ความต้องการของระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001:2011

ความต้องการของระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001:2011

iEnergyGuru.com

ระบบการจัดการพลังงานตามมาตรฐานสากล (ISO 50001) ได้มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา ดังนั้นมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 จึงถือเป็นกุญแจสำคัญอีกด้านหนึ่ง ในการผลักดันให้เกิดกระบวนการในการปรับปรุงด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยหลักการ “การดำเนินงานอย่างเป็นระบบ” ตามหลัก P-D-C-A ที่คำนึงถึงต้นทุนตลอดจนวงจรชีวิตอุปกรณ์ด้านพลังงาน และปรับใช้ในขนาดที่เหมาะสม ทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุง และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร ให้บุคลากรคำนึงถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบ ซึ่งนอกจากระบบการจัดการพลังงานจะช่วยเหลือสถานประกอบการในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดต้นทุนด้านพลังงานในระยะยาวแล้ว ยังช่วยลดข้อกีดกันทางการค้าจากนโยบายด้านพลังงานในประเทศทางแถบยุโรปในอนาคตอันใกล้ และยังประโยชน์ต่อการลดปัญหาสภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติในปัจจุบันได้อีกทางหนึ่ง เบื้องต้นเราคงต้องเรียนรู้กันก่อนถึงความต้องการหรือข้อกำหนดของระบบการจัดการพลังงานตามมาตรฐานสากล ISO 50001

Screen-Shot-2558-02-24-at-10.30.38-AM

 

 รูปที่ 1 แนวโน้มของการลดต้นทุนด้านพลังงานหลังจากการดำเนินการจัดการพลังงาน

Source : DIN EN 16001: Energy Management Systems in Practice, A Guide for Companies and Organizations. German Federal Ministry for the Environment, Nature Conservation and Nuclear Safety

สำหรับความต้องการของระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 ได้อ้างอิงถึงข้อกำหนดมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 – ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๔๔๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.๒๕๑๑เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ระบบการจัดการพลังงาน – ข้อกำหนดและข้อแนะนำในการใช้ และ International Standard ISO 50001 : Energy management systems Requirements with guidance for use รวมถึงท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ www.dede.go.th/dede/iso50001.html


บทนิยามและคำจำกัดความ

บทนิยามและคำจำกัดความของคำศัพท์ในมาตรฐานการจัดการพลังงานมีความสำคัญอย่างมากในการทำความเข้าเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของมาตรฐานการจัดการพลังงาน ISO 50001 มีดังนี้

  1. ขอบเขต (Boundaries)
    การจำกัดขนาดทางกายภาพหรือพื้นที่และ/หรือหน่วยงาน ตามที่องค์กรกำหนด
    ตัวอย่างเช่น กระบวนการ กลุ่มกระบวนการ สถานประกอบการแห่งใดแห่งหนึ่ง หลายแห่ง หรือทั้งองค์กร
  1. การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continual Improvement)
    กระบวนการที่เกิดขึ้นซ้ำซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มสมรรถนะด้านพลังงาน และยกระดับระบบการจัดการพลังงาน
    หมายเหตุ 1     กระบวนการกำหนดวัตถุประสงค์และหาโอกาสในการปรับปรุงเป็นกระบวนการต่อเนื่อง
    หมายเหตุ 2     การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงานโดยรวมซึ่งสอดคล้องกับนโยบายพลังงานขององค์กร
  1. การแก้ไข (Correction)
    กิจกรรมที่ดำเนินการเพื่อกำจัดความไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่ตรวจพบ
  1. การปฏิบัติการแก้ไข (Corrective Action)
    กิจกรรมที่ดำเนินการเพื่อกำจัดสาเหตุของความไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่ตรวจพบ
    หมายเหตุ 1     สาเหตุของความไม่เป็นไปตามข้อกำหนดอาจมีมากกว่า 1 สาเหตุ
    หมายเหตุ 2     การปฏิบัติการแก้ไขเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ในขณะที่การปฏิบัติการป้องกันเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นใหม่
  1. พลังงาน (Energy)
    ไฟฟ้า เชื้อเพลิง ไอน้ำ ความร้อน อากาศอัด และพลังงานรูปแบบอื่นๆ
    หมายเหตุ 1     ตามวัตถุประสงค์ของมาตรฐานนี้ พลังงาน หมายถึง พลังงานรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงพลังงานหมุนเวียนซึ่งสามารถจัดหา จัดเก็บ หรือจัดการเพื่อใช้กับอุปกรณ์หรือกระบวนการ หรือนำกลับมาใช้ใหม่
    หมายเหตุ 2     พลังงานอาจกำหนดในรูปของขีดความสามารถของระบบในการทำงาน
  1. ข้อมูลฐานด้านพลังงาน (Energy Baseline)
    ปริมาณเชิงอ้างอิงเพื่อใช้เป็นฐานในการเปรียบเทียบสมรรถนะด้านพลังงาน
    หมายเหตุ 1    ข้อมูลฐานด้านพลังงานตามช่วงเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้
    หมายเหตุ 2    ข้อมูลฐานด้านพลังงานสามารถใช้ตัวแปรต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อลักษณะ และ/หรือปริมาณการใช้พลังงาน ตัวอย่างเช่น ระดับการผลิต อุณหภูมิแต่ละวัน (อุณหภูมิภายนอกอาคาร) เป็นต้น
    หมายเหตุ 3    ข้อมูลฐานด้านพลังงานใช้ในการคำนวณค่าการประหยัดพลังงาน ซึ่งใช้อ้างอิงก่อนและหลังการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงาน
  1. ปริมาณการใช้พลังงาน (Energy Consumption)
    ปริมาณของพลังงานที่ใช้
  1. ประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency)
    อัตราส่วนหรือความสัมพันธ์เชิงปริมาณระหว่างผลของสมรรถนะด้านพลังงาน การบริการ สินค้า หรือพลังงานที่ได้ (Output) เทียบกับพลังงานที่ใช้ (Input)
    ตัวอย่างเช่น ประสิทธิภาพการเปลี่ยนรูปพลังงาน (Conversion Efficiency) อัตราส่วนของพลังงานที่ต้องการ/พลังงานที่ใช้ ผลที่ได้/พลังงานที่ใช้ พลังงานที่ใช้ในการดำเนินการทางทฤษฎี/พลังงานที่ใช้จริง
    หมายเหตุ   พลังงานที่ใช้และผลที่ได้ต้องชัดเจนทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพและต้องวัดได้
  1. ระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management System; EnMS)
    กลุ่มของกิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเพื่อการกำหนดนโยบายพลังงานวัตถุประสงค์ด้านพลังงาน กระบวนการ และขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
  1. ทีมจัดการพลังงาน (Energy Management Team)
    บุคคล (คณะบุคคล) ที่รับผิดชอบการปฏิบัติกิจกรรมตามระบบการจัดการพลังงาน ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงาน
    หมายเหตุ   จำนวนบุคลากรในทีมขึ้นอยู่กับลักษณะและขนาดขององค์กร และทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งอาจมีเพียงหนึ่งคน เช่น ผู้แทนฝ่ายผู้บริหาร
  1. วัตถุประสงค์ด้านพลังงาน (Energy Objective)
    ผลหรือผลสำเร็จตามที่กำหนดไว้ซึ่งสัมพันธ์กับสมรรถนะด้านพลังงานที่ได้ปรับปรุงแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายพลังงานขององค์กร
  1. สมรรถนะด้านพลังงาน (Energy Performance)
    ผลที่วัดได้ที่สัมพันธ์กับประสิทธิภาพพลังงาน ลักษณะการใช้พลังงาน และปริมาณการใช้พลังงาน
    หมายเหตุ 1     องค์กรสามารถวัดผลโดยเปรียบเทียบกับนโยบายพลังงาน วัตถุประสงค์ด้านพลังงานเป้าหมาย และข้อกำหนดเกี่ยวกับสมรรถนะด้านพลังงานอื่น ๆ
    หมายเหตุ 2     สมรรถนะด้านพลังงานเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสมรรถนะของระบบการจัดการพลังงาน
  1. ตัวชี้วัดสมรรถนะด้านพลังงาน (Energy Performance Indicator; EnPI)
    ค่าเชิงปริมาณหรือผลการวัดสมรรถนะด้านพลังงานตามที่องค์กรกำหนดไว้
    หมายเหตุ        EnPI สามารถแสดงโดยการวัด อัตราส่วนอย่างง่าย หรือแบบจำลองที่ซับซ้อน 
  1. นโยบายพลังงาน (Energy Policy)
    ถ้อยแถลงที่เป็นทางการของผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเพื่อแสดงถึงทิศทางและเจตนารมณ์ขององค์กรซึ่งเกี่ยวข้องกับสมรรถนะด้านพลังงาน
    หมายเหตุ        นโยบายพลังงานให้กรอบที่ใช้ในการดำเนินการและกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายพลังงาน
  1. การทบทวนด้านพลังงาน (Energy Review)
    การพิจารณาสมรรถนะด้านพลังงานขององค์กรโดยใช้ข้อมูลและข่าวสารซึ่งนำไปสู่การชี้บ่งโอกาสในการปรับปรุง
    หมายเหตุ        ในมาตรฐานอื่น ซึ่งระบุเรื่องการชี้บ่งและทบทวนประเด็นด้านพลังงานหรือรูปแบบการใช้พลังงาน (Energy Profile) เป็นส่วนหนึ่งในแนวคิดเรื่องการทบทวนด้านพลังงาน
  1. บริการด้านพลังงาน (Energy Service)
    กิจกรรมและผลของกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดหา และ/หรือ การใช้พลังงาน
  1. เป้าหมายพลังงาน (Energy Targets)
    รายละเอียดและข้อกำหนดสมรรถนะด้านพลังงานที่สามารถวัดในเชิงปริมาณได้ ที่นำมาใช้ในองค์กรหรือบางส่วนขององค์กร อันเนื่องมาจากวัตถุประสงค์ด้านพลังงานและจำเป็นต้องกำหนดและทำให้บรรลุผลเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ด้านพลังงานที่กำหนดไว้
  1. ลักษณะการใช้พลังงาน (Energy Use)
    ลักษณะหรือชนิดของการใช้พลังงาน
    หมายเหตุ        ตัวอย่างเช่น การถ่ายเทอากาศ แสงสว่าง การให้ความร้อน การทำความเย็น การขนส่งกระบวนการ หรือสายการผลิต
  1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Interested Party)
    บุคคล หรือกลุ่มบุคคล ซึ่งเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากสมรรถนะด้านพลังงานขององค์กร
  1. การตรวจประเมินภายในองค์กร (Internal Audit)
    กระบวนการที่เป็นระบบ เป็นอิสระ และเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานและการประเมินผลที่เป็นรูปธรรม เพื่อพิจารณาความเป็นไปตามข้อกำหนด
  1. ความไม่เป็นไปตามข้อกำหนด (Nonconformity)
    การไม่สามารถทำให้เป็นไปตามข้อกำหนด
  1. องค์กร (Organization)
    บริษัท วิสาหกิจ ผู้ประกอบการ หน่วยงาน หรือสถาบัน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งขององค์กรเหล่านี้ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีภารกิจและมีการบริหารของตนเอง รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลลักษณะการใช้พลังงาน และปริมาณการใช้พลังงาน
  1. การปฏิบัติการป้องกัน (Preventive action)
    กิจกรรมที่ดำเนินการเพื่อกำจัดสาเหตุของแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความไม่เป็นไปตามข้อกำหนด
    หมายเหตุ 1    แต่ละแนวโน้มความไม่เป็นไปตามข้อกำหนดอาจมีมากกว่าหนึ่งสาเหตุ
    หมายเหตุ 2     การปฏิบัติการป้องกันดำเนินการเพื่อป้องกันการเกิดข้อบกพร่อง ในขณะที่การปฏิบัติการแก้ไขดำเนินการเพื่อป้องกันการเกิดข้อบกพร่องซ้ำ
  1. ระเบียบปฏิบัติงาน (Procedure)
    วิธีดำเนินการในกิจกรรมหรือกระบวนการตามที่ระบุไว้
    หมายเหตุ        ขั้นตอนการดำเนินงานอาจจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้
  1. บันทึก (Record)
    เอกสารระบุผลที่เกิดขึ้น หรือแสดงถึงหลักฐานของกิจกรรมที่ได้ดำเนินการแล้ว
  1. ขอบข่าย (Scope)
    กิจกรรม สถานที่ประกอบกิจการที่องค์กรได้กำหนดไว้ในระบบการจัดการพลังงาน ซึ่งอาจครอบคลุมหลายขอบเขตได้
    หมายเหตุ        ขอบข่ายดังกล่าวรวมถึงพลังงานที่เกี่ยวกับการขนส่ง
  1. ลักษณะการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญ (Significant Energy Use)
    ลักษณะการใช้พลังงานที่ส่งผลให้เกิดปริมาณการใช้พลังงานมาก และ/หรือ สามารถนำมาพิจารณาถึงแนวโน้มการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงาน
    หมายเหตุ        องค์กรเป็นผู้กำหนดเกณฑ์การพิจารณานัยสำคัญ
  1. ผู้บริหารสูงสุด (Top Management)
    บุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งนำและควบคุมองค์กรในระดับสูงสุด
    หมายเหตุ           ผู้บริหารสูงสุดควบคุมองค์กรตามที่ระบุไว้ในขอบข่ายและขอบเขตของระบบการจัดการพลังงาน

สมรรถนะด้านพลังงานครอบคลุมถึงลักษณะการใช้พลังงาน ประสิทธิภาพพลังงาน และปริมาณการใช้พลังงาน ดังนั้น องค์กรสามารถเลือกกิจกรรมที่เกี่ยวกับสมรรถนะด้านพลังงานได้อย่างกว้างขวางตัวอย่างเช่น องค์กรอาจลดความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด หรือใช้ประโยชน์จากพลังงานส่วนเกินหรือพลังงานจากของเสียหรือการปรับปรุงระบบ กระบวนการ หรืออุปกรณ์ แนวคิดของสมรรถนะด้านพลังงานดังแสดงในรูปที่ 2

900

 

รูปที่ 2 แนวคิดของสมรรถนะด้านพลังงาน


ข้อกำหนดและความต้องการของระบบการจัดการพลังงานมาตรฐานสากล
ISO 50001:2011

899

 

รูปที่ 3 แสดงแผนภาพของกระบวนการจัดการพลังงาน ISO 50001

4.1      ข้อกำหนดทั่วไป (General Requirements)

องค์กรต้อง
a. จัดทำระบบ จัดทำเอกสาร นำไปปฏิบัติ คงรักษาไว้และปรับปรุงระบบการจัดการพลังงานตาม ข้อกำหนดของมาตรฐานสากลนี้
b. กำหนดและจัดทำเอกสารที่ระบุขอบข่ายและขอบเขตของระบบการจัดการพลังงาน
c. กำหนดวิธีการดำเนินงานที่จะทำให้เป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากลฉบับนี้ เพื่อให้บรรลุถึงการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของสมรรถนะด้านพลังงานและระบบการจัดการพลังงาน

4.2      ความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร (Management Responsibility)

4.2.1   ผู้บริหารสูงสุด (Top Management)
ผู้บริหารสูงสุดต้องแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนต่อระบบการจัดการพลังงานและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องให้เกิดประสิทธิผลโดย

a) กำหนดนโยบายพลังงาน นำไปปฏิบัติและคงรักษาไว้
b) แต่งตั้งตัวแทนฝ่ายบริหารและอนุมัติแต่งตั้งทีมจัดการพลังงาน
c)จัดให้มีทรัพยากรที่จำเป็นในการจัดทำระบบ นำไปปฏิบัติ คงไว้และปรับปรุงระบบการจัดการพลังงานและปรับปรุงผลของสมรรถนะด้านพลังงาน

หมายเหตุ   ทรัพยากรหมายถึงทรัพยากรบุคคล ความชำนาญพิเศษ เทคโนโลยี และ ด้านการเงิน

d) ชี้บ่งถึงขอบข่ายและขอบเขตของระบบการจัดการพลังงาน
e) สื่อสารให้พนักงานในองค์กรทราบถึงความสำคัญของการจัดการพลังงาน
f) มั่นใจว่ามีการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านพลังงาน
g) มั่นใจว่ามีตัวชี้วัดสมรรถนะด้านพลังงานที่เหมาะสมกับองค์กร
h) พิจารณาถึงสมรรถนะด้านพลังงานในการวางแผนระยะยาว
i) มั่นใจว่ามีการตรวจวัดและรายงานผลตามช่วงเวลาที่กำหนด
j) ดำเนินการทบทวนการบริหารงาน

4.2.2   ตัวแทนฝ่ายบริหาร (Management Representative)
ผู้บริหารสูงสุดต้องแต่งตั้งตัวแทนฝ่ายบริหาร (Energy Management Representative (s) “EnMR”) ที่มีความชำนาญและมีความสามารถที่เหมาะสมเพื่อให้มีความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (นอกเหนือจากความรับผิดชอบอื่นใด)

a) ทำให้มั่นใจว่าระบบการจัดการพลังงาน ได้ถูกจัดทำ นำไปปฏิบัติ คงรักษาไว้และปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตามที่กำหนดในมาตรฐานสากลนี้
b) กำหนดตัวบุคคลและกำหนดอำนาจหน้าที่ในระดับบริหารที่เหมาะสม เพื่อทำงานร่วมกับ EnMR การสนับสนุนกิจกรรมการจัดการพลังงาน
c) รายงานสมรรถนะด้านพลังงานต่อผู้บริหารสูงสุด
d) รายงานสมรรถนะของระบบการจัดการพลังงานต่อผู้บริหารสูงสุด
e) ทำให้มั่นใจว่าการวางแผนกิจกรรมด้านการจัดการพลังงานได้ถูกออกแบบให้สนับสนุนนโยบายด้านพลังงานขององค์กร
f) กำหนดและสื่อสารให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบถึงความรับผิดชอบ อำนาจหน้าที่เพื่อทำให้ระบบการจัดการพลังงานเกิดประสิทธิผล
g) กำหนดเกณฑ์หรือวิธีการที่จำเป็นเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทั้งการปฏิบัติงานและการควบคุมในระบบการจัดการพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล
h) ส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับในองค์กรมีความตระหนักถึงนโยบายพลังงานและวัตถุประสงค์ด้านพลังงาน

4.3      นโยบายพลังงาน (Energy Policy)

นโยบายพลังงานต้องระบุถึงความมุ่งมั่นในการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงานให้ประสบความสำเร็จ  ซึ่งผู้บริหารสูงสุดต้องมั่นใจได้ว่านโยบายด้านพลังงาน :
a) มีความเหมาะสมกับธรรมชาติและขนาดของลักษณะการใช้และปริมาณการใช้พลังงานขององค์กร
b) แสดงถึงความมุ่งมั่นต่อการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง
c) แสดงถึงความมุ่งมั่น ที่มั่นใจได้ว่ามีสารสนเทศและทรัพยากรที่เพียงพอและจำเป็นต่อการบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
d) แสดงถึงความมุ่งมั่นในการปฏิบัติให้สอดคล้องตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลักษณะการใช้ ปริมาณการใช้และประสิทธิภาพการใช้พลังงานขององค์กร
e) มีแนวทางในการกำหนดและทบทวนวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านพลังงาน
f) สนับสนุนการจัดซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการออกแบบเพื่อปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงาน
g) มีการจัดทำเป็นเอกสารและสื่อสารแก่บุคลากรทุกระดับภายในองค์กร
h) มีการทบทวนและปรับปรุงตามความจำเป็นอย่างสม่ำเสมอ

4.4      การวางแผนด้านพลังงาน (Energy Planning)


4.4.1   บททั่วไป (General)
องค์กรต้องดำเนินการและจัดทำเอกสารของกระบวนการวางแผนด้านพลังงาน  การวางแผนด้านพลังงานจะต้องสอดคล้องกับนโยบายพลังงานและนำไปสู่กิจกรรมการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง
การวางแผนด้านพลังงานจะรวมถึงการทบทวนกิจกรรมขององค์กรที่มีผลกระทบต่อสมรรถนะด้านพลังงาน 

4.4.2   ข้อกำหนดกฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ (Legal Requirements and Other Requirements)
องค์กรต้องชี้บ่ง  นำไปปฏิบัติและมีวิธีการเข้าถึงเพื่อประยุกต์ใช้กฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ ที่องค์กรเกี่ยวข้องในเรื่องของลักษณะการใช้พลังงาน  ปริมาณการใช้พลังงานและประสิทธิภาพด้านพลังงาน
องค์กรต้องกำหนดว่าจะดำเนินการประยุกต์ใช้ตามสิ่งที่กฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ ต้องการอย่างไรในเรื่องของลักษณะการใช้พลังงาน  ปริมาณการใช้พลังงานและประสิทธิภาพด้านพลังงาน และต้องมั่นใจว่าข้อกำหนดกฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ ที่องค์กรเกี่ยวข้องนี้ได้ถูกนำไปปฏิบัติและดำรงรักษาไว้ในระบบการจัดการพลังงาน
องค์กรต้องทบทวนกฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ ตามช่วงเวลาที่กำหนด

4.4.3   การทบทวนด้านพลังงาน (Energy Review)
องค์กรต้องจัดให้มีการทบทวนด้านพลังงาน จัดทำเป็นบันทึกและคงรักษาไว้ โดยวิธีการและเกณฑ์ที่ใช้ในการทบทวนด้านพลังงานจะต้องจัดทำเป็นเอกสาร ในการทบทวนด้านพลังงานนั้นองค์กรจะต้อง
a) วิเคราะห์ลักษณะการใช้และปริมาณการใช้พลังงานบนพื้นฐานของการวัดและข้อมูลอื่น ๆ เช่น
-    ชี้บ่งแหล่งพลังงานปัจจุบัน
-    ประเมินลักษณะการใช้และปริมาณการใช้พลังงานในอดีตและปัจจุบัน
b) จากการวิเคราะห์ลักษณะการใช้และปริมาณการใช้พลังงาน ต้องชี้บ่งพื้นที่ของลักษณะการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญ เช่น
-    ชี้บ่งเครื่องจักรอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือ ระบบ กระบวนการและบุคลากรที่ทำงานให้กับองค์กรหรือในนามองค์กรที่มีนัยสำคัญต่อลักษณะการใช้และปริมาณการใช้พลังงาน
-    ชี้บ่งตัวแปรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีผลกระทบต่อลักษณะการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญ
-    ตรวจวัดหรือประเมินหาสมรรถนะปัจจุบันของเครื่องจักร อุปกรณ์สนับสนุนการผลิต เครื่องมือ ระบบ และกระบวนการที่มีความสัมพันธ์กับลักษณะการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญ
-    ประมาณการลักษณะการใช้และปริมาณการใช้พลังงานในอนาคต
c) ชี้บ่ง จัดลำดับความสำคัญ และบันทึกโอกาสในการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงาน
หมายเหตุ      โอกาสในการปรับปรุงอาจสัมพันธ์กับแหล่งพลังงานที่มีความเป็นไปได้ การใช้พลังงานทดแทน หรือแหล่งพลังงานทางเลือกอื่น เช่น พลังงานจากของเสีย
การทบทวนด้านพลังงานจะต้องดำเนินการตามช่วงเวลาที่กำหนดและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ เครื่องจักรอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือ ระบบและกระบวนการ

4.4.4   ข้อมูลฐานด้านพลังงาน (Energy Baseline (s))
องค์กรต้องจัดทำข้อมูลฐานด้านพลังงาน (Energy Baseline (s)) โดยใช้ข้อมูลจากการทบทวนด้านพลังงานเริ่มแรกมาพิจารณาตามช่วงข้อมูลที่เหมาะสมต่อลักษณะการใช้และปริมาณการใช้พลังงานขององค์กร การเปลี่ยนแปลงสมรรถนะด้านพลังงานจะต้องมีการวัดเปรียบเทียบกับเส้นฐานพลังงาน
การปรับข้อมูลฐานด้านพลังงานจะกระทำเมื่อเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งขึ้นไปดังต่อไปนี้

  • ตัวชี้วัดสมรรถนะด้านพลังงาน (EnPIs) ปัจจุบันไม่สะท้อนต่อลักษณะการใช้และปริมาณการใช้พลังงานขององค์กรอีกต่อไป
  • มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในกระบวนการ รูปแบบการปฏิบัติงาน หรือระบบพลังงาน
  • ตามวิธีการที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
    ข้อมูลฐานด้านพลังงานจะต้องคงรักษาไว้และจัดทำเป็นบันทึก

4.4.5   ตัวชี้วัดสมรรถนะด้านพลังงาน (Energy Performance Indicators)
องค์กรต้องชี้บ่งตัวชี้วัดสมรรถนะด้านพลังงาน (EnPIs) ตามความเหมาะสม เพื่อเฝ้าติดตามและตรวจวัดสมรรถนะด้านพลังงาน ซึ่งวิธีการในการกำหนดและปรับปรุงค่า EnPIs จะต้องถูกบันทึกและทบทวนอย่างสม่ำเสมอ
EnPIs จะต้องถูกทบทวนและเปรียบเทียบกับข้อมูลฐานด้านพลังงานตามความเหมาะสม

4.4.6   วัตถุประสงค์ด้านพลังงาน เป้าหมายด้านพลังงาน และแผนปฏิบัติด้านการจัดการพลังงาน (Energy Objectives, Energy Targets and Energy Management Action Plans)
องค์กรต้องจัดทำ นำไปปฏิบัติ และรักษาไว้ซึ่งเอกสารวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านพลังงานของหน่วยงานระดับต่าง ๆ กระบวนการ เครื่องจักรอุปกรณ์สนับสนุนที่มีนัยสำคัญภายในองค์กร และต้องกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
วัตถุประสงค์และเป้าหมายจะต้องสอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงาน และเป้าหมายต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์
เมื่อมีการจัดทำและทบทวนวัตถุประสงค์และเป้าหมาย องค์กรจะต้องพิจารณาถึงกฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ ลักษณะการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญและโอกาสในการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงานตามที่ได้ชี้บ่งไว้ในการทบทวนด้านพลังงาน และจะต้องพิจารณาถึงด้านการเงิน เงื่อนไขในการดำเนินงานและธุรกิจ ทางเลือกด้านเทคโนโลยี และทัศนะของผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ด้วย
องค์กรต้องจัดทำ นำไปปฏิบัติและคงไว้ซึ่งแผนปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
โดยแผนปฏิบัติจะต้องรวมถึง :
-      การมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบ
-      วิธีการดำเนินการและกรอบระยะเวลาที่ต้องบรรลุในแต่ละเป้าหมาย
-      มีการทวนสอบวิธีการที่ใช้ในการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงาน
-      มีวิธีการทวนสอบผลของการปฏิบัติ

แผนปฏิบัติจะต้องจัดทำเป็นเอกสารและปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันตามช่วงเวลาที่กำหนด

898

 

รูปที่ 4 แผนภาพแสดงกระบวนการวางแผนด้านพลังงาน

4.5      การนำไปปฏิบัติและการดำเนินการ (Implementation and Operation)


4.5.1   บททั่วไป (General)
องค์กรต้องนำแผนปฏิบัติและผลที่ได้จากกระบวนการวางแผน ไปปฏิบัติและดำเนินการ

4.5.2   ความสามารถ การฝึกอบรม และความตระหนัก (Competence, Training and Awareness) องค์กรต้องมั่นใจว่าบุคลากรที่ปฏิบัติงานให้องค์กรหรือในนามขององค์กรซึ่งเกี่ยวข้องกับลักษณะการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญ มีความสามารถบนพื้นฐานการศึกษา การฝึกอบรม ทักษะหรือประสบการณ์ที่เหมาะสม องค์กรจะต้องชี้บ่งถึงความจำเป็นในการฝึกอบรม (Training Needs) ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมลักษณะการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญและการดำเนินการในระบบการจัดการพลังงาน โดยองค์กรต้องมีการจัดฝึกอบรมหรือใช้วิธีการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามความจำเป็นดังกล่าว และต้องมีการจัดทำบันทึกที่เหมาะสมและเก็บรักษาไว้

องค์กรต้องมั่นใจว่าบุคลากรที่ปฏิบัติงานให้องค์กรหรือในนามขององค์กรมีความตระหนักถึง
1. ความสำคัญของการปฏิบัติตามนโยบาย ขั้นตอนการปฏิบัติงาน และข้อกำหนดของระบบการจัดการพลังงาน
2. บทบาท ความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ของตนเองในการบรรลุตามข้อกำหนดของระบบการจัดการพลังงาน
3. ผลประโยชน์ของการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงาน
4. ผลกระทบที่เกิดจริงหรือที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นต่อลักษณะการใช้หรือปริมาณการใช้พลังงานจากกิจกรรมที่พนักงานปฏิบัติ รวมทั้งกิจกรรมและพฤติกรรมที่จะมีส่วนช่วยทำให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ตลอดจนแนวโน้มของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการปฏิบัติงานที่กำหนด

4.5.3 การสื่อสาร (Communication)
องค์กรต้องมีการสื่อสารภายในองค์กรเกี่ยวกับสมรรถนะด้านพลังงานและระบบการจัดการพลังงานอย่างเหมาะสมตามขนาดขององค์กร องค์กรจะต้องกำหนดและนำไปปฏิบัติซึ่งกระบวนการที่บุคลากรที่ปฏิบัติงานให้องค์กรหรือในนามขององค์กรสามารถให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะในการปรับปรุงระบบการจัดการพลังงาน
องค์กรต้องตัดสินใจว่าจะให้มีการสื่อสารไปยังภายนอกองค์กรในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายพลังงาน ระบบการจัดการพลังงานและสมรรถนะด้านพลังงานหรือไม่ และจัดทำเอกสารแสดงการตัดสินใจนี้  ซึ่งหากมีการตัดสินใจให้มีการสื่อสารไปยังภายนอก    องค์กรจะต้องกำหนดและนำไปปฏิบัติซึ่งวิธีการสำหรับการสื่อสารภายนอกนี้

4.5.4     การจัดทำเอกสาร
4.5.4.1     ข้อกำหนดในการจัดทำเอกสาร (Documentation Requirements)
องค์กรต้องจัดทำ นำไปปฏิบัติ คงรักษาไว้ซึ่งข้อมูลในรูปของกระดาษ อิเล็กทรอนิกส์หรือสื่ออื่น ๆ ที่อธิบายถึงส่วนสำคัญหลักของระบบการจัดการพลังงานและปฏิสัมพันธ์ของระบบการจัดทำเอกสารในระบบการจัดการพลังงานต้องรวมถึง
a) ขอบข่ายและขอบเขตของระบบการจัดการพลังงาน
b) นโยบายพลังงาน
c) วัตถุประสงค์ด้านพลังงาน เป้าหมายและแผนปฏิบัติ
d) เอกสารรวมถึงบันทึกตามที่มาตรฐานสากลนี้กำหนด
e) เอกสารอื่น ๆ ที่องค์กรพิจารณาเห็นว่าจำเป็น

หมายเหตุ : ระดับของเอกสารสามารถแตกต่างกันได้ในแต่ละองค์กร เนื่องจาก
- ขนาดขององค์กรและประเภทของกิจกรรม
- ความซับซ้อนของกระบวนการและปฏิสัมพันธ์ของกระบวนการ
- ความสามารถของบุคลากร

4.5.4.2     การควบคุมเอกสาร (Control of Documents)
เอกสารที่กำหนดตามมาตรฐานสากลและระบบการจัดการพลังงานนี้ต้องได้รับการควบคุม รวมทั้งเอกสารทางด้านเทคนิคต่าง ๆ ที่จำเป็นองค์กรจะต้องจัดทำ นำไปปฏิบัติ และคงรักษาไว้ซึ่งระเบียบปฏิบัติงานเพื่อ

a) อนุมัติเอกสารอย่างเหมาะสมก่อนนำไปใช้
b) ทบทวนและปรับปรุงเอกสารให้ทันสมัยเป็นระยะ ๆ ตามความจำเป็น
c) มั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงและสถานะปัจจุบันของเอกสารได้มีการชี้บ่งไว้
d) มั่นใจว่ามีเอกสารฉบับที่ถูกต้องอยู่ ณ จุดใช้งาน
e) มั่นใจว่าเอกสารยังคงสภาพที่อ่านได้ชัดเจนและสามารถนำมาแสดงได้ทันที
f) มั่นใจว่าเอกสารจากภายนอก ซึ่งองค์กรพิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นต่อการวางแผนและการดำเนินงานในระบบการจัดการพลังงาน ได้รับการชี้บ่งและควบคุมในการแจกจ่าย
g) ป้องกันการนำเอกสารที่ล้าสมัยไปใช้โดยไม่ได้ตั้งใจ และต้องทำการชี้บ่งเอกสารที่ล้าสมัยนั้นอย่างเหมาะสมในกรณีที่ต้องเก็บไว้เพื่อวัตถุประสงค์ใด ๆ

4.5.5     การควบคุมด้านปฏิบัติการ (Operational Control)
องค์กรต้องชี้บ่งและวางแผนกิจกรรมต่าง ๆ ในการปฏิบัติการและการบำรุงรักษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับลักษณะการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญและให้สอดคล้องกับนโยบายพลังงาน วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแผนปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด โดยวิธีการดังต่อไปนี้

  1. จัดทำและกำหนดเกณฑ์ในการปฏิบัติการและการบำรุงรักษาที่มีประสิทธิผลในส่วนของลักษณะการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญที่ซึ่งหากไม่มีเกณฑ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ประสิทธิผลของสมรรถนะด้านพลังงานเบี่ยงเบนไปอย่างมีนัยสำคัญ
  2. การปฏิบัติงานและการบำรุงรักษาเครื่องจักร อุปกรณ์สนับสนุนต่าง ๆ กระบวนการ ระบบและเครื่องมือจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์การปฏิบัติที่กำหนด
  3. มีการสื่อสารอย่างเหมาะสมในการควบคุมการปฏิบัติงานให้กับบุคคลที่ปฏิบัติงานให้องค์กรหรือในนามขององค์กร

หมายเหตุ : ในการวางแผนเกี่ยวกับอุปัทวเหตุหรือสถานการณ์ฉุกเฉินหรือภัยพิบัติที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้ องค์กรอาจนำเอาสมรรถนะด้านพลังงานมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาด้วยในดำเนินการกับสถานการณ์เหล่านี้

ข้อกำหนด


4.5.6   การออกแบบ (Design)
องค์กรต้องพิจารณาถึงโอกาสในการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงานและการควบคุมด้านปฏิบัติการในการออกแบบใหม่ การดัดแปลง และการบูรณะเครื่องจักรอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกเครื่องมือ ระบบ และกระบวนการที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสมรรถนะด้านพลังงาน ผลของการประเมินสมรรถนะด้านพลังงานต้องนำไปรวมเข้ากับการกำหนดรายละเอียด การออกแบบและกิจกรรมการจัดซื้อจัดหาของโครงการที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสม
ผลของกิจกรรมการออกแบบต้องจัดเก็บไว้เป็นบันทึก

4.5.7   การจัดหาบริการด้านพลังงาน ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ และพลังงาน (Procurement of Energy Services, Products, Equipment and Energy)
ในการจัดหาบริการด้านพลังงาน ผลิตภัณฑ์ และอุปกรณ์ที่มีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อลักษณะการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญ  องค์กรต้องแจ้งให้ผู้ส่งมอบทราบว่าการจัดหานี้จะถูกประเมินในเรื่องของสมรรถนะด้านพลังงานด้วย
องค์กรต้องกำหนดและนำไปปฏิบัติซึ่งเกณฑ์ในการประเมินลักษณะการใช้พลังงาน ปริมาณการใช้พลังงานและประสิทธิภาพด้านพลังงาน ตลอดแผนงานหรือตลอดช่วงอายุการใช้งานที่คาดไว้ ในการจัดหาผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์หรือบริการที่ใช้พลังงาน ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสมรรถนะด้านพลังงานขององค์กร องค์กรต้องกำหนดข้อกำหนดรายละเอียดการจัดซื้อพลังงานเป็นเอกสารตามความเหมาะสม เพื่อประสิทธิผลในการใช้พลังงาน

4.6      การตรวจสอบ (Checking)


4.6.1   การเฝ้าระวัง การตรวจวัด และการวิเคราะห์ (Monitoring, Measurement and Analysis)
องค์กรต้องมั่นใจว่าคุณลักษณะที่สำคัญของการปฏิบัติงานที่เป็นตัวกำหนดถึงสมรรถนะด้านพลังงาน ได้รับการเฝ้าระวัง ตรวจวัดและวิเคราะห์ตามช่วงเวลาที่วางแผนไว้  ซึ่งคุณลักษณะที่สำคัญอย่างน้อยที่สุดต้องรวมถึง

a) ลักษณะการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญและผลของการทบทวนด้านพลังงานอื่น ๆ
b) ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับลักษณะการใช้พลังงานที่มีนัยสำคัญ
c) ตัวชี้วัดสมรรถนะด้านพลังงาน (EnPIs)
d) ประสิทธิผลของแผนปฏิบัติ ในการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
e) การประเมินปริมาณการใช้พลังงานจริงเทียบกับที่คาดการณ์ไว้

ผลของการเฝ้าระวังและตรวจวัดคุณลักษณะสำคัญต้องถูกจัดเก็บเป็นบันทึก แผนการตรวจวัดด้านพลังงานต้องถูกกำหนดและนำไปปฏิบัติให้เหมาะสมกับขนาด ความซับซ้อนขององค์กร และเครื่องมือเฝ้าระวังและตรวจวัดที่มีอยู่

        หมายเหตุ :    การวัดสามารถเริ่มจากมิเตอร์วัดทั่วไปสำหรับองค์กรขนาดเล็กไปจนถึงระบบการเฝ้าระวังและตรวจวัดที่เชื่อมโยงกับซอฟแวร์ซึ่งสามารถรวบรวมและวิเคราะห์ผลให้โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์กรในการพิจารณาเครื่องมือและวิธีการในการวัด

องค์กรจะต้องกำหนดและทบทวนความจำเป็นในการตรวจวัดตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้และองค์กรต้องมั่นใจว่าเครื่องมือที่ใช้ในการเฝ้าติดตามและการตรวจวัดคุณลักษณะสำคัญนี้ต้องให้ข้อมูลที่มีความถูกต้องและเที่ยงตรง บันทึกของการสอบเทียบและวิธีการอื่นใดที่พิสูจน์ถึงความถูกต้องและเที่ยงตรงดังกล่าวต้องได้รับการเก็บรักษาไว้ องค์กรต้องมีการสืบสวนหาสาเหตุและดำเนินการกับความเบี่ยงเบนที่มีนัยสำคัญต่อสมรรถนะด้านพลังงาน  และผลของกิจกรรมเหล่านี้ต้องได้รับการเก็บรักษาไว้

4.6.2   การประเมินความสอดคล้องกับข้อกำหนดด้านกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ (Evaluation of Compliance with Legal Requirements and Other Requirements)
องค์กรต้องประเมินความสอดคล้องกับข้อกำหนดด้านกฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลักษณะการใช้พลังงานและปริมาณการใช้พลังงานขององค์กรตามช่วงเวลาที่กำหนด บันทึกผลการประเมินความสอดคล้องต้องเก็บรักษาไว้

4.6.3   การตรวจประเมินภายในระบบการจัดการพลังงาน (Internal Audit of the EnMS)

องค์กรต้องทำการตรวจประเมินภายในตามแผนช่วงเวลาที่กำหนดเพื่อให้มั่นใจว่าระบบการจัดการพลังงาน

- เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ในการจัดการด้านพลังงาน รวมทั้งข้อกำหนดของมาตรฐานสากลนี้
- เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านพลังงานที่กำหนด
- มีการนำไปปฏิบัติและคงรักษาไว้อย่างมีประสิทธิผล และมีการปรับปรุงสมรรถนะด้านพลังงาน
ต้องจัดทำแผนและกำหนดการในการตรวจประเมินโดยพิจารณาถึงสถานะและความสำคัญของกระบวนการ และพื้นที่ที่จะถูกตรวจประเมิน รวมทั้งผลการตรวจครั้งที่ผ่านมา
การคัดเลือกผู้ตรวจประเมินและการดำเนินการตรวจประเมินต้องมั่นใจได้ว่ากระบวนการตรวจประเมินเป็นไปตามข้อเท็จจริงและมีความยุติธรรม บันทึกผลการตรวจประเมินจะต้องได้รับการจัดเก็บและรายงานต่อผู้บริหารระดับสูง

4.6.4   ความไม่เป็นไปตามข้อกำหนด การแก้ไข การปฏิบัติการแก้ไข และการปฏิบัติการป้องกัน (Nonconformities, Correction, Corrective and Preventive Action)
องค์กรต้องจัดการความไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่เกิดขึ้นหรือที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น โดยทำการแก้ไข ปฏิบัติการแก้ไข และปฏิบัติการป้องกัน รวมถึง

a) ทบทวนความไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่เกิดขึ้นหรือที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น
b) ค้นหาสาเหตุของความไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่เกิดขึ้นหรือที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นนั้น
c) ประเมินความจำเป็นในการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าความไม่เป็นไปตามข้อกำหนดนั้นจะไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นซ้ำอีก
d) กำหนดและนำไปปฏิบัติซึ่งวิธีการดำเนินการที่เหมาะสม
e) จัดเก็บบันทึกของการปฏิบัติการแก้ไขและการปฏิบัติการป้องกัน
f) ทบทวนประสิทธิผลของการปฏิบัติการแก้ไขหรือการปฏิบัติการป้องกันที่ได้ดำเนินการ

การปฏิบัติการแก้ไขและการปฏิบัติการป้องกันต้องมีความเหมาะสมกับขนาดปัญหาที่เกิดขึ้นหรือที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น และผลต่อสมรรถนะด้านพลังงานที่จะเกิดขึ้นภายหลัง

องค์กรต้องมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นใด ๆ ต้องนำไปดำเนินการในระบบการจัดการพลังงาน

4.6.5   การควบคุมบันทึก (Control of Records)
องค์กรต้องจัดทำและจัดเก็บบันทึกที่จำเป็นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปตามข้อกำหนดของระบบการจัดการพลังงานและมาตรฐานสากลนี้ และแสดงให้เห็นถึงการบรรลุผลของสมรรถนะด้านพลังงาน
องค์กรต้องกำหนดและควบคุมการปฏิบัติในการชี้บ่ง การเรียกใช้ และการจัดเก็บบันทึก
บันทึกต้องอ่านได้ชัดเจน สามารถชี้บ่งและสอบกลับได้ถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

4.7      การทบทวนการบริหาร (Management Review)


4.7.1   บททั่วไป (General)
ผู้บริหารสูงสุดต้องทบทวนระบบการจัดการพลังงานขององค์กรตามช่วงเวลาที่กำหนดเพื่อให้มั่นใจว่าระบบการจัดการพลังงานดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเหมะสม มีความเพียงพอและมีประสิทธิผล บันทึกการทบทวนการบริหารจะต้องเก็บรักษาไว้

 4.7.2   ประเด็นนำเข้าในการทบทวนการบริหาร (Input to Management Review)
ประเด็นนำเข้าในการทบทวนการบริหารต้องครอบคลุมในเรื่อง

a) ติดตามการดำเนินการต่าง ๆ จากการทบทวนของการบริหารครั้งที่ผ่านมา
b) ทบทวนนโยบายพลังงาน
c) ทบทวนสมรรถนะด้านพลังงานและตัวชี้วัดสมรรถนะด้านพลังงาน (EnPIs) ที่เกี่ยวข้อง
d) ผลการประเมินความสอดคล้องกับกฎหมายและการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆที่เกี่ยวกับองค์กร
e) ระดับของการบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านพลังงาน
f) ผลการตรวจประเมินระบบการจัดการพลังงาน
g) สถานะของการปฏิบัติการแก้ไขและการปฏิบัติการป้องกัน
h) สมรรถนะด้านพลังงานที่คาดการณ์ไว้สำหรับช่วงเวลาถัดไป
i) ข้อเสนอแนะในการปรับปรุง

4.7.3   ผลที่ได้จากการทบทวนการบริหาร (Output from Management Review)
ผลที่ได้จากการทบทวนการบริหารต้องครอบคลุมในเรื่องการตัดสินใจหรือการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับ

a) การเปลี่ยนแปลงสมรรถนะด้านพลังงานขององค์กร
b) การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงาน
c) การเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัดสมรรถนะด้านพลังงาน (EnPIs)
d) การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ เป้าหมาย หรือองค์ประกอบอื่น ๆ ของระบบการจัดการพลังงานซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
e) การเปลี่ยนแปลงในการจัดสรรทรัพยากร

 

เรียบเรียงโดย : วิชาญ  นาคทอง (ทีมงาน iEnergyGuru)

เอกสารอ้างอิง

(1) ข้อกำหนดมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน ISO 50001 – ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ ๔๔๑๓ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๑๑เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ระบบการจัดการพลังงาน – ข้อกำหนดและข้อแนะนำในการใช้
(2) International Standard ISO 50001 : Energy management systems Requirements with guidance for use
(3) คู่มือพัฒนาระบบการจัดการพลังงานมาตรฐานสากล ISO 50001 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, พ.ศ. 2555
(4) คู่มือพัฒนาระบบการจัดการพลังงานมาตรฐานสากล ISO 50001 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ พลังงาน, พ.ศ. 2556ienergyguru.com

0 Reviews

Write a Review

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *