21 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2326 บอลลูน อากาศยานชิ้นแรกที่นำมนุษย์ขึ้นสู่ท้องฟ้า

การเดินทางของมนุษย์มีหลายรูปแบบ เริ่มจากการเดินเท้า และเพื่อความต้องการความสะดวกสบายที่มากขึ้น วิวัฒนาการของการประดิษฐ์ คิดค้น ยานพาหนะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศก็เกิดขึ้นมาตามลำดับ

ในส่วนของประวัติศาสตร์การเดินอากาศ มีประวัติความเป็นมาที่เป็นรูปธรรมมากกว่าสองร้อยปี ตั้งแต่มีการคิดค้นว่าว ความพยายามร่อนโดยกระโดดจากหอสูง ไปจนถึงการสร้างอากาศยานที่มีความเร็วเหนือเสียงได้

อย่างไรก็ตามความคิดเรื่องพลศาสตร์การบินนั้นต้องย้อนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 9 อับบาส อิบน์ ฟิรนาส (Abbas ibn Firnas) วางรากฐานการบินซึ่งได้รับอิทธิพลแนวคิดจากกฎแรงลอยตัวของอาร์คิมิดีส (Archimedes) ไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ได้เคยฝันถึงสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถบินได้ เขาได้พยายามออกแบบสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวหลายชิ้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ในปี พ.ศ. 2213 ฟรันเซสโก ลานา เด เตรซี (Francesco Lana de Terzi) ได้ตีพิมพ์ชิ้นงานเสนอความคิดเรื่องความเป็นไปได้ของอากาศยานที่เบากว่าอากาศ (Lighter Than Air) การใช้วัตถุกลวงที่มีผิวเป็นฟอยล์ทองแดงบางๆ ในขณะที่ด้านในเป็นสุญญากาศอาจจะทำให้วัตถุนั้นเบากว่าอากาศจนสามารถยกเรือเหาะได้ อย่างไรก็ตามทฤษฎีดังกล่าวก็ตกไปเนื่องจากความจริงที่ว่าความดันอากาศที่แตกต่างอย่างมหาศาลนั้นจะทำให้เรือเหาะยุบตัว ทฤษฎีดังกล่าวในปัจจุบันถูกรู้จักในชื่อ "เรือเหาะสุญญากาศ" (Vacuum Airship)

การทดลองครั้งแรกของพี่น้องมงกอลฟีเยเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2326 / ภาพจาก en.wikipedia.org

การทดลองครั้งแรกของพี่น้องมงกอลฟีเยเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2326 / ภาพจาก en.wikipedia.org

จากเอกสารที่มีรายละเอียดสมบูรณ์ ได้ระบุว่า บอลลูนที่มีมนุษย์โดยสารเที่ยวแรก เป็นบอลลูนอากาศร้อนซึ่งประดิษฐ์ขึ้นโดยพี่น้องมงกอลฟีเย (The Montgolfier brothers) โฌแซ็ฟ-มีแชล มงกอลฟีเย (Joseph-Michel Montgolfier) และ ฌัก-เอเตียน มงกอลฟีเย (Jacques-Étienne Montgolfier) ชาวฝรั่งเศส หลังจากที่ได้ทดลองหลายครั้งทั้งแบบไร้ผู้โดยสารและใช้สัตว์โดยสารในที่สุด บอลลูนแบบโยงเชือกที่มีมนุษย์โดยสารก็ถูกสาธิตขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน ปี พ.ศ. 2326 ณ พระราชวังแวร์ซาย ต่อหน้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และบอลลูนลอยเสรีที่มีมนุษย์โดยสารได้ขึ้นบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนในปีเดียวกัน การสาธิตบอลลูนลอยเสรีครั้งนี้สำเร็จได้ด้วยดี

 

 

บอลลูนอากาศร้อนเป็นอากาศยานเพื่อใช้ในการเคลื่อนที่ในอากาศได้เป็นชนิดแรกของบอลลูน จะมีถุงหรือซองเก็บอากาศที่ร้อนและมีความหนาแน่นต่ำกว่าอากาศที่อยู่นอกถุง จึงทำให้มันลอยขึ้นจากพื้นได้ ตัวถุงมักทำด้วยผ้าใบไนลอนและจะเป็นถุงเปิดทางด้านล่าง เพื่อเปิดต่อกับทางเข้าของความร้อนและตัวถุงจะมีความดันใกล้เคียงบรรยากาศภายนอกข้างใต้ถุง มักจะมีตะกร้าหรือแคปซูลเพื่อเป็นแหล่งกำเนิดความร้อน โดยใช้แก๊สหรือเชื่อเพลิงร้อน โดยมีพื้นที่ในการใช้พื้นที่สำหรับผู้ควบคุมหรือผู้โดยสาร โดยใช้หลักการเคลื่อนที่ไปตามทิศทางของลมแต่ถ้าเรือเหาะชนิดอื่นๆ จะมีเครื่องยนต์ในการบังคับการเคลื่อนที่และความเร็วในการเคลื่อนที่ได้

ไม่กี่วันให้หลัง ในวันที่ 1 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2326 ศาสตราจารย์ฌัก ชาร์ล (Jacques Charles) และพี่น้องรอแบร์ต ได้สาธิตบอลลูนแบบใหม่ขับเคลื่อนโดยไฮโดรเจนขนาด 380 คิวบิกเมตรและลอยสูงราว 550 เมตร  โดยล่ามเชือกไว้และลากไปยังจุดหมายเริ่มจากพระราชวังตุยเลอรีในปารีสไปยังมณฑลวาล-ดวซ ใช้เวลาล่องรวม 2 ชั่วโมง 5 นาทีกับระยะทาง 33 กิโลเมตร ซึ่งในครั้งนี้มีขุนนางชั้นสูงโดยสารอยู่ในบอลลูนด้วยสี่คนและพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ร่วมทอดพระเนตร หลังจากนี้บอลลูนก็ได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2337 ช่วงสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส กองทัพฝรั่งเศสได้ใช้บอลลูนไฮโดรเจนแบบผูกเชือกเพื่อสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของกองทัพออสเตรียในเดือนมกราคมปี พ.ศ. 2338 ฌ็อง-ปิแยร์ บล็องชาร์ (Jean-Pierre Blanchard) นักคิดค้นบอลลูนชาวฝรั่งเศส สามารถล่องบอลลูนไฮโดรเจนข้ามช่องแคบอังกฤษได้ บอลลูนของเขาลอยได้สูงถึง 1,800 เมตร

ในต้นศตวรรษที่ 19 บอลลูนถือเป็นกีฬานิยมอย่างหนึ่งในอังกฤษ โดยบอลลูนเหล่านี้ใช้ก๊าซจากการเผาถ่านเป็นแรงขับ ซึ่งก๊าซเหล่านี้มีกำลังเพียงครึ่งเดียวของไฮโดรเจนเท่านั้น ดังนั้นบอลลูนเหล่านี้จึงมีขนาดค่อนข้างใหญ่

 

เรียบเรียง ประพัฒน์ศร ทีมงาน iEnergyGuru

อ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Montgolfier_brothers

https://en.wikipedia.org/wiki/Hot_air_balloon

https://www.britannica.com/biography/Montgolfier-brothers

 

 

1 Review

5

Write a Review

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *