5 ขั้นตอนสำหรับผู้ที่สนใจติดตั้งพลังงานลมให้ประหยัดทั้งพลังงานและเงินลงทุน

พลังงานลม (Wind Energy) เป็นหนึ่งพลังงานทางเลือกที่ได้รับความสนใจในปัจจุบัน โดยทั่วไปมีการติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่นี้ใช้พื้นที่และเงินลงทุนที่สูง แต่ก็มีระบบพลังงานลมอีกชนิดหนึ่งที่สามารถติดตั้งไว้บนหลังคาบ้านได้ซึ่งมีขนาดเล็ก มีเสียงรบกวนน้อย ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เงินลงทุนไม่สูงและช่วยลดค่าไฟฟ้าที่ใช้ในช่วงที่มีการใช้พลังงานสูง (Peak load)

ระบบพลังงานลมที่กล่าวมานี้คือ ระบบกังหันลมขนาดเล็ก (Small Wind System) หลายคนอาจเริ่มสนใจระบบขนาดเล็กนี้กันแล้ว แต่ก่อนที่คุณจะตัดสินใจติดตั้งกังหันลมดังกล่าวไว้ที่บ้านของคุณ เรามีข้อพิจารณา 5 ขั้นตอนสำหรับช่วยคุณตัดสินใจในการติดตั้งระบบพลังงานขนาดเล็กนี้เพื่อที่คุณจะได้ประโยชน์ที่สุดในการใช้พลังงานสะอาดโดยมีการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด

ขั้นตอนที่ 1 : พิจาณาลักษณะการจ่ายไฟฟ้า

ระบบพลังงานลมขนาดเล็กนี้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายเข้าไปในระบบสายส่ง (Utility Grid) หรือจะจ่ายกระแสไฟฟ้าใช้ภายในบ้านเลย (Stand-alone system) ก็ได้ ซึ่งเรามีข้อสังเกตให้เล็ก ๆ น้อย ๆ ในการพิจาณาดังนี้

1. การจ่ายไฟฟ้าใช้ภายในบ้าน (A stand-alone system) วิธีการจ่ายนี้เหมาะสำหรับ บ้าน ฟาร์ม หรือชุมชนที่อยู่ห่างไกลระบบสายส่ง โดยความเร็วลมเฉลี่ยต่อปีที่แนะนำสำหรับการจ่ายวิธีนี้อยู่ที่ 9 ไมล์ต่อชั่วโมง (14.5 กิโลเมต่อชั่วโมง) ขึ้นไป โดยข้อแนะนำสำหรับวิธีการจ่ายไฟแบบนี้คือ บ้านคุณไม่สามารถหรือมีต้นทุนสูงเมื่อใช้ไฟฟ้าจากระบบสายส่งหลักและต้องมั่นใจว่าบริเวณที่ติดตั้งระบบนี้ต้องมีความเร็วลมที่เพียงพอและมีความสม่ำเสมอในการใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า

2. การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งหลัก (A grid-connected system) ความเร็วลมเฉลี่ยต่อปีสำหรับมาปั่นกังหันลมควรอยู่ที่ 10 ไมล์ต่อชั่วโมง (16 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไป และอีกข้อแนะนำสำหรับการจ่ายเข้าระบบสายส่ง ควรติดต่อสอบถามหน่วยงานการไฟฟ้าในเขตรับผิดชอบนั้นๆ ก่อน เพราะการผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ จัดเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน

ทั้งนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีการแแบ่งประเภทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ดังนี้

  • ผู้ผลิตไฟฟ้านอกสัญญา คือ ผู้ผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เอง หรือขายให้ลูกค้าภายในของตนเองโดย ไม่ขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  • ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กมาก  คือ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กมาก ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์
  • ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก คือ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ 10-90 เมกะวัตต์
  • ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ คือ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบไม่ต่ำกว่า 90 เมกะวัตต์  (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งระเทศไทย.,คำศัพท์พลังงานไฟฟ้า. www.egat.co.th)

ขั้นตอนที่ 2 ศึกษา กฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหด และผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม

ก่อนที่คุณจะลงทุนกับระบบผลิตไฟฟ้าระบบนี้ คุณต้องมีการศึกษา กฎหมาย ระเบียบ และข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบพลังงานลมขนาดเล็กนี้อย่างละเอียด เพื่อที่จะสามารถติดตั้งระบบพลังงานสะอาดนี้โดยไม่มีข้อครหาใด ๆ นอกจากนี้ควรมีการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชุนใกล้เคียง

ขั้นตอนที่ 3 ประเมินศักยภาพของเราบริเวณที่คุณจะติดตั้ง

ตำแหน่งของพื้นที่ที่จะติดตั้งก็มีความสำคัญมาเช่นกัน เพื่อการติดตั้งที่คุ้มค่ากับการใช้งานจริงนั้นพื้นที่ที่เหมาะสมควรมีความเร็วลมและความสม่ำเสมอของลมที่เพียงพอต่อการผลิต เราสามารถศึกษาข้อมูลต่างๆ ลมที่ผ่านบริเวณที่เราจะติดตั้งได้จากการข้อข้อมูลลมจากหน่วยงานของรัฐ หรือ สามารถหาซื้อเครื่องมือวัดความเร็วลม (Anemometer) เพื่อมาตรวจวัดเองได้ โดยทั่วไปราคาทั่วไปของเครื่องวัดความเร็วลมอยู่ที่ 500-1,500 ดอลลาร์ (16,000 – 48,000 บาท)

ขั้นตอนที่ 4 เลือกระบบและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ให้เหมาะสม

ในขั้นตอนนี้เราควรมีการศึกษารายละเอียดต่างๆ เช่น ข้อมูลบริษัท ข้อมูลอุปกรณ์ ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ การซ่อมบำรุง การรับประกัน รวมทั้งราคาให้เหมาะสมกับผู้ที่จะติดตั้ง บางครั้งอาจจะถามข้อมูลจากผู้ที่ติดตั้งระบบนี้แล้วเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการพิจารณาก็ได้เช่นกัน

โดยทั่วไปอุปกรณ์หลัก ๆ ของระบบพลังงานลมขนากเล็ก ได้แก่ กังหันลม (Wind turbine), เสา (Tower) สายส่ง (Wiring) และส่วนประกอบอื่น ๆ เพื่อทำให้ระบบมีความเสถียรภาพขึ้น (“Balance of System” components) เช่น ชุดควบคุม (Controllers), ระบบปรับความเร็วรอบ (Inverters) และ/หรือ แบตเตอร์รี่ (Batteries). นอกจากนี้ระบบพลังงานลมขนาดเล็กนี้สามารถประยุกต์กับระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ระบบนี้เรียกว่า ระบบไฮบริดจ์ (Hybrid system) หรืออาจใช้ร่วมกับเครื่องปั่นไฟ เพื่อเพิ่มความเสถียรในการใช้ไฟฟ้า

ขั้นตอนที่ 5 การคำนึงถึงเรื่องรายจ่ายระยะยาว

ในการลงทุนนั้นต้องมีการพิจารณารายจ่ายระยะยาวเช่น อัตราค่าไฟฟ้า, อัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาการคืนทุน เป็นต้น ฉะนั้นควรมีการศึกษารายจ่ายเหล่านี้อย่างละเอียดเพื่อลดผลกระทบทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ขั้นตอนทั้งห้าที่กล่าวไปข้างต้นนี้เป็นขั้นตอนการพิจารณาขึ้นพื้นฐานเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการติดตั้งระบบพลังงานลมขนาดเล็ก

หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่หน่วยงานรัฐที่สนับสนุนเรื่องนี้ได้ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) อาคารจามจุรีสแควร์ ชั้น 19, ถนนพญาไท, เแขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร, 10330 โทร. 0 2207 3599

Bibliography

Zayas, J. Z. (December 23, 2014). Saving Energy and Money with Wind: 5 Steps Before You Invest in a New Wind Energy System . Retrieved from http://energy.gov/energysaver: http://energy.gov/energysaver/articles/saving-energy-and-money-wind-5-steps-you-invest-new-wind-energy-system

ienergyguru.com

0 Reviews

Write a Review

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *