาการติดตั้งระบบระบายอากาศให้เพียงพอต่อการระบายความร้อนของห้องเครื่องลิฟต์ ในหลายอาคารพบว่ามีการติดตั้งการระบายอากาศที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดความร้อนสะสมภายในห้องเครื่องลิฟต์ จนทำให้ระบบควบคุมลิฟต์ที่เป็นส่วนของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำงานผิดพลาด และในสุดท้ายก็แก้ปัญหาทั้งหมดโดยการติดตั้งครื่องปรับอากาศ ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานเกินความจำเป็นเพราะโดยมากมักเปิดเครื่องปรับอากาศให้ทำงานตลอดเวลา

 

1.5.2 การปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องลิฟต์และระบบควบคุมการขับเคลื่อน

การปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องลิฟต์และระบบควบคุมการขับเคลื่อนมุ่งเน้นให้ความสำคัญในส่วนของลิฟต์ที่มีอายุการใช้งานนาน ๆ และใช้เทคโนโลยี่ที่ล้าสมัย ได้แก่ เครื่องลิฟต์ที่ขับเคลื่อนโดยเฟือง(geared machine) เครื่องลิฟต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแบบกระแสตรง ระบบควบคุมการขับเคลื่อนโดยสนามแม่เหล็กของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า(generator field control) ระบบควบคุมโดยรีโอสแตต (rheostat control) ลิฟต์ประเภทนี้จะมีการสูญเสียทางไฟฟ้าและความร้อนสูงมาก สามารเปลี่ยนใหม่เป็น เครื่องลิฟต์ชนิดขับเคลื่อนโดยตรง (gearless machine) ระบบควบคุมโดยแปรเปลี่ยนแรงเคลื่อนไฟฟ้าและความถี่ (variable voltage , variable frequency) ซึ่งมีขนาดของกำลังมอเตอร์ต่ำ มีการสูญเสียทางไฟฟ้าและความร้อนน้อย นอกจากจะสามารถลดการใช้พลังงานในส่วนของการใช้พลังงานของลิฟต์เองแล้ว ยังจะสามารถลดการใช้พลังงานในส่วนของระบบระบายอากาศของห้องเครื่องลิฟต์ได้ด้วย

1.5.3 การบริหารการใช้พลังงานของระบบลิฟต์

การบริหารการใช้พลังงานของระบบลิฟต์ เป็นการควบคุมการใช้ลิฟต์ โดยเฉพาะลิฟต์ที่มีอายุการใช้งานนาน ๆ และมีระบบควบคุมที่ไม่สามารถบริหารจัดการการใช้ลิฟต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1) ภายใต้ภาวะการทำงานปกติ (normal operation status) ลิฟต์อย่างน้อย 1 ตัวของกลุ่ม (lift bank) ควรจะทำงานภายใต้สถานะเตรียมพร้อม (standby mode) ในช่วงเวลาที่มีการจราจรน้อย (off-peak)

2) ภายใต้การทำงานในสถานะเตรียมพร้อม ( standby mode) ลิฟต์โดยสารจะไม่ตอบสนองต่อการเรียกของผู้โดยสารจนกว่าจะกลับเข้าสู่สถานะการทำงานปกติ ( normal operation mode)

3) ควรติดตั้งเครื่องวัดไฟฟ้าสำหรับสายป้อนไฟฟ้าที่ส่งกำลังไฟฟ้าให้ลิฟต์และอุปกรณ์ประกอบของระบบลิฟต์เช่น ระบบระบายอากาศ ระบบแสงสว่างของลิฟต์ เพื่อบันทึกข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการบริหารการใช้พลังงาน

4) ลิฟต์แต่ละตัวในกลุ่ม (lift bank) ถ้าหยุดเคลื่อนที่เกิน 2 นาที ระบบระบายอากาศและระบบไฟฟ้าแสงสว่างควรหยุดทำงานโดยอัตโนมัติและจะทำงานใหม่เมื่อถูกเรียกใช้งานอีกครั้ง


เอกสารอ้างอิง ( reference)

  1. “มาตรฐานระบบเครื่องกลขนส่งในอาคาร (ลิฟต์)” ; E.I.T. Standard 3007-43
  2. “Code of Practice for Energy Efficiency of Lift & Escalator Installations”, 2007 Edition, Building Energy Code.
  3. Stein/Reynolds/McGuinness, Mechanical and Electrical Equipment for Buildings 7th
  4. กฎกระทรวงฉบับที่ 33(พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522,หมวด 6 ระบบลิฟต์
  5. บุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย , ลิฟต์และบันไดเลื่อน ; คู่มือการตรวจสอบอาคารเพื่อความปลอดภัย
  6. คู่มือด้านเทคนิคของลิฟต์และบันไดเลื่อน OTIS
  7. คู่มือด้านเทคนิคของลิฟต์และบันไดเลื่อน HITACHI
  8. คู่มือด้านเทคนิคของลิฟต์และบันไดเลื่อน SCHINDLER

ienergyguru.com

Energy Conservation of Lift :

ระบบลิฟต์และการอนุรักษ์พลังงาน

2 Reviews

5
5

Write a Review

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *