วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙
ความเป็นมาและความสำคัญของวันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือราวเดือนพฤษภาคม แต่หากตรงกับปีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน วันวิสาขบูชาจะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๗ หรือราวเดือนมิถุนายน โดยคำว่า "วิสาขบูชา" ซึ่งย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ
วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓ อย่าง เกิดขึ้นในวันเดียวกันคือ ประสูติ ตรัสรู้ธรรม และปรินิพพาน วันวิสาขบูชาตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ ๘0 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ ๑ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ หรือเดือนวิสาขะทั้งสิ้น
ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน ๖ นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน
วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะชาวพุทธทุกนิกายจะพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก และด้วยเหตุนี้ ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากล" (International Day) ตามข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ ๕๔/๑๑๒ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
กิจกรรมวันวิสาขบูชา
- ทำบุญตักบาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
- จัดสำรับคาวหวานถวายภัตตาหารที่วัด
- ฟังพระธรรมเทศนา และปฎิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา
- ปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญกุศล
- บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ เช่น ล้างห้องน้ำวัด กวาดลานวัด เป็นต้น
- ร่วมเวียนเทียนรอบอุโบสถในตอนค่ำ เพื่อรำลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
- จัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชา เพื่อให้ความรู้และรำลึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา
ที่มา: http://goo.gl/fxxidM
หลักธรรมที่ควรนำมาปฎิบัติ
- ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว่ก่อน เป็นคุณธรรมคู่กับความกตเวที คือ การตอบแทนอุปการคุณ บิดามารดา ครูอาจารย์ เป็นต้น
- อริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึง ความจริงที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้แก่ทุกคนมี ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
- ความไม่ประมาท คือ การมีสติทั้งขณะทำ ขณะพูดและขณะคิด
Bibliography
dhammathai.org. (NA). วันวิสาขบูชา. Retrieved from http://www.dhammathai.org/: http://www.dhammathai.org/day/visaka.php
th.wikipedia.org. (2016, March 7). วันวิสาขบูชา. Retrieved from https://th.wikipedia.org: https://goo.gl/cTjkrk
tlcthai.com. (NA, NA NA). วันวิสาขบูชา 2558 ประวัติวันวิสาขบูชา. Retrieved from www.tlcthai.com: http://goo.gl/5LW1vD
tlcthai.com. (NA). วันวิสาขบูชา 2559 ประวัติวันวิสาขบูชา. Retrieved from http://www.tlcthai.com/: http://www.tlcthai.com/education/history-of-thailand/4473.html
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!