20 กันยายน ปี พ.ศ. 2427 ไฟฟ้าส่องแสงสว่างที่สยามเป็นครั้งแรก

ไฟฟ้าเริ่มให้ความสว่างไสวเป็นครั้งแรกที่เมนโลปาร์ค (Menlo Park) รัฐนิวเจอร์ซี (New Jersey) สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2422 ต่อมาในปี พ.ศ. 2425 ได้มีการสร้างระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่กรุงลอนดอน (London) ประเทศอังกฤษ และที่สถานีเพิร์ลสตรีท ตอนใต้กรุงนิวยอร์ค (New York) สหรัฐอเมริกา

ไฟฟ้า” คือหนึ่งในวิทยาการสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนไทยไปสู่ความทันสมัยแบบก้าวกระโดด หากย้อนกลับไปแต่ครั้งอดีต ชนชั้นนำในสยามเริ่มรับรู้ถึงวิทยาการไฟฟ้าเป็นครั้งแรกผ่านมิชชันนารีตะวันตกที่เดินทางเข้ามาในสยาม ดังปรากฏบทความเกี่ยวกับไฟฟ้าที่เผยแพร่อยู่ในหนังสือพิมพ์ “บางกอกรีคอร์เดอร์” ของหมอบรัดเลย์

ไฟฟ้าเกิดขึ้นก่อนโทรเลขและรถไฟเสียอีก แต่รัฐสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเลือกนำโทรเลขและรถไฟเข้ามาใช้ในสยาม โดยเห็นถึงความจำเป็นมากกว่าไฟฟ้า เพราะการติดต่อสื่อสารระหว่างกรุงเพทฯ กับหัวเมืองถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการปกครองและการทหาร  จนกระทั่งถึงยุคแห่งการปฏิรูปบ้านเมืองในสมัยของรัชกาลที่ 5 จึงได้มีการนำไฟฟ้าเข้ามาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เริ่มครั้งแรกเมื่อจอมพลและมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ครั้งยังเป็นหมื่นไวยวรนาถ เป็นอุปทูตได้เดินทางไปยุโรปกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ และได้เห็นกรุงปารีส (Paris) ประเทศฝรั่งเศสสว่างไสวไปด้วยไฟฟ้า เมื่อกลับมาเมืองไทย จึงนึกถึงเมืองไทยที่น่าจะมีไฟฟ้าใช้แบบเดียวกับอารยประเทศ และการที่จะทำให้สำเร็จได้คงต้องเริ่มภายในพระบรมมหาราชวังและบ้านเจ้านายก่อน จึงได้นําความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มีพระราชดํารัสว่า “ไฟฟ้า หลังคาตัด ข้าไม่เชื่อ”

เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เมื่อครั้งเป็นจมื่นสราภัยสฤษดิ์การ อุปทูต ณ เมืองปัตตาเวีย / ภาพจาก th.wikipedia.org

เมื่อเป็นเช่นนี้ หมื่นไวยวรนาถตระหนักว่าก่อนที่จะเริ่มดำเนินการจำเป็นต้องหาวิธีจูงใจให้ผู้ที่ไม่เคยเห็นเคยใช้ไฟฟ้าเกิดความนิยมขึ้นมาก่อนจึงนําความไปกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี ให้ทรงรับซื้อที่ดินซึ่งได้รับมรดกจากบิดา เป็นที่ดินที่ ตำบลวัดละมุด บางอ้อ ได้จากการขายที่ดินนี้เป็นเงิน 180 ชั่ง หรือ 14,400 บาทในขณะนั้น จึงมอบหมายให้นายมาโยลา ชาวอิตาเลียน ที่มารับราชการเป็นครูฝึกทหารเป็นผู้เดินทางไปซื้อเครื่องจักรและเครื่องไฟฟ้าที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ ปี พ.ศ. 2427 โดยให้ซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาสองเครื่อง เพื่อจะได้ผลัดเปลี่ยนกันได้ และซื้อสายเคเบิลสำหรับฝังสายใต้ดินจากโรงทหารหน้า (กระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน) ไปจนถึงพระบรมมหาราชวัง และยังได้มีการจัดซื้อโคมไฟชนิดต่างๆ รวมทั้งหลอดไฟสำหรับใช้กับโคมกิ่งระย้าในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และในท้องพระโรง โดยเดินเครื่องปล่อยกระแสไฟฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กันยายน ปี พ.ศ. 2427 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่เปิดทดลองใช้แสงสว่างด้วยไฟฟ้านั้น มีบรรดาขุนนาง ข้าราชการและประชาชนเข้ามาดูแสงไฟฟ้าอย่างแน่นขนัดด้วยความตื่นตาตื่นใจ เมื่อความทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งไฟฟ้าขึ้นในวังหลวงทันที จากนั้นมาไฟฟ้าก็เริ่มแพร่หลายไปตามวังเจ้านาย

ต่อมาเมื่อปรากฏว่าไฟฟ้าเป็นที่นิยมกันแพร่หลายทั้งในราชสำนัก วังเจ้านาย และชาวบ้านผู้มีอันจะกิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานเงินที่ใช้จ่ายในการติดตั้งไฟฟ้าคืนให้หมื่นไวยวรนาถ แผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อให้ประชาชนในกรุงเทพฯ ได้ใช้ไฟฟ้าก็เริ่มขึ้น แต่ไม่นานเกิดมีราชการสงครามต้องไปปราบฮ่ออยู่เป็นเวลานานเรื่องเลยระงับไว้

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะใช้ไฟฟ้าเพื่อแสงสว่างแล้ว ยังมีการนำไปใช้กับด้านพลังงานด้วย นั่นคือ มีการจัดตั้งบริษัทรถรางขึ้น เพื่อช่วยให้การสัญจรในกรุงเทพฯ และหัวเมืองบางแห่งเป็นไปอย่างสะดวก ถึงแม้ราคาค่าไฟที่หลวงใช้ถูกกว่าชาวบ้านก็จริง แต่การใช้ไฟฟ้าในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ต้องประหยัด ตามถนนบางสายก็ไม่มีไฟฟ้าเพราะปรากฏว่าไม่ค่อยมีคนสัญจร บางสายต้องติดห่างๆ กัน เพราะภาษีบำรุงท้องที่ในสมัยนั้นยังไม่มีเรื่องการติดตั้งไฟฟ้าตามถนน

ไฟฟ้าในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีใช้เพื่อจุดประสงค์ให้แสงสว่างเป็นหลัก อุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้ายังมีไม่มาก จะมีเพียงพัดลมแต่ก็มีไม่มาก โดยมีใช้ตามตำหนักพระภรรยาเจ้าและพระภรรยาในพระบรมมหาราชวัง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ไฟฟ้าเพื่อการทำแสงสว่าง ไฟฟ้าในยุคนั้นจึงเป็นของฟุ่มเฟือยสำหรับชนชั้นนำมากกว่าเรื่องจำเป็นสำหรับคนทั่วไป เพราะอุปกรณ์ให้แสงสว่างแบบอื่นยังนิยมใช้กันอยู่ และมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าไฟฟ้ามาก ไฟฟ้าในยุคแรกจึงจำกัดอยู่แค่การให้แสงสว่าง และไม่แพร่หลายสู่ราษฎรทั่วไป อีกทั้งไฟฟ้าเป็นของใหม่คนไทยเรายังไม่ค่อยเข้าใจ ปิดเปิดสวิตช์ก็ยังไม่เป็นบางที่เปิดไฟทิ้งไว้ตลอดคืนก็มี ทำให้หมดเปลืองพระราชทรัพย์ไปโดยเปล่าประโยชน์ การติดไฟตามถนนจึงต้องรู้ว่าถนนใดคนเดินมากเดินน้อย

ในพระบรมมหาราชวังจะติดตั้งโคมไฟฟ้าตามแต่ละสถานที่ เน้นสถานที่ส่วนรวมหรือเป็นสถานที่ที่คนหมู่มากใช้ร่วมกัน เช่น ตามตำหนักต่างๆ พระที่นั่งองค์สำคัญๆ อย่างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ติดตั้งโคมไฟฟ้าบริเวณ เฉลียง อ่างแก้ว ห้องเสวย ท้องพระโรง สนามหญ้าพระที่นั่ง โดยพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมีการติดโคมไฟถึง 729 ดวง โดยติดตั้งโคมไฟฟ้าเพื่อความสวยงาม ประดับตกแต่ง ความโอ่อ่า ส่วนสถานที่ราชการต่างๆ ก็ติดตั้งโคมไฟฟ้าเพื่อให้แสงสว่างและอำนวยความสะดวกในการทำงาน แต่จะมีปริมาณน้อยกว่าในพระบรมมหาราชวัง

การให้แสงสว่าง โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 5 แทนอุปกรณ์ให้แสงสว่างแบบเดิม อาทิ โคม เทียนไข ตะเกียง ฯลฯ ทำให้กลุ่มชนชั้นนำที่รู้จักใช้ไฟฟ้ากลายเป็นผู้ทันสมัย มั่งคั่ง ร่ำรวย เพราะสามารถซื้อโคมไฟฟ้าซึ่งมีราคาสูงมาใช้ได้ แสงไฟฟ้ายังกลายเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราของบ้านเรือน งานพิธี เท่ากับว่ากลายเป็นสินค้าที่มีความหมายในเชิงสังคม ในแง่ช่วยยกสถานภาพของผู้ใช้ให้เป็นผู้มั่งคั่ง หรูหรา และมีเกียรติ กลายเป็นเครื่องวัดสถานภาพคน

ปัจจุบันแม้วิทยาการบางอย่าง เช่นโทรเลขหรือรถรางได้ถูกยกเลิกการใช้งานไปแล้วตามกาลสมัย แต่ไฟฟ้ากลับยังเป็นสิ่งจำเป็น และยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คนไทยได้รับความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน รวมทั้งก้าวทันตามกระแสของโลกที่พัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

 

เรียบเรียงโดย ตะวันฉาย ทีมงาน iEnergyGuru

อ้างอิง

https://th.wikipedia.org/wiki/การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

https://th.wikipedia.org/wiki/การไฟฟ้านครหลวง

https://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี_(เจิม_แสง-ชูโต)

 

1 Review

1

Write a Review

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *